“….การพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวน 4,805 ล้านบาท จึงเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่ให้เกินความต้องการใช้เงิน สถานะภาระหนี้ของบริษัท และหลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ คำสั่งที่ ธ.222/2545…และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงาน คำสั่งที่ ธ.(ว) 34/2556…”
..........................................
จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH โดยมิชอบ ที่มี ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ และมี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการฯ
ต่อมาเดือน ก.ย.2566 คณะกรรมการไต่สวน แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย ฐานกระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำความผิดต่อตำแหน่ง กรณีร่วมกันนำเสนอและอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ โดยไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อและระเบียบปฏิบัติของธนาคารฯ เป็นเหตุให้ธนาคารฯได้รับความเสียหาย
พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหาร บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ในขณะนั้น ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ฯ ทำให้มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฯรวม 32 ราย แต่จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าการไต่สวนคดีนี้ กลับไม่คืบหน้ามากนัก (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ)
สำนักข่าวอิศราพบว่า การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการไต่สวน ตรวจสอบพบพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 4 ครั้ง วงเงินรวม 1.1 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’)
โดยในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้สรุปพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อระยะยาว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อนำไปจ่ายค่าซื้อสิทธิการขุดเจาะถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียจาก PT Jhoswa Mahakam Mineral (PT.JMM) โดยไม่มีใบอนุญาตทำเหมือง (IUP PO)
ในตอนที่ 2 นี้ สำนักข่าวอิศรา ขอนำเสนอสรุป ‘พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด’ กรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อ จำนวน 4,805 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของราคาถ่านหิน ซึ่งนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ยื่นขอวงเงินสินเชื่อ'กรุงไทย' ก่อนสรุปตัวเลขที่ 4.8 พันล้าน
การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ภายหลังจาก บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้เข้าซื้อเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียแล้ว ตัวแทนจาก บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้ประชุมร่วมกับ ‘ทีมอำนวยสินเชื่อ’ ของธนาคารกรุงไทย และได้แจ้งว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีความต้องการวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม วงเงินประมาณ 5,800 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 วงเงิน
ได้แก่ 1.วงเงินสินเชื่อระยะยาว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเหมือง HARY ได้แก่ ถนนและท่าเรือ จำนวน 1,500 ล้านบาท 2.วงเงินสินเชื่อระยะยาว 80 ล้านเหรียญ ไม่มีหลักประกัน เพื่อนำไปชำระแบบตราสารหนี้ประเภทที่จ่ายคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนด (Bond Bullet) 3 ปี และ 3.วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้ทบทวนความต้องการวงเงินสินเชื่อใหม่ และได้สรุปวงเงินสินเชื่อที่กลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ต้องการขอรับสินเชื่อ ได้แก่ 1.วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 2,500 ล้านบาท เพื่อรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น 2.ขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทในเครือในประเทศจีน
และ 3.ขอวงเงินกู้เพื่อรองรับการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแนวทางในการขอวงเงินนั้น จะเป็นการชดเชยค่าซื้อสิทธิในเหมือง PT.JMM เพื่อให้บริษัทมีกระแสเงินสด (Cash Flow) เพื่อใช้ในการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน
จากนั้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้นำส่งเอกสารเพื่อประกอบการเสนอขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน พร้อมทั้งแจ้งกับธนาคารกรุงไทย ว่า กลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จะได้รับใบอนุญาตทำเหมือง (IUP PO) ในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ต่อมา ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้จัดทำรายงานการขออนุมัติสินเชื่อ จำนวน 4,805 ล้านบาท สำหรับลูกค้ารายกลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย ประกอบด้วย 1.ขออนุมัติอันดับความเสี่ยงและต่ออายุวงเงินสินเชื่อของกลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ รวม 9,558.94 ล้านบาท
2.ขออนุมัติเพิ่มวงเงิน Working Capital เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท ให้กับ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯมีแผนเพิ่มปริมาณการขายถ่านหินจาก 9 ล้านตัน เป็น 11 ล้านตัน ส่งผลให้วงเงิน P/C+FPL+D.L/C+P/N+T/R+I/F เพิ่มเป็น 5,800 ล้านบาท จากเดิม 3,800 ล้านบาท
และ 3.ขออนุมัติวงเงิน Commodity Hedging จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (เท่ากับ 2,805 ล้านบาท) เพื่อป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของราคาถ่านหิน
ทั้งนี้ ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้ตรวจสอบประวัติทางการเงินและข้อมูลเครดิตบูโรของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่พบประวัติเสียหายทางการเงิน รวมทั้งตรวจสอบงบการเงินล่าสุด พบว่า บริษัทฯ และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เพอร์เฟค มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ 11,134.8 ล้านบาท และมียอดหนี้ 8,017.6 ล้านบาท โดยหนี้ที่มีกับทุกสถาบันเป็นหนี้ปกติ
@‘หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ’ไม่เห็นด้วยปล่อยกู้ 4.8 พันล.
ต่อมา ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้เสนอรายงานขออนุมัติสินเชื่อของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไปยัง ‘หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ’ โดยหน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ มีความเห็นสรุปได้ว่า ความต้องการวงเงิน Working Capital ของบริษัทฯอยู่ที่ 8,182.32 ล้านบาท
แต่หากปรับรายการลูกค้าการค้าด้วยต้นทุนขายแทนยอดขาย เนื่องจากธนาคารจะไม่ Finance ในส่วนของกำไรแล้ว พบว่า บริษัทฯมีความต้องการ Working Capital ที่ 6,983.32 ล้านบาท หลังหักวงเงินหมุนเวียนที่มีอยู่กับธนาคารกรุงไทย 5,530 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่น 5,420 ล้านบาท
บริษัทฯ ไม่มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม แต่หากพิจารณาเฉพาะที่ธนาคารกรุงไทยแล้ว วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่เสนอขอนั้น เกินความต้องการใช้เท่ากับ 546.68 ล้านบาท
ดังนั้น การเสนอขอวงเงิน P/C+FPL+D.L/C+P/N+T/R+I/F เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนนั้น หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ เห็นว่า วงเงินที่เสนอเกินความต้องการใช้ของบริษัทฯ จึงควรปรับลดวงเงินเหลือ 1,550 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้
ส่วนวงเงิน Commodity Hedging ที่บริษัทฯเสนอขอมา 85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันความเสี่ยงความผันผวนของราคาถ่านหิน นั้น เห็นว่า หากอ้างอิงราคาถ่านหินของบริษัทฯ ซึ่งมาจากประเทศอินโดนีเซีย มาใช้ในการคำนวณแล้ว บริษัทฯจะมีความต้องการวงเงิน Commodity Hedging อยู่ที่ 62.10 ล้านเหรียญสหรัฐ
หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ ยังให้ความเห็นด้วยว่า หลักประกันที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นำมาค้ำประกัน คือ สิทธิเงินฝาก จำนวน 55 ล้านบาท และหุ้น EARTH จำนวน 278.45 ล้านบาท ไม่คุ้มวงเงินสินเชื่อ ส่วนบุคคลค้ำประกัน 2 ราย ก็มี 'ภาระค้ำประกัน' มากกว่ามูลค่าหุ้น EARTH และ WTEC ที่มีอยู่ในมือ
อย่างไรก็ดี ทีมอำนวยสินเชื่อ ได้ชี้แจงความเห็นหน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ สรุปได้ว่า ลูกค้าหลักของบริษัทฯในประเทศจีน เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นต้องใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศ จึงมียอดสั่งซื้อถ่านหินกับบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ทำให้บริษัทฯมีความต้องการ Working Capital ค่อนข้างมาก
ประกอบกับงบการเงินไตรมาสล่าสุด พบว่า บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีวงเงิน Working Capital 8,568.73 ล้านบาท แต่เป็นวงเงิน Working Capital กับธนาคารกรุงไทย 5,530 ล้านบาท จึงเห็นว่าวงเงิน Trade Finance ที่บริษัทฯเสนอขอมา 2,000 ล้านบาท ‘น่าจะพิจารณาได้’ ขณะที่วงเงิน Trade Finance ดังกล่าว มี Transaction รองรับชัดเจน ตรวจสอบได้
ส่วนกรณีที่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีความต้องการวงเงิน Commodity Hedging จำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น เห็นว่า ‘พิจารณาให้ได้’ เนื่องจากราคาถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมีราคาถูกกว่าตลาด New Castle ออสเตรเลีย ประมาณ 60% ดังนั้น ในการคำนวณจึงใช้ร้อยละ Hedge จากที่บริษัทฯต้องการทำจาก 40% เหลือ 15% ได้
ต่อมา คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย ได้พิจารณาข้อเสนอขอวงเงินสินเชื่อฯ และมีมติอนุมัติให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ได้รับวงเงิน P/C+FPL+D.L/C+P/N+T/R+I/F เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินเดิม จะมีวงเงินทั้งสิ้น 5,800 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
และนำเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย พิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่ในเวลาต่อมา คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย มีมติอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำนวน 4,805 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.อนุมัติวงเงิน P/C+FPL+D.L/C+P/N+T/R+I/F เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินเดิมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,800 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ โดยให้บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เพอร์เฟค จำกัด ใช้วงเงินร่วมด้วย
โดยให้กรรมการผู้มีอำนาจลงทุนของบริษัทฯ ค้ำประกันในฐานะส่วนตัวเต็มวงเงินสินเชื่อ พร้อมทั้งโอนสิทธิเรียกรองในบัญชีเงินฝาก 55 ล้านบาท และหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ 278.45 ล้านหุ้น (หลักประกันเดิม) เป็นหลักประกันเพิ่มเติม
2.อนุมัติวงเงิน Commodity Hedging ตาม LEQ จำนวน 23.8 ล้านเหรีญสหรัฐ (วงเงิน Notional Amount เท่ากับ 85 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาถ่านหิน
@ชี้‘บอร์ดบริหารกรุงไทย’อนุมัติสินเชื่อฯ ‘เกิน’ความต้องการ
ความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน
คณะกรรมการไต่สวน พิจารณากรณีธนาคารกรุงไทยอนุมัติวงเงินสินเชื่อ จำนวน 4,805 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ พบว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดใน 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การพิจารณาอนุมัติวงเงินดังกล่าว หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อได้วิเคราะห์ความเสี่ยงไว้ว่า บริษัทไม่มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม แต่หากพิจารณาเฉพาะที่ธนาคารกรุงไทยฯ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่เสนอขอเกินความต้องการใช้เท่ากับ 546.86 ล้านบาท
แต่ทั้งทีมอำนวยสินเชื่อ คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทยฯ กลับไม่ปฏิบัติตามที่หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงดังกล่าว และยังอนุมัติวงเงินสินเชื่อนี้อีก
สอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีข้อสังเกตว่า วงเงินที่ได้รับอนุมัติฯ เป็นการอนุมัติเกินความต้องการใช้วงเงินของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เนื่องจากวงเงิน Trade Finance ที่มีอยู่ในระบบสถาบันการเงินอื่นของลูกหนี้เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ธนาคารได้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อ Term Loan เพื่อสิทธิในเหมืองฯแล้ว ดังนั้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ควรจะใช้วงเงิน Trade Finance น้อยลง
ประเด็นที่สอง วงเงิน Commodity Hedging ที่อนุมัติจำนวน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจไม่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจซื้อขายถ่านหินในปัจจุบัน เนื่องจาก บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ มีการวางเงินค่าประกันสินค้า (Offtake) และเงินล่วงหน้าค่าสินค้า (Advance) อยู่แล้ว หากถ่านหินมีราคาเปลี่ยนแปลงไป สามารถชดเชยส่วนต่างราคาถ่านหินในตลาดโลกได้
อีกทั้งการขายถ่านหินของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ก็ใช้ราคาอ้างอิงกับราคาตลาดโลก ดังนั้น ธุรกิจของลูกหนี้เสมือนเป็น Natural Hedge ของธุรกิจถ่านหินอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการวงเงินเพื่อประกันความเสี่ยง Commodity Hedging ทั้งปรากฎในภายหลังต่อมาว่า มีการนำวงเงินสินเชื่อฯ ไปใช้เป็นวงเงิน Equity Financing ให้แก่บริษัท เอิร์ธ โฮลดิ้ง จำกัด
@ไม่ควบคุมความเสี่ยง-ใช้‘หลักประกัน’ไม่คุ้มวงเงินสินเชื่อ
ประเด็นที่สาม ในการวิเคราะห์งบการเงินกลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้น ไม่ได้มีการนำข้อมูลเครดิตบูโรล่าสุด ที่ระบุว่ากลุ่มบริษัทฯ มีภาระหนี้ระยะสั้น จำนวน 10,855 ล้านบาท มาพิจารณาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้แก่ธนาคารกรุงไทย
แต่กลับใช้ข้อมูลภาระหนี้ของกลุ่ม บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ซึ่งเป็นข้อมูลย้อนหลังไป 1 ปี ว่า บริษัทฯมีภาระหนี้จำนวน 8,018 ล้านบาท ซึ่งมีภาระหนี้แตกต่างกันถึง 2,837 ล้านบาท มาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ
นอกจากนี้ ในเรื่องหลักประกันนั้น หน่วยงานกลั่นกรองสินเชื่อ มีความเห็นว่า กรณีบุคคลค้ำประกันรองรับความเสี่ยงได้เพียง ‘บางส่วน’ เท่านั้น ส่วนหลักประกันที่ให้โอนสิทธิเงินฝาก 55 ล้านบาท และหุ้น EARTH 278.45 ล้านหุ้น ทำให้สัดส่วน LTV ลดลงจากเดิม จึงไม่คุ้มวงเงินสินเชื่อ
ประเด็นที่สี่ ในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ นั้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ไม่ได้นำใบอนุญาตทำเหมือง (IUP PO) มาแสดงกับธนาคารฯ และในที่สุดแล้ว บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ก็ไม่ได้ใบอนุญาตฯตามที่กล่าวอ้าง จึงเป็น ‘ข้อมูลเท็จ’ ที่ทำให้ธนาคารปล่อยวงเงินดังกล่าว แม้กระทั่งในปัจจุบันบริษัทฯ ก็มิได้มีการทำเหมืองดังกล่าวแต่ประการใด
“การพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวน 4,805 ล้านบาท จึงเป็นการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่ให้เกินความต้องการใช้เงิน สถานะภาระหนี้ของบริษัท และหลักประกันที่ไม่คุ้มวงเงิน
การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ คำสั่งที่ ธ.222/2545 หมวดที่ 3 นโยบายสินเชื่อ ข้อ 3.2 การพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ข้อ 3.2.1 หลักการให้สินเชื่อ และข้อ 3.2.4.หลักเกณฑ์การพิจารณาวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการชำระหนี้คืน และหลักประกัน
และไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงาน คำสั่งที่ ธ.(ว) 34/2556 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 293) สั่ง ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ข้อ 1.3 การพิจารณาสินเชื่อ และข้อ 1.4 หลักประกัน” ความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนฯ กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อวงเงิน 4,805 ล้านบาท ให้แก่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ
ทั้งหมดนี้เป็นสรุป 'พฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิด' กรณีธนาคารกรุงไทย อนุมัติวงเงินสินเชื่อ 4,805 ล้านบาท ให้ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาถ่านหิน ซึ่งทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย เป็นภาระหนี้ จำนวน 3,016.73 ล้านบาท!
อ่านประกอบ :
พฤติการณ์คดีเอิร์ธฯ(1) ‘กรุงไทย’ปล่อยกู้ 1.3 พันล.ซื้อเหมืองอินโดฯ ไม่มีใบอนุญาตขุดถ่านหิน
ปล่อยกู้ EARTH 4 ครั้ง เสียหายหมื่นล.! เบื้องหลัง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา‘บิ๊กกรุงไทย-พวก’
ป.ป.ช.ไต่สวนคคีเอิร์ธฯไม่คืบหน้า หลังแจ้งข้อกล่าวหาเพียบ 30 ราย อดีตกก.ธนาคาร-จนท.อื้อ