“…ทุกวันนี้มัน (แจกเงินไร่ละ 1,000 บาท) ทำเป็นประเพณีไปแล้วหรืออย่างไร เพราะทำเหมือนเป็นประเพณีไปแล้ว และถ้าทำอย่างนี้ต่อไป รัฐบาลอื่นมาก็จะทำต่อไป แล้วประเทศก็เสียเงินอย่างนี้ตลอดไปใช่หรือไม่ ถ้าแจกอย่างนี้ชาวนาก็ยังจนไป…”
.........................................
ย่างเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว สำหรับมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยวิธีการ ‘แจกเงิน’ ไร่ละ 1,000 บาท
หลังจากเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ‘โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว’ ปีการผลิต 2566/67 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน กรอบวงเงิน 56,321.07 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติงบ 5.6 หมื่นล.ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท-คาดเริ่มจ่ายเงินไม่เกิน 20 พ.ย.นี้)
แต่ทว่าการเดินหน้าออกมาตรการ ‘แจกเงิน’ ช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลในรอบนี้
มีเสียงทักท้วงจากหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ ซึ่งให้ความเห็นว่า โครงการฯนี้มีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา และไม่จูงใจให้ชาวนาปรับตัว โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต
“ธปท. ได้พิจารณาแล้วและมีความเห็นว่า โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีความจำเป็นลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคาข้าวสูงขึ้นมากและราคาปุ๋ยลดลงต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการได้ผลสัมฤทธิ์ที่สามารถยกระดับการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าวได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยลดภาระทางการคลังในอนาคต ควรกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่ชัดเจน รวมถึงมีกระบวนการติดตามและประเมินผลโครงการ
พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืน และควรมีแนวทางป้องกันปัญหา Moral hazard จากการที่เกษตรกรได้รับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน
อีกทั้งควรกำหนดกรอบเวลาการชำระคืนเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาด้านสภาพคล่องของธนาคารฯ ในอนาคต” หนังสือ ธปท.ฝศม. 806/2566 เรื่อง มาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 เพิ่มเติม ลงวันที่ 13 พ.ย.2566 ระบุ
ในขณะที่หนังสือ สภาพัฒน์ ด่วนที่สุด ที่ นร 1114/6630 เรื่อง มาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 เพิ่มเติม ลงวันที่ 14 พ.ย.2566 มีเนื้อหาว่า
“สำนักงานฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1.มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 โดยการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทางด้านรายได้ อันเนื่องมาจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการกำหนดแนวทางพัฒนาเกษตรกรให้เข้มแข็งเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศในระยะต่อไป โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความรู้ อบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระหว่างปี 2567-2568 ด้วย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 แล้ว
ทั้งนี้ ควรพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย
2.อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมข้าวไทยในตลาดโลก เนื่องจากไม่สามารถสร้างแรงจูงและผลักดันให้เกษตรกรเกิดความต้องการปรับระบบการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิต
รวมทั้งยังอาจทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเพิ่มการผลิตข้าว ที่เกินกว่าโอกาสทางการตลาดตามมา หากยังมีการสนับสนุนในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวในระยะยาว
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร ความคุ้มค่าของงบประมาณและการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรดำเนินการ ดังนี้
2.1 เร่งดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2569 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่กำหนดเป้าหมายลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ หรือ 6,000 บาท/ตัน และมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็น 600 กก./ไร่ ในปี 2569 ผ่านการอบรมให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในระหว่างปี 2567-2568 ให้ได้ผลความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม
2.2 การดำเนินการในระยะต่อไป ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ (Conditional Incentive) ที่จะเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการกำหนดคุณสมบัติหรือเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ
เช่น การกำหนดเงื่อนไขด้านความเหมาะสมของพื้นที่การเพาะปลูกข้าว โดยอาจกำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกในเขตที่มีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าวในระดับสูง (S1) และระดับปานกลาง (S2) เป็นหลัก และลดความช่วยเหลือกับพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) เนื่องจากการปลูกข้าวในเขตที่ดินที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
