เปิดที่มา ‘กฤษฎีกา’ ตีความ ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจ พบ ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ ร่อนหนังสือถึงคกก.กฤษฎีกาขอให้วินิจฉัยสถานภาพใหม่ หลังมีการแก้ไขกม.วิธีการงบประมาณ-กม.ธนาคารแห่งประเทศไทย
................
จากกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน มีความวินิจฉัยว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ไม่ได้มีสถานสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นองค์การมหาชน ส่งผลให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55% ไม่ได้มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามไปด้วย โดยหลังจากนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าว จะมีหนังสือแจ้งยืนยันมติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงที่มาการยื่นการตีความเรื่องนี้ว่า เดิมเมื่อปี 2531 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฟื้นฟูฯ ว่า กองทุนฟื้นฟูฯเป็นองค์กรของรัฐบาลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และเนื่องจากมีการนำส่งเงินจากสถาบันการเงินและเงินทุนสำรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเป็นทุนของกองทุนฯ กองทุนฟื้นฟูฯจึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2502 และทำให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯถือหุ้นในสัดส่วนเกิน 50% จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2502 ด้วย
ต่อมาในปี 2543 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากกระทรวงการคลังได้ยื่นเรื่องให้กฤษฎีกาตีความว่า กองทุนฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย เป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยึดตามแนวทางวินิจฉัยเดิมเมื่อปี 2531 คือ กองทุนฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทยมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ และต้องดำเนินงานทั้งด้านการกำกับดูแล การแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดทำงบประมาณในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ได้กองทุนฟื้นฟูฯมีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นครั้งที่ 3 โดยขอหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทยว่าเป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 หรือไม่
ทั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ให้เหตุผลประกอบการยื่นขอตีความครั้งนี้ว่า เดิมกองทุนฟื้นฟูฯจัดตั้งตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แต่ต่อมาในปี 2561 มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศใช้ในปี 2561 โดยพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ยกเลิกประเด็นที่กำหนดให้สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ
ประกอบกับพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฉบับปี 2561 มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ใหม่ โดยให้หมายถึง "องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ" ขณะที่นิยามการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ในกฎหมายฉบับต่างๆมีความแตกต่างกัน
ดังนั้น กองทุนฟื้นฟูฯ จึงขอให้คณะกฤษฎีกาวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติต่อไป เช่น กองทุนฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทยว่า มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ กรรมการกองทุนฟื้นฟูฯมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป.ป.ช.หรือไม่ และหากคณะกรรมการกฎษฎีกาวินิจฉัยว่าธนาคารกรุงไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจะมีอำนาจในการกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยหรือไม่
อ่านประกอบ :
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/