“…การพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ที่ไม่ให้ความสำคัญในรายละเอียดและความถูกต้องของข้อมูล ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลสถานะบริษัท วัตถุประสงค์ของสินเชื่อ ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะขอสินเชื่อ หลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ละเอียด รอบคอบ ไม่รัดกุม และไม่มีการติดตามดูแลสินเชื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข….”
.........................................
จากกรณีที่ในช่วงปี 2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน กรณีธนาคารกรุงไทย ปล่อยสินเชื่อให้ กลุ่มบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH โดยมิชอบ ที่มี ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ และมี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการฯ
ต่อมาเดือน ก.ย.2566 คณะกรรมการไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย ฐานกระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดต่อตำแหน่ง กรณีร่วมกันนำเสนอและอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติของธนาคารกรุงไทย เป็นเหตุให้ธนาคารฯได้รับความเสียหาย
พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะนั้น ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ฯ โดยมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฯรวม 32 ราย แต่จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าการไต่สวนคดีนี้ กลับไม่คืบหน้ามากนัก (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ)
โดยก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า การแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ตรวจสอบพบพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 4 ครั้ง วงเงินสินเชื่อรวม 1.1 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’)
ในตอนนี้ สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอ ‘พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด’ ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ทั้ง 4 ครั้ง โดยเริ่มจากการอนุมัติสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อนำไปจ่ายค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจาก PT Jhoswa Mahakam Mineral (PT.JMM) ดังนี้
@เปิดขั้นตอนพิจารณาสินเชื่อฯ ซื้อเหมืองถ่านหินอินโดฯ
การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
‘ทีมอำนวยสินเชื่อ’ ธนาคารกรุงไทย ได้จัดทำและเสนอรายงานขออนุมัติสินเชื่อราย บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ต่อคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทยฯ เพื่อขออนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) จำนวน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในจำนวนนี้ เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) 40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการชดเชยเงินที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จ่ายเป็นค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในอินโดนีเซียจาก PT.Jhoswa Mahakam Mineral (PT.JMM) ผ่าน PT.Tri Tunggal Pitriati (PT.PTT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
จากนั้น ‘หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ’ พิจารณาคำขอสินเชื่อ โดยมีความเห็นว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีความเสี่ยงทางการเงินสูง จากการกู้ยืมเพื่อรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น และบริษัทฯมียอดลูกหนี้เกินกำหนดชำระไม่เกิน 3 เดือน เพิ่มเป็น 2,659 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 354 ล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้
ส่วนหลักประกันที่บริษัทฯเสนอค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมีเพียงการจำนำหุ้นของบริษัทฯในสัดส่วน 30% นั้น หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ เห็นว่า ไม่เพียงพอ จึงควรเจรจาหลักประกันเพิ่มเติม เป็นเงินฝากหรือจำนำหุ้นไม่น้อยกว่าภาระหนี้ Term Loan ที่มีการเบิกใช้
หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ ยังมีความเห็นอีกว่า เหมืองที่บริษัทฯเข้าซื้อสิทธิขุดเจาะถ่านหิน ซึ่งสำรวจและรับรองโดยบริษัทในอินโดนีเซีย 2 แห่ง นั้น ปรากฏว่าทั้ง 2 บริษัทฯ ไม่มีประวัติเกี่ยวกับประสบการณ์ และความน่าเชื่อถือของบริษัทฯทั้ง 2 แห่ง จึงควรให้บริษัทฯมีการชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
อย่างไรก็ดี ‘ทีมอำนวยสินเชื่อ’ ได้ทำความเห็นชี้แจงความเห็นของ ‘หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ’ สรุปได้ว่า ลูกหนี้ที่เกินกำหนดชำระไม่เกิน 3 เดือนนั้น เป็นลูกหนี้ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เพอร์เฟค โดยได้ทยอยคืนหนี้แล้ว จึงไม่ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขในการเบิกเงินกู้วงเงิน Term Loan ของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
ส่วนกรณีการเจรจาขอหลักประกันเพิ่มเติมนั้น ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้เจรจากับ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แล้ว แต่บริษัทฯไม่ยินยอม โดยบริษัทอ้างว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯเติบโตดีต่อเนื่องและมีฐานะการเงินดี อีกทั้งหุ้นของบริษัทฯอยู่อันดับที่ 97 ของ SET และยังซื้อขายในตลาดหุ้นแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมัน จึงมีสภาพคล่องสูง
ในขณะที่กระบวนการในการจัดหา Surveyor เพื่อสำรวจปริมาณถ่านหิน นั้น บริษัทฯแจ้งว่า Surveyor ทั้ง 2 บริษัท มีประสบการณ์และความน่าเชื่อเป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับทั้งจากบริษัทฯและเจ้าของเหมือง แต่เนื่องจากประสบการณ์ของ Surveyor ที่ระบุไว้ในรายงาน JORC นั้น เป็นความลับของบริษัท Surveyor จึงไม่สามารถเผยแพร่ได้
กระทั่งต่อมา ‘คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ’ ได้มีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาวให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยเงินที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จ่ายเป็นค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในอินโดนีเซียจาก PT.JMM ผ่าน PT.PTT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน 2 ประเด็นหลัก
พร้อมทั้งมีมติอนุมัติ ‘ผ่อนผัน’ การตรวจสอบประวัติทางการเงินของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยให้บริษัทฯตรวจสอบเครดิตบูโร และผลการตรวจสอบจะต้องไม่มีประวัติเสียหายทางการเงินให้เรียบร้อยก่อนการใช้วงเงินสินเชื่อ และผ่อนผันให้ใช้ราคาซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหิน จาก PT.JMM เพื่อพิจารณาสินเชื่อต่อไป
@บอร์ดฯอนุมัติสินเชื่อ-กำหนดเงื่อนไขนำใบ IUP PO มาแสดง
ต่อมาได้มีการเสนอเรื่องไปยัง คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย โดยคณะกรรมการบริหารฯ พิจารณาข้อเสนอ และมีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อจ่ายเป็นค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในอินโดนีเซียจาก PT.JMM โดยมีหลักประกัน คือ หุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ สัดส่วน 30% ของยอดเบิกใช้วงเงินสินเชื่อระยะยาว และให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ ค้ำประกันในฐานะส่วนตัวเต็มวงเงิน
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย ยังกำหนดเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อ ว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จะต้องแสดงเอกสารใบอนุญาต IUP ประเภท Production Operation (IUP PO) หรือใบอนุญาตดำเนินการขุดเหมือง สำหรับเหมือง PT.JMM ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหรือแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว
และให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แสดงหลักฐานการโอนเงินให้กับ PT.TTP (บริษัทในเครือ) จำนวน 118.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อประกอบการเบิกเงินกู้ โดยให้เบิกวงเงินกู้ระยะยาวในสัดส่วน 33.83% ของจำนวนเงินที่โอน แต่ไม่เกิน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ
ต่อมา บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้แจ้งความประสงค์ขอเบิกเงินกู้ระยะยาว จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารกรุงไทย โดยบริษัทฯได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว เช่น การนำหุ้นของบริษัทฯมาจำนำกับธนาคารกรุงไทยแล้ว การแสดงผลการตรวจสอบเครดิตบูโร ที่ไม่ประวัติเสียหายทางการเงิน
และบริษัทฯได้นำเอกสารหลักฐานการโอนเงินให้กับ PT.TTP จำนวน 118.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (เอกสารการโอนชำระค่าสินค้าจำนวน 52 ฉบับ) มาแสดง อย่างไรก็ตาม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่ได้นำ IUP PO (ใบอนุญาตดำเนินการขุดเหมือง) สำหรับเหมือง PT.JMM มาแสดงต่อธนาคารฯแต่อย่างใด
