‘สบน.’ ชี้ ‘กรุงไทย’ มีสถานะเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ หลังนิยามกฎหมายระบุเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ ‘หน่วยงานของรัฐ’ ถือหุ้นเกิน 50% เปิดทาง 'คลัง' ค้ำประกันเงินกู้
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ลงนามหนังสือที่ กค. 0900/230 เรื่อง สถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเนื้อหาว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ขอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาประเด็นสถานภาพการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ของธนาคารกรุงไทยฯ ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และแจ้งผลการพิจรณาให้ธนาคารกรุงไทยฯ ทราบต่อไป นั้น
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะพิจารณาแล้วขอเรียนว่า ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดบทนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 (ข) ไว้ว่า “บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ”
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ธนาคารกรุงไทยฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งมีสถานภาพเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ประเภทหน่วยงานในกำกับดูแลของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ถือหุ้นในจำนวนร้อยละ 55.07 ของทุนทั้งหมด ธนาคารกรุงไทยฯ จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 (ข) ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยฯ ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน หนี้เงินกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกันจะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ตามนิยาม “หนี้สาธารณะ” ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
เนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งถือหุ้นธนาคารกรุงไทยในสัดส่วน 55.07% ของหุ้นทั้งหมด ไม่เป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล ไม่เป็นกิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น และไม่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (1) แห่งบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งคำวินิจฉัยให้ธนาคารกรุงไทย รับทราบ และธนาคารกรุงไทยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ธนาคารได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารจนได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดบทนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 (ก) ว่า “องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และมาตรา 4 (ข) ว่า “บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ”
ขณะที่นิยามของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 หมายความว่า "กระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาล และหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ"
ส่วนพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้กำหนดบทนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 ว่า รัฐวิสาหกิจ หมายความว่า “(1) องค์การของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ “(2) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (ก) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ”
สำหรับนิยามของคำว่า ‘ส่วนราชการ’ ตามนิยามของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 หมายความว่า "กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม และให้หมายรวมถึงจังหวัดและกลุ่มจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน"
ดังนั้น จะพบว่านิยามการเป็นรัฐวิสาหกิจของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีความแตกต่างกัน คือ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใช้คำว่า “หน่วยงานของรัฐ” แต่พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ใช้คำว่า “ส่วนราชการ” ขณะที่นิยามของคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” และ “ส่วนราชการ” ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีบทบัญญัติที่แตกต่างกันด้วย
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยได้ตามบทบัญญัติมาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 19 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินภาครัฐ โดยจะค้ำประกันเต็มจำนวนหรือบางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี”
อ่านประกอบ :
เปิดเหตุผล’คลัง-สำนักงบฯ’ ให้หน่วยงานรัฐใช้ ‘บัญชีกรุงไทย’หลังพ้น รสก.-ส่อขัด รธน.หรือไม่?
ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเอกชน! สนง.กฤษฎีกาแจงกรณี 'กรุงไทย' พ้น ‘รัฐวิสาหกิจ’
ไฟเขียวหน่วยงานรัฐใช้บัญชีเงินฝาก'กรุงไทย'ต่อ แม้พ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ
แจงผล‘กรุงไทย’พ้นรสก.!‘กรรมการ-ซีอีโอ-พนง.’ไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคณะพิเศษ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’
เปิดบันทึกกฤษฎีกา! ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ รสก. หลังกองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่ไม่เป็น 'องค์การของรัฐ'
เปิดที่มาตีความใหม่! ก่อน ‘กฤษฎีกา’ ชี้ขาด ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage