“…การกระทำของ กกท. และพนักงานที่เกี่ยวข้อง อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุมของ กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ตลอดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. จึงเห็นควรส่งเรื่องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่อไป…”
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 4 ต่อ 2 ต่อ 1 เสียง ให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ ‘รักษาการเลขาธิการ กสทช.’ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯ
ทั้งนี้ การมีมติของ กสทช. ในกรณีดังกล่าวนั้น เกิดขึ้น หลังจากที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาวาระ ‘รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย’
ต่อมา สำนักงาน กสทช. มีคำสั่ง กสทช. ที่ 568/2566 เรื่อง คำสั่งแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. โดยแต่งตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ในวันที่ 11-18 มิ.ย.2566 และแต่งตั้ง นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ในวันที่ 19-20 มิ.ย.2566
แต่ทว่าล่าสุด พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) ได้ออกประกาศงานเลขานุการประธาน กสทช. ปฏิเสธกรณีมีคำสั่งให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ว่า ไม่เป็นความจริง นั้น (อ่านประกอบ : ‘ไตรรัตน์’ยังนั่งรักษาการ! เลขานุการ‘ปธ.กสทช.’ยันไม่มีคำสั่งปลด-ห่วงพนง.กระด้างกระเดื่อง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดของ ‘รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย’
ของ ‘คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย’ ที่นำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@เปิดชื่อ 6 อนุกรรมการฯตรวจสอบข้อเท็จจริงค่าลิขสิทธิ์บอลโลก
ความเป็นมา
กสทช. มีคำสั่ง ลับ ที่ 7/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ) โดยคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย
1.พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ (ประธานคณะอนุกรรมการฯ)
2.นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
3.รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
4.พล.ต.ท.กมล เหรียญราชา
5.พ.ท.เทพจิต วีณะคุปต์
6.นายทวีวัฒน์ เส้งแก้ว
ทั้งนี้ ข้อ 2 (1) กำหนดให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022
อัน ‘อาจ’ มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช.
ข้อ 2 (3) กำหนดให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จและรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ กสทช. พิจารณา ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานอนุกรรมการได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง
ต่อมาที่ประชุม กสทช. มีมติครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2566 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ออกไปอีก 30 วัน โดยครบกำหนดวันที่ 2 พ.ค.2566
@เผยกรอบการประชุม ‘อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง’ 7 ครั้ง
คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Final 2022) ดังนี้
(1) การประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ การเรียกเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น กกท. สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ประกอบกิจการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ กกท. ไม่ปฏิบัติตาม MOU และสำนักงาน กสทช.
(2) การประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐานที่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสำนักงาน กสทช. นำส่งต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ พร้อมกำหนดแนวทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ของ กกท. และสำนักงาน กสทช.
(3) การประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ กกท. จำนวน 6 ราย
(4) การประชุม ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. จำนวน 2 ราย
(5) การประชุม ครั้งที่ 5/2566 ในวันที่ 28 มี.ค.2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. เพิ่มเติมอีกประมาณ 5 ราย
(6) การประชุม ครั้งที่ 6/2566 ในวันที่ 20 เม.ย.2566 และครั้งที่ 7/2566 ในวันที่ 28 เม.ย.2566
โดยมีสาระสำคัญเป็นพิจารณาให้ความเห็นว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.
รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. หรือไม่
ข้อกฎหมายและมติที่เกี่ยวข้อง
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 36 และมาตรา 52
2.พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 27 ,มาตรา 52 ,มาตรา 55
3.ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555
4.ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
5.ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ พ.ศ.2560
6.ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555
7.ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555
8.ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
@ย้อนมติ กสทช. กรณีอนุมัติสนับสนุนลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 600 ล้าน
มติ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
-ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2565
วาระที่ 5.1 วาระการขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (การกีฬาแห่งประเทศไทย)
มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของ กสทช. ดังนี้
1) ให้สำนักงาน กสทช. ประสาน กกท. เพื่อพิจารณากำหนดกรอบวงเงินในการสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ให้ชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ กสทช.