โดยมีมาตรการส่งเสริมการเปลี่ยนชนิดพืชเพาะปลูกหรือการปลูกพืชแบบผสมผสานที่มีโอกาสปรับตัวไปสู่สินค้าเกษตรกรมูลค่าสูงเป็นทางเลือกให้เกษตรกร หรือการกำหนดพันธุ์ข้าวที่เข้าร่วมโครงการเพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวไปสู่พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตและมีโอกาสทางการตลาดสูงและสามารถเพิ่มคุณภาพความหอมของผลผลิต รวมทั้งมีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง และโรคระบาด เป็นต้น”
(ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือชาวนา ปีการผลิต 2566/67 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
@9 ปีรัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 4.8 แสนล้าน
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2557-2565) หรือในช่วงรัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมถึงปีที่ 1 ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พบว่า ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยมีวิธีการ ‘แจกเงิน' 9 ปีการผลิต รวม 485,497 ล้านบาท ได้แก่
รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)
ปีการผลิต 2557/58 ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก โดยมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยนั้น ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา ที่มีฐานะยากจน 3.63 ล้านครัวเรือน ปีการผลิต 2557/58 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน หรือไม่เกิน 15,000 บาท/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 39,506 ล้านบาท
ปีการผลิต 2559/60 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 3.7 ล้านราย ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรในช่วง 2-3 ปี รายละไม่เกิน 10 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท งบจ่ายขาด 37,860.25 ล้านบาท
และอนุมัติมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โดยให้เงินช่วยเหลือ ตันละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ และให้เงินเงินช่วยเหลือ ตันละ 2,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1 งบจ่ายขาด 32,541.58 ล้านบาท
ปีการผลิต 2560/61 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61 โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 37,898.11 ล้านบาท
ปีการผลิต 2561/62 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา รายละไม่เกิน 12 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท งบจ่ายขาด 57,722.62 ล้านบาท
และ ครม.อนุมัติการ 'เพิ่มกรอบวงเงิน' ในการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 งบจ่ายขาด 5,068.73 ล้านบาท ทำให้ในปีการผลิต 2561/62 ครม.ได้อนุมัติงบเพื่อใช้ในโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวฯ รวมเป็นงบจ่ายขาด 62,791.35 ล้านบาท
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปีการผลิต 2562/63 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 28,054.83 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 26,458.89 ล้านบาท หรือใช้งบจ่ายขาดรวม 54,553.72 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์รวม 4.57 ล้านครัวเรือน
ปีการผลิต 2563/64 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าวฯ ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 56,093.63 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.56 ล้านครัวเรือน
ปีการผลิต 2564/65 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยสนับสนุนต้นทุนปลูกข้าวฯ ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 55,567.36 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน
ปีการผลิต 2565/66 ครม.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 55,364.75 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
ปีการผลิต 2566/67 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน งบจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน
@แนะเลิกแจกเงินไร่ละพัน-พุ่งเป้าแก้ปัญหาให้ตรงจุด
“สิ่งที่เขาทำต่างจากรัฐบาลที่แล้ว คือ ไม่มีโครงการประกันรายได้เท่านั้นเอง ซึ่งในส่วนการดำเนินโครงการ ‘จำนำยุ้งฉาง’ ที่รัฐบาลเรียกว่า ‘โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี’ และการให้สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนซื้อข้าวจากชาวนาแล้วนำไปแปรรูป หรือ ‘โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร’ ผมสนับสนุน
แต่ผมเห็นว่าการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท ควรจะเลิก เพราะไม่จำเป็นแล้ว และรัฐบาลน่าจะใช้เวลาในช่วงนี้เลิกไป เพราะราคาข้าวเปลือกขึ้นมาเยอะแล้ว ต่างจากตอนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำ ซึ่งตอนนั้นข้าวเปลือก (ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสง) ราคาลงมาเหลือตันละ 7,800 บาท แต่วันนี้ข้าวเปลือกราคาขึ้นมาถึงตันละ 11,000-12,000 บาท
ส่วนข้าวที่ราคาตก คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ เพราะแทนที่ราคาข้าวจะขึ้นมากเหมือนข้าวชนิดอื่นๆ แต่ราคาขึ้นไปน้อยมาก รัฐบาลควรจะมามองและแก้ไขให้ตรงจุดมากกว่า” รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยเรื่องข้าว กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
รศ.สมพร อธิบายต่อว่า สาเหตุที่วันนี้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับข้าวเปลือกชนิดอื่นๆและข้าวของประเทศคู่แข่ง เป็นเพราะผู้ซื้อต่างชาติหันไปซื้อข้าวพันธุ์พื้นนุ่มที่มีราคาต่ำกว่า โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นนุ่มจากเวียดนามที่เรียกว่า ‘จัสมิน’ ซึ่งตอนนี้ราคาขึ้นไป 700 เหรียญต่อตันแล้ว จากเมื่อก่อนราคาอยู่ที่ 500 เหรียญต่อตัน
“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ควรจะเอาเงินไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิ แล้วเอาไปให้เกษตรกรปลูก ตรงนี้จะเกิดประโยชน์ และทำให้ชาวนาได้เงินเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ข้าวหอมมะลิ (ข้าวสาร) ไทย มีราคาแค่ 800 เหรียญต้นๆ เทียบกับในอดีตที่ราคาอยู่ที่ 1,100 เหรียญ ซึ่งสะท้อนได้ว่ารัฐบาลไม่ได้รู้ความจริงในระบบข้าวทั้งหมด” รศ.สมพร ระบุ
รศ.สมพร ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาตรการแจกเงินชาวนาในครั้งนี้ ว่า “ทำเพื่อเอาคะแนนเสียง เพราะเขาบอกว่า ‘ชาวนาเรียกร้องมา’ และที่บอกว่าให้ชาวนานำเงินไปปรับปรุงคุณภาพข้าวทั้งระบบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอะไรไว้เลย หากเป็นอย่างนี้จะให้ชาวนาไปปรับอะไร
แล้วเงิน 5.6 หมื่นล้านบาทนั้น ถ้าคุณ (รัฐบาล) เอาไปทำระบบชลประทานให้ดี เอาไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ดี เอาไปทำวิจัยให้ได้พันธุ์ข้าวที่มี Productivity เพิ่มขึ้น ชาวนาก็จะได้มากกว่านี้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
เช่นเวียดนามที่เขามีนโยบายเปลี่ยนจากการปลูกข้าวพันธุ์พื้นแข็งหลายร้อยพันธุ์ ไปลงทุนวิจัยและส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ทำให้ปีที่ผ่านมา (ปี 2565) เวียดนามส่งออกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มได้ 3.2 ล้านตัน เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่เวียดนามส่งออกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มเพียง 2 แสนตัน อีกทั้งราคาข้าวที่เคยอยู่ 370 เหรียญ แต่ปีที่ผ่านมาราคาเพิ่มเป็น 560 เหรียญ แล้ววันนี้ราคาขึ้นไปถึง 700 เหรียญ ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของชาวนาเวียดนามเพิ่มขึ้นด้วย”
(รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
@อุดหนุนชาวนาแบบมีเงื่อนไข-สนับสนุนการปรับตัว
เมื่อถามว่านโยบายแจกเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลไม่สามารถยกเลิกได้แล้วใช่หรือไม่ รศ.สมพร กล่าวว่า “ทุกวันนี้มัน (แจกเงินไร่ละ 1,000 บาท) ทำเป็นประเพณีไปแล้วหรืออย่างไร เพราะทำเหมือนเป็นประเพณีไปแล้ว และถ้าทำอย่างนี้ต่อไป รัฐบาลอื่นมาก็จะทำต่อไป แล้วประเทศก็เสียเงินอย่างนี้ตลอดไปใช่หรือไม่
และถ้าแจกอย่างนี้ชาวนาก็ยังจนต่อไป เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราใช้เงินกับเรื่องเหล่านี้ 1.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้ไป 6 แสนล้านบาท รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ไปอีก 6 แสนล้าน แต่วันนี้ชาวนายังเป็นหนี้มากขึ้นเยอะแยะไปหมด ถามว่าเป็นเพราะอะไร ก็เพราะเราไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น”
อย่างไรก็ดี รศ.สมพร เสนอว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายแจกเงินช่วยเหลือชาวนาต่อไป ควรเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข เช่น ถ้าจะอุดหนุนไร่ 1,000 บาท ก็ควรให้อุดหนุนการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หรือการอุดหนุนการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP หรือการอุดหนุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นต้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเดินหน้าโครงการ Land leveling (ปรับระดับดินให้ราบเรียบสม่ำเสมอ) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว รวมทั้งส่งเสริมการปลูกข้าวที่ลดการก๊าซเรือนกระจก ตามมติ UN ในเรื่องการลดโลกร้อน เพราะถ้าในอีก 5 ปี เกิดมีกติกาว่า ผู้ซื้อจะไม่ซื้อข้าวที่มีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว อย่างนี้เราแย่แน่
“เงิน 1,000 บาท ถ้าให้ ก็ควรให้แบบมีเงื่อนไข เช่น อุดหนุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง อุดหนุนการปลูกข้าวอินทรีย์ หรือเปลี่ยนกระบวนการปลูกข้าวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐบาลละเลยไปหมดเลย โดยเฉพาะเรื่องการลดมีเทน ลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่ออนาคต ในขณะที่เวียดนามได้เตรียมการไปแล้ว” รศ.สมพร กล่าว
จากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า ในปีที่ 2 ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หรือในการปลูกข้าวในฤดูกาลผลิตหน้า (ปีการผลิต 2567/68) รัฐบาลจะยังคงใช้วิธีการช่วยเหลือชาวนาโดยใช้วิธี ‘แจกเงิน’ หรือไม่ อย่างไร?
อ่านประกอบ :
ครม.อนุมัติงบ 5.6 หมื่นล.ช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท-คาดเริ่มจ่ายเงินไม่เกิน 20 พ.ย.นี้
‘นบข.’ย้ำหลักการดูแล‘ราคาข้าว-ช่วยเหลือชาวนา’-‘เศรษฐา’ชี้ใช้‘งบ’มาจุนเจือต้องระมัดระวัง
ส่องนโยบายหาเสียงชาวนา 7 พรรคชู‘แจกเงิน-ยกราคา-ประกันรายได้’-ย้อนดู7ปีอุดหนุน1.27ล้านล.
เอกชนเตือน‘รัฐบาลใหม่’อย่าทำนโยบาย‘จำนำราคาสูง’-ตั้งเป้าปีนี้ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
10 ปี‘จำนำ-ประกันรายได้’รัฐเท 1.2 ล้านล. อุดหนุนประชานิยม‘ข้าว’-TDRIจี้เลิกชดเชยซ้ำซ้อน
ชำแหละ‘ประกันรายได้’ 4 พืช 3 ปี‘ภาระการคลัง’พุ่ง 2.57 แสนล. งบฯ 66 ก่อหนี้รัฐถึงทางตัน?
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?