เบื้องหลัง ‘บอร์ดไต่สวน’ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ‘บิ๊กกรุงไทยฯ-พวก’ 32 ราย หลังไต่สวนพบ ‘แบงก์กรุงไทย’ ปล่อยกู้ ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’ 4 ครั้ง สร้างความเสียหาย 1 หมื่นล้าน และทำให้ธนาคารฯมีภาระหนี้กว่า 6.9 พันล้าน
...........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน กรณีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH โดยมิชอบ ที่มีนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการไต่สวน และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการไต่สวน
ต่อมาในช่วงเดือน ก.ย.2566 คณะกรรมการไต่สวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหาร อดีตกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงไทยเกือบ 20 ราย ฐานกระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดต่อตำแหน่ง กรณีร่วมกันพิจารณานำเสนออนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติของธนาคารกรุงไทย เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย
พร้อมกันนั้น คณะกรรมการไต่สวน ยังแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหารและกรรมการ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะนั้น อีกกว่า 10 ราย ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ฯ รวมแล้วมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ 32 ราย และหลังจากนายณัฐจักร และ น.ส.สุภา พ้นตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ปรากฏว่าการไต่สวนคดีนี้ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการไต่สวนดังกล่าว คณะกรรมการไต่สวนพบว่า อดีตผู้บริหารและพนักงานของธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง มีพฤติการณ์ที่เป็นการทำผิด ในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 4 ครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับธนาคารกรุงไทยฯ 1.1 หมื่นล้านบาท และสร้างภาระหนี้ให้ธนาคารฯอย่างน้อย 6,970.55 ล้านบาท ได้แก่
ครั้งที่ 1 ธนาคารกรุงไทยฯ อนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term loan) จำนวน 40 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,315.2 ล้านบาท ค่าเงินขณะนั้น 32.88 บาท) เพื่อชดเชยเงินที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จ่ายค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจาก PT Jhoswa Mahakam Mineral (PT.JMM) ผ่าน PT.Tri Tunggal Pitriati (PT.PTT) บริษัทในเครือฯ โดยเป็นการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบการปฏิบัติงานของธนาคารฯ
ทั้งนี้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้เบิกเงินไปแล้ว และยังค้างหนี้อยู่ ทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นภาระหนี้ จำนวน 665.82 ล้านบาท (20.25 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ครั้งที่ 2 ธนาคารกรุงไทยฯ อนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวน 4,805 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยเป็นการอนุมัติสินเชื่อที่เกินความต้องการใช้เงินและสถานะภาระหนี้ของบริษัทฯ อีกทั้งหลักประกันไม่คุ้มวงเงิน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของธนาคาร ทั้งนี้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้เบิกเงินไปแล้วและยังค้างหนี้อยู่ ทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นภาระหนี้ จำนวน 3,016.73 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 ธนาคารกรุงไทยฯ อนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,288 ล้านบาท) ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เงินชดเชยค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินจากเหมือง PT.JMM จำนวน 78 ล้านเหรียญสหรัฐ และ เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเป็นการอนุมัติสินเชื่อเกินความจำเป็นและเกินความต้องการของบริษัทฯ และสินเชื่อส่วนเงินทุนหมุนเวียนฯที่ควรเป็นสินเชื่อระยะสั้นกลับกำหนดวงเงินเป็นสินเชื่อระยะยาว
อีกทั้งมีการเปลี่ยนหลักการอนุมัติจาก Trade Finance เป็น Corporate Finance ทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ ไม่อาจตรวจสอบหรือกำกับดูแลการใช้เงินของบริษัทฯได้ อันเป็นผลโดยตรงที่ทำให้การเกิดความเสียหายกับธนาคารฯ จำนวน 3,288 ล้านบาท และจนถึงปัจจุบัน บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ยังไม่ได้นำใบอนุญาตในการดำเนินการขุดเหมือง (IUP PO) มาแสดงต่อธนาคารกรุงไทยฯ จึงรับฟังได้ว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่มีสิทธิในเหมืองจริง และไม่มีการทำเหมืองจริง
ดังนั้น การอนุมัติสินเชื่อระยะยาว จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่กำหนดรูปแบบโครงสร้างวงเงินไม่ถูกต้อง ให้สินเชื่อที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่มีการตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะขอสินเชื่อ หลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารฯ
ครั้งที่ 4 ธนาคารกรุงไทยฯ อนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว จำนวน 1,500 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงและมีลักษณะเป็นการเก็งกำไร รวมทั้งยังมีการหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารฯ
นอกจากนี้ คณะกรรมการไต่สวน ยังพบว่าธนาคารกรุงไทยฯ ได้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขวงเงิน Trade Finance ที่ธนาคารฯให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งมีวงเงิน 5,800 ล้านบาท โดยผ่อนปรนเงื่อนไขวงเงิน Trade Finance หลายประการ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงแก่ธนาคารฯ และทำให้ธนาคารฯไม่สามารถควบคุมการใช้เงินและการดำเนินธุรกิจของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ รวมทั้งทำให้เกิดความเสี่ยงว่าบริษัทฯจะนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้กับธนาคารฯ
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