2) มอบหมายเลขาธิการ กสทช. หารือกรมสรรพากร กรณีงดเว้นการเรียกเก็บภาษีจากสำนักงาน กสทช. เป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งประสานการกีฬาแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ในการร่วมสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022
3) ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายกรณีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกผ่านทาง Platform อื่น ๆ นอกเหนือจากกิจการโทรทัศน์
4) ให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีกระบวนการกลั่นกรองในระดับของสำนักงาน กสทช. ก่อนเสนอ กสทช. พิจารณาสนับสนุนงบประมาณและให้มีกลไกการใช้งบประมาณที่ชัดเจน รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับการสนับสนุนฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของสำนักงาน กสทช. ที่ผ่านมา
5) ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาบัญชีที่จะใช้เงินงบประมาณของกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาใช้จากบัญชีที่ 2
6) ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำบทวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ กรณีการสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) อาทิ ประเด็นค่าเสียโอกาส ประโยชน์โดยรวมที่จะได้รับ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่รัฐเข้าแทรกแซงตลาด
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. นำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อไป
-ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 30/2565 เมื่อวันพุธที่ 9 พ.ย.2565
วาระที่ 7.2 วาระการขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) ๒๐๒๒ ของกระทรวงการท่องเทียวและกีฬา
1) การลงมติในประเด็นการสนับสนุนงบประมาณแก่ กกท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 จากกองทุนฯ หรือไม่
ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) กสทช. ,พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,กสทช. ต่อพงศ์ เสลานนท์ และ กสทช. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร) มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ กกท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จากกองทุนฯตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ
ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช. ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต และ กสทช. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย) มีมติไม่เห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณแก่ กกท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 จากกองทุนฯ โดยจะจัดทำบันทึกสงวนความเห็นเพิ่มเติมส่งให้ในภายหลัง
2) การลงมติในประเด็นกรอบวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ กกท.
ที่ประชุมเสียงข้างมาก 3 เสียง (ประธาน กสทช. กสทช. ต่อพงศ์ฯ กสทช. พล.ต.อ. ดร.ณัฐธรฯ) ตาม ข้อ 41 (2) ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้กับ กกท. ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 600 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด) โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่ประชุมเสียงข้างน้อย 1 เสียง (กสทช. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ) มีมติเห็นชอบสนับสนุนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้กับ กกท. ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 261 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด) จากบัญชี 2 บัญชีกองทุนบริการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง
ที่ประชุมเสียงข้างน้อย 2 เสียง (กสทช. ศ.ดร.พิรงรองฯ และกสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ) สงวนความเห็นในประเด็นการกำหนดกรอบวงเงินการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯ โดยจะจัดทำบันทึกความเห็นจัดส่งให้ในภายหลัง
อนึ่ง กสทช. ศ.ดร.พิรงรองฯ และ กสทช. รศ.ดร.ศุภัชฯ ของดออกเสียง เนื่องจากไม่เห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 ให้แก่ กกท.
3.) เห็นชอบกำหนดแนวทางการสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 บนหลักการเสมอภาค ทั่วถึง และเท่าเทียมตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และประกาศที่เกี่ยวข้อง
โดยให้ กกท. เป็นผู้ดำเนินการและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น และให้ กกท. เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกองทัพบก และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
4) มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปศึกษาทบทวนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 และนำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อไป
-ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 32/2565 เมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย.2565
วาระที่ 7.3 แนวทางการดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป กรณีการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)
1) ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ประกาศฯ) กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองมีหน้าที่จะต้องนำพาสัญญาณของรายการโทรทัศน์ของบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ไปออกอากาศให้ผู้ใช้บริการของตนได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งกำหนดให้ผู้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปจะต้องให้บริการโทรทัศน์ตามผังรายการโดยมีเนื้อหาเดียวกันทุกช่องทาง ดังนั้น การที่กลุ่มทรูแจ้งให้ผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เผยแพร่รายการของกิจการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป ไม่รวมถึง IPTV จึงเป็นการขัดต่อประกาศฯ ข้อ 6 ที่ต้องการให้ออกอากาศผ่านทุกช่องทาง
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบการแจ้งตอบแนวทางการปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้
(1.1) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 6 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
(1.2) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และควบคุมการออกอากาศการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปให้ออกอากาศเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
(1.3) ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 4 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์เผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
2) มอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ปฏิบัติตามข้อ 1.1–1.2
3) มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่ได้รับการจัดสรรให้ถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) จำนวน 17 ช่องรายการ ปฏิบัติตามข้อ 1.3
4) มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง กกท. ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(4.1) ให้ กกท. ดำเนินการให้มีการถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ให้เป็นไปตามระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์ของ กสทช. และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และเกิดความเป็นธรรม เสมอภาคและทั่วถึงรวมทั้งให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เงื่อนไข การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง (MOU) การรับเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
(4.2) ให้ กกท. ชี้แจงรายละเอียดของสัญญาที่จัดทำกับ FIFA รวมทั้งสัญญาหรือข้อตกลง/เงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ที่จัดทำขึ้นกับเอกชนรายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
วาระที่ 7.2 เรื่อง การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด
1.ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า เนื่องจากการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ในประเทศไทย และสำนักงาน กสทช. กับ กกท. ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันดังกล่าว
โดยกำหนดให้มีการออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้ง 64 คู่ ให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ กสทช. และจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศ หลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ซึ่งการที่ กกท. ได้ดำเนินการมอบสิทธิ์ให้แก่โทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปแล้ว
จึงถือว่า กกท. ผู้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยมีการดำเนินการ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 แล้ว ดังนั้น ที่ประชุมจึงไม่พิจารณาคำร้องขอของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
2.ที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย จำนวน 32 คู่ ในระบบความคมชัดสูงเป็นการชั่วคราว (HD : High Definition) ผ่านช่องรายการบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ช่องรายการ True4U (ทรูโฟร์ยู) (ช่องรายการ 24)
เนื่องจากข้อเท็จจริงทางด้านเทคนิคปรากฏว่า MUX ที่ 2 ของกองทัพบก ที่บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ใช้บริการอยู่นั้นมีผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปอยู่เต็มความสามารถของ MUX แล้ว หากมีการอนุญาตอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปรายอื่นได้
อีกทั้งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ตามแนวทางที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
-การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธ.ค.2565
วาระที่ 5.1 การพิจารณาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย)
วาระที่ 5.2 การพิจารณาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย)
ที่ประชุม กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากวาระที่ 5.1 และวาระที่ 5.2 เป็นเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) เช่นเดียวกัน จึงให้นำมาพิจารณาและมีมติที่ประชุมในคราวเดียวกัน
1.เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการกำกับและติดตามให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้รับงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงโดยเคร่งครัด ดังนี้
1.1 ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเตือนให้ กกท. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลง ตามข้อ 2.2 ข้อ 2.4–2.5 ข้อ 2.8 และข้อ 2.10 โดยทันที นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงาน กสทช.
1.2 ในกรณีที่ กกท. ไม่ดำเนินการแก้ไขหรือไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กำหนดในข้อ 1.1 สำนักงาน กสทช. ขอสงวนสิทธิในการดำเนินการตามข้อ 8 ของบันทึกข้อตกลง
โดย กกท. มีหน้าที่ชำระเงินสนับสนุนที่ได้รับทั้งหมดคืนแก่สำนักงาน กสทช. ภายใน 16 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้ง พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี) รวมทั้ง ขอสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อันเป็นผลเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงของ กกท. ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
1.3 ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง กกท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบกรณีกลุ่มทรูหากมีการหารายได้จากการถ่ายทอดสดออกอากาศในระบบภาคพื้นดิน และแจ้งผลการตรวจสอบให้สำนักงาน กสทช. ทราบด้วย
2.ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบการดำเนินการของ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด และบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 32/2565 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 เรื่องการอนุญาตถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ของบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด หรือไม่ อย่างไร
กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ในระบบโทรทัศน์บอกรับสมาชิก True Vision และกรณีการถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวในระบบความคมชัดสูงเป็นการชั่วคราว (HD : High Definition) ทางช่องรายการบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปช่องรายการ TRUE 4U (ช่องหมายเลข 24)
3.ให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาทบทวน ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป และนำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อไป
4.ให้สำนักงาน กสทช. เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ ประธาน กสทช. เป็นประธาน กสทช. ทุกท่าน เป็นกรรมการ และเสนอประธาน กสทช. ลงนามในคำสั่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ให้ กสทช. แต่ละท่านกำหนดประเด็นที่ต้องการตรวจสอบ และนำส่งประธาน กสทช. เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
-ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธ.ค.2565
วาระที่ 5.1 การพิจารณาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย)
1.มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้ง กกท. ว่ายังคงต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง อย่างเคร่งครัด และแจ้งให้ กกท. ทราบกรณีที่ กกท. มอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวให้เอกชนบางรายดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) อย่างเคร่งครัด
และแจ้งให้ กกท. มอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวให้เอกชนบางรายดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) เข้าข่ายเป็นการละเมิดบันทึกข้อตกลง ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. เรียกเงินสนับสนุนคืนจาก กกท. ตามผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 8.1 ของบันทึกข้อตกลง
2.มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อใช้กำหนดค่าเสียหายและผลกระทบจากการละเมิดบันทึกข้อตกลงของ กกท. ทั้งหมดภายหลังสิ้นสุดการแข่งขันฟุตบอลโลก อย่างน้อยใน 2 ประเด็น ดังนี้
2.1 การดำเนินการของ กกท. ขัดหรือแย้งต่อบันทึกความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ๒๐๒๒ (รอบสุดท้าย) กฎหมาย และประกาศหลักเกณฑ์ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
2.2 กกท. มีสิทธิเรียกค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของ กสทช. หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ ให้สำนักงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และเสนอ กสทช. เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