‘ประธาน กมธ.ทหาร’ เผย ขรก.ทหาร 1 ใน 5 หรือ 5.3 หมื่นนาย ถูกหักเงินชำระหนี้จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30% ขัดมติ ครม. แถม ‘ผู้ค้ำประกันฯ’ ถูกบังคับให้ทำสัญญาเป็น ‘ผู้กู้ร่วม’ จี้ ‘รมว.กลาโหม-ผบ.เหล่าทัพ’ แก้ไข ชี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคง
........................................
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองทัพต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินของทหาร
โดยพบข้อมูลว่า มีทหาร 1 ใน 5 หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 5.3 หมื่นนาย จากทหารทั้งหมด 2.5 แสนนาย ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้สินต่างๆ โดยเฉพาะหนี้สินที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ฯของกองทัพ จนเหลือเงินใช้ไม่ถึง 30%
“เรามีข้าราชการทหาร 2.5 แสนนาย แต่มี 20% ของทหารทั้งหมด หรือคิดเป็น 5.3 หมื่นนาย มีหนี้บักโกรก ถูกหักเงินเดือนจนเงินเหลือใช้น้อยกว่า 30% แล้วอย่างนี้ไม่ใช่ภัยความมั่นคงหรอกหรือ ตอนนี้ทหารของเรา 1 ใน 5 ถูกโจมตีอย่างสะบักสะบอม โดยสถาบันการเงิน โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แล้วจะรบกับใคร ถือปืนอยู่ดีๆ แล้วต้องรับสายโทรศัพท์ทวงหนี้ อย่างนี้จะมีกะจิตกะใจทำงานไหม มันไม่มีแล้ว” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าราชการทหารถึง 1 ใน 5 ของทหารทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารชั้นผู้น้อย ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้จนเหลือเงินใช้น้อยกว่า 30% นั้น เป็นเพราะ รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 ที่มีมติห้ามไม่ให้มีการหักเงินเดือนข้าราชการเพื่อชำระหนี้จนเหลือเงินใช้น้อยกว่า 30%
“ผมไม่สบายใจ หลายคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ และมักจะไปกล่าวโทษ ทั้งข้าราชการทหารและข้าราชการอื่นๆ บอกว่า กู้หนี้ กู้ต้องจ่ายสิ จะไปช่วยเขาทำไม คำถาม คือ เจ้าหนี้ เวลาที่คุณจะปล่อยหนี้ใคร คุณต้องประเมินขีดความสามารถในการชำระหนี้คืนของเขาด้วย ไม่ใช่ว่า หวังเอาแต่จะได้ดอกเบี้ยของเขา เมื่อคุณตัดสินใจที่จะปล่อยกู้เขาแล้ว คุณก็ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ส่วนหนึ่ง และระเบียบกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่า
ห้ามหักเขาจนเขาเหลือเงินน้อยกว่า 30% ไม่ใช่ว่าคุณจะไปตะบี้ตะบันหักเขา โดยไม่สนใจว่า เขาจะกินอยู่อย่างไร ลูกเมียเขาจะอยู่อย่างไร เพราะความเสียหาย และความทุกข์ร้อนมันเกิดขึ้นกับลูก และคนในครอบครัวเขาด้วย ดังนั้น ถามว่า แล้วพอเขามีปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้โดยไม่สนใจขีดความสามารถในการชำระหนี้สิน ไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบเลยเหรอ ลอยตัวเลยเหรอ
ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ผมต้องคำถามว่า ผู้ค้ำประกันฯ เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่คุณไปทำสัญญาค้ำประกันที่ผิดกฎหมายอย่างนี้ ให้เขาอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วม คือ เวลาคุณทวงเงินลูกหนี้คุณไม่ได้ คุณก็หักเงินจากผู้ค้ำฯเลยอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้ เพราะตามกฎหมาย คุณจะต้องตามหนี้จากลูกหนี้ไม่จริงๆ คุณถึงจะไปฟ้องบังคับเอาจากผู้ค้ำ ไม่ใช่อยู่ดีๆ พอตามหนี้จากลูกหนี้ไม่ได้ ก็ทำหนังสือขอให้หน่วยราชการหักเงินของผู้ค้ำเลย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
อย่างนี้ผู้ค้ำประกันฯ เขาไม่ซวยเหรอ เขาไม่เดือดร้อนเหรอ แล้วตรงนี้ เราจะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่เหรอกับสัญญาค้ำประกันที่ไม่เป็นธรรม อย่างนั้นเหรอ แสดงความว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่างนี้ กับการปล่อยกู้โดยไม่คำนึงถึงขีดความสามารถในการชำระคืนของสหกรณ์ออมทรัพย์แบบนี้ เท่ากับคุณจะลอยตัวเหนือปัญหา ไม่แบกรับความเสี่ยง หวังแต่จะกินดอกเบี้ยข้าราชการนายทหารระดับล่าง ทหารชั้นผู้น้อยอย่างเดียวเลยเหรอ” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า จากนี้ไปคณะกรรมาธิการฯจะเข้าไปตรวจสอบว่า รายชื่อของกรรมการของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯของกองทัพต่างๆเป็นใครบ้าง และมีผู้บังคับบัญชาของทหารชั้นผู้น้อยเป็นกรรมการของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯหรือไม่
“ที่น่าสนใจกว่านั้น เดี๋ยวผมจะสาวต่ออีกว่า กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ของกองทัพต่างๆ ชื่ออะไรบ้าง ส่วนใหญ่เป็นนายพลใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น คุณก็อยู่ในฐานะทั้งเจ้านายและเจ้าหนี้สิ คุณเป็นนายพล คุณหากินกับดอกเบี้ย แล้วอยู่ดีๆคุณก็ใช้อำนาจของคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ส่องเข้ามาที่หน่วยงาน เพื่อให้หักเงินหรือเปล่า มันต้องสาวด้วยว่า ตกลงแล้วคณะกรรมการสหกรณ์ เป็นนายทหารระดับสูงทั้งนั้น เพื่อหวังกินดอกเบี้ยจากลูกน้องหรือเปล่า
เหมือนกับปัญหาหนี้ครูเลย คนที่ทำเรื่องเงินเดือน คือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) แล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาฯบางพื้นที่ ก็อยู่ในฐานะเจ้านายและเจ้าหนี้ เพราะผู้อำนวยการเขตฯ หรือรองผู้อำนวยการเขตฯ จะเป็นประธาน รองประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ปัญหาเหมือนกันเลย คุณอยู่ในฐานะเจ้านายกับเจ้าหนี้ในคนเดียวกัน คุณจะปกป้องลูกน้องของคุณเหรอ คงไม่ใช่หรอก เพราะเวลาหักเงิน คุณสวมวิญญาณความเป็นเจ้าหนี้
จึงไม่แปลกใจว่าเหล่าทัพต่างๆ ถึงดำเนินการออกระเบียบฯที่ล้อกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 อย่างล่าช้ามากๆ ที่บอกว่าห้ามหักเงินจนเหลือน้อยกว่า 30% และเพิกเฉย ไม่ดำเนินการกับสัญญาค้ำประกันที่เป็นโมฆะ และผิดกฎหมายสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่...แล้วเรื่องนี้ มันเหมือนกับว่า คุณปล่อยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้อย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าคนกู้หนี้ยืมสินถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้คนที่เป็นเจ้าหนี้มันลอยตัวจริงๆ” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯได้ทำหนังสือถึงนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อให้กองทัพดำเนินการตามมติ ครม. เรื่อง การดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนข้าราชการทหารเพื่อชำระหนี้ โดยต้องทำให้ทหารมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% และจัดการในเรื่องการค้ำประกันหนี้ของข้าราชการทหารให้เป็นไปตามกฎหมาย
“การทำสัญญาค้ำประกันในลักษณะที่ให้ทหารที่เป็นผู้ค้ำอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วม จริงๆแล้วผิดกฎหมายค้ำประกันรูปแบบใหม่ ซึ่งทำไม่ได้ และสัญญาในลักษณะนี้เป็นสัญญาที่เป็นโมฆะแล้ว จะปล่อยอย่างนี้ไปได้อย่างไร จะต้องห้ามหักเงิน และเงินที่หักไปต้องคืนด้วย เพราะสัญญาเป็นโมฆะ ตัว รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ จะทวงเงินคืนมาให้ทหารที่เป็นผู้ค้ำประกันอย่างไร ในเมื่อสัญญาค้ำประกัน ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะอย่างนี้” นายวิโรจน์ ย้ำ
@ชี้‘หนี้ทหาร’กำลังกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคง
สำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวิโรจน์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ในประเด็น ‘หนี้ทหาร กำลังกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ทหารกว่า 50,000 นาย มากกว่าหนึ่งในห้า เป็นหนี้ก้อนโต ถูกหักเงินเดือนอย่างไม่เป็นธรรม จนเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30%’ โดยมีเนื้อหาว่า
“จากการประชุมใน กมธ.ทหาร ในเรื่องปัญหาหนี้สินทหาร ในวันที่ 4 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าปัญหานี้ ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาหนี้สินของทหารเท่านั้น แต่หากพิจารณาถึงกระบวนการต่างๆ ในการหักเงินเดือนชำระหนี้แล้ว มีความเป็นไปได้ว่าทหาร โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อยอาจจะกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ก็เป็นได้
จากจำนวนทหาร และลูกจ้างสังกัดกระทรวงกลาโหมทั้งหมด 250,507 นาย พบว่ามีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% มากถึง 53,210 คน คิดเป็น 21.24% และถ้าพิจารณาจากยอดเงินเดือนคงเหลือ ก็จะพบว่ามีนายทหารมากถึง 81,030 คน ที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท คิดเป็น 32.35%
โดยกองทัพบก จากกำลังพล 138,224 คน มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% มากถึง 28,306 คน คิดเป็น 20.48% มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท มากถึง 42,548 คน คิดเป็น 30.78%
กองทัพเรือ จากกำลังพล 47,293 คน มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% มากถึง 11,158 คน คิดเป็น 23.59% มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท มากถึง 15,324 คน คิดเป็น 32.40%
กองทัพอากาศ จากกำลังพล 36,899 คน มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% มากถึง 8,289 คน คิดเป็น 22.53% มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท มากถึง 11,964 คน คิดเป็น 32.51%
กองบัญชาการกองทัพไทย จากกำลังพล 21,021 คน มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% มากถึง 4,916 คน คิดเป็น 23.39% มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท มากถึง 8,324 คน คิดเป็น 39.60%
สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม จากกำลังพล 7,170 คน มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วน้อยกว่า 30% มากถึง 541 คน คิดเป็น 7.55% มีทหารที่มีเงินเดือนหลังหักหนี้เงินกู้สหกรณ์แล้วต่ำกว่า 9,000 บาท มากถึง 2,870 คน คิดเป็น 40.03%
ปัญหาหนี้สินทหารที่มีทหารมากถึง 1 ใน 5 มีเงินเดือนเหลือไม่ถึง 30% และมีมากถึง 1 ใน 3 ที่มีเงินเดือนเหลือไม่ถึง 9,000 บาท ถือเป็นปัญหาภัยความมั่นคงของประเทศได้เลยนะครับ เพราะหากทหารมีเงินเดือนไม่พอเลี้ยงชีพ ไม่พอที่จะดูแลครอบครัวของตนเอง แล้วจะมีขวัญกำลังใจในการปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างไร เรียกได้ว่า ปัจจุบันกำลังพลของประเทศไทยมากถึง 20%-30% กำลังเพลี่ยงพล้ำถูกโจมตีจากสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างสะบักสะบอม
จริงๆ ปัญหาหนี้สินทหาร ได้มีการหารือในการประชุม ครม. และมีมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2566 แล้ว โดยทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือที่ นร 0505/ว531 ลงวันที่ 22 ธ.ค.2566 ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และทุกหน่วยงานของรัฐ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย การหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551
และให้ประสานงานให้กับสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการให้ต่ำลง และให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กำกับดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการ ค่างวดเงินต้น ให้มีความเหมาะสม และใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ลง
ต่อมากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็มีประกาศเรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ ลงวันที่ 5 ม.ค.2567 โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการให้อยู่ในอัตราไม่เกิน 5.75% ต่อปี ให้สหกรณ์ออมทรัพย์สามารถขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ไปจนถึงอายุ 75 ปี การหักชำระหนี้ต้องให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือหลังหักส่งชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างน้อย 30% ของเงินเดือน และให้สหกรณ์สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้เฉพาะส่วนที่เกินว่าทุนเรือนหุ้นได้
แต่ปัจจุบัน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมยังไม่ได้มีการออกระเบียบภายในในการหักชำระหนี้เงินกู้ของทหาร ให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2566 เลย ไม่ได้ใส่ใจในประกาศของกรมส่งเสริมสหกรณ์เลย ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินทหาร ดำเนินไปด้วยความล่าช้า ยังคงมีทหารที่ถูกหักเงินชำระหนี้ จนมีเงินเดือนเหลืออยู่ไม่ถึง 30% มากถึง 53,210 นาย หรือ 1 ใน 5 ของกำลังพลทั้งหมด
