"...รัฐบาลจึงควรดำเนินการสร้างภาระให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น เก็บค่าจอดรถ เก็บค่าเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมการทำระบบเชื่อมต่อการเดินทางด้วย และต้องทบทวนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางที่มีผู้คนใช้บริการน้อยด้วย ..."
หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ให้ถือวันประกาศราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 20 มี.ค. 2566 เป็นวันยุบสภา ก็ถือว่าเข้าสู่ฤดูกาลหาเสียงอย่างสมบูรณ์ โดยปลายทางคือวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566
ในระหว่างนี้ยาวไปอีก 1 เดือนครึ่ง ปี่กลองการหาเสียงของพรรคการเมืองทุกพรรคน่าจะเข้มข้น ทั้งกระสุนและกระแส คงสาดซัดกันเต็มที่ รวมถึงการตระเวนลงพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเก็บเสียงทั้งใหญ่น้อยให้ได้มากที่สุด
และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นท่าไม้ตายของการช่วงชิงคะแนนเสียง สิ่งนั้นก็คือ นโยบายที่แต่ละพรรคจะสรรหามาซื้อใจ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้อง ที่เป็นนโยบายสำคัญ และบางการเลือกตั้ง ก็เป็นตัวชี้ขาดเลยก็ได้ว่า ใครจะได้เป็นรัฐบาล!
โฟกัสลงมาในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองฟ้าอมร เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แบ่งเขตเรียบร้อยไปแล้ว โดยมีจำนวนเขตทั้งหมด 33 เขต จากเดิมที่เชื่อกันว่า เป็นพื้นที่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ก็ได้ลบล้างความเชื่อเดิมไปหมดสิ้น หลังคนกรุงฯเทใจเลือก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ว่าคนใหม่ แถมด้วยจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่กลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลกวาดแทบทั้ง 50 เขต
ทำให้การเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ สมรภูมิเมืองกรุงฯ จึงถูกจับตามองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
@6 รถไฟฟ้าที่ให้บริการในกทม.-ปริมณฑล
แน่นอนว่า หนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคเลือกหยิบขึ้นมาเอาใจคนกรุงเทพฯคือ นโยบายลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีรถไฟฟ้าให้บริการแล้ว 6 สายทาง ได้แก่
1.รถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางเคหะสมุทรปราการ - คูคต และสนามกีฬาแห่งชาติ - บางหว้า มีบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้รับสัมปทานถึงปี 2572 มีกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเจ้าของโครงการ
2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นทางบางซื่อ - หัวลำโพง, บางซื่อ - ท่าพระ และหัวลำโพง - หลักสอง มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับสัมปทานถึงปี 2593 มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ
3.รถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางคลองบางไผ่ - เตาปูน มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับจ้างเดินรถ และมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ
4.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ เส้นทางพญาไท - สนามบินสุวรรณภูมิ มี บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) เป็นผู้เดินรถ โดยอยู่ระหว่างผ่อนจ่ายค่าใช้สิทธิ์ระบบรถไฟฟ้า 10,671 ล้านบาท ตามเงื่อนไขการร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ
5.รถไฟฟ้าสายสีทอง เส้นทางกรุงธนบุรี - คลองสาน มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นผู้เดินรถ มีบจ.สยามพิวรรธน์ เป็นผู้สนับสนุนเงินทุก่อสร้าง 2,500 ล้านบาท เจ้าของโครงการคือ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก กทม. อีกทีหนึ่ง
และ 6. รถไฟชานเมือสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ - ตลิ่งชัน และบางซื่อ - รังสิต มี บจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.) เป็นผู้เดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโรงการ
แผนที่รถไฟฟ้า 6 สายทางที่เปิดให้บริการแล้ว ที่มา: กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
สำหรับนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้า เท่าที่รวบรวมได้ตอนนี้มี 4 พรรคที่เริ่มหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึงกัน
@เพื่อไทย: รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
เริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทย พรรคบ้านใหญ่แลนด์สไลด์ที่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ทีผ่านมา ในเวทีปราศรัย'คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพฯ' นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ปราศรัยตอนหนึ่งว่า คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต้องสะดวกและปลอดภัยภายใต้การดูแลของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะหยิบขึ้นมาชูโรงคือ ‘การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาท ตลอดสาย’
และอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ในการเปิดเวทีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เมืองทองธานี ก็ได้เน้ย้ำถึงนโยบายนี้อีกครั้ง โดยทางพรรคระบุว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย เป็นราคาที่สูงเกินกว่าประชาชนบางกลุ่มจะเอื้อมถึง เพื่อไทยจะเจรจากับภาคส่วนต่างๆ ให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชน
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่า การจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย เป็นการจัดเก็บทุกสาย ราคาเดียว หรือจะนำร่องในเส้นทางใดเป็นพิเศษหรือไม่ และอย่างไร
11 นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่โปรโมตเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566
ที่มาภาพ: พรรคเพื่อไทย
@ก้าวไกล: เริ่มต้น 15-45 บาท พ่วงรถเมล์ที่ 8-45 บาท
พรรคถัดมา ‘พรรคก้าวไกล’ พรรคขวัญใจคนรุ่นใหม่ ในงานเสวนา ‘เปิดนโยบายแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและเขียว : หากท่านเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร’ จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรค กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายที่พรรคกำหนดในการแก้ปัญหานี้คือ 1. ตั๋วร่วมและ 2. ค่าโดยสารร่วม ส่วนค่าโดยสารร่วม จะต้องดูรถเมล์ร่วมไปด้วย โดยจะกำหนดค่าโดยสารครอบคลุมทุกระบบการเดินทางคือ 8-45 บาท ขณะที่รถเมล์ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 8-25 บาท ส่วนรถไฟฟ้าอยู่ที่ 15-45 บาท
ที่มาภาพ: สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ - Surachet Pravinvongvuth
@ประชาธิปัตย์: รถไฟฟ้า 50 บาท /ทั้งวัน/ทุกสาย/ไม่จำกัดเที่ยว
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ในงานเสวนาเดียวกัน นายสามารถ ราชลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคนำเสนอไอเดีย นโยบายรถไฟฟ้า 50 บาทตลอดวัน/ทุกสาย/ไม่จำกัดเที่ยว เจ้าตัวระบุว่า นโยบายนี้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการเดินทาง ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและลดมลภาวะโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และเป็นการใช้โครงการรถไฟฟ้าที่ก่อสร้างใน กทม.ทั้งหมดขึ้นมาอย่างคุ้มค่าที่สุด
สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาภาพ: พรรคประชาธิปัตย์
@ภูมิใจไทย: ตั๋ววัน 15-40 บาท
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย แม้ปัจจุบันนโยบายด้านคมนาคมจะยังไม่ชัดเจนนัก เพราะที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยเน้นไปที่การลงพื้นที่พบปะประชาชนในแต่ละภูมิภาคเป็นหลัก และจากกระแสที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองคนดัง โจมตีทั้งเรื่องกัญชาและรถไฟฟ้าสายสีส้มมา 2 เดือน ทำให้นโยบายของพรรคที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการเน้นย้ำ และไม่มีการเปิดตัวนโยบายใหม่ๆ เท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ ช่วยนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต กทม.หาเสียงเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เคยระบุถึงนโยบายลดราคารถไฟฟ้าไว้ว่า การลดเรื่องค่าครองชีพของคนกรุงเทพ ค่ารถโดยสาร รถไฟ รถเมล์ ต้องลด เรามีนโยบาย ตั๋ว One Day Pass การกำหนดค่าโดยสารสาธารณะ รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวัน ไม่เกิน 50 บาท, ส่วนรถไฟฟ้าเริ่ม 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่หาเสียงช่วยนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566
ที่มาภาพ: ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ
@พปชร.ไม่สู้สงครามราคา ทำโครงข่าย-Feeder ก่อน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าทีมกทม. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า พรรคจะเน้นการเชื่อมต่อการเดินทางที่เป็นโครงข่ายก่อน เมื่อโครงข่ายการเดินทางครบ ก็จะมาเน้นเรื่องการทำระบบขนส่งระบบรอง (Feeder) เพื่อนำคนในชุมชนใหญ่ หรือหมู่บ้านขนาดใหญ่เข้าถึงระบบการเดินทางหลัก ซึ่งก็คือ ระบบรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มองแค่ กทม. แต่มองรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงอีก 5 จังหวัดคือ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันมีบางสายทางขยายออกไปถึงแล้ว เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ไปถึงพื้นที่จ.ปทุมธานี คือแถบคูคตและ จ.สมุทรปราการ และในอนาคตก็จะมีบางสายทางที่จะขยายออกไปอีก เช่น รถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่มีแผนจะขยายไปถึงศาลายา จ.นครปฐม เป็นต้น
ดังนั้น นโยบายเกี่ยวกับรถไฟฟ้าใน กทม. จะสักแต่ว่าหาเสียงเพื่อลดราคาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความเป็นจริงประกอบด้วย อย่างที่มีบางพรรคการเมือง ออกมาประกาศว่าจะทำรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายนั้น เข้าใจว่าก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เคยมีการเสนอมาแล้ว แต่ก็ยังทำไม่ได้
ซึ่งการทำไม่ได้นั้นมีเหตุผล เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า รถไฟฟ้าใน กทม. แต่ละสายทางมีค่าแรกเข้ากำกับไว้ที่ 15 บาท และแต่ละสายมีระยะทางเฉลี่ย 40-50 กม. ดังนั้น การเสนอราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายจึงเป็นไปไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าตัวเลขที่เป็นไปได้ที่สุดคือ 40-50 บาทตลอดสาย เพราะตอนนี้ในการเดินรถระบบรถไฟฟ้ามีผู้ให้บริการ 2 เจ้าคือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ดังนั้น การจะลดราคาโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทางใน กทม. จึงต้องเจรจากับ 2 ผู้ให้บริการนี้และต้องดูเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานประกอบด้วย
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่เน้นการหาเสียงด้วยนโยบายลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าใน กทม. แบบพรรคอื่นหรือไม่ นายสกลธีตอบว่า ถ้าระบบรถฟ้าใน กทม. อยู่ภายใต้หน่วยงานดูแลเพียงเจ้าเดียวก็จะเจรจากันง่ายกว่านี้ แต่อย่างที่อธิบายไป เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าในกทม. มีผู้ให้บริการ 2 ราย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ราคาค่าโดยสารลดลงมาได้ ทางพรรคขอเข้าไปดูรายละเอียดอีกทีหนึ่ง แต่หากพรรคได้เข้ามาบริหาร พวกค่าโดยสารจะพยายามให้ประชาชนเข้าถึง และจ่ายให้สะดวกที่สุด
สกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าทีมกทม.พรรคพลังประชารัฐ
ที่มาภาพ: สกลธี ภัททิยกุล
@’ลดตลอดสาย’ นิยามอย่างไร?
ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TRDI) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า นโยบายลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกทม. สิ่งแรกที่ต้องสำรวจคือ ต้องดูรายละเอียดว่า คำว่าลดราคา ‘ตลอดสาย’ คืออะไร? ถ้าพูดถึงการเดินทางรถไฟฟ้าเพียงสายเดียว เช่น ถ้าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 59 บาท หรือถ้าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสารสูงสุดก็อยู่ที่ 43 บาท ราคาก็อาจจะไม่ได้สูงมาก
แต่หากเป็นการเดินทางที่ต้องโดยสารรถไฟฟ้าหลายสายทาง ประเด็นนี้จะกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ดังนั้น คำว่านโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย ถูกนำมาหาเสียงหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจว่า ตลอดสายเฉพาะสายเดียว หรือรวมทุกสายในราคา 20 บาท ซึ่งคาดเดาว่า พรรคเพื่อไทยคงหมายถึง 20 บาทตลอดสาย เฉพาะสายเดียว เพราะคงไม่สามารถทำให้รถไฟฟ้าทุกสายทางมีค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้แน่นอน ขนาดรถเมล์ปรับอากาศปัจจุบันราคายังสูงสุดที่ 25 บาท และรถไฟฟ้าวิ่งเฉลี่ย 25-30 กม. จะเก็บ 20 บาทตลอดสายอย่างไร? ซึ่งนี่คือคำถามสำคัญ
@คำนวณให้รัฐอุดหนุนใช้เงิน 10,000 ล้านบาท
ประเด็นที่ 2 ถ้าจะทำราคา 20-50 บาทตลอดสายจริงๆ จะแก้ปัญหาต่างๆที่จะตามอย่างไร ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มี BTSC เป็นผู้บริหารและรับสัมปทานขณะนี้ หากรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ประกาศนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐบาลต้องเข้ามาแก้สัญญาสัมปทานของโครงการหรือไม่ หรือรัฐบาลต้องจ่ายค่าส่วนต่างด้วยการนำภาษีมาอุดหนุนหรือไม่ ซึ่งการจะคิดส่วนต่างดังกล่าว จะต้องนิยามคำว่าตลอดสายในข้อที่ 1 ให้ชัดเจนก่อน เมื่อได้คำนิยามแล้ว จึงค่อยมาคำนวณว่า ส่วนต่างที่ต้องอุดหนุนมีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อรวมรถไฟฟ้าทุกสายทางแล้ว เท่าที่คำนวณแบบคร่าวๆ ต้องใช้งบประมาณอุดหนุนถึง 10,000 ล้านบาท/ปี
เมื่อได้มูลค่าส่วนต่างแล้ว รัฐบาลมีทางเลือกดำเนินการ 2 ทางคือ 1. เชิญเอกชนที่รับสัมปทานมาเจรจา และ 2. ชดเชยในรูปแบบอื่น หากไม่มีเงินจ่าย
“คิดคร่าวๆ สายสีเขียวมีค่าโดยสารเฉลี่ย 30 บาท/เที่ยวคน 1 วัน BTSC มีผู้โดยสารประมาณ 600,000 เที่ยวคน/วัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะเก็บ 20 บาท คุณต้องชดเชยค่าโดยสารเที่ยวคนละ 10 บาทแล้ว เมื่อคำนวณเอา 600,000 คูณกับ 10 เฉพาะสายสีเขียว คุณต้องหาเงินมาจ่ายส่วนต่าง 6,000,000 บาท/วัน เดือนหนึ่งตก 180 ล้านบาท และ 1 ปีตก 2,190 ล้านบาท อันนี้คำนวณแบบหยาบๆ แต่พอจะเห็นภาพแน่นอนว่า การอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า ใช้เงินไม่น้อยกว่าหลักพันล้านบาทแน่นอน”
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์
ที่มาภาพ: TDRI
@ต้นทุน-ค่าดำเนินงาน ต้องคิดรวม
อย่างไรก็ตาม นายสุเมธยอมรับว่า การแก้ปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า มีหลายปัจจัยเกี่ยวพัน
1.ต้นทุน มีต้นทุนโครงร้างพื้นฐานและต้นทุนเดินรถ ซึ่งต้นทุนในการก่อสร้าง เป็นต้นทุนที่ใช้ได้นาน คือ สร้างแล้วอยู่ทนเป็น 100 ปี เช่น รถไฟฟ้าในต่างประเทศ เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, มหานครนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น เมื่อเฉลี่ยต้นทุนต่อปี จึงมีราคาไม่สูงมาก และเป็นการทำโครงสร้างพื้นฐานให้เมือง
2.ค่าดำเนินการ คือ ค่าจ้างเดินรถ ค่าไฟฟ้า ค่าตั๋ว และค่าคน เนื่องจากการออกแบบรถไฟฟ้า มีไว้รองรับคนจำนวนมาก หากมีผู้โดยสารมาใช้งานมากๆ ต้นทุนก็จะต่ำลง อย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันผู้โดยสารมีจำนวน 600,000 เที่ยวคน/วัน ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยน้อยลง ผิดกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยต่อคนมีราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายถึงให้ตั้งราคาตามจำนวนคนใช้ แต่ควรตั้งราคาตามต้นทุนที่มีการใช้ประโยชน์สูงสุด แต่จะทำอย่างไรให้คนใช้มากๆ ส่วนหนึ่ง เพราะต้นทุนการใช้รถยนต์ยังถูกอยู่
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรดำเนินการสร้างภาระให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น เช่น เก็บค่าจอดรถ เก็บค่าเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งน่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมการทำระบบเชื่อมต่อการเดินทางด้วย และต้องทบทวนการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางที่มีผู้คนใช้บริการน้อยด้วย
ถือเป็นโจทย์ยากของบรรดาพรรคการเมือง เพราะลำพังการลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า คงไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงในการบริหารจัดการการเดินทางของประชาชน และที่ภาครัฐไม่ว่าจะจากการเลือกตั้งหรือคณะทหารพร่ำบอกประชาชนให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถส่วนตัว ก็จะกลายเป็นการพูดบ้าน้ำลายแทนการลงมือแก้ไขปัญหาไปเหมือนที่ผ่านมา
เหล่านี้คือ นโยบายลดราคารถไฟฟ้าที่ 4 พรรคการเมืองใหญ่ กำหนดมาคร่าวๆเท่านั้น ยังต้องรอดูในรายละเอียดว่า แต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร? เอาเงินมาจากไหน? เพราะการจะทำให้ราคาค่าโดยสารมีราคาถูกลง และให้คนทุกชนชั้นเข้าถึง หนีไม่พ้น ภาครัฐต้องนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนช่วยด้วย และที่ผ่านมา มีบางพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงทำนองนี้มาแล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ลดราคาได้ในเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนจะล้มเหลวถอยกรูดกลับไปแทบไม่ทันทุกราย
อ่านประกอบ