‘สุรเชษฐ์ ก้าวไกล’ อภิปรายถล่มนโยบายคมนาคม ‘เพื่อไทย’ อัดรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำไม่ได้จริง หยิบยกปี 54 ชี้ซ้ำล้มเหลว ดักคอดึงดันทำต่อกระทบ ‘สายสีเขียว-ส้ม’ เติมปัญหาเพิ่ม สะกิดถาม ‘MR-MAP-แลนด์บริดจ์’ ต้องชัดไปต่อหรือไม่ ‘สุริยะ’ ลุกแจงน้อมรับทุกคำอภิปราย โต้รถไฟฟ้า 20 บาทตั้งคณะกรรมการเจรจาเอกชนทุกสายทาง ประเดิม ‘สายสีแดง-ม่วง’ ได้แน่ปี 67 ขอ 3 เดือนดำเนินการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 กันยายน 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
ช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ของวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงนโยบายด้านคมนาคมที่อยู่ในคำแถลงนโยบายว่า รัฐบาลแถลงนโยบายที่เกี่ยวกับคมนาคมในหน้าที่ 6 ย่อหน้าแรกในส่วนนโยบายเร่งด่วน และหน้าที่ 7 ย่อหน้าที่ 4 สำหรับนโยบายระยะกลางและระยะยาว ซึ่งไม่มีความชัดเจนและไม่มีรูปธรรม บอกเพียงจะปรับปรุงและจะลงทุนทางถนน รถไฟ และอากาศ ไม่มีทิศทางว่าจะเปลี่ยนจากอะไรเป็นอะไร ไม่มีการผูกมัดหรือสัญญาที่หาเสียงไว้ ซึ่งเป็นนโยบายที่กลวงมาก
โดยตามที่สื่อมวลชนรายงานว่า จะเข้ากระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 มีอ้างอิงถึงการลุยนโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย แต่ในคำแถลงนโยบายไม่มีระบุถึงไว้ มีเพียงข่าวปรากฎตามหน้าสื่อ ไม่มีความแน่นอนจะทำภายในระยะเวลาเท่าไหร่กันแน่ 3 เดือนบ้าง 2 ปีบ้าง ทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ
แต่สิ่งที่ปรากฎในหน้าสื่อและมีทิศทางชัดเจน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จะผลักดันโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบขนส่งทางราง (MR-Map) และโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าลงทุนมหาศาล ในส่วนของ MR-MAP มีมูลค่าลงทุนถึง 5.7 ล้านล้านบาท ส่วนแลนด์บริดจ์มีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาท
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
@MR-MAP ลงทุนซ้ำซ้อน
นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ปัญหาของ MR-MAP คือความซ้ำซ้อน ไม่เลือกรูปแบบที่เหมาะสมในการก่อสร้างว่าจะทำทางด่วน รถไฟ หรือรถไฟความเร็วสูง แต่กลายเป็นต่างหน่วยต่างวางแผนและมาสร้างโครงการร่วมกัน ทำหมดทุกอย่าง ผลที่ได้คือ ได้เส้นเลือดใหญ่ที่โตเกินไป ไม่เหลืองบไปพัฒนาเมืองและเส้นเลือดฝอย ทำให้ทุกอย่างกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ละเลยคุณภาพชีวิตต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างเมือง กระจายอำนาจและเม็ดเงินงบประมาณออกไป จึงอยากฝากรัฐบาลไปศึกษาถึงความซ้ำซ้อนให้ดี เพราะที่ทำไปเป็นการขนส่งอะไร ต้องศึกษาความจุของระบบแล้วเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้และที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใดมาใช้
@ต้องเลือกจะเอา ‘แลนด์บริดจ์’ หรือ ‘คลองไทย’
ถัดมา นายสุรเชษฐ์อภิปรายถึงโครงการแลนด์บริดจ์ว่า อยากให้ศึกษาให้แน่ใจก่อนผลักดัน เพราะโครงการนี้ใหญ่กว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากมาย ซึ่งในโครงการมีทั้งท่าเรือสองฝั่ง มีถนน มีมอเตอร์เวย์ มีระบบราง และมีระบบท่อเชื่อมต่อ 2 ฝั่งทะเล ระยะทาง 89.35 กม. จุดเริ่มต้นที่บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และสิ้นสุดที่แหลมอ่าวนาง จังหวัดระนอง และยังมีท่าเรือน้ำลึกยื่นออกไปในทะเล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชน ซึ่งต้องไปว่ากันต่อไป
สิ่งสำคัญที่อยากฝากรัฐบาลคือ ต้องเอาให้ชัดด้วยว่า จะเอาอย่างไรกับโครงการขุดคลองไทย เพราะ 2 โครงการนี้ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หากทำทั้ง 2 โครงการจะเป็นการแย่งฐานและกลุ่มเป้าหมายด้วยกันเอง จึงอยากให้รัฐบาลชัดเจนในวาระที่จะผลักดัน
@ซัด‘เพื่อไทย 54’ ยังยอมรับ ‘รถไฟฟ้า 20 บ.’ ล้มเหลว
ต่อมา นายสุรเชษฐ์ อภิปรายลงลึกถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า ที่พรรคเพื่อไทยจะทำไม่ใช่ตลอดสาย แต่เป็นตลอดสายทาง คือ การทำระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดให้อยู่ในราคา 20 บาท ไม่ว่าจะต่อสายอะไร ส่วนตั๋วร่วม 20 บาท ความจริงคือมี 2 คำ ได้แก่ ‘ตั๋วร่วม’ และ ‘ค่าโดยสารร่วม’ ตั๋วร่วมคือ ใช้บัตรใบเดียวแตะได้ทุกระบบ ส่วนที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเสนอคือ การออกแบบค่าโดยสารร่วมทั้งระบบภายใต้ราคาเดียวกันคือ 20 บาท
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยอ้างว่า การจะลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า จะใช้ช่องทางการเจรจาเป็นหลัก ให้เอกชนลดราคา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะขอให้ลดราคาค่าโดยสารจาก 45 บาทเป็น 20 บาท การจะลดราคาต้องใช้เงินของรัฐบาลอุดหนุนอยู่ดี แถมการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเคยระบุว่า การทำนโยบายนี้จะจบได้ใน 3 เดือน ยิ่งไม่เป็นความจริง ไม่มีทางเป็นไปได้ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ยังไม่มีอำนาจกำกับ เพราะร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. ....และร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมยังไม่บังคับใช้
“ดังนั้น เชื่อได้ว่า ใน 3 เดือนก็ทำไม่ได้ อย่ามาเพ้อเจ้อ บอกมาให้ชัดว่า จะใช้ตั๋วร่วมระบบอะไร? เครื่องอ่านติดตั้งเสร็จเมื่อไหร่? หลังบ้านจะเคลียร์เงินกันอย่างไร? สายไหนเข้าร่วมบ้าง? มันจะรวมสายสีเขียว, สายสีส้ม, สายสีทอง, แอรืพอร์ตเรลลิ้งค์ที่ติดสัญญากับเอกชนด้วยแน่หรือไม่ หากรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ร่วมก็ไม่มีประโยชน์เพราะคนใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเยอะที่สุด และหากตัวร่วมไม่เสร็จรัฐบาลจะทำค่าโดยสารร่วมได้อย่างไร? เป็นไปไม่ได้ ควรไปดูไส้ในให้ดีๆ”
นายสุรเชษฐ์ระบุว่า อีกทั้งเมื่อปี 2554 ยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นก็ออกมายอมรับว่า นโยบายนี้ล้มเหลว ทำไม่ได้ เพราะจะกระทบกับรายได้ของผู้ถือหุ้นและอาจมีปัญหาฟ้องร้องในอนาคต จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 12 ปีแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยยังจะเอานโยบาย 20 บาทตลอดสายมาทำอีก แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร? 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีเงินเฟ้อ ไม่มีการขยายโครงข่ายโครงการรถไฟฟ้าเพิ่มเติมหรืออย่างไร การหาเสียงด้วยการเจรจากับเอกชนนั้น จะเจรจาอย่างไรและจะเอาอะไรไปแลกกับเอกชน อีกทั้ง ฐานคิดของนโยบายนี้มาจากอะไร ดังนั้น นโยบายนี้จึงไม่สมควรทำ
เหตุผลสำคัญที่ไม่สมควรทำก็คือ ต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก และต้องจ่ายทุกปีไม่ใช่จ่ายครั้งเดียวจบ ซึ่งกลุ่มคนที่ใช้รถไฟฟ้าคือกลุ่มชนชั้นกลางระดับบน เพราะค่าเฉลี่ยผู้ใช้รถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่าผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง ดังนั้น ทำไมรัฐบาลจึงไม่ไปอุดหนุนรถโดยสารประจำทางก่อน และหากมองในภาพกว้างกว่านั้น ทำไมจึงต้องเทเงินอุดหนุนให้เฉพาะคนกรุงเทพฯแต่ละเลยคนต่างจังหวัด ซึ่งบางจังหวัดยังไม่มีรถเมล์วิ่ง และทำไมคนทั้งประเทศต้องมาช่วยอุ้มค่าโดยสารของคนกรุงเทพฯ
@จี้สางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้ม
นายสุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า นอกจากนโยบายที่เกี่ยวกับการลดราคาค่าโดยสารแล้ว ประเด็นรถไฟฟ้ายังมีกรณีของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ยังติดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 อยู่ รัฐบาลจึงต้องชัดเจนว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยมีท่าทีชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จนปล่อยให้หนี้สะสมจนมีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท และหากนำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทเข้ามาดำเนินการก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตตามมาคือ การที่จะต้องอุดหนุนส่วนต่างที่เกิดขึ้น เพราะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบันอยู่ที่ 17 ถึง 62 บาท เป็นการเพิ่มหนี้จากเดิม
และอีกโครงการสำคัญคือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีข้อกังขาในการประมูล จึงอยากสอบถามจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เคยเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และเคยอภิปรายคัดค้านโครงการดังกล่าวมาด้วยกันว่า ยังเห็นด้วยกับการประมูลใหม่หรือไม่ อันนี้ประเด็นที่ 1
นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ยังมีประเด็นถัดมาก็คือหากพรรคเพื่อไทยยังยืนยันจะดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในร่างสัญญาที่กำลังรอเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท ซึ่งเชื่อแน่นอนว่า เอกชนที่รัฐบาลจะเข้าไปเจรจาไม่ยินยอมลดค่าโดยสารลงแน่นอน และถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยตัดสินใจประมูลใหม่โดยให้เขียนลงในร่างสัญญาว่าจะต้องกำหนดราคาค่าโดยสารที่ 20 บาทตลอดสายนั้น จะเกิดความวุ่นวายขึ้นมาเพราะร่างทีโออาร์เปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อผลการศึกษาในประเด็นต่างๆจากเดิม เข้าทำนองกลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง
ดังนั้น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทจะเป็นตัวสร้างปัญหาเพิ่ม รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะถูกซ้ำเติมด้วยเรื่องหนี้สิน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มจะถูกซ้ำเติมด้วยค่าเสียโอกาส รัฐบาลจึงต้องเร่งตัดสินใจว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีความชัดเจนอย่างไรต่อไป
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ขวาสุด)
@’สุริยะ’ ลุกแจง ‘แดง-ม่วง’ ประเดิม 20 บ.ไม่เกิน 3 เดือนนี้
จากนั้นเวลาประมาณ 20.50 น. ของวันที่ 11 ก.ย. 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงว่า สิ่งที่นายสุรเชษฐ์อภิปรายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว ตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่หลังจากนี้ เมื่อเข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีหลายโครงการทั้ง MR Map และแลนด์บริดจ์ จะต้องมีการศึกษาทบทวน อะไรดีก็ทำต่อ อะไรที่เป็นปัญหาก็ทบทวนเพื่อประโยชน์ของประเทศและพี่น้องประชาชน
ส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง จะดำเนินการต่อไป และจะเริ่มทันทีเพื่อสร้างโอกาสและความเท่าเทียมโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย โดยจะทำการรวบรวมสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกรายทุกเส้นทางแล้วแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจากับผู้ที่ได้รับสัมปทานทุกราย ซึ่งการเจรจามีหลายประเด็นที่ต้องลงรายละเอียด จะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นคาดว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทางน่าจะดำเนินการได้ทันที
อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล ได้แก่ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชันและช่วงบางซื่อ - รังสิต ระยะทางรวม 41 กม.จากอัตราค่าโดยสารเดิมเริ่มต้น 14-42 บาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน ระยะทาง 23 กม. จากอัตราค่าโดยสารเดิม 14-42 บาท จะสั่งการให้มีการเก็บค่าโดยสารราคา 20 บาทตลอดเส้นทาง โดยจะเร่งผลักดันให้เริ่มได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้พี่น้องประชาชนในปี 2567
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม แต่เป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดังนั้นปัญหาต่างๆต้องรอ กทม. เป็นผู้ดำเนินการ กระทรวงคมนาคมพร้อมให้ความสนับสนุนยึดหลักความถูกต้องและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
และรถไฟฟ้าสายสีส้ม MR-MAP และแลนด์บริดจ์ นายสุริยะกล่าวว่า เนื่องจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง จะขอตรวจสอบในรายละเอียด โดยตรวจสอบทุกมิติ ทั้งมิติทางกฎหมาย มิติทางประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยขอรับรองว่า จะดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ
ที่มาภาพปกนายสุริยะ : กระทรวงอุตสาหกรรม
อ่านประกอบ
- ‘เศรษฐา-จุลพันธ์’ ลุกแจงปมหมื่นดิจิทัล - แก้รัฐธรรมนูญ ยันไม่ล้วงเงินมั่ว
- 'เศรษฐา' แถลงนโยบายระยะสั้น-เร่งด่วน เงินดิจิทัล 10,000-แก้หนี้สิน-ลดราคาพลังงาน
- ‘ศิริกัญญา’ อัดคำแถลงแย่กว่ายุค ‘บิ๊กตู่’ ‘หมื่นดิจิทัล’ ไร้ที่มางบ 5.6 แสนล้านบ.
- ‘จุรินทร์’ ร่ายยาว อัดคำแถลงนโยบาย ‘นินจา-ล่องหน’
ประเด็นเกี่ยวกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท