“…ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 รัฐบาลได้โอนงบประมาณเพื่อชำระคืนหนี้ ธ.ก.ส.ไปแล้ว 296,640.13 ล้านบาท และยังมีหนี้ค้างชำระอีก 226,272.57 ล้านบาท นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯในช่วง 13-14 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังภาระมีค่าใช้จ่ายในการจัดการอื่นๆ รวมแล้วเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท…”
......................................
ในอีกไม่ช้านี้ ข้าวสาร ‘ล็อตสุดท้าย’ จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ‘ทุกเม็ด’ จะถูกระบายออกสู่ตลาด
หลัง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ประกาศว่า จะนำข้าวสาร 145,590 กระสอบ น้ำหนักรวม 1.5 หมื่นตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งเก็บไว้ในสต็อกของรัฐบาล (องค์การคลังสินค้า) เป็นเวลานานกว่า 10 ปีเศษ ออกประมูลขายเป็นการทั่วไปภายในเดือน พ.ค.2567
“ถ้าสิ้นข้อสงสัยแล้ว ภายในเดือน พ.ค.นี้ ผมจะเปิดประมูล โดยให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลอย่างเท่าเทียม และถ้าดูจากตรงนี้ ราคากลางจะอยู่ที่ 18 บาท/กิโลกรัท (กก.) บวกลบ ส่วนจะประมูลได้มากได้น้อย ก็ต้องอยู่ที่กระบวนการประมูล…
นี่ถือเป็นการสำรวจข้าว 2 โกดังสุดท้ายของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ข้าวทั้งหมดนี้เป็นข้าวสารตั้งแต่สมัยปี 2556-2557 ซึ่งจากตรงนั้นมาถึงตรงนี้ ก็ 10 ปี บวกลบนิดหน่อย
เราถึงได้มาพิสูจน์ว่า ถ้าดูทางกายภาพ เมล็ดข้าวยังมีจมูกข้าว ยังดูสวยงาม ส่วนสีสันอาจมีความเหลืองมากขึ้น แต่นี่เป็นธรรมชาติของข้าวอายุ 10 ปี ขณะนี้กำลังหุง เพื่อให้ดูคุณภาพข้าวว่า ยังพอมีกลิ่นหอมไหม นุ่มไหม ยังกินได้ไหม
เดี๋ยวผม เจ้าของคลัง ท่านผู้ว่าฯ และท่านผู้การฯ เราจะกิน ถ้าเป็นอะไร ผมเป็นก่อน แต่ไม่ต้องห่วง ผมเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของโกดัง” ภูมิธรรม กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ พิสูจน์คุณภาพข้าวสารล็อตสุดท้ายในโครงการรับจำนำข้าวฯ ใน 2 โกดัง เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
(ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร 'ล็อตสุดท้าย' ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ปี 2556/57 ที่โกดังเก็บข้าว 2 แห่ง จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2567)
แต่ทว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ‘ทุกเม็ด’ ในราคา 15,000 บาท/ตัน ในสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2554 (ฤดูกาลผลิต 2554/55) และต้องยุติลงในฤดูกาลผลิต 2556/57 หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายจนถึงทุกวันนี้
@ขาดทุน‘จำนำข้าว’ 5.2 แสนล.-ค้างหนี้‘ธ.ก.ส.’ 2.5 แสนล้าน
จากข้อมูลรายงานงบการเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) งวดล่าสุด (งวด 9 เดือน ปีบัญชี 2566) สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 พบว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 จนถึงปีการผลิต 2556/57 รัฐบาลนำเงินจาก ธ.ก.ส. ไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวฯทั้งสิ้น 881,262 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 จำนวน 118,656 ล้านบาท
2.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 จำนวน 218,670 ล้านบาท
3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2) จำนวน 352,278 ล้านบาท
4.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 191,658 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากการระบายผลผลิต (ข้าวสาร) และการไถ่ถอนฯแล้ว ปรากฏว่า โครงการฯมีผลการขาดทุนฯทั้งสิ้น 522,921.92 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 มีผลขาดทุนฯ 58,398.61 ล้านบาท
2.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 มีผลขาดทุนฯ 131,059.12 ล้านบาท
3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2) มีผลขาดทุนฯ 215,861.57 ล้านบาท
4.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 117,602.62 ล้านบาท
ขณะที่ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 รัฐบาลได้โอนงบประมาณเพื่อชำระหนี้ ธ.ก.ส.ไปแล้ว 296,640.13 ล้านบาท และรัฐบาลยังมีหนี้ค้างชำระ ธ.ก.ส.อีก 226,272.57 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯในช่วง 13-14 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังภาระมีค่าใช้จ่ายในการจัดการอื่นๆ เช่น ค่าฝากเก็บ และค่ารักษาคุณภาพข้าวเปลือกฯ ซึ่งต้องจ่ายให้โรงสีและเจ้าของคลังสินค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมแล้วเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท
(ที่มา : รายงานทางการเงิน ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส ปีบัญชี 2566 งบการเงิน สำหรับงวดสามเดือนและเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566)
@ปิดโครงการ‘จำนำข้าวฯ’ไม่ได้ เหตุมีคดีค้างกว่า 1 พันคดี
ขณะเดียวกัน ภายหลังจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง ปรากฏว่าในเวลาต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวฯ รวม 2 คดี ได้แก่
1.คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) โดยศาลฯมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 25/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม 178/2560 อม 179/2560 ลงโทษจำคุก บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นเวลา 42 ปี ,จำคุก ภูมิ สาระผล เป็นเวลา 36 ปี ,จำคุก อภิชาต จันทร์สกุลพร หรือ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ เป็นเวลา 48 ปี ส่วนจำเลยรายอื่นๆให้ลงโทษจำคุกลดหลั่นตามพฤติการณ์แห่งความผิด
นอกจากนี้ ศาลฯยังพิพากษาให้ อภิชาต จันทร์สกุลพร ,บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวก ร่วมกับชดใช้ค่าเสียหายให้กระทรวงการคลังเป็นเงิน 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% อีกด้วย
2.คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยศาลฯมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 พิพากษาว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฯ มาตรา 123/1 ให้จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
พร้อมกันนั้น ศาลฯยังพิพากษาให้ ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ต่อมาในเดือน เม.ย.2564 ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่เรียกให้ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้สินไหมทดแทนในโครงการรับจำนำข้าวฯ จำนวน 35,717 ล้านบาท โดยคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
นอกจากนี้ ในห้วงเวลาของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวฯ ตั้งแต่ปี 2551-2552 และในช่วงปี 2554-2557 ของรัฐบาลที่มี ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวม 7 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต 2551/52 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552
(4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และ (7) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57
ปรากฏว่า มีการฟ้องร้องในคดีโครงการรับจำนำข้าวฯ ระหว่าง องค์การคลังสินค้า (อสค.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กับโรงสีและเจ้าของคลังสินค้า เป็นต้น รวมแล้วนับพันคดี โดยข้อมูลล่าสุด มีคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (การพิจารณาในชั้นศาลฯ) รวมทั้งสิ้น 1,404 คดี จำแนกเป็นคดีของ อคส. จำนวน 1,045 คดี และคดีของ อ.ต.ก. จำนวน 269 คดี
ขณะที่ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 ที่มี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นบข. เป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ทั้ง 7 โครงการ จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือน ก.ย.2566 เป็น “จนกว่าคดีจะสิ้นสุดในชั้นศาล”
(ที่มา : รายงานสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566)
@สรุปบทเรียน‘จำนำข้าว’เจ๊ง 6 แสนล.-ทำลายกลไกตลาด
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ว่าการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯในช่วงปลายปี 2554-2557 จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากราคารับจำนำข้าวเปลือกที่สูงกว่าราคาตลาดมาก แต่โครงการฯนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี
“ข้อดีของมัน (โครงการรับจำนำข้าวฯ) คือ การเพิ่มราคาข้าวให้ชาวนาสูงกว่าราคาตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างประชานิยมกับเกษตรกร แต่ข้อเสียมีเยอะกว่าข้อดีมาก เช่น การที่รัฐบาลเอาเข้ามาเก็บไว้ในยุ้งของตัวเอง ทำให้รัฐบาลผูกขาดทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร เนื่องจากเป็นผู้ซื้อรายเดียวที่ให้ราคาสูง คนอื่นซื้อไม่ได้ เพราะไม่ใช่ราคาตลาด
เมื่อสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารแล้ว ต้นทุนข้าวสารในสมัยนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท แต่ขายออกไปในราคาเพียงกิโลกรัมละ 12 บาทเท่านั้น และเมื่อ คสช. เข้ามา ข้าวสารในสต็อกที่มีอยู่ที่ 17-18 ล้านตัน พบว่าเป็นข้าวดีที่ได้มาตรฐานเพียง 3 ล้านตัน และเป็นข้าวต่ำกว่ามาตรฐานแต่ยังบริโภคได้ 10 ล้านตัน ส่วนที่เหลือใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
จึงเท่ากับว่ารัฐซื้อ (ข้าว) ในราคาสูง แต่ต้องระบายออกในราคาที่ต่ำ อีกทั้งข้าวสารที่เก็บไว้ในบางโกดังเกิดเสียหาย เป็นเชื้อราต่างๆ เมื่อนำมาขาย ก็ได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 5-10 บาท บางครั้งขายได้กิโลกรัมละ 2-3 บาท ก็มี จึงทำให้โครงการฯเกิดความเสียหายอย่างน้อย 6 แสนล้านบาท” รศ.สมพร กล่าว
รศ.สมพร กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ ยังทำให้กลไกตลาดข้าวเสียหาย โดยตลาดกลางค้าข้าวที่เคยรุ่งเรือง และเอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรอง เจ๊งกันไปหมด และจนถึงวันนี้ตลาดกลางค้าข้าวก็ไม่ฟื้น ทำให้ทุกวันนี้ เมื่อชาวบ้านเกี่ยวข้าวแล้ว ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องนำข้าวเปลือกไปขายให้โรงสีเท่านั้น
(รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
“ความผิดพลาดสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้น คือ การรับจำนำข้าวฯในราคาสูง เป็นกับดักที่ทำให้เกษตรกรไม่มีการพัฒนาตัวเองในช่วงที่ผ่านมา” รศ.สมพร สรุปบทเรียนโครงการรับจำนำข้าวฯในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รศ.สมพร ยังระบุว่า หากนำเงินที่ขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯ 6 แสนล้านบาท ไปทำอย่างอื่น เช่น การวิจัยพันธุ์ข้าว การวิจัยเรื่องการแปรรูปข้าว และการปรับโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตร เป็นต้น ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาวมากกว่า
“แค่เราเอาเงินไปทำวิจัย (ข้าว) ให้ดี ปรับโครงสร้างทางการเกษตร เช่น ทำระบบชลประทาน ปรับพื้นที่ปลูกข้าว (land leveling) จะทำให้ชาวบ้านได้โอกาสดีกว่าเดิมมากมาย ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างการผลิตจาก ‘นา’ ไปเป็น ‘สวน’ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เก็บเขาไว้ให้อยู่ในเซ็กเตอร์ที่มีรายได้ต่ำ ที่จนอยู่แล้ว ก็จนไปอีก” รศ.สมพร ระบุ
รศ.สมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมาเราเอาเงินแบงก์พัน 6 แสนล้านไปเผาทิ้ง และถ้าเราเอาโครงการจำนำข้าวฯ ไปเปรียบเทียบกับโครงการดิจิทัลวอลเลตที่ใช้เงิน 5 แสนล้าน ผมคิดว่ามัน (โครงการดิจิทัลวอลเลต) มีโอกาสที่จะเสียหายเช่นกัน เพราะที่รัฐบาลคาดว่าเงินมันจะหมุนไป จากการให้เงินเพื่อการบริโภคนั้น
แต่ในเมื่อเราไม่ได้ให้เงินไปเพื่อเพิ่ม productivity (ผลิตภาพ) ให้สูงขึ้น ไม่ได้เอาไปสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น รัฐบาลไม่ได้คิดเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันเลย เพียงแต่ทำเรื่องประชานิยม เพื่อให้ได้เสียงกลับมา เป็นเรื่องของการบริโภคที่หมดไป อันนี้ก็จะสูญเสียอีกเหมือนกับโครงการจำนำข้าวฯ”
อ่านประกอบ :
เปิดงบดุล'ธ.ก.ส.'ล่าสุด ก่อนรบ.จ่อกู้โปะ'ดิจิทัลวอลเลต'-พบค้างหนี้จำนำข้าว 2.26 แสนล้าน
เปิดข้อมูลคดีโกง 10 ปี นักการเมืองทำผิด 68 คน จำนำข้าวสร้างความเสียหายสูงสุด 1.3 แสนล.
เอกชนเตือน‘รัฐบาลใหม่’อย่าทำนโยบาย‘จำนำราคาสูง’-ตั้งเป้าปีนี้ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
10 ปี‘จำนำ-ประกันรายได้’รัฐเท 1.2 ล้านล. อุดหนุนประชานิยม‘ข้าว’-TDRIจี้เลิกชดเชยซ้ำซ้อน
โอนแล้ว 1.4 หมื่นล.! ‘บิ๊กตู่’คิกออฟจ่าย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้ชาวนา-อุดหนุนไร่ละ 1 พัน
ครม.ควัก 8.1 หมื่นล้าน ถม ‘ประกันราคาข้าว เฟส 4’ คาดเงินถึงมือชาวนา 22 พ.ย. 65
ชำแหละ‘ประกันรายได้’ 4 พืช 3 ปี‘ภาระการคลัง’พุ่ง 2.57 แสนล. งบฯ 66 ก่อหนี้รัฐถึงทางตัน?
‘นบข.’ไฟเขียว'ประกันรายได้ชาวนาปี 4-มาตรการคู่ขนาน-ช่วยค่าบริหารข้าว' วงเงิน 1.5 แสนล.
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?
‘อินเดีย’ ทิ้งห่าง 'ไทย-เวียดนาม' เผย 10 เดือน ส่งออกข้าวทะลัก 17 ล้านตัน พุ่ง 51%
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?