‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯ คอนโดหรู 50 ชั้น ‘แอชตัน อโศก’ นัดแรก 20 ก.ย.นี้
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เวลา 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำที่ อส. 67/2564 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน(ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติหรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ชื่อโครงการแอชตัน อโศก ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชน และละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการดังกล่าว ด้วยการปล่อยให้มีการปิดกั้นหรือใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีเดือดร้อนเสียหาย
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เดิมที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก มีทำเล ที่ตั้งติดกับถนนสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) แต่ต่อมาที่ดินด้านที่ติดกับถนนสาธารณะบางส่วนถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษฯ ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินตั้งอยู่ติดถนนสาธารณะ และไม่มีทางออกสู่ถนนอโศกมนตรีได้เช่นเดิม
ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้อนุญาตให้ผู้ร้องสอดใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นทางผ่านหรือเข้า-ออก สู่ถนนอโศกมนตรี ซึ่งมีขนาดความกว้าง 13 เมตร เพื่อประโยชน์แก่ผู้ร้องสอดในการดำเนินโครงการ แอชตัน อโศก ตามคำขอของผู้ร้องสอดเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะยกที่ดินบางส่วนของ รฟม. ให้เป็นถนนสาธารณะโดยเปิดหรือยินยอมให้ประชาชนเข้าไปหรือใช้เป็นทางสัญจรแต่อย่างใด
ดังนั้น ผู้ร้องสอดจึงไม่อาจนำที่ดินของ รฟม. ไปประกอบการยื่นแจ้งการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ได้ และไม่อาจถือได้ว่าที่ดิน รฟม. ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารของผู้ร้องสอด ตามนิยามในข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพ.ร.บงควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ดังนั้น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการแอชตัน อโศก จึงไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) อนุญาตให้แก่ผู้ร้องสอด ทำการก่อสร้างและตัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมีให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป
สำหรับประเด็นที่ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน นั้น ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกไม่ใช่ผู้ที่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามแนวสายทางโดรงการรถไฟฟ้าที่ขออนุญาตใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านเข้า-ออกสู่ทางสาธารณะ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกจึงมิใช่ผู้ที่อยู่ในบังคับของประกาศที่พิพาท และไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ตาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศดังกล่าว
ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อประโยชน์ของที่ดินของผู้ร้องสอด นั้น ศาลเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการก่อตั้งสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. ตามคำเสนอของผู้ร้องสอด การออกใบอนุญาตตังกล่าว จึงไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบหกจึงไม่มีสิทธิฟ้องในข้อหานี้
ผู้ฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 และผู้ร้องสอด จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
ร้องทบทวนหลักเกณฑ์! ‘สมาคมอาคารชุดฯ’ ชี้ถอนใบอนุญาต ‘แอชตัน อโศก’ กระทบวงกว้าง
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.