“…การกันวงเงินจากวงเงินทุนหมุนเวียนมาใช้เป็น Equity Financing มีความเสี่ยงสูง เป็นการกู้ในส่วนทุนทางอ้อมผ่านบริษัทที่จัดตั้งใหม่ เพื่อนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งธนาคารกรุงไทยฯ จะแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวไว้ภายในธนาคาร (Downside Risk) ซึ่งนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ยอมรับในหลักเกณฑ์นี้…”
............................................
จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการไต่สวน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH โดยมิชอบ ที่มี ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ และมี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการฯ
ต่อมาเดือน ก.ย.2566 คณะกรรมการไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย ฐานกระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดต่อตำแหน่ง กรณีร่วมกันนำเสนอและอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติของธนาคารฯ เป็นเหตุให้ธนาคารฯได้รับความเสียหาย
พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะนั้น ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ฯ ทำให้มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฯรวม 32 ราย แต่จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าการไต่สวนคดีนี้ กลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก หลังจาก ณัฐจักร และสุภา พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ)
สำนักข่าวอิศราพบว่า การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการไต่สวน ตรวจสอบพบพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 4 ครั้ง วงเงินรวม 1.1 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’)
โดยใน 3 ตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อฯ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ,อนุมัติสินเชื่อฯ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และอนุมัติสินเชื่อฯ 4,805 ล้านบาท ให้บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุเวียนฯ เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในตอนนี้ ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอสรุปพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อนำไปซื้อหุ้นสามัญ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ซึ่งทำให้ธนาคารกรุงไทยฯได้รับความเสียหาย มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘บิ๊กกรุงไทย’แจ้ง‘ทีมสินเชื่อ’ปล่อยกู้ซื้อหุ้นสามัญ EARTH
ภายหลังจากผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และเจ้าหน้าที่ธนาคารฯ รวมถึงทีมผู้บริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะนั้น กลับมาจากการเดินทางไปดูเหมือง PT.JMM ที่อินโดนีเซีย หลังจากลงเครื่องบินที่ประเทศไทย ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยฯรายหนึ่ง แจ้งทีมสินเชื่อว่า จะให้วงเงินสินเชื่อระยะยาว 1,500 ล้านบาท แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพิ่มเติม โดยที่บริษัทฯไม่ได้มีการร้องขอมาตั้งแต่ต้น
ต่อมา ทีมอำนวยสินเชื่อ จัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย โดยขออนุมัติสินเชื่อ (Term Loan) จำนวน 1,500 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลจาก 2 ตระกูล เพื่อนำไปซื้อหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยแหล่งเงินที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้ก้อนนี้ คือ เงินปันผลจากหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ และให้นำหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มาเป็นหลักประกันในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของยอดเงินต้น พร้อมทั้งให้ธนาคารฯได้รับเงินปันผลของหุ้นหลักประกันดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ฯ รวมทั้งให้บุคคล 2 ราย ค้ำประกันในฐานะส่วนตัว
จากนั้น หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ ได้พิจารณารายงานการเสนอขอสินเชื่อฯ 1,500 ล้านบาท และมีความเห็นสรุปได้เป็น 3 ประเด็น คือ
1.การกู้เงินครั้งนี้ จัดเป็นสินเชื่อประเภท Equity Finance เพื่อนำไปซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งปัจจุบันธนาคารฯได้ให้เงินกู้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เป็นจำนวนเงินตาม LEQ ประมาณ 13,246.95 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อสิทธิขุดเจาะถ่านหินและหมุนเวียนในธุรกิจเป็นจำนวนเงินที่สูง
หากให้กู้ในส่วนทุนทางอ้อมผ่าน ‘บริษัทที่จัดตั้งใหม่’ เพื่อนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารจะแบกรับ Downside Risk ไว้เอง และหากให้วงเงินกู้ครั้งนี้ เมื่อรวมกับวงเงินสินเชื่อเดิมแล้ว จะทำให้เงินกู้ยืมกับธนาคารทั้งหมดต่อสินทรัพย์รวมจะอยู่ที่ 80% ดังนั้น จึงควรให้ผู้กู้ลงทุนเอง เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารฯ
อีกทั้งในการให้สินเชื่อประเภท Equity Finance นั้น ธนาคารกรุงไทย มีนโยบายกำหนดว่า เป็นสินเชื่อที่พึงระมัดระวัง ให้พิจารณาให้รอบคอบ หากหน่วยงานสินเชื่อที่ประสงค์ขออนุมัติ จะต้องมีเหตุผลและบทวิเคราะห์ที่ชัดเจนถึงผลประโยชน์ที่ธนาคารกรุงไทยจะได้รับ และการจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
2.ตามนโยบายสินเชื่อระบุว่า ธนาคารฯจะไม่สนับสนุนการให้สินเชื่อเพื่อเก็งกำไร ซึ่งในครั้งนี้ธนาคารฯให้วงเงินกู้เพื่อให้บริษัทฯ (เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด) ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจทำให้ราคาหุ้นของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพิ่มขึ้น และผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้ประโยชน์จากธุรกรรมดังกล่าว จึงควรตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นโดยทั่วไปตามปกติ ไม่ทำให้เกิดการเก็งกำไร
นอกจากนี้ หากการทำ Share Swap เหมือง HARY ไม่ได้ข้อสรุป แต่ผู้กู้และผู้ให้กู้ยืม (Obligor) ได้เข้าไปถือหุ้นใน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในสัดส่วนเกิน 50% หากผู้กู้และ Obligor จำเป็นต้องขายหุ้น อาจทำให้เกิดกำไร จะเข้าข่ายเป็นการให้สินเชื่อ เพื่อเก็งกำไรหรือไม่ จึงควรตรวจสอบและสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ธนาคารฯจะให้กู้ครั้งนี้ได้หรือไม่
3.แหล่งเงินที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้ ภายหลังการทำ Share Swap นั้น เห็นว่า แหล่งรายได้ที่มาจากเงินปันผลรับจาก บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพียงปีละ 1 ครั้ง มีความเสี่ยง เพราะความสามารถในการชำระหนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะที่ปัจจุบันบริษัทฯมีแนวโน้มทำกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสมมติฐานที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ กำหนดให้มีการจ่ายปันผลในสัดส่วน 40% ของกำไรสุทธิ นั้น เห็นว่า ธุรกิจถ่านหินเป็นสินค้า Commodity ซึ่งมีความผันผวนของราคาอย่างมาก หากราคาถ่านหินตกต่ำจะส่งผลให้บริษัทฯไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ 40% อันจะทำให้ผู้กู้ฯไม่สามารถชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้นได้ตามเงื่อนไข
ต่อมา ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้จัดทำคำชี้แจง หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ โดยระบุว่า จากการสอบถามฝ่ายกำกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์แจ้งว่า การให้เงินสินเชื่อ Equity Finance ไม่ได้เป็นข้อห้ามจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นการให้สินเชื่อกับ ‘บริษัทที่จัดตั้งใหม่’ ที่ถือหุ้นโดยบุคคลจาก 2 ตระกูล ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงไทยฯ
@‘ฝ่ายกำกับฯ’ตอบ 4 ประเด็นปมปล่อยกู้ซื้อหุ้น 1.5 พันล้าน
อย่างไรก็ดี ภายหลังจาก ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้ลงนามในคำชี้แจงต่อหน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อไปแล้ว ปรากฏข้อมูลว่า ได้สอบถามไปยังฝ่ายกำกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ธนาคารกรุงไทย ถึงการให้สินเชื่อแก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ว่า
“การทำธุรกรรมดังกล่าว อาจส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น และผู้ถือหุ้นเดิมได้รับประโยชน์ ซึ่งการให้สินเชื่อในครั้งนี้ ถือเป็นการทำธุรกรรมโดยทั่วไปตามปกติ หรือเข้าข่ายการให้สินเชื่อเพื่อเก็งกำไร และจะผิดหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่”
ต่อมา ฝ่ายกำกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ทำหนังสือตอบข้อหารือใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.การให้สินเชื่อแก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อนำไปซื้อหุ้นบริษัทฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการให้สินเชื่อประเภท Equity Finance ซึ่งตามนโยบายสินเชื่อของธนาคารฯ ถือเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และไม่สนับสนุนการให้สินเชื่อลักษณะดังกล่าว
แต่หากหน่วยงานสินเชื่อมีความประสงค์จะขออนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทดังกล่าว จะต้องมีเหตุผลและบทวิเคราะห์ที่ชัดเจนถึงผลประโยชน์ที่ธนาคารได้รับ และการจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยต้องนำเสนออนุมัติต่อ 'คณะกรรมการของธนาคาร' โดยผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อก่อน
2.ในการเข้าตรวจสอบธนาคารประจำปีของผู้ตรวจการฯ ธปท.ในปีก่อน ได้ตรวจพบว่า ธนาคารกรุงไทยฯ มีการให้สินเชื่อประเภท Equity Finance เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายให้สินเชื่อของธนาคารฯที่พึงระมัดระวังสินเชื่อประเภทนี้
และขอให้ธนาคารฯกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการพิจารณาอนุมัติและควบคุมติดตามสินเชื่อประเภทนี้ให้ชัดเจน ซึ่งธนาคารฯได้ดำเนินการและแจ้งให้หน่วยงานสินเชื่อถือปฏิบัติแล้ว ดังนั้น ในการให้สินเชื่อที่เข้าข่าย Equity Finance จึงต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
3.กรณีธนาคารฯจะพิจารณาสินเชื่อให้นิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่เป็นบริษัทที่จัดตั้งใหม่ ซึ่งมีบุคคลตระกูล X ถือหุ้น 100% มีประเด็นต้องพิจารณาว่า เป็นการให้สินเชื่อที่มีลักษณะซับซ้อน ซึ่งมิใช่การให้สินเชื่อโดยตรงตามปกติตามนโยบายสินเชื่อฯข้อ 3.1.4 หรือไม่ หากใช่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ‘คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง’ ก่อน
4.สำหรับประเด็นด้านหลักเกณฑ์นั้น หากหน่วยงานสินเชื่อมีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า บริษัทที่ธนาคารจะให้สินเชื่อดังกล่าว ไม่ถือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรรมการธนาคารหรือผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ตั้งแต่ระดับผู้บริหารกลุ่มขึ้นไปตามมาตรา 48 (1) แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ก็ไม่เข้าข่ายห้ามให้สินเชื่อ
ต่อมา คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย พิจารณาคำขอสินเชื่อฯแล้ว เห็นว่า ตามที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีแผนลงทุนในเหมืองถ่านหิน HARY มูลค่า 3,600 ล้านบาท โดยทำ Share Swap ที่ราคา 8.13 บาท/หุ้น คิดเป็นจำนวนหุ้น 442.8 ล้านหุ้น ซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมจาก 2 ตระกูล ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เหลือต่ำกว่า 40%
จึงขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้ใกล้เคียงเดิมภายหลังการทำ Share Swap แล้ว โดยจัดตั้ง ‘บริษัทใหม่’ และให้บริษัทจัดตั้งใหม่นี้ ถือหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่น้อยกว่า 30% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ทั้งนี้ มีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยต้องดำรงสัดส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่น้อยกว่า 40% ของทุนจดทะเบียนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการถือหุ้นดังกล่าว
จากนั้นมีการเสนอเรื่องขอสินเชื่อไปยัง คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการฯ มีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 1,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นสามัญ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้ระงับการใช้วงเงิน P/C+FPL+D.L/C+P/N+L/C+T/R+I/F จำนวน 500 ล้านบาท และวงเงิน Commodity จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (LEQ เท่ากับ 785.4 ล้านบาท) เป็นการชั่วคราว
@หลีกเลี่ยงเสนอ‘คณะกรรมการธนาคาร’อนุมัติสินเชื่อ
ความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน
คณะกรรมการไต่สวน พิจารณากรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 1,500 ล้านบาท พบว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดใน 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก สินเชื่อวงเงินสินเชื่อระยะยาว 1,500 ล้านบาท มีลักษณะเป็นสินเชื่อประเภท Equity Financing ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร ซึ่งเป็นสินเชื่อที่พึงระมัดระวัง ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ตามคำสั่งที่ 652/2547 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมนโยบายสินเชื่อ สั่ง ณ วันที่ 27 ต.ค.2547 คำสั่งที่ ธ.472/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมนโยบายสินเชื่อ สั่ง ณ วันที่ 2 เม.ย.2557 และคำสั่งที่ ธ.1033/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมนโยบายสินเชื่อ สั่ง ณ วันที่ 9 มิ.ย.2558
อีกทั้งการกันวงเงินจากวงเงินทุนหมุนเวียนมาใช้เป็น Equity Financing มีความเสี่ยงสูง เป็นการกู้ในส่วนทุนทางอ้อมผ่านบริษัทที่จัดตั้งใหม่ เพื่อนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารฯ จะแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวไว้ภายในธนาคารฯ (Downside Risk) ซึ่งนโยบายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่ยอมรับในหลักเกณฑ์นี้ เพราะอาจทำให้ราคาหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น และผู้ถือหุ้นเดิมได้รับประโยชน์จากธุรกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ การที่กรรมการบริหารและผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อวงเงิน เห็นว่า ถ้ามีการปล่อยวงเงินดังกล่าวจะทำให้วงเงินรวมในการปล่อยสินเชื่อนั้นเกิน 15,000 ล้านบาท จึงหาทางทำให้วงเงินดังกล่าวที่จะปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 15,000 ล้านบาท
จึงมีการกันวงเงิน Trade Finance ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยระงับการใช้วงเงิน P/C+FPL+D.L/C+P/N+L/C+T/R+I/F จำนวน 500 ล้านบาท และวงเงิน Commodity จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (LEQ เท่ากับ 785.4 ล้านบาท) เป็นการชั่วคราว รวมคิดเป็นวงเงินตาม LEQ เท่ากับ 1,385.40 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกันวงเงินดังกล่าว ทำให้การอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ไม่ต้องนำเสนอให้ คณะกรรมการธนาคาร อนุมัติตามอำนาจ และเป็นการระงับวงเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ มาใช้เป็น Equity Financing ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งแหล่งเงินที่จะนำมาชำระหนี้คืนให้ธนาคารกรุงไทยฯ มีจำนวนสูงถึง 41% มาจากการ Refinance ไปยังสถาบันการเงินอื่น ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ มีความเสี่ยงสูง
ลักษณะของการกระทำดังกล่าว จึงเป็นการสร้างความเสียหายโดยตรง อันสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ความเห็นว่า คณะกรรมการบริหาร อนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาวให้แก่ บริษัท เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด (EH) ก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล
ขณะเดียวกัน การให้วงเงินสินเชื่อระยะยาว 1,500 ล้านบาท เกิดจากการกันวงเงิน Working Capital จำนวน 500 ล้านบาท และระงับวงเงิน Commodity จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (วงเงินสินเชื่อ 4,805 ล้านบาท) ที่ให้เกินกว่าความต้องการของลูกหนี้อยู่แล้ว โดยมีความเห็นและเหตุผลสนับสนุนวัตถุประสงค์ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นครั้งนี้
เนื่องจากการทำ Share Swap เหมืองกับ PT.Belayon Prima Coal (BPC) ซึ่งทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 ตระกูลใน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธลดลงเหลือประมาณเพียง 40% อาจผิดเงื่อนไขการอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 100 ล้านเหรียญสหรัฐก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงต้องให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้น เพื่อไปซื้อหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และความจำเป็นในการควบคุมการจ่ายเงินปันผล
ในขณะที่ธนาคารมีนโยบายการให้สินเชื่อที่มีลักษณะเสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึง Equity Financing ที่จะต้องไม่เป็นลักษณะการเก็งกำไร หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น การให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ครั้งนี้ อาจเข้าข่ายไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อของธนาคาร
