‘คณะกรรมการวินิจฉัยฯ’ ชี้ ‘บมจ.ธนาคารกรุงไทย’ ไม่ใช่ ‘หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ’ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ-พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯแล้ว หากเข้ามาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จะต้องวางหลักประกันสัญญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2565 นายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการวินิจฉัยวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 1489 เรื่อง สถานะของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
แจ้งไปยังปลัดกระทรวง อธิบดี อธิการบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการ หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า ขณะนี้ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้เป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และไม่ได้เป็น ‘หน่วยงานของรัฐ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้ว
ดังนั้น กรณีที่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จะต้องปฏิบัติระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะต้องวางหลักประกันสัญญาตามระเบียบฯ ข้อ 168 แต่เพื่อมิให้กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างและให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้ จึงอนุมัติผ่อนผันการวางหลักประกันสัญญาตามระเบียบฯ ข้อ 168 สำหรับสัญญาที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ก่อนมีการแจ้งเวียนหนังสือฉบับนี้ โดยให้ดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้
สำหรับรายละเอียดของหนังสือฉบับดังกล่าว มีดังนี้ ด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีคำวินิจฉัยตามเรื่องเสร็จที่ 1397/2563 ในส่วนของสถานภาพของบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.ธนาคารกรุงไทย) ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยที่แก้ไขเพิ่มเติม และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่า บมจ.ธนาคารกรุงไทย มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
ประกอบกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 โดยมีกองทุนเพื่อการพินฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 55.07 ของหุ้นทั้งหมด
เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไม่ได้เป็นส่วนราชการ และไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 จึงส่งผลให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ไม่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 (2) และ (3) แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
และตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 4 ได้บัญญัติ นิยามคำว่า ‘หน่วยงานของรัฐ’ หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับชองรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่ง ‘รัฐวิสาหกิจ’ หมายความถึงรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 กล่าวคือ ต้องเป็นบริษัทที่มีส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50
คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1.กรณีที่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย มีกองทุนเพื่อการพินฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มิได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามนิยามคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตาม (ก) นัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และกฎหมายอื่น และไม่เป็นองค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502
การที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บมจ.ธนาคารกรุงไทย จึงทำให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย มิได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามนิยามคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ ตาม (ข) (ค) (ง) และ (จ) นัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ประกอบกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย จัดตั้งตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ดังนั้น บมจ. ธนาคารกรุงไทย จึงไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามนิยามคำว่า ‘หน่วยงานของรัฐ’ นัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ ตั้งแต่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย มีโครงสร้างการถือหุ้นในลักษณะดังกล่าว
2.กรณีหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 169 กำหนดให้ไม่ต้องวางหลักประกันสัญญา ซึ่งในขณะนี้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย มิได้เป็นหน่วยงานชองรัฐแล้ว จึงต้องวางหลักประกันสัญญาตามระเบียบฯ ข้อ 168
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อมิให้กระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างและให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้ จึงอนุมัติผ่อนผันการวางหลักประกันสัญญาตามระเบียบฯ ข้อ 168 สำหรับสัญญาที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ก่อนมีการแจ้งเวียนหนังสือฉบับนี้ โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามสัญญาต่อไป
อ่านประกอบ :
ทางการ! ราชกิจจาฯประกาศ 'สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารกรุงไทย’ สิ้นสภาพ
'กรุงไทย'มี 2 สถานะ!สบน.ชี้เป็น 'รัฐวิสาหกิจ' ตามพ.ร.บ.บริหารหนี้ฯ-เปิดทาง'คลัง'ค้ำเงินกู้
เปิดเหตุผล’คลัง-สำนักงบฯ’ ให้หน่วยงานรัฐใช้ ‘บัญชีกรุงไทย’หลังพ้น รสก.-ส่อขัด รธน.หรือไม่?
ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเอกชน! สนง.กฤษฎีกาแจงกรณี 'กรุงไทย' พ้น ‘รัฐวิสาหกิจ’
ไฟเขียวหน่วยงานรัฐใช้บัญชีเงินฝาก'กรุงไทย'ต่อ แม้พ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ
แจงผล‘กรุงไทย’พ้นรสก.!‘กรรมการ-ซีอีโอ-พนง.’ไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคณะพิเศษ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’
เปิดบันทึกกฤษฎีกา! ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ รสก. หลังกองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่ไม่เป็น 'องค์การของรัฐ'
เปิดที่มาตีความใหม่! ก่อน ‘กฤษฎีกา’ ชี้ขาด ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.