“…ส่วนปัญหาว่ากระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ได้หรือไม่ นั้น เมื่อธนาคารกรุงไทยฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัด การดำเนินกิจการและการกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ย่อมต้องดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด…”
.............
หมายเหตุ : บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง สถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) /เรื่องเสร็จที่ 1397/2563 ลงนามบันทึกโดย ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ฝกท. 239/2563 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่าตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) ไว้ในเรื่องเสร็จที่ 487/2531 ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นองค์การของรัฐบาลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ มีเงินนำส่งจากสถาบันการเงินและเงินสำรองจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นทุนของกองทุนซึ่งถือได้ว่าเป็นของรัฐบาล
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตาม (ก) แห่งบทนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ซึ่งเมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และกระทรวงการคลังถือหุ้นธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) รวมกันมากกว่าร้อยละห้าสิบ ในขณะนั้น ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม (ค) แห่งบทนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502
และคณะกรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นรัฐวิสาหกิจตามแนวคำวินิจฉัยข้างต้นอีกครั้งในเรื่องเสร็จที่ 273/2543 ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กระทรวงการคสัง และธนาคารกรุงไทยฯ ได้ยึดถือคำวินิจฉัยดังกล่าวในการดำเนินงานทั้งในด้านการกำกับดูแล การแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการจัดทำงบประมาณมาจนถึงปัจจุบัน นั้น
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ขอเรียนว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แตกต่างจากอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีทุนของตนเองเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้างต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2561 มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 โดยพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2561 ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ และมีการบังคับใช้พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ยกเลิกพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 จาก "องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ" เป็น "องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ"
ประกอบกับปัจจุบันมีการกำหนดบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ในกฎหมายหลายฉบับแตกต่างกัน รวมทั้งมีการอ้างอิงถึงรัฐวิสาหกิจในกฎหมายอื่นๆ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทยฯ สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1.กองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทยฯ ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้นมากกว่าร้อยละห้าสิบ มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 หรือไม่
2.กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ภายใต้บังคับแห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) แจ้งว่า กรรมการจัดกรกองทุนไม่ถือเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.)
ต่อมาเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ออกประกาศกำหนดตำแหน่งที่ต้องห้ามดำเนินกิจการที่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126 และมาตรา 127 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราการทุจริตฯ ซึ่งรวมถึงตำแหน่งกรรมการของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณด้วย สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีหนังสือแจ้งให้กรรมการจัดการกองทุนปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว
3.หากสถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือธนาคารกรุงไทยฯ เปลี่ยนแปลงจากที่คณะกรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยฯแทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอ และกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ได้หรือไม่ เพียงใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงบประมาณ) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกองทุนเพื่อการพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและผู้แทนธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทยฯ ซึ่งกองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ ถือหุ้นมากกว่าร้อยละห้าสิบ มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561หรือไม่ นั้น
เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้บัญญัติบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" หมายถึงหน่วยงาน 3 ประเภท ได้แก่
(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(2) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
(3) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
กรณีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 จึงมีประเด็นพิจารณาความเป็นรัฐวิสาหกิจเฉพาะตาม (1) ของบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ว่า กองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ เป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือเป็นกิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือเป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือไม่
ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีการพิจารณาขอบเขตและความหมายขององค์กรทั้งสามประเภทข้างต้นไว้แล้ว โดยกรณีองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หมายความถึงเฉพาะองค์การที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496
กรณีกิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น ลักษณะของกิจการของรัฐดังกล่าว ต้องเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษหรือทุนของกิจการประกอบด้วยเงินงบประมาณของแผ่นดินและทรัพย์สินของแผ่นดิน และกรณีหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของนั้นหมายถึงหน่วยงานในรูปแบบอื่นใดที่ประกอบธุรกิจโดยรัฐบาลเป็นเจ้าของหน่วยงานนั้น
เมื่อพิจารณาตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 29 ตรี เป็นกองทุนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในธนาคารแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ และมีหน้าที่และอำนาจในการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.กำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555
รวมทั้งดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินตามมาตรา 29 สัตต แห่งพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ โดยเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ประกอบด้วย (1) เงินและทรัพย์สินตามมาตรา 29 จัตวา (2) เงินที่จัดสรรให้จากเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 29 สัตต และ (3) เงินที่สถาบันการเงินนำส่งให้แก่กองทุนตามมาตรา 43/5 เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน
เมื่อพิจารณากรณีการจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และลักษณะการดำเนินกิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แล้ว จะเห็นได้ว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินและสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับระบบสถาบันการเงิน โดยมิได้มีลักษณะเป็นการประกอบวิสาหกิจหรือกิจการเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่น
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงไม่เป็นองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล ไม่เป็นกิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น และไม่เป็นหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
ประกอบกับกองทุนเพื่อการพื้นพูฯ ได้ตั้งขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นงานฝ่ายหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงมีสถานภาพเช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย
ดังนั้น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (1) แห่งบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
ในประเด็นว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะเข้าลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทอื่นตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้หรือไม่ นั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่า การพิจารณาการเป็น "หน่วยงานของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ต้องพิจารณาประกอบกับบทนิยามคำว่า "หน่วยรับงบประมาณ" ด้วย เนื่องจากการเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของหน่วยงานที่จะเป็นหน่วยรับงบประมาณตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ดังนั้น การพิจารณาการเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการขอรับหรือได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น
และโดยที่ในการดำเนินกิจการกองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ ที่มาของเงินกองทุนเป็นเงินและทรัพย์สินที่ได้รับจากการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกองทุนฯ และเงินที่ได้รับจัดสรรจากเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้รับเงินงบประมาณรายจ่ายหรือเงินอุดหนุนจากงบประมาณแต่อย่างใด
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จึงไม่เป็นหน่วยรับงบประมาณ และไม่อยู่ในความหมายของ "หน่วยงานของรัฐ" ไม่ว่าประเภทใดตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับสถานะของธนาคารกรุงไทยฯ ว่าจะเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 หรือไม่ นั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ธนาคารกรุงไทยฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นจำนวน 7,696,248,833 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 55.07 ของหุ้นทั้งหมด เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่เป็นส่วนราชการ และได้พิจารณาข้างต้นแล้วว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (1) ของบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ในมาตรา แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ
แม้ว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยฯ เกินร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ก็ไม่ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า"รัฐวิสาหกิจ" ในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
อนึ่ง คำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ การพิจารณาว่าหน่วยงานใดเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ข้างต้นจึงเป็นการพิจารณาความเป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 เท่านั้น
ประเด็นที่สอง กองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ และธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ภายใต้บังคับแห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่ อย่างไร นั้น
เห็นว่า โดยที่ข้อหารือของกองทุนเพื่อการพื้นฟูฯ เป็นประเด็นเกี่ยวกับการบังคับใช้หรือการปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิตามมาตรา 28 (3) และมาตรา 106 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และการกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการในขณะอยู่ในตำแหน่งตามมาตรา 126 วรรคหนึ่ง
รวมทั้งการกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ต้องห้ามดำเนินกิจการภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 127 ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการพิจารณา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิศษ) จึงไม่พิจารณาให้ความเห็นในประเด็นนี้
ประเด็นที่สาม หากสถานภาพของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หรือธนาคารกรุงไทยฯเปลี่ยนแปลงจากที่คณะกรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยฯ แทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูๆ ตามที่กระทรวงการคลังร้องขอ และกระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ได้หรือไม่ เพียงใด นั้น
เห็นว่า เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 และมีกฎระเบียบที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดขึ้น การมอบอำนาจหรือการมอบฉันทะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้รับมอบย่อมจะต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด อีกทั้งเมื่อธนาคารกรุงไทยฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 จึงอยู่ในบังคับที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ดังกล่าว
กรณีการมอบฉันทะของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กระทรวงการคลังใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยฯ แทนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ย่อมต้องดำเนินการให้เป็นตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
ส่วนปัญหาว่ากระทรวงการคลังจะกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ได้หรือไม่ นั้น เมื่อธนาคารกรุงไทยฯ เป็นบริษัทมหาชนจำกัด การดำเนินกิจการและการกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยฯ ย่อมต้องดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
อ่านประกอบ :
เปิดบันทึกกฤษฎีกา! ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ รสก. หลังกองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่ไม่เป็น 'องค์การของรัฐ'
เปิดที่มาตีความใหม่! ก่อน ‘กฤษฎีกา’ ชี้ขาด ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/