'นบข.' ย้ำหลักการดูแล ‘ราคาข้าว-ช่วยเหลือชาวนา’ พร้อมตั้งอนุกรรมการฯ 3 ชุด สนับสนุนการทำงาน 'บอร์ดใหญ่' ขณะที่ ‘เศรษฐา’ ระบุการใช้ ‘งบประมาณ’ มาจุนเจือ 'ราคา' ต้องระมัดระวัง-ช่วยชาวนาต้องคำนึงถึง ‘หลักนิติธรรม’
...................................
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ในการประชุม นบข. วันนี้ (1 พ.ย.) ที่ประชุมได้พูดคุยในหลักการคร่าวๆว่า จะต้องดูแลเรื่องราคาข้าว การช่วยเหลือเกษตร และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนุกรรมการเพื่อดูแลและกำกับการบริหารจัดการเรื่องข้าวให้ดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุม นบข. ครั้งนี้ นายเศรษฐา ได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ในเรื่องข้าวนั้น ไทยจะต้องพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และทัดเทียมกับศักยภาพที่เราสามารถทำได้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และในอีก 2-3 วันนี้ ตนมีนัดหารือกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวด้วย
“อยากให้ช่วยกันดูแลผลิตผลตัวนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การที่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือผลผลิตชั่วคราว ก็ให้คำนึงถึงปากท้องของพี่น้องประชาชนด้วย เหนือสิ่งอื่นใด การใช้งบประมาณมาจุนเจือต้องระมัดระวัง ถ้าเป็นเรื่องระยะสั้น ก็พยายามแก้ไขกันไป อย่าติดกระดุมผิดเม็ด แล้วก็แก้กันไปจนกระทั่งเป็นปัญหาลุกลาม และเดี๋ยว 2-3 วันนี้ ผมมีนัดคุยกับผู้ส่งออกข้าว
ส่วนเรื่องโรงสีก็สำคัญ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็สำคัญ ในการจะต้องช่วยเหลือจุนเจือพี่น้องเกษตรกร บางนโยบายก็ต้องอาศัยการช่วยเหลือ ธ.ก.ส. ถ้าไม่ช่วยเหลือ จะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาก็ได้ ถ้าไม่ตัดไฟแต่ต้นลม แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ปลูกข้าวทั้งหมดด้วย” นายเศรษฐา กล่าวในที่ประชุม
ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุม นบข. รับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวปีการผลิต 2566/67 จะมีปริมาณ 32.35 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีก่อน 2.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 6% เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ สศก. คาดการณ์ว่า ผลผลิตนาปีจะมีปริมาณ 25.57 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีก่อน 1.14 ล้านตันข้าวเปลือก หรือลดลง 4% และผลผลิตข้าวนาปรัง จะมีปริมาณ 6.78 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีก่อน 0.94 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 12%
ที่ประชุม นบข. ยังรับทราบสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ว่า ในปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 14.87 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม 6.26 ล้านตัน ไทย 6.08 ล้านตัน ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน และสหรัฐ 1.49 ล้านตัน
โดยอินเดีย ส่งออกข้าวลดลง 3% เนื่องจากมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว ส่วนเวียดนาม ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 33% เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ไทยส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 12% เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว และปากีสถาน ส่งออกข้าวลดลง 37% เนื่องจากมีปริมาณข้าวจำกัด จากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีก่อน
ด้านสถานการณ์ราคาข้าวไทยเมื่อเทียบกับปีก่อนนั้น พบราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 24% โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,800-16,000 บาท เฉลี่ยตันละ 15,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ตันละ 13,599 บาท เพิ่มขึ้น 3% ,ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 12,500-13,000 บาท เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ตันละ 10,687 บาท เพิ่มขึ้น 19%
ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,300-11,800 บาท เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ตันละ 8,984 บาท เพิ่มขึ้น 27% และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,500-14,800 บาท เฉลี่ยตันละ 13,800 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ตันละ 9,968 บาท เพิ่มขึ้น 37%
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทยนั้น ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยบวก ได้แก่ 1.การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
และ 2.การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมาย 8 ล้านตัน เนื่องจากอินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น ,ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก และตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เป็นต้น
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด และ2.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจจะมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่สำคัญ เช่น ลดต้นทุนการผลิตไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ หรือ 6,000 บาท/ตัน โดยมีความคืบหน้าอยู่ที่ 3,433 บาท/ไร่ หรือ 5,787 บาท/ตัน และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 600 กก./ไร่ (จาก 465 กก./ไร่) โดยมีความคืบหน้าอยู่ที่ 593 กก./ไร่
นายชัย ระบุด้วยว่า นบข. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ นบข. ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มี รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการและมาตรการในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการผลิตข้าวและชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้ เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
2.คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลดี ต่อระบบการค้าข้าวโดยรวม เสนอแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการตลาด รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงาน โครงการ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
3.คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและการตลาดข้าวในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยพิจารณาคัดเลือกและอนุมัติผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ ‘ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่’ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. เพื่อพิจารณาต่อไป
อ่านประกอบ :
บาทเอื้อ-อินเดียคุมส่งออก! เอกชนคาด ต.ค.ขายข้าวได้ 8 แสนตัน-9 เดือน‘ไทย’รั้งเบอร์ 3 โลก
‘ข้าวไทย’ราคาพุ่ง หลังอินเดียแบนส่งออก เอกชนมองตลาดยังปั่นป่วน-ยืนเป้าปีนี้ 8 ล้านตัน
ร่วงสู่อันดับ 3! 5 เดือนแรก‘เวียดนาม’ส่งออกข้าวแซง‘ไทย’ ชี้‘เอลนิโญ-บาทอ่อน’หนุนยอดซื้อ
รั้งอันดับ 2 ของโลก! 2 เดือนแรก ไทยส่งออกข้าว 1.4 ล้านตัน-คาด มี.ค.ขายอีก 7.3 แสนตัน
‘พาณิชย์’เผยส่งออกข้าว ม.ค.66 พุ่ง 8.05 แสนตัน โต 75.2%-ห่วง‘บาทแข็ง’กระทบคำสั่งซื้อ
เอกชนเตือน‘รัฐบาลใหม่’อย่าทำนโยบาย‘จำนำราคาสูง’-ตั้งเป้าปีนี้ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
ปี 65 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22.2% สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.38 แสนล้าน
เอกชนประเมินปี 66 ไทยส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน ลุ้น‘ค่าเงินบาท’ไม่แข็งเกินไป
บาทแข็งแต่ยังแข่งได้! เอกชนคาด พ.ย. ไทยส่งออกข้าว 8 แสนตัน-ราคาเฉลี่ย ต.ค.ร่วง 32 ดอลล์ฯ
สัญญาณแผ่ว! ปริมาณส่งออกข้าวไทย ก.ย. หดตัว 0.3% รายได้โต 2.7%-ยอด 9 เดือน 5.41 ล้านตัน
'บาทอ่อน'หนุนแข่งขัน! ผู้ส่งออกฯคาด ก.ย.ไทยส่งออกข้าว 7 แสนตัน-ยอด 8 เดือน 4.77 ล.ตัน