“ธนาคารกรุงไทยฯ จึงขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐยังคงมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงไทยฯ ต่อไปได้… เนื่องจากธนาคารยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่ว่าด้วยการถือหุ้นของกองทุนเพื่อการพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ร้อยละ 55.07) หรือโดยภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของธนาคารกรุงไทยฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับฝากเงินจกหน่วยงานของรัฐ และต่อภารกิจต่างๆที่ธนาคารกรุงไทยฯ ได้รับมอบหมายตามนโยบายของรัฐ…”
..................
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
สำหรับเนื้อหาสาระของร่างระเบียบกระทรวงการคลังฯฉบับนี้ กำหนดให้ยกเลิกความในข้อ 20 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 20 การเบิกเงินจากคลัง ให้หน่วยงานผู้เบิกปฏิบัติดังนี้
(1) เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง สำหรับเงินงบประมาณหนึ่งบัญชี และเงินนอกงบประมาณหนึ่งบัญชี
(2) นำข้อมูลตาม (1) หรือของเจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิรับเงิน กรณีจ่ายตรงเจ้าหนี้ ส่งให้แก่กรมบัญชีกลางเพื่อสร้างเป็นข้อมูลหลักผู้ขายในระบบ
(3) ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคำขอเบิกเงินก่อนส่งคำขอเบิกเงินไปยังกรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด แล้วแต่กรณี
(4) ตรวจสอบการจ่ายเงินของกรมบัญชีกลางตามคำขอเบิกเงินจากรายงานในระบบ”
การปรับปรุงเนื้อหาในร่างระเบียบกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับกับกรณีที่ ‘ธนาคารกรุงไทย’ พ้นจากสภาพการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ เป็นการเฉพาะ
หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษตีความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ส่งให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯถือหุ้นในสัดส่วน 55.07% ของหุ้นทั้งหมด พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจตามไปด้วย
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากเอกสารที่นำเสนอให้ครม. เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....นั้น หน่วยงานรัฐสำคัญๆ เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ให้ความเห็นสนับสนุนข้อเสนอกรณีให้หน่วยงานของรัฐยังคงเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทยต่อไป ดังนี้
กระทรวงการคลัง ระบุว่า “สืบเนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่าธนาคารกรุงไทยฯ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ
ธนาคารกรุงไทยฯ จึงขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้หน่วยงานของรัฐยังคงมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงไทยฯ ต่อไปได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงินการจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562
เนื่องจากธนาคารยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่ว่าด้วยการถือหุ้นของกองทุนเพื่อการพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ร้อยละ 55.07) หรือโดยภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของธนาคารกรุงไทยฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อการรับฝากเงินจกหน่วยงานของรัฐ และต่อภารกิจต่างๆ ที่ธนาคารกรุงไทยฯ ได้รับมอบหมายตามนโยบายของรัฐ
และโดยที่ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง พ.ศ.2562 ข้อ 20 (1) กำหนดว่า การเบิกเงินจากคลัง ให้หน่วยงานผู้เบิกเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ สำหรับเงินงบประมาณหนึ่งบัญชีและเงินนอกงบประมาณหนึ่งบัญชี ซึ่งในการกำหนดดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกิจการของรัฐ
ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานผู้เบิกสามารถใช้บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยฯได้ต่อไป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน และทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและผลักดันโครงการสำคัญของภาครัฐสามารถให้บการกับหน่วยงานผู้เบิกต่อไปได้
จึงได้ดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ... ขึ้น โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้หน่วยงานผู้เบิกเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นพู่และพัฒนาระบบสถาบันการงินถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง สำหรับเงินงบประมาณหนึ่งบัญชีและเงินนอกงบประมาณหนึ่งบัญชี
กระทรวงการคลังขอเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ....”
ขณะที่สำนักงบประมาณ ระบุว่า “ที่ผ่านมาธนาคารกรุไทย จำกัด (มหาชน) ถือว่ามีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานผู้เบิก จึงสามารถเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ แต่เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 จึงมีผลให้หน่วยงานผู้เบิก ไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานผู้เบิกสามารถเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง สำหรับเงินงบประมาณหนึ่งบัญชี และเงินนอกงบบระมาณหนึ่งบัญชี
เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสถานภาพของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งผลกระทบต่อการรับฝากงินจากหน่วยงานของรัฐ และต่อภารกิจต่างๆ ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับมอบหมายตามนโยบายของรัฐ จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบกระทวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ...."
อย่างไรก็ตาม การที่ครม.เห็นชอบร่างระเบียบกระทวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ซึ่งให้หน่วยงานของรัฐเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้วนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 75 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ"
และมาตรา 75 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ”
จากนี้ต้องติดตามต่อไปว่า ‘ธนาคารกรุงไทย’ ซึ่งพ้นจากสภาพรัฐวิสาหกิจไปแล้ว แต่ยังระบุว่า ‘เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ’ จะเปลี่ยนบทบาทไปจากเดิมอย่างไร และจะได้รับสิทธิพิเศษเหมือนที่เคยได้จากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐหรือไม่
อ่านประกอบ :
ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเอกชน! สนง.กฤษฎีกาแจงกรณี 'กรุงไทย' พ้น ‘รัฐวิสาหกิจ’
ไฟเขียวหน่วยงานรัฐใช้บัญชีเงินฝาก'กรุงไทย'ต่อ แม้พ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจ
แจงผล‘กรุงไทย’พ้นรสก.!‘กรรมการ-ซีอีโอ-พนง.’ไม่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานฯ
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคณะพิเศษ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’
เปิดบันทึกกฤษฎีกา! ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ รสก. หลังกองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่ไม่เป็น 'องค์การของรัฐ'
เปิดที่มาตีความใหม่! ก่อน ‘กฤษฎีกา’ ชี้ขาด ‘กองทุนฟื้นฟูฯ-กรุงไทย’ พ้นรัฐวิสาหกิจหรือไม่
‘กรุงไทย’ ส่อพ้นรัฐวิสาหกิจ! กฤษฎีกาตีความใหม่-กองทุนฟื้นฟูฯหุ้นใหญ่เป็นองค์การมหาชน
ทรัพย์สิน 2 บิ๊กแบงก์รัฐวิสาหกิจครบ 3 ปี ‘อภิรมย์’ธ.ก.ส. 137 ล.-‘ผยง’กรุงไทย 468 ล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage