บอร์ดรถไฟอนุมัติ ‘สายสีแดง’ 20 บาทตลอดสาย ชง ‘คมนาคม’ สัปดาห์หน้า คาดปีใหม่ 67 มาแน่ ก่อนคำนวณภาระขาดทุนตกปีละ 80 ล้านบาท เล็งขออุดหนุนด้วยแม้ผู้โดยสารโต 5-20% ด้านดราม่า ‘สถานีอยุธยา’ เตรียมเสนอ ‘สุริยะ’ ผ่าทางตัน หากไม่เอาสร้างทางวิ่งบนแนวรถไฟเดิมวิ่งผ่านแบบไม่มีสถานี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 กันยายน 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติดำเนินการตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล ซึ่งในส่วนของ รฟท. กำกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - บางซื่อ - รังสิต ระยะทาง 41 กม. โดยอัตราค่าโดยสารเดิมอยู่ระหว่าง 12-42 บาท พร้อมกับขอให้รัฐอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปประมาณ 80 ล้านบาท/ปี โดยจะดำเนินการแบบปีต่อปี โดยคาดว่าจะมีผลในช่วงปีใหม่ 2567
เนื่องจาก ขั้นตอนต่อไป รฟท.จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการจัดเก็บ เนื่องจากจะต้องทำตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินและการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 27 ที่ว่า “การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคตตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินการนั้นจัดทำแผนบริหารจัดการกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ประมาณการรายจ่าย แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชนที่จะได้รับ โดยต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่อคณะรัฐมนตรี และในกรณีที่การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสยรายได้และประโยชน์ที่จะไดรับ เสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
ในการพิจารณาอนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ใหคณะรัฐมนตรีพิจารณา ความจำเป็นเร่งด่วน ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการคลังหรือการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ จัดทำรายงาน เปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำตามวรรคหนึ่ง เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นประจำทุกสิ้นปงบประมาณ จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ”
ผู้ว่ารฟท.กล่าวว่า สิ่งที่ต้องไปทำคือ ต้องกำหนดแผน งบประมาณใช้จ่าย ระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งการปรับค่าโดยสารไม่ได้ยากอะไร แต่ต้องแสดงให้เห็นว่า กระทบค่าใช้จ่ายอย่างไร เช่น จากเดิม เคยรับ 100 บาท เหลือ 20 บาท จะเหลือเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันคนโดยสารยังน้อยอยู่ที่วันละ 20,000 เที่ยวคน/วันจากผลการศึกษาที่ประเมินไว้ที่ 80,000 เที่ยวคน/วัน ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนใช้งานมากขึ้น 5-20% ต่อปี
ทั้งนี้ คาดว่า รฟท.จะเสนอประเด็นนี้ไปที่กระทรวงคมนาคมได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอครม.อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งหลังจาก ครม.อนุมัติแล้ว จะต้องใช้เวลาปรับปรุงระบบหลังบ้านร่วมธนาคารกรุงไทยประมาณ 2-3 เดือน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดเก็บได้ช่วงปีใหม่ 2567 นี้
แบบสถานีอยุธยา
@หารือ ‘สุริยะ’ ผ่าทางตัน ‘สถานีอยุธยา’
ขณะที่ประเด็นการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,452 ล้านบาท ช่วงสถานีอยุธยา ซึ่งอยู่ในเนื้องานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. มีบจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกด้วยการเสนอราคาต่ำสุดที่ 10,325 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่ 11,801 ล้านบาท ผู้ว่าฯรฟท.ระบุว่า ล่าสุด สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งร่างสัญญากลับมาที่ รฟท.แล้ว ขั้นตอต่อไปจะนำประเด็นหารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไต่อไป
โดยขณะนี้ รฟท.ยืนยันว่า จะก่อสร้างบนแนวเส้นทางเดิมที่วางแผนเอาไว้ เพราะรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ผ่านการพิจาณรามาพอสมควรแล้ว และอีกทั้งอยู่ห่างบริเวณที่บอกว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) เกือบ 5 กม. เพียงแต่ประเด็นที่จะนำหารือกับนายสุริยะคือ การก่อสร้างสถานีอยุธยาว่า จะดำเนินการหรือไม่ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้าง รฟท.ก็หารือกับเอกชนแล้วว่า จะทำเฉพาะทางวิ่งวิ่งผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยาไปก่อน
ส่วนจะรอให้รายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่มีรายงานว่าจะเสร็จสิ้นในเร็วๆนี้นั้น นายนิรุฒระบุว่า คงไม่ต้องรอ