“…เมื่อ บมจ. ธนาคารกรุงไทย เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ และมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำ โดยมิได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในทางราชการตามกฎหมาย บมจ.ธนาคารกรุงไทย จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ…”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องเสร็จที่ 1397/2563 โดยวินิจฉัยว่า บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.ธนาคารกรุงไทย) มิได้เป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! เปิดบันทึกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคณะพิเศษ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’)
ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 1489 เรื่อง สถานะของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ลงวันที่ 30 พ.ย.2565
แจ้งไปยังปลัดกระทรวง อธิบดี อธิการบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการ หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า
ขณะนี้ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้เป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และไม่ได้เป็น ‘หน่วยงานของรัฐ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้ว
ดังนั้น กรณีที่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จะต้องปฏิบัติระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะต้องวางหลักประกันสัญญาตามระเบียบฯ ข้อ 168 นั้น (อ่านประกอบ : ชี้ ‘ธนาคารกรุงไทย’ ไม่ใช่ ‘หน่วยงานรัฐ-รสก.’ หากเป็นคู่สัญญารัฐ ต้องวางหลักประกันสัญญา)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบข้อมูลว่า เมื่อเดือน ต.ค.2566 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง สถานะความเป็นหน่วยงานของรัฐของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 มีรายละเอียด ดังนี้
@หารือปม‘กรุงไทย’ขอเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง สถานะความเป็นหน่วยงานของรัฐของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 (เรื่องเสร็จที่ 1231/2566)
กรมการปกครองได้มีหนังสือ ที่ มท 0309.10/22902 ลงวันที่ 15 ส.ค.2566 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
1.กรมการปกครองได้อนุญาตให้บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.ธนาคารกรุงไทย) เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 โดยเห็นว่าเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยวิธีแฟ้มข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Batch Processing) และเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Online) ลงวันที่ 7 มี.ค.2551
2.ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 1489 ลงวันที่ 30 พ.ย.2565 แจ้งเวียนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทราบถึงสถานะของ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ว่า
บมจ. ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามบทนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในเรื่องเสร็จที่ 1397/2563
3.กรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐตามหนังสือเวียนของกรมบัญชีกลางดังกล่าว จึงได้ระงับการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรไว้เป็นการชั่วคราว
แต่ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ได้มีหนังสือถึงกรมการปกครองเพื่อแจ้งสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของธนาคารว่า แม้ธนาคารจะไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ แต่ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายบางฉบับ และเพื่อประโยชน์ในการให้บริการแก่ประชาชน จึงขอให้กรมการปกครองอนุญาตให้ธนาคารใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเช่นเดิม
4.กรมการปกครองได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้พิจารณาสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐของ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นแตกต่างกันจนไม่สามารถหาข้อยุติได้
จึงมีมติให้กรมการปกครองนำเรื่องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ได้ข้อยุติ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตให้ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย กรมการปกครองจึงขอหารือในประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง บมจ.ธนาคารกรุงไทย มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หรือไม่
ประเด็นที่สอง หาก บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ การขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จะเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจหรือในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของทางราชการ ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 15 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ หรือไม่
@‘กฤษฎีกา’ฟันธง‘แบงก์กรุงไทย’ไม่เป็น‘หน่วยงานของรัฐ’
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาข้อหารือของกรมการปกครอง โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.ร.) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ตามหน้าที่และอำนาจของกรมการปกครอง โดยมิได้กำหนดความหมายของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ไว้เป็นการเฉพาะ
ในการพิจารณาความเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายฉบับนี้ จึงต้องพิจารณาประกอบกับหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ และมีผลผูกพันทุกส่วนราชการให้ต้องถือปฏิบัติ โดยหลักการดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาความเป็นหน่วยงานของรัฐ
โดยพิจารณาจาก (1) ความสัมพันธ์กับรัฐ ทั้งในเรื่องของการจัดตั้ง รูปแบบ การแต่งตั้งบุคลากรระดับสูง และการกำกับดูแลของรัฐ (2) กิจกรรมของหน่วยงานนั้นว่าเป็นบริการสาธารณะหรือไม่
(3) งบประมาณหรือรายได้ของหน่วยงาน การค้ำประกันหนี้ (4) สถานะของบุคลากร (5) วิธีการและระบบกฎหมายที่ใช้ในการทำกิจกรรม และ (6) ความเป็นเจ้าของและอำนาจในการบริหารจัดการ
เมื่อ บมจ. ธนาคารกรุงไทย เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายดังกล่าว โดยมิได้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรขึ้นเป็นการเฉพาะ
ประกอบกับ บมจ. ธนาคารกรุงไทย มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยมิได้จัดทำบริการสาธารณะ และมิได้มีที่มาของแหล่งรายได้จากเงินงบประมาณของรัฐ กรณีจึงไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐทั้งในแง่ของการจัดตั้ง รูปแบบ การกำกับดูแลของรัฐ กิจกรรมในการเป็นบริการสาธารณะ งบประมาณหรือรายได้ ตลอดจนวิธีการและระบบกฎหมายที่ใช้ในการทำกิจกรรม หรือมีการใช้อำนาจตามกฎหมาย
บมจ. ธนาคารกรุงไทย จึงไม่มีลักษณะเป็น ‘หน่วยงานของรัฐ’ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรี
@ต้องเป็น‘หน่วยงานของรัฐ’จึงมีสิทธิ์เชื่อมข้อมูล‘ทะเบียนราษฎร์’
นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น หน่วยงานที่อาจได้รับอนุญาตให้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรของกรมการปกครอง จำกัดเฉพาะส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ อีกทั้งข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปกติเป็นข้อมูลลับที่ไม่อาจเปิดเผยได้
การเชื่อมโยงข้อมูลที่จะได้รับอนุญาตตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานนั้นๆเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจได้ และโดยที่ส่วนราชการ คือ หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และมีหน้าที่และอำนาจให้บริการสาธารณะหรือหน้าที่พิเศษอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนหน่วยงานของรัฐตามความหมายทั่วไป ย่อมหมายถึงหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรฯ นั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของการอนุญาตให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรได้แล้วเห็นว่า มีความหมายแคบกว่าความหมายทั่วไป เพราะผู้อำนวยการทะเบียนกลางจะพิจารณาอนุญาตการเชื่อมโยงข้อมูลได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานนั้น
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานของรัฐที่จะขออนุญาตตามมาตรา 15 นี้ได้ จะต้องเป็นหน่วยงานในลักษณะเดียวกับส่วนราชการ คือ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
ดังนั้น เมื่อ บมจ. ธนาคารกรุงไทยเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ และมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำ โดยมิได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติในทางราชการตามกฎหมาย บมจ.ธนาคารกรุงไทย จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ
ประเด็นที่สอง เห็นว่า เมื่อได้ให้ความเห็นไว้ในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า บมจ. ธนาคารกรุงไทย ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ จึงไม่จำต้องให้ความเห็นในประเด็นนี้อีก
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกตว่า โดยที่มาตรา 32 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เมื่อข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร เป็นข้อมูลส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง กรมการปกครองจึงมีหน้าที่ต้องกำหนดกรอบการพิจารณาอนุญาตให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้มีความชัดเจน รวมทั้งต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงข้อมูลไปใช้ด้วยว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ ที่ชี้ว่า ‘ธนาคารกรุงไทย’ ไม่ได้มีลักษณะเป็น ‘หน่วยงานของรัฐ’ อีกแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าธนาคารกรุงไทย ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’
ขณะที่ผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้ธนาคารกรุงไทย ไม่มีสิทธิ์ได้รับอนุญาตให้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ประโยชน์จาก ‘ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร’ หลังจากได้รับอนุญาตจาก 'กรมการปกครอง' ให้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ฯ และเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Online มาเป็นเวลากว่า 15 ปี
อ่านประกอบ :
ชี้ ‘ธนาคารกรุงไทย’ ไม่ใช่ ‘หน่วยงานรัฐ-รสก.’ หากเป็นคู่สัญญารัฐ ต้องวางหลักประกันสัญญา
ทางการ! ราชกิจจาฯประกาศ 'สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารกรุงไทย’ สิ้นสภาพ
'กรุงไทย'มี 2 สถานะ!สบน.ชี้เป็น 'รัฐวิสาหกิจ' ตามพ.ร.บ.บริหารหนี้ฯ-เปิดทาง'คลัง'ค้ำเงินกู้
เปิดเหตุผล’คลัง-สำนักงบฯ’ ให้หน่วยงานรัฐใช้ ‘บัญชีกรุงไทย’หลังพ้น รสก.-ส่อขัด รธน.หรือไม่?
ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเอกชน! สนง.กฤษฎีกาแจงกรณี 'กรุงไทย' พ้น ‘รัฐวิสาหกิจ’
ไฟเขียวหน่วยงานรัฐใช้บัญชีเงินฝาก'กรุงไทย'ต่อ แม้พ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ
แจงผล‘กรุงไทย’พ้นรสก.!‘กรรมการ-ซีอีโอ-พนง.’ไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคณะพิเศษ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’
เปิดบันทึกกฤษฎีกา! ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ รสก. หลังกองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่ไม่เป็น 'องค์การของรัฐ'
เปิดที่มาตีความใหม่! ก่อน ‘กฤษฎีกา’ ชี้ขาด ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.