“…อีกทั้งไม่มีการให้หลักประกันเพิ่ม โดยใช้หลักประกันของวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีอยู่กับธนาคารมาเป็นหลักประกันของวงเงินนี้ด้วย โดยไม่หลักประกันเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้หลักประกันด้อยลง ไม่คุ้มกับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ…”
.........................................
จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการไต่สวน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH โดยมิชอบ ที่มี ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ และมี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการฯ
ต่อมาเดือน ก.ย.2566 คณะกรรมการไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย ฐานกระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดต่อตำแหน่ง กรณีร่วมกันนำเสนอและอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติของธนาคารฯ เป็นเหตุให้ธนาคารฯได้รับความเสียหาย
พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะนั้น ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ฯ ทำให้มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฯรวม 32 ราย แต่จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าการไต่สวนคดีนี้ กลับไม่คืบหน้ามากนัก (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ)
สำนักข่าวอิศราพบว่า การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการไต่สวน ตรวจสอบพบพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 4 ครั้ง วงเงินรวม 1.1 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’)
โดยใน 2 ตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปซื้อเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย และอนุมัติวงเงินสินเชื่อ จำนวน 4,805 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการป้องกันความเสี่ยงฯ ซึ่งนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอสรุป ‘พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด’ กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,288 ล้านบาท) ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เงินชดเชยค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินจากเหมือง PT.JMM 78 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนหมุนเวียนฯ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ) ดังนี้
@ขอสินเชื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-ใช้เป็นทุนหมุนเวียน
การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ตัวแทน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้เข้าร่วมประชุมกับ ‘ทีมอำนวยสินเชื่อ’ โดยตัวแทน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แจ้งว่าบริษัทฯ มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มเติม ได้แก่
1.วงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่ ถนน ท่าเรือ ในเหมือง HARY จำนวน 1,500 ล้านบาท 2.วงเงินสินเชื่อระยะยาว 80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชำระตราสารหนี้ (Bond Bullet) เมื่อครบกำหนด 3 ปี และ3.วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 2,000 ล้านบาท
จากนั้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ สรุปรายละเอียดการขอวงเงินสินเชื่อฯ เสนอต่อธนาคารกรุงไทย ประกอบด้วย 1.ขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 2,500 ล้านบาท เพื่อรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น 2.ขอวงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ให้บริษัทในเครือในประเทศจีน และ 3.ขอวงเงินสินเชื่อเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เหมือง HARY) 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จัดส่งเอกสารประกอบการเสนอขอวงเงินสินเชื่อฯไปยังธนาคารกรุงไทย และแจ้งกับธนาคารฯว่า กลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จะได้รับใบอนุญาตทำเหมือง (IUP PO) ในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ต่อมา ทีมอำนวยสินเชื่อ จัดทำรายงานการขออนุมัติสินเชื่อของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้แก่ 1.ขอวงเงินสินเชื่อระยะยาวเพิ่มอีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยเงินที่บริษัทฯจ่ายเงินลงทุนสำหรับโครงการซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในอินโดนีเซียจาก PT.JMM 78 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2.เงินทุนหมุนเวียนทั่วไปในการดำเนินกิจการ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยทีมอำนวยสินเชื่อ ได้พิจารณาคำขอวงเงินสินเชื่อระยะยาว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ของบริษัทฯ แล้ว เห็นว่า ‘อยู่ในเกณฑ์ให้ได้’ และจากการตรวจสอบประวัติทางการเงินของบริษัทฯ พบว่าไม่มีประวัติเสียหายทางการเงิน จึงเสนอเรื่องไปให้ คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย พิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อฯดังกล่าว
จากนั้น หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ พิจารณาคำขอวงเงินสินเชื่อของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ และมีความเห็นว่า หากอนุมัติสินเชื่อเพิ่มอีก 78 ล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารฯจะให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าสิทธิการขุดเจาะถ่านหิน จึงควรให้วงเงินสินเชื่อ เพื่อชำระค่าก่อสร้างถนน จุดพักถ่าน ท่าเรือ และอุปกรณ์ขุดเจาะที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ เนื่องจากหลักประกันของลูกหนี้ ‘ด้อยลง’ กว่าที่เคยอนุมัติเดิม จึงควรมีการเจรจาให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพิ่มหลักประกันให้สัดส่วนวงเงินสินเชื่อต่อหลักประกันคงอัตราส่วนเดิม โดยการเจรจาเงื่อนไขหลักประกันในการขออนุมัติครั้งนี้ จะต้องไม่ด้อยกว่าการขออนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาวก้อนเดิม (40 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนการขอวงเงินสินเชื่อ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปในการดำเนินกิจการ (Permanent Working Capital) นั้น หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ มีความเห็นว่า หาก บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ประสงค์จะขอวงเงินเพื่อหมุนเวียนในกิจการเพิ่มเติม ควรพิจารณาเป็นวงเงิน Trade Finance ตามเดิม จะเหมาะสมกว่า
@'ทีมอำนวยการสินเชื่อ'ยืนยันปล่อยกู้ 100 ล้านดอลล์ฯได้
อย่างไรก็ตาม ทีมอำนวยการสินเชื่อ ได้ทำคำชี้แจง หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ สรุปได้เป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1.เงินกู้ธนาคารที่สนับสนุนโครงการฯเทียบกับเงินลงทุนรวมของโครงการที่ลงไปแล้ว คิดเป็น 89% ซึ่งยังไม่เกินกว่าเงินลงทุนของบริษัทฯ จึงเห็นว่า ‘น่าจะพิจารณาได้’ ประกอบกับบริษัทฯไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อลงทุนโครงการนี้เท่านั้น จึงน่าจะมองเป็น Corporate Finance ได้ โดยความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทฯ ‘ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้’
2.ทีมอำนวยการสินเชื่อ ได้เจรจาขอเพิ่มหลักประกันกับ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แล้ว แต่บริษัทฯไม่ยินยอมเพิ่มหลักประกัน โดยบริษัทฯแจ้งว่า ในขณะนั้นบริษัทฯอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอไถ่ถอนหลักประกันกับสถาบันการเงินอื่น อีกทั้งบริษัทฯเห็นว่า บริษัทฯมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
3.เนื่องจากบริษัทฯมีการจ่ายเงิน ‘ค่าสินค้าล่วงหน้า’ เป็นจำนวนมากให้แก่ซัพพลายเออร์ เพื่อล็อกปริมาณถ่านหินและมาร์จิ้น ซึ่งบางครั้งอาจนานเกิน 6 เดือน ซึ่งส่วนนี้บริษัทฯไม่สามารถไฟแนนซ์โดยใช้วงเงิน Trade Finance ได้ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯได้ออกตั๋ว B/E จำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในส่วนนี้
อีกทั้งแม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้ บริษัทฯมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ (W/C) ขึ้นลงแต่ละไตรมาส โดย W/C ต่ำสุดจะอยู่ที่ 2,610 ล้านบาท และเคยมีสูงถึง 9,374 ล้านบาท ดังนั้น วงเงิน Permanent Working Capital ที่บริษัทฯเสนอขอในครั้งนี้ ไม่เกินกว่า ‘ทุนหมุนเวียนต่ำสุด’ ในช่วงที่ผ่านมาของบริษัท จึงเห็นว่า ‘น่าจะพิจารณาได้’
ต่อมา คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย พิจารณาคำขอสินเชื่อของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ มีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่บริษัทฯ โดยให้ดำเนินการตรวจสอบเครดิตบูโรให้แล้วเสร็จก่อน หากไม่มีประวัติความเสียหายทางการเงิน จึงจะใช้วงเงินสินเชื่อได้
คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า หาก PT.TTP ซึ่งเป็นบริษัทลูก บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งได้สิทธิการขุดเจาะเหมือง PT.JMM จะก่อหนี้เพิ่ม จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกรุงไทยก่อน ยกเว้นเป็นการก่อหนี้กับกิจการในกลุ่มและหนี้การค้าจากการดำเนินงานปกติ
จากนั้นมีการเสนอเรื่องไปให้ คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย พิจารณา โดยคณะกรรมการบริหารฯ อนุมัติให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้รับวงเงินสินเชื่อระยะยาว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น 78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินจาก PT.JMM และ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปในการดำเนินกิจการ
โดยมีหลักประกัน คือ หุ้นของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่เป็นหลักประกันของวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ (วงเงินสินเชื่อเดิม) ที่มีอยู่กับธนาคารฯ มาเป็นหลักประกันของวงเงินสินเชื่อของวงเงินนี้ (วงเงินสินเชื่อ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทฯต้องปฏิบัติตาม 7 เรื่อง เช่น หาก PT.TTP จะก่อหนี้เพิ่ม ยกเว้นการก่อหนี้กับกิจการในกลุ่มและหนี้การค้าจากการดำเนินงานปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารฯก่อน และ PT.TTP จะไม่นำสิทธิการขุดเจาะถ่านหินฯ ไปก่อภาระผูกพันหรือเป็นหลักประกันเงินกู้ที่อื่น เป็นต้น
@เพิ่มวงเงินสินเชื่อให้‘กลุ่มเอิร์ธฯ’เกินความต้องการ
ความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน
คณะกรรมการไต่สวน พิจารณากรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประเด็นที่หนึ่ง การพิจารณาวงเงินสินเชื่อดังกล่าวนั้น ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 จำนวน 78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินจากเหมือง PT.JMM และส่วนที่ 2 จำนวน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปในการดำเนินกิจการ
โดย บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ประสงค์ขอวงเงินสินเชื่อ เพื่อชำระค่าก่อสร้างถนน จุดพักถ่าน ท่าเรือ และอุปกรณ์ในการขุดเจาะ จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทีมอำนวยสินเชื่อ กลับนำเสนอขอวงเงินเพิ่มให้กลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เป็นจำนวนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงไว้ว่า หากอนุมัติสินเชื่อเพิ่มอีกจำนวน 78 ล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารจะให้กู้ได้ 100% ของมูลค่าสิทธิการขุดเจาะถ่านหิน จึงควรให้เพื่อชำระค่าก่อสร้างถนน จุดพักถ่าน ท่าเรือ และอุปกรณ์ในการขุดเจาะ จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
และวงเงินส่วนที่ 2 จำนวน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสินเชื่อประเภท Permanent Working Capital เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการเพิ่มเติม ซึ่งควรกำหนดเป็นสินเชื่อระยะสั้น แต่กำหนดวงเงินเป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาว แต่ทีมอำนวยสินเชื่อกลับบอกว่า บริษัทไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อลงทุนในโครงการนี้เท่านั้น จึงน่าจะมองเป็น Corporate Finance ได้ และ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีการจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าจำนวนมาก
การอนุมัติดังกล่าว มีลักษณะเป็นการนำเสนอขอวงเงินสินเชื่อ ที่เกินความจำเป็นและความต้องการของกลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนหลักการอนุมัติจาก Trade Finance เป็น Corporate Finance ซึ่งทำให้บริษัทฯสามารถนำวงเงินที่ได้รับดังกล่าวไปใช้ในกิจการใดก็ได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติใดๆจากธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ ไม่อาจตรวจสอบหรือกำกับดูแลการใช้วงเงินของบริษัท อันมีผลโดยตรงกับการเกิดความเสียหายในครั้งนี้
@ไม่ขอหลักประกันเพิ่ม ทำให้‘กรุงไทย’มีความเสี่ยงสูง
ประเด็นที่สอง วงเงินสินเชื่อส่วนที่ 1 จำนวน 78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินจากเหมือง PT.JMM นั้น เป็นกรณีเดียวกับวงเงิน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ในขณะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่พบเอกสารที่สำคัญ ได้แก่ สัญญาซื้อสิทธิการขุดถ่านหินจากเหมือง PT.JMM เอกสารการทำ Due Diligence และหรือ Legal Opinion
ที่สำคัญไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินการขุดเหมือง (IUP OP) และไม่มีการตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตแล้วหรือไม่
อีกทั้งไม่มีการให้หลักประกันเพิ่ม โดยใช้หลักประกันของวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีอยู่กับธนาคารมาเป็นหลักประกันของวงเงินนี้ด้วย โดยไม่หลักประกันเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารมีความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้หลักประกันด้อยลง ไม่คุ้มกับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจสอบวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อสิทธิในการขุดถ่านหิน พบข้อสังเกต ดังนี้
1.ธนาคารกรุงไทยกำหนดเงื่อนไขการเบิกใช้วงเงินโดยให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แสดงเอกสารหลักฐานการโอนเงินให้กับ PT.TIP จำนวน 118.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบการเบิกใช้เงินกู้ในสัดส่วนไม่เกิน 33.83% แต่ไม่เกิน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ และ PT.TTP เป็นกิจการในกลุ่มเดียวกัน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสารประกอบการเบิกจ่ายที่นำมาประกอบการเบิกใช้มีลักษณะการโอนเงินหลายครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินค่าเหมืองที่มักมีการจ่ายเงินครั้งใหญ่เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
2.ไม่พบการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการทำเหมือง PT.JMM ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเป็นในการได้ใบอนุญาต IUP ประเภท Production Operation
3.ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของวงเงินสินเชื่อระยะยาวที่กำหนดให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แสดงใบอนุญาต IUP ประเภท Production Operation สำหรับเหมือง PT.JMM ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับหรือแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว แต่จากการตรวจสอบยังไม่พบใบอนุญาตดังกล่าวในแฟ้มสินเชื่อ
นอกจากนี้ การไม่ได้นำเสนอการจัดทำ EIA ในการวิเคราะห์และนำเสนอให้แก่คณะกรรมการฯอนุมัติ โดยอ้างอิงข้อมูลของที่ปรึกษาของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่ระบุว่า ไม่ต้องจัดทำรายงานดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานที่บกพร่องอย่างร้ายแรง
ปัจจุบัน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ยังไม่มีการนำใบอนุญาต IUP OP มาแสดงต่อธนาคารกรุงไทย ตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่มีสิทธิในเหมืองจริง และไม่มีการทำเหมืองจริง ตามที่อ้าง
“การพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ที่กำหนดรูปแบบโครงสร้างวงเงินที่ไม่ถูกต้อง ให้สินเชื่อที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะขอสินเชื่อ หลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน
การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ คำสั่งที่ ธ.222/2545 หมวดที่ 3 นโยบายสินเชื่อ ข้อ 3.2 การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ข้อ 3.2.1 หลักการให้สินเชื่อ และข้อ 3.2.4 หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการชำระหนี้คืน และหลักประกัน
และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงาน คำสั่งที่ ธ.(ว) 34/2556 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 293) สั่ง ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ข้อ 1.3 การพิจารณาสินเชื่อ และข้อ 1.4 หลักประกัน” คณะกรรมการไต่สวนฯ สรุปความเห็นกรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
เหล่านี้เป็นสรุป 'พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด' กรณีธนาคารกรุงไทย อนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อนำไปซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนฯ ซึ่งทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นภาระหนี้ จำนวน 3,288 ล้านบาท!
อ่านประกอบ :
พฤติการณ์คดีเอิร์ธฯ(2) ‘กรุงไทย’อนุมัติกู้ 4.8 พันล. เกินความต้องการใช้-หลักประกันไม่คุ้ม
พฤติการณ์คดีเอิร์ธฯ(1) ‘กรุงไทย’ปล่อยกู้ 1.3 พันล.ซื้อเหมืองอินโดฯ ไม่มีใบอนุญาตขุดถ่านหิน
ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’
ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