จากการสืบหาข้อเท็จจริงของ กมธ.ทหาร ยังพบว่า การบังคับชำระหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ยังเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 หรือ กฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่อีกด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในสิทธิของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้ชั้นต้น มีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
สร้างความเดือดร้อนให้กับทหารที่เป็นผู้ค้ำประกันเป็นอย่างมาก ในหลายกรณีพบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยไม่มีการระบุวงเงินที่ชัดเจน เนื้อหาในสัญญาค้ำประกันกำหนดให้ผู้ค้ำประกันอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วม เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ก็จะส่งหนังสือให้หักเงินผู้ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้แทนโดยทันที โดยไม่มีกระบวนการติดตามให้ลูกหนี้มาชำระหนี้เสียก่อน
รวมทั้งยังเรียกเก็บดอกเบี้ยค่าปรับจากผู้ค้ำประกัน โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบภายใน 60 วัน นับจากวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสัญญาค้ำประกันที่ผิดกฎหมายค้ำประกันแบบนี้ ถือเป็นโมฆะ ก็ต้องตั้งคำถามกับกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพต่างๆ ว่า คุณหักเงินทหารที่เป็นผู้ค้ำประกันไปชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ได้อย่างไร
ถ้าสัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะ เงินที่หักจากผู้ค้ำประกันไปชำระหนี้แทนก็จะเป็นการกระทำการที่ผิดกฎหมายค้ำประกัน กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพต่างๆ จะต้องเร่งติดตามทางถามให้สหกรณ์ออมทรัพย์คืนเงินที่หักไป ให้กับผู้ค้ำประกันโดยเร็วที่สุด จะมักง่ายไปหักเงินทหารที่เป็นผู้ค้ำประกันแบบนี้ไม่ได้
ผมยืนยันว่าปัญหาหนี้สินทหาร ไม่ได้เป็นแค่เรื่องหนี้สิน แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับภัยคุกคามของชาติ และเป็นปัญหาที่ทหารชั้นผู้น้อยถูกเอารัดเอาเปรียบจากสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม บ่อนทำลายขวัญ และกำลังใจของทหาร ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัว และลูกๆ ของทหารอย่างแสนสาหัส
กมธ.ทหาร จึงได้ทำหนังสือถึง รมว.กลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ให้ดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ
1.เร่งออกระเบียบภายใน เพื่อให้การหักชำระหนี้ต้องให้ลูกหนี้มีเงินเดือนคงเหลือหลังหักส่งชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างน้อย 30% ของเงินเดือน
2.ให้ดำเนินการปกป้องทหารผู้ค้ำประกัน ที่ถูกบังคับทำสัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันต้องตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วม ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ และเนื่องด้วยที่สัญญาค้ำประกันในลักษณะนี้เป็นโมฆะ ทางกระทรวงกลาโหมจะต้องยุติการหักชำระหนี้ของทหารผู้ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้แทนให้กับทหารที่เป็นลูกหนี้โดยทันที และต้องติดตามทวงเงินที่หักไปก่อนหน้านั้นจากสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อคืนให้แก่ทหารผู้ค้ำประกันด้วย และหากต้องมีการทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เนื้อหาในสัญญาค้ำประกันจะต้องเป็นไปตามกฎหมายค้ำประกัน จะยอมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีเหล่าบรรดานายพลเป็นคณะกรรมการฯ ทำสัญญาค้ำประกันที่เอารัดเอาเปรียบทหารชั้นผู้น้อยไม่ได้
นอกจากนี้ กมธ.ทหาร ยังได้ทำหนังสือแจ้งเบาะแสไปยัง ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพิ่มเติม เพื่อให้ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมสืบหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้ด้วย และพิจารณาการดำเนินการตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพต่างๆ เพิกเฉยต่อมติ ครม. วันที่ 19 ธ.ค. 2566 ซึ่งจะเป็นการป้องปรามไม่ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสวัสดิภาพ และขวัญกำลังใจของกำลังพลเป็นวงกว้างอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่ง กมธ.ทหาร จะติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอนครับ”