เปิดบึนทึกคำวินิจฉัย ‘กฤษฎีกา’ คณะพิเศษ ตีความ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’ หลังกองทุนฟื้นฟูฯผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้เป็น 'องค์การของรัฐ' ด้าน 'คลัง' ระบุผลการตีความ ส่งผลให้ 'พนักงาน-กรรมการ-ผู้บริหาร' กรุงไทยฯ ไม่ต้องอยู่ภายใต้ 'พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการฯ-พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์'
................
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานกฤษฎีกามีหนังสือบันทึกผลการพิจารณา เรื่อง สถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน หลังจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) มีหนังสือขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นกฎหมาย 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯถือหุ้นมากกว่า 50% มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจัดตั้งโดยวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงิน และสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับระบบสถาบันการเงิน โดยมิได้มีลักษณะเป็นการประกอบวิสาหกิจหรือกิจการเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ
ดังนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจึงไม่เป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล ไม่เป็นกิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น และไม่เป็นหน่วยธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
ประกอบกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้ตั้งขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเป็นงานฝ่ายหนึ่งของธปท. เมื่อมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 กำหนดให้ธปท.มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจึงมีสถานภาพเดียวกับธปท.
ส่วนประเด็นที่ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจะเข้าลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อการดำเนินกิจการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และเงินที่ได้รับจัดสรรมาจากเงินสำรองของธปท. โดยไม่มีข้อกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯได้รับเงินงบประมาณรายจ่าย หรือเงินอุดหนุนจากงบประมาณแต่อย่างใด
ดังนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจึงไม่เป็นหน่วยรับงบประมาณ และไม่อยู่ในความหมายของ ‘หน่วยงานรัฐ’ ไม่ว่าประเภทใดตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับสถานะของธนาคารกรุงไทย ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือไม่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ธนาคารกรุงไทย เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯถือหุ้นคิดเป็น 55.07% ของหุ้นทั้งหมด เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น ธนาคารกรุงไทย จึงไม่มีลักษณะเป็นบริษัท หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าหน่วยงานใดเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวนั้น เป็นการพิจารณาความเป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 เท่านั้น
ประเด็นที่ 2 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้บังคับแห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่อย่างไร คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่พิจารณาให้ความเห็นในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการป.ป.ช.ในการพิจารณา
ประเด็นที่ 3 หากสถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือธนาคารกรุงไทย เปลี่ยนแปลงไปจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทย แทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอ และกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทย ได้หรือไม่ เพียงใดนั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 และมีระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหมดขึ้น การมอบอำนาจหรือการมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับมอบ ย่อมจะต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนปัญหาที่ว่ากระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทย หรือไม่นั้น เมื่อธนาคารกรุงไทยเป็นบริษัทมหาชนจำกัด การดำเนินกิจการและการกำกับดูและธนาคารกรุงไทย ย่อมต้องดำเนินการตามกลไกคณะกรรมการบริษัท และที่ประชุมผุ้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ทำให้ธนาคารกรุงไทยไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แล้ว ส่งผลให้ทำให้พนักงานของธนาคารฯที่เดิมอยู่ภายใต้พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จะต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2543 แทน
ส่วนกรรมการธนาคารกรุงไทย ซึ่งตามพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ กำหนดให้มีอายุไม่เกิน 65 ปีนั้น ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามนั้นแล้วก็ได้ เช่นเดียวกับการสรรหาผู้บริหารสูงสุด ซึ่งอาจมีวิธีการสรรหาเป็นอย่างอื่น โดยไม่ต้องทำปฏิบัติตามพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการฯ
อ่านประกอบ :
เปิดที่มาตีความใหม่! ก่อน ‘กฤษฎีกา’ ชี้ขาด ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/