เผยความคืบหน้า ป.ป.ช.ไต่สวนคดี บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ใช้เอกสารเท็จเบิกเงินสินเชื่อกรุงไทยชำระค่าถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย แจ้งข้อกล่าวหา ผู้เกี่ยวข้องเพียบกว่า 30 คน หลังพบมีอดีตกรรมการธนาคาร-จนท.เกี่ยวพันจำนวนมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนคดีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ใช้เอกสารเท็จเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย เพื่อชำระค่าสินค้า (ถ่านหิน) ที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกรมสอบสวนคดี (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนให้ตั้งแต่ปี 2560-2562 ว่า คณะกรรมการไต่สวนคดีนี้ ในช่วงที่นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับอดีตผู้บริหาร อดีตกรรมการและเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยไปเกือบ 20 ราย นอกจากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารและกรรมการบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวนกว่า 10 ราย ฐานผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ทำให้ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้ มีจำนวนกว่า 30 ราย
แหล่งข่าวกล่าวว่า เดิมทีธนาคารกรุงไทยร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีพยานหลักฐานว่า อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมีเพียง 2-3 ราย แต่เมื่อ ป.ป.ช. ไต่สวน เห็นว่า มีอดีตกรรมการธนาคารและเจ้าหน้าที่ธนาคารเกี่ยวพันกับการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก จึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มขึ้นรวมจำนวนกว่า 30 ราย ดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายณัฏจักร และนางสาวสุภา พ้นวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไปแล้ว การไต่สวนคดีนี้ในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
รายงานข่าวแจ้งว่า เกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนคดีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ใช้เอกสารเท็จเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย เพื่อชำระค่าสินค้า(ถ่านหิน) ที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ดีเอสไอ ได้มีมติส่งสำนวนคดี ให้ ป.ป.ช.รับไปดำเนินการสอบสวนต่อ เนื่องจากมีความเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยด้วย มีจำนวน 2 คดี คือ
1. คดีพิเศษที่ 228/2560 กรณีบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการชำระค่าสินค้า (Import Financing) จากธนาคารโดยยื่นเอกสารเท็จประกอบการเบิกสินเชื่อ เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยเสียหาย
ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ได้ทำการสอบสวนแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
2. คดีพิเศษที่ 59/2562 กรณีผู้บริหารของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) กับพวก วางแผนและร่วมมือกันเพื่อแกล้งให้บริษัทฯ เป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง และจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จ
ดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ได้ทำการสอบสวนแล้ว และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังเลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ส่วนคดีที่ 3 กรณีว่าที่ร้อยตรีรัติเชษฏฐ์ มณีใส ผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารกรงไทย จำกัด(มหาชน) ร้องทุกข์ให้ ดีเอสไอ ดำเนินคดีกับบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง กระทำการเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308 และ312 พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯได้รับความเสียหาย ดีเอสไอรับเรื่องไว้สอบสวนเอง
ทั้งนี้ สำหรับพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307 ระบุว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าวหรือทรัพย์สินที่นิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบ และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
มาตรา 308 ระบุว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด ตามพระราชบัญญัตินี้ ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของนิติบุคคลดังกล่าว หรือซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
ส่วน มาตรา 312 ระบุว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด ตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของนิติบุคคลดังกล่าว หรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลดังกล่าว
(2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลหรือที่เกี่ยวกับนิติบุคคลนั้น หรือ
(3) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง
ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคล ใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่าการสอบสวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. มีการรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกันหรือไม่
ขณะที่การสอบสวนคดีของ ป.ป.ช. ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- มีจนท.กรุงไทย ร่วมทำผิดด้วย! 'ดีเอสไอ' ส่งสำนวน 2 คดีเอิร์ธฯ ให้ ป.ป.ช.สอบแล้ว
- พบ2เจ้าหนี้เอิร์ธฯ ก.ล.ต.สอบหนี้เทียม 2.3 หมื่นล.!แจ้งเลิกกิจการแล้ว-โชว์รายได้หลักพัน
- กรุงไทย ยื่น ป.ป.ช.สอบ 'กิตติพันธ์' พวก2ราย คดีปล่อยกู้เอิร์ธฯแล้ว-เจ้าตัวยันพร้อมชี้แจง
- 'กิตติพันธ์' โวยไม่เป็นธรรมโดนชี้โทษร้ายแรง! หลังกรุงไทย ชงผลสอบปล่อยกู้เอิร์ธฯ1.2หมื่นล.ให้ธปท.
- ก.ล.ต.กล่าวโทษ 7 ‘กรรมการ-อดีตกก.’ EARTH ต่อ DSI เหตุไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ
- พบ2เจ้าหนี้เอิร์ธฯ ก.ล.ต.สอบหนี้เทียม 2.3 หมื่นล.!แจ้งเลิกกิจการแล้ว-โชว์รายได้หลักพัน
- เอิร์ธฯส่งคำชี้แจงผู้ถือหุ้นแจ้งตลท.ยันไม่สร้างหนี้เทียมถูกบ.จีนฟ้องจริง-บริษัทไทยเลิกกิจการแค่สาขา
- เบื้องลึก! 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน ซีไอเอ็มบี 2 ด. สู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ-ตอนนี้มีอะไรในมือบ้าง?
- ซีไอเอ็มบี แจ้งตลาดฯ 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน 2 ด. ไปต่อสู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ
- กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
- กรุงไทย ยันไม่เคยหารือเอิร์ธฯออกมติเชิญเป็นกก.ย้ำสถานะผู้เสียหายฟ้องแพ่ง-อาญา
- ก.ล.ต. กล่าวโทษ ก.ก. EARTH 11 ราย ยินยอมให้ลงข้อความเท็จหนี้เพิ่ม2.6หมื่นล้าน
- ตั้ง บ.อีวายฯ ทำแผน! ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’-หลังปมหนี้ 2.6 หมื่นล.
- ถ้าผิดจริงคุก240ปี! กรุงไทยเตรียมแจ้งดีเอสไอเพิ่ม-พบปลอมใบขนถ่านหิน80ฉบับเกือบหมื่นล.
- ใช้1.5หมื่นล.แลกเหมืองถ่านหิน! เปิดรายงานตรวจสอบบ.เอิร์ธฯ สัญญาซื้อ3หมื่นล.ล่องหน
- แนะกสิกรไทย-กรุงศรี-ธสน.ตรวจสอบใบขนถ่านหิน 'เอิร์ธ' หวั่นเจอเหมือนกรุงไทย!
- ฉ้อโกงกรุงไทยหลายพันล.ปลอมใบขนถ่านหิน บ.เอิร์ธกู้เงิน-แจ้งดีเอสไอลุยสอบ