ผ่าไส้ในหลักการรถไฟฟ้า 20 บาท ครม.นำร่อง ‘สายสีแดง-ม่วง’ หลังมีผลเมื่อ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ประเมินรายได้หายสายสีแดง 77 ล้านบาท/ปี ขอรัฐอุดหนุน ด้านสายสีน้ำเงินรายได้หายปีละ 193 ล้านบาท/ปี หั่นเงินส่งคลังอุดหนุน ก่อนเปิดความเห็น 3 หน่วยงาน ‘สำนักงบฯ-สภาพัฒน์-กฤษฎีกา’
เริ่มกันไปได้ 1 สัปดาห์แล้ว
สำหรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท หนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีผลไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดยนำร่องไปที่โครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มไม้เต็มมือในการบริหารก่อน 2 สายแรกคือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน ระยะทาง 23 กม. มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโรงการ และรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - บางซื่อ - รังสิต ระยะทาง 41 กม. มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ ระยะเวลาดำเนินการถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567
หลังจากดำเนินโครงการนี้ไป กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ก็ออกมาโหมข่าวดีในประเด็นผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่นเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 66 มีการเผยแพร่ข่าวแจกให้สื่อมวลชนสายคมนาคม ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรก ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายม่วงสูงสุด 20 บาท เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 14 ต.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 22,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจำนวน 5,946 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ส่วนรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 44,417 คน-เที่ยวเพิ่มขึ้น 6,880 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) จำนวน 367,629 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจำนวน 32,909 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ที่สถานีเตาปูน ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์(QSNCC)ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 (Book Expo Thailand 2023) งาน Thailand Gameshow 2023 และงาน Homepro Living Expo โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค.66 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลได้จัดขบวนรถเสริมรวม 9 เที่ยววิ่ง
เรียกว่าเป็นข่าวที่สร้างความภาคภูมิใจให้รัฐบาลอย่างมาก
ผู้โดยสารที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟชานเมืองสายสีแดง
ที่มาภาพ: กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
อย่างไรก็ดี ก่อนที่รัฐบาลจะเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ดังกล่าว มีหลายหน่วยงานได้เสนอความเห็นประกอบมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ไว้อย่างน่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลมาเสนอ ณ ที่นี้
@เปิดเกณฑ์ 20 บ. สายสีแดง
เริ่มต้นกันในส่วนของรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตามเอกสารที่เสนอครม.กระทรวงคมนาคมระบุว่า หลักการเบื้องต้นหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายนี้สูงสุดไม่เกิน 20 บาท ประกอบด้วย
1.การเก็บค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท จะคิดในระยะเวลาปีต่อปี และผู้โดยสารสามารถเดินรถภายใต้อัตราค่าโดยสารดังกล่าว 1 เที่ยว/ครั้งเท่านั้น
2.ผู้โดยสารที่เดินทางไม่ถึงระยะทางที่ต้องเก็บค่าโดยสาร 20 บาทให้เก็บตามค่าโดยสารตามจริง ซึ่งรถไฟชานเมืองสายสีแดงมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุด 20 บาท
3.ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนอัตราค่าโดยสาร ที่มีมูลค่าเกิน 20 บาท จะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดที่ 20 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับลดหย่อน แต่มูลค่าการเดินทางไม่ถึง 20 บาท ยังด้รับสิทธิ์ลดหย่อนตามปกติ
4.ผู้โดยสารที่ใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่ใช้งานระบบ EMV (Europay, Mastercard and Visa) เข้าร่วมนโยบายนี้ได้
5. กรณีเดินทางข้ามสายไประบบอื่น คาดว่าจะดำเนินการได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยมีหลักการเบื้องต้นว่า ‘เข้าระบบไหน ระบบนั้นเป็นหน่วยงานที่เก็บค่าโดยสารตามจริงที่เดินทางในระบบตัวเอง แต่ต้องไม่เกิน 20 บาท’
@รายได้หาย 77 ล้านบ./ปี ขอครม.ชดเชย
ขณะเดียวกัน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของ รฟท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟชานเมืองสายสีแดง ได้วิเคราะห์ข้อมูลในส่วนของค่าโดยสารปัจจุบัน โดยใน 3 เดือนที่ผ่านมา (มิ.ย.-ส.ค.2566) มีผู้โดยสารเฉลี่ย 642,155 คน/เดือน คิดเป็นรายได้ต่อเดือนที่ 19,272,663 บาท และคิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ยจากรายได้ที่ 30 บาท/คน/เที่ยว ดังนั้น หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท จะทำให้รายได้ลดลงเหลือ 12,843,107 บาท ต้องหาเงินมาชดเชยจำนวน 6,429,557 บาท/เดือน หรือตกปีละ 77,154,680 บาท ซึ่งหากต้องการให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาทดแทนส่วนที่หายไป รถไฟชานเมืองสายสีแดงจะต้องมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารที่ 963,232 คน/เดือน
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคยมีหนังสือถึง รฟท. ว่า การดำเนินการใดๆที่ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ จะต้องรายงาน ครม. ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 เพื่อขออนุมัติเงินชดเชยรายได้ส่วนต่างค่าโดยสารเต็มจำนวนที่ลดให้แก่ประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดสภาพคล่องแก่ รฟท.
ข้อมูลเปรียบเทียบกรณีค่าโดยสารปกติกับค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดย รฟฟท.
ที่มา: เอกสารเสนอ ครม.ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 โดยกระทรวงคมนาคมเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
@เปิดเกณฑ์ 20 บ.สายสีม่วง/ถือ EMV ข้ามแดงยิงยาว 20 บาท
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เอกสารที่เสนอ ครม.ระบุว่า หลักเกณฑ์เบื้องต้นคือ กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุดที่ 20 บาท ส่วนระยะทางที่เดินทางแล้วมีค่าโดยสารไม่ถึง 20 บาท ให้เก็บค่าโดยสารตามนั้น ส่วนอัตราค่าโดยสารสำหรับผู้ได้ลดหย่อน ได้แก่ เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีและผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ 7-20 บาท ส่วนนักเรียนและนักศึกษาอายุไม่เกิน 23 ปี อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ 13-20 บาท
ส่วนการเดินทางข้ามสาย เริ่มต้นที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงข้ามสายไปยังรถไฟฟ้าสายน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง - หลักสอง จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าที่สถานีเตาปูน โดยการเดินทางข้ามสายไปยังสายสีน้ำเงินจะมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป, 39 บาทสำหรับนักเรียนและนักศึกษา และ 31 บาทสำหรับผู้สูงอายุและเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี
ขณะที่การข้ามสายไปยังรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย - มีนบุรี เฉพาะผู้ใช้บัตร EMV เท่านั้น จึงจะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้า โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีกำหนดเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2567 นี้ ส่วนการข้ามสายไปยังรถไฟชานเมืองสายสีแดง เฉพาะผู้ถือบัตร EMV จะสามารถใช้อัตราค่าโดยสารเดียวกันได้ คือค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท
อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ที่มา: เอกสารเสนอ ครม.ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 โดยกระทรวงคมนาคมเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
@เฉือนเงินส่งคลัง อุดหนุนสายสีม่วงปีละ 193 ล้านบาท
สำหรับการคาดการณ์ผู้โดยสารหลังจากมีนโยบายนี้ ตามเอกสารระบุว่า เดิมก่อนจะดำเนินนโยบายนี้ รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารจำนวน 56,252 คนเที่ยว/วัน คิดเป็นรายได้ 1,145,221 บาท/วัน และเมื่อมีการดำเนินการตามนโยบายผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 66,265 คนเที่ยว/วัน คิดเป็นรายได้ 617,275 บาท/วัน และคาดการณ์เป็นรายได้ที่สูญเสียไปต่อปีที่ 193.23 ล้านบาท เพราะก่อนที่จะมีนโยบาย 20 บาท รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนที่ 23 บาท/คน
ส่วนการชดเชยรายได้ที่หายไป ตามเอกสารระบุว่า รฟม.จะนำเงินจากส่วนแบ่งรายได้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่แต่ละปีจะต้องนำส่งกระทรวงการคลังมาอุดหนุนตรงนี้ โดยในปี 2565 มียอดเงินที่นำส่งรายได้ส่วนนี้จำนวน 311 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 ช่วงครึ่งปีแรกมีส่วนต่างรายได้ส่วนนี้ที่ 223 ล้านบาท
เหล่านี้คือ รายละเอียดและหลักการทั้งหมดของการลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง
@สำนักงบประมาณ: พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ลดขอรัฐอุดหนุนระยะยาว
ขณะที่ความเห็นหน่วยงานที่น่าสนใจ ในรายงานนี้ขอยกมา 3 หน่วยงานประกอบด้วย สำนักงบประมาณ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับความเห็นของสำนักงบประมาณ เบื้องต้นเห็นด้วยที่จะให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยการขอชดเชยของ รฟท. นั้น สำนักงบประมาณเห็นว่า ควรดำเนินเสนอขอรับงบประมาณเมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว โดยให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้นจริงต่อไป
ส่วนความเห็นอื่นๆของสำนักงบประมาณมี 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.การที่ รฟม.จะนำส่วนต่างรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย จะมีผลให้รายได้ที่จะต้องนำส่งคลังตามมาตรา 34 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ลดลง รฟม.จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป
2.หากการดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจของ รฟท.และรฟม. จะต้องดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562 มาตรา 27 และ 28 ด้วย
3.รฟท.และรฟม. ควรคิดถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มรายได้ให้หน่วยงาน และเป็นการลดภาระในการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในระยะยาว
และ 4. กระทรวงคมนาคมควรเร่งรัดพัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
@ สภาพัฒน์: เร่งตั๋วร่วม-ก่อสร้างรถไฟฟ้า
ด้านสภาพัฒน์ มีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายนี้ไปในทางเห็นด้วยเช่นกัน โดยมีข้อแนะนำในประเด็นการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีแดงและสายสีม่วงที่สถานีบางซ่อนโดยใช้บัตร EMV ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารถูกคิดครั้งเดียวนั้น ขอให้นำหลักการที่ รฟม.ดำเนินการกับรถไฟฟ้าในการกำกับดูแลมาใช้ด้วย เพื่อนำไปสู่การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นเพิ่มเติมถึงกระทรวงคมนาคม 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.กำชับให้ รฟท.และรฟม. ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลปริมาณการเดินทางทั้งในรูปแบบตั๋วเที่ยวและบัตร EMV ที่สามารถแสดงรายละเอียดปริมาณการเดินทางตามช่วงระยะเวลา สถานี ระยะทางการเดินทาง การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลต่อไป
2.เร่งเสนอแนวทางกำกับและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงแผนที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
3.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), กรมเจ้าท่า, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้มีระบบขนส่งสาธารณะสายรอง (Feeder) ในการป้อนคนสู่ระบบสายหลักต่อไป
และ 4.ติดตามการก่อสร้างและการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์), รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ และรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย รวมถึงให้ รฟท. ปรับตารางการเดินรถของรถไฟชานเมืองสายสีแดงให้สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะตารางเที่ยวบินของสนามบินดอนเมือง ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดงในภาพรวม
@กฤษฎีกา: ทำครบตามกฎหมายกำหนด ดำเนินการได้
ปิดท้ายที่ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยแยกความเห็นออกเป็นรถไฟชานเมืองสายสีแดง หากกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบแล้ว ก็ถือว่าอยู่ในอำนาจที่ ครม. จะพิจารณาได้ แต่ในการของบประมาณอุดหนุนชดเชย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 2562, พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 และระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง กรณีการข้ามสายระหว่างสายสีม่วงและสายสีแดง กับสายสีม่วงและสายสีชมพู ให้ ครม. ดำเนินการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอได้
เหล่านี้คือไส้ในทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทที่นำร่องก่อนในสายสีแดงและสายสีม่วงตลอดจนความเห็นหน่วยงานที่น่าสนใจ
ต่อจากนี้ต้องติดตามดูว่า รัฐบาลเศรษฐา จะสามารถขยายการดำเนินนโยบายไปสู่รถไฟฟ้าสายอื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินที่มีผู้โดยสารเป็นจำนวนมากเหยียบล้านคน/วัน
จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชำนาญและชูด้านนโยบายปากท้อง จะของจริงหรือไม่?
ต้องติดตามกัน
อ่านประกอบ
- ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าแดง-ม่วง 20 บาท ถึง 30 พ.ย. 67
- ‘บอร์ดรฟม.’อนุมัติสายสีม่วงค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เริ่ม 1 ธ.ค. 66 นี้
- บอร์ดรถไฟ อนุมัติทำ รถไฟฟ้าสายสีแดง 20 บาท จ่อเสนอ ‘สุริยะ’ จบปัญหา ‘สถานีอยุธยา’
- ‘ก้าวไกล’ ถล่มนโยบายรถไฟฟ้า 20 บ.ทำไม่ได้ ‘สุริยะ’ สวนสั่ง ‘แดง-ม่วง’ ทำได้ ขอ 3 เดือน
- ‘สภาผู้บริโภค’ ยันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บ.เป็นไปได้ จี้ ‘เพื่อไทย’ ยกระดับรถไฟชั้น 3 ด้วย
- 4 พรรคการเมือง ท้าชนนโยบายลดราคารถไฟฟ้า กทม. 20-50 บาทตลอดสาย