ประเด็นที่สอง การกันวงเงินจากวงเงินทุนหมุนเวียนมาใช้เป็นวงเงินในลักษณะ Equity Finance อาจไม่ได้เป็นการจำกัด Credit Exposure เนื่องจากสินเชื่อ Equity Finance และสินเชื่อ Trade Finance มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ทำให้การอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว ไม่ได้ส่งต่อให้ ‘คณะกรรมการธนาคาร’ อนุมัติตามอำนาจ
@‘กรุงไทย’แบกรับความเสี่ยง-อาจเข้าข่ายเก็งกำไรหุ้น
ประเด็นที่สาม การให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นการนำเงินให้กู้ยืมไปซื้อหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งเป็นการให้กู้ในส่วนทุนทางอ้อม จึงเท่ากับให้ธนาคารรับ Downside Risk ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของ บริษัท เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
ประเด็นที่สี่ ภายหลังการเบิกเงินกู้ของ บริษัท เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด รวม 61 ครั้ง ทำให้ธนาคารกรุงไทยมีหุ้น บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด เพิ่มขึ้น 498.29 ล้านหุ้น หรือประมาณ 9% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท
โดยสัดส่วนที่ธนาคารฯได้มาใกล้เคียงกับจำนวนหุ้นที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ขายออกไป ดังนั้น จึงอาจพิจารณาได้ว่าการให้สินเชื่อแก่ บริษัท เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 1,500 ล้านบาท ในครั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์
“การพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 1,500 ล้านบาท Equity Finance ซึ่งเป็นสินเชื่อที่พึงระมัดระวัง โดยระงับการใช้วงเงินของวงเงินสินเชื่อ 4,805 ล้านบาท ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยระงับวงเงิน P/C+FPL+D.L/C+ P/N+L/C+T/R+I/F จำนวน 500 ล้านบาท และวงเงิน Commodity จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (LEQ เท่ากับ 785.40 ล้านบาท) รวมคิดเป็นวงเงินตาม LEQ เท่ากับ 1,285.40 ล้านบาทมาสมทบ
แล้วอนุมัติเพื่อหลีกเลี่ยงต่อการไม่นำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคาร มีลักษณะเป็นการเก็งกำไร และแหล่งเงินที่จะนำมาชำระหนี้คืนให้ธนาคารกรุงไทยฯ มีจำนวนสูงถึง 41% มาจากการ Refinance ไปยังสถาบันการเงินอื่น ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงสูง
จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ คำสั่งที่ ธ.222/2545 คำสั่งที่ 652/2547 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมนโยบายสินเชื่อ สั่ง ณ วันที่ 27 ต.ค.2547 คำสั่งที่ ธ.472/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมนโยบายสินเชื่อ สั่ง ณ วันที่ 2 เม.ย.2557
และ คำสั่งที่ ธ.1033/2558 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมนโยบายสินเชื่อ สั่ง ณ วันที่ 9 มิ.ย.2558 (แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งที่ ธ.222/2545 เรื่องนโยบายสินเชื่อ ) หมวดที่ 3 นโยบายสินเชื่อ ข้อ 3.2 การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ข้อ 3.2.1 หลักการให้สินเชื่อ และข้อ 3.2.4 หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการชำระหนี้คืน และหลักประกัน และข้อ 3.1.4 การให้สินเชื่อที่พึงระมัดระวัง
และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงาน คำสั่งที่ ธ.(ว) 34/2556 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 243) สั่ง ณ วันที่ 28 พ.ค.2556 ข้อ 1.3 การพิจารณาสินเชื่อ และคำสั่งที่ ธ.904/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สั่ง ณ วันที่ 4 มิ.ย.2557 ข้อ 6.2.3 อำนาจในการอนุมัติสินเชื่อ” คณะกรรมการไต่สวนฯ สรุปความเห็นกรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อฯ จำนวน 1,500 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
เหล่านี้เป็นสรุป 'พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด' กรณีธนาคารกรุงไทย อนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 1,500 ล้านบาท ในการซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นภาระหนี้ จำนวน 1,151.43 ล้านบาท!
อ่านประกอบ :
พฤติการณ์คดีเอิร์ธฯ(3) ‘กรุงไทย’ปล่อยกู้ 100 ล.ดอลล์ ไม่ขอหลักประกันเพิ่ม-สูญ 3.2 พันล.
พฤติการณ์คดีเอิร์ธฯ(2) ‘กรุงไทย’อนุมัติกู้ 4.8 พันล. เกินความต้องการใช้-หลักประกันไม่คุ้ม
พฤติการณ์คดีเอิร์ธฯ(1) ‘กรุงไทย’ปล่อยกู้ 1.3 พันล.ซื้อเหมืองอินโดฯ ไม่มีใบอนุญาตขุดถ่านหิน
ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’
ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