จากนั้น ธนาคารกรุงไทยอนุมัติให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เบิกเงินกู้ระยะยาว จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยเงินที่จ่ายซื้อค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในอินโดนีเซียจาก PT.JMM ผ่าน PT.TTP บริษัทในเครือ และมีการโอนเงินเข้าบัญชี FCD ของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
@อนุมัติสินเชื่อโดยไม่ตรวจสอบเหมือง-เอกสารซื้อขาย
ความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน
คณะกรรมการไต่สวน ได้พิจารณากรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ พบว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด สรุปได้ 6 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ในการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชดเชยเงินที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จ่ายค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจาก PT.JMM นั้น
ธนาคารฯ จะต้องมีการวิเคราะห์ว่า มีการซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินจริงหรือไม่ เหมืองดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ และสิทธิใบอนุญาตในเหมืองมีอยู่จริงหรือไม่ โดยจะต้องมีการไปตรวจดูธุรกิจ และตรวจดูว่ามีเหมืองจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่มีการไปดูเหมืองแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบเอกสารซื้อขาย และเอกสารใบอนุญาตทำเหมือง (IUP PO) แต่อย่างใด
ที่สำคัญไม่มีการนำเอกสารต่างๆใช้ประกอบการการพิจารณาให้สินเชื่อ ไม่มีการทำ Due Diligence หรือ Legal Opinion แต่ธนาคารฯ กลับอนุมัติสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อจ่ายค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจาก PT.JMM โดยที่ไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินการขุดเหมือง (IUP PO)
ประเด็นที่สอง การที่ธนาคารฯกำหนดหลักประกันสินเชื่อ โดยกำหนดให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนำหุ้นของบริษัทฯในสัดส่วน 30% ของยอดเบิกใช้วงเงินสินเชื่อระยะยาว และมีบุคคลค้ำประกัน นั้น เนื่องจากหุ้นของบริษัทฯมีความผันผวน ไม่ใช่หลักประกันที่มีความมั่นคง จึงเป็นหลักประกันไม่คุ้มกับวงเงินสินเชื่อระยะยาว
ส่วนการกำหนดเงื่อนไขการเบิกใช้วงเงิน โดยให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แสดงเอกสารหลักฐานการโอนเงินให้กับ PT.TTP จำนวน 118.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบการเบิกใช้เงินกู้ฯ นั้น เมื่อ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ และ PT.TTP เป็นกิจการในกลุ่มเดียวกัน จึงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าการใช้เอกสารจากบุคคลภายนอก เช่น สัญญาซื้อขายเหมือง PT.JMM
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจสอบวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อสิทธิในการขุดถ่านหินดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตว่า จากการตรวจสอบเอกสารประกอบการเบิกใช้เงิน พบว่า มีลักษณะการโอนเงินหลายครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับการจ่ายเงินค่าเหมืองที่มักมีการจ่ายเงินครั้งใหญ่เพียงไม่กี่ครั้ง
ขณะเดียวกัน ธปท. ตรวจสอบแล้ว ไม่พบการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ในการทำเหมือง JMM ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเป็นในการได้ใบอนุญาต IUP ประเภท Production Operation และจากการตรวจสอบก็ไม่พบใบอนุญาต IUP PO ในแฟ้มสินเชื่อด้วย
นอกจากนี้ การไม่ได้นำเสนอการจัดทำ EIA ในการวิเคราะห์และนำเสนอให้แก่คณะกรรมการอนุมัติ โดยอ้างอิงข้อมูลของที่ปรึกษาของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่ระบุว่า ไม่ต้องจัดทำรายงานดังกล่าว ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานที่บกพร่องอย่างร้ายแรง
@กำหนดเงื่อนไขไม่รอบคอบ-ไม่ติดตาม‘ใบอนุญาต’ทำเหมือง
ประเด็นที่สาม การกำหนดเงื่อนไขให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จะต้องนำใบอนุญาต IUP OP ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการแสดงสิทธิขุดเหมืองถ่านหินมาแสดงต่อธนาคารกรุงไทยฯ ภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้รับหรือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขแบบปลายเปิด และเป็นเงื่อนไขในอนาคตที่ไม่แน่นอน
เพราะลูกหนี้ (บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ) จะนำเอกสารใบอนุญาต IUP OP มามอบให้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ เมื่อใดก็ได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไข อันเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่สมบูรณ์ และเงื่อนไขจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับลูกหนี้เป็นหลัก จึงไม่มีผลและสภาพบังคับแต่อย่างใด
ทั้งนี้ แม้จะมีการอ้างว่า การปล่อยสินเชื่อฯในขณะนั้น ผู้นำเสนอและอนุมัติได้อ้างสถานะของบริษัทที่มีความมั่นคงเพียงพอ และมีความน่าเชื่อถือ แต่โดยที่วัตถุประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อฯ มาจากการชดเชยเงินชื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในเหมือง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ จะอ้างแต่เครดิตหรือสถานะบริษัท โดยดูแต่เพียงงบการเงินไม่ได้
โดยจะต้องตรวจสอบสถานะของเหมืองและสิทธิในเหมืองให้ชัดเจนในการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ต้องกำหนดหลักประกันให้คุ้มกับวงเงิน เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดแก่ธนาคารกรุงไทยฯ ที่สำคัญเมื่ออนุมัติให้สินเชื่อ จะต้องมีการจัดการความเสี่ยง ต้องกำหนดเงื่อนไขในการเบิกใช้เงินอย่างละเอียด รอบคอบ
ประเด็นที่สี่ หลังจากคณะกรรมการบริหารฯ อนุมัติสินเชื่อให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แล้ว ทีมอำนวยสินเชื่อ ซึ่งเป็นผู้ดูแลสินเชื่อ ไม่ติดตามให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ แสดงใบอนุญาต IUP OP ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการให้สินเชื่อ และเมื่อลูกหนี้ยังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำคัญดังกล่าว ทีมอำนวยสินเชื่อ ก็ไม่มีการนำเสนอให้คณะกรรมการฯรับทราบ
@ชี้‘บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’ ไม่มีการทำเหมืองจริงตามอ้าง
ประเด็นที่ห้า เมื่อสินเชื่อฯมีวัตถุประสงค์เพื่อชดเขยเงินซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในเหมือง ดังนั้น ใบอนุญาต IUP OP ย่อมเป็นเอกสารสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ สามารถดำเนินกิจการขุดถ่านหินในเหมืองได้ ควรต้องกำหนดให้เอกสารการได้สิทธิ หรือการได้ใบอนุญาต IUP OP เป็นเงื่อนไขในการเบิกใช้วงเงิน
แต่ธนาคารฯ กลับกำหนดเงื่อนไขการเบิกใช้วงเงิน โดยให้แสดงเอกสารหลักฐานการโอนเงินให้กับ PT. TTP จำนวน 118.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และ PT.TTP เป็นกิจการในกลุ่มเดียวกัน
ประเด็นที่หก จนถึงปัจจุบัน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ยังไม่มีการนำใบอนุญาต IUP OP มาแสดงต่อธนาคารกรุงไทยฯ ตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่มีสิทธิในเหมืองจริง และไม่มีการทำเหมืองจริง ตามที่อ้าง
“การพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ที่ไม่ให้ความสำคัญในรายละเอียดและความถูกต้องของข้อมูล ไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลสถานะบริษัท วัตถุประสงค์ของสินเชื่อ ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะขอสินเชื่อ หลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ละเอียด รอบคอบ ไม่รัดกุม และไม่มีการติดตามดูแลสินเชื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข
การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ คำสั่งที่ ธ.222/2545 หมวดที่ 3 นโยบายสินเชื่อ ข้อ 3.2 การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ข้อ 3.2.1 หลักการให้สินเชื่อ และข้อ 3.2.4 หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการชำระหนี้คืน และหลักประกัน และข้อ 3.3 การติดตามดูแลสินเชื่อ
และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงาน คำสั่งที่ ธ.(ว) 34/2556 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 293) สั่ง ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ข้อ 1.3 การพิจารณาสินเชื่อ ข้อ 1.4 หลักประกัน และข้อ 1.10 การติดตามสินเชื่อ” คณะกรรมการไต่สวนฯ สรุปความเห็นกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้วงเงิน 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
เหล่านี้เป็นสรุป 'พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด' กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในการเข้าซื้อเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย โดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำเหมือง ซึ่งสร้างความเสียหายและภาระหนี้ให้กับธนาคารกรุงไทยฯ จำนวน 20.25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 665 ล้านบาทเศษ!
อ่านประกอบ :
ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’
ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