‘สภาผู้บริโภค’ ยืนยันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทของพรรคเพื่อไทยทำได้จริง! พลิกข้อมูลเผยใกล้เคียงราคาที่วิจัยไว้คือ 25 บาท ส่วน BTS กำไรเยอะ น่าจะพอปันมาอุดหนุนค่ารถไฟฟ้าได้ ก่อนเปิดทางให้มีเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนได้ ก่อนแนะเพิ่มยกระดับรถไฟชั้น 3 เพิ่ม และลดการก่อสร้างถนนหนทางลง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 สิงหาคม 2566 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมีหลายข้อเสนอ ซึ่งเชื่อว่านโยบายข้อเสนอด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคจำนวนหนึ่งได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพรรคเพื่อไทยที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น นโยบายการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ในขณะที่ผู้บริโภคหลายคนอาจกังวลว่านโยบายนี้ไม่สามารถทำได้ แต่สภาผู้บริโภคมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้เพื่อทำให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
“สภาผู้บริโภคได้เสนอให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในเชิงของโครงสร้างรถไฟฟ้าและประชาชนเป็นผู้ที่จ่ายค่าบริการเดินรถแทน เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฮ่องกง เป็นต้น ที่รัฐบาลสนับสนุนด้านโครงสร้างและทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้โดยไม่เป็นภาระกับประชาชน เพราะประชาชนไม่ต้องรับภาระค่าโดยสารที่ต้องมีการบวกค่าโครงสร้างเข้าไป” นางสาวสารี กล่าว
@พลิกข้อมูล รถไฟฟ้า 20 บาทเป็นไปได้
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้เคยเสนอราคาค่าโดยสาร 25 บาทต่อเที่ยว โดยการคำนวณค่าโดยสารข้างต้นอ้างอิงข้อมูลต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวจากข้อมูลของ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ที่ระบุว่า ค่าโดยสารข้างต้นอ้างอิงมาจากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ ปี 2566 ของบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ที่มีจำนวนเที่ยวโดยสารที่อาจจะมากกว่าสิ่งที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมหรือมากกว่า
ทั้งนี้ในปี 2557 มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ทั้งหมดประมาณ 240.7 ล้านเที่ยว ซึ่งมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริการเดินรถ 2,786 ล้านบาท โดยต้นทุนเฉลี่ยต่อเที่ยวโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 13 บาท แต่เป็นต้นทุนเฉพาะยังไม่ได้รวมส่วนต่อขยาย ในปี 2559 มีผู้ใช้บริการมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจึงถูกลง อยู่ที่ประมาณ 10.10 บาท ในปี 2560 มีผู้ใช้บริการมากขึ้นกว่าเดิมไม่มากเท่าไร แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อเที่ยวเป็น 13.40 บาท ในปี 2561 มีผู้ใช้บริการมากขึ้นและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตาม อยู่ที่ประมาณ 16.30 บาท และในปี 2562 มีผู้ใช้บริการลดลงประมาณ 2 แสนเที่ยวทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง อยู่ที่ประมาณ 15.71 บาท ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 15 - 16 บาทเท่านั้น
อีกทั้งเมื่อดูข้อมูลรายได้ของ BTS และกลุ่มบริษัทย้อนหลัง จะพบว่าในปี 2562 - 2563 BTS มีกำไรถึง 8,817 ล้านบาท ทั้งนี้ผลกำไรดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ BTS ควรได้รับและ BTS ต้องได้ดำเนินกิจการต่อไปจนถึงปี 2572 ตามสัญญาสัมปทานเดิม แต่หลังจากนั้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องเป็นผู้เข้าไปบริหารจัดการต่อ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 สภาผู้บริโภคได้หารือกับทีมของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยว ซึ่งพบว่ามีความใกล้เคียงกันกับตัวเลขของสภาผู้บริโภค คือ ค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 10 - 16.30 บาทต่อเที่ยว แต่ยังไม่รวมส่วนต่อขยาย ประกอบกับกรมการขนส่งทางรางได้เคยให้ข้อมูลว่าอัตราค่าโดยสาร 25 บาท เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และหากรวมอยู่ในระบบตั๋วเที่ยวก็จะทำให้ถูกลงกว่า 25 บาทได้ ดังนั้นจึงเห็นว่านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทยจะสามารถทำได้จริงเช่นเดียวกัน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค
เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นควรจัดให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยความโปร่งใสต่าง ๆ อีกครั้งและเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนหรือผู้บริโภคที่มีส่วนได้เสียได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย ทั้งนี้เห็นว่าการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์รอบรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้านค้าต่าง ๆ หรือรายได้จากการโฆษณาจะทำให้ BTS มีรายได้เพิ่มเติม ดังนั้น หากผู้บริโภคแบกรับภาระเฉพาะต้นทุนค่าโดยสารหรือค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถจะทําให้สามารถจ่ายค่าโดยสารเพียง 20 บาท และถือว่า BTS ยังมีกําไรอยู่หากไม่ได้นำต้นทุนในส่วนโครงสร้างไปคิดรวมกับค่าโดยสาร เนื่อกจากมีรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรถไฟฟ้าไปช่วยชําระต้นทุนในส่วนนั้นแล้ว และเห็นว่า กทม. ควรมีส่วนช่วยในการสนับสนุนนโยบาย 20 บาทของพรรคเพื่อไทยให้เกิดขึ้นได้จริง
“ในแต่ละวันคนส่วนใหญ่จ่ายค่าเดินทางทั้งมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าหลายสายซึ่งเรียกว่าต้องเดินทางหลายต่อ อีกทั้งปัจจุบันค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าแต่ละสายมีราคาสูงมากและหากต้องเดินทางเชื่อมโยงหลายสาย ซึ่งกว่าจะเดินทางถึงจุดหมายอาจทำให้ต้องเสียค่าโดยสารไม่น้อยกว่า 150 - 220 บาทต่อวัน ในขณะที่รายได้ของผู้ใช้บริการสาธารณะในการเดินทางไม่ได้ขยับขึ้นตามอัตราค่าเดินทาง ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อทำให้ค่าโดยสารถูกลง และการปรับปรุงสัญญาสัมปทานเพื่อทำให้ประชาชนจ่ายค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวหรือไม่คิดค่าแรกเลย แต่อาจคิดตามระยะทางที่โดยสารเท่านั้น อีกทั้งควรกำหนดสัดส่วนของค่าโดยสารต่อวันของประชาชนต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ
@แนะยกระดับรถไฟชั้น 3 - ลดสร้างถนน
ขณะที่รัฐบาลควรคำนึงถึงปรับปรุงระบบปรับอากาศในรถไฟชั้น 3 ทุกขบวน และยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเดินทางไปกลับได้ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเส้นทางการคมนาคมทางเลือกของคนที่มีรายได้น้อย อีกทั้งเห็นว่ารัฐบาลควรชะลอการพัฒนาถนนหรือพัฒนาเส้นทางเฉพาะที่มีความจำเป็นเท่านั้น และต้องทำให้การเดินทางด้วยบริการสาธารณะมีคุณภาพ มีมาตรฐานขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางกลับบ้านหรือไปต่างจังหวัดได้สะดวกขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวมากนัก นอกจากนี้ควรเพิ่มการเดินทางระหว่างเมือง การเดินทางในเมืองที่เป็นเมืองขนส่ง เมืองท่องเที่ยวทั้งที่ต้องมีบริการขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนของค่าเดินทางประชาชนหรือส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย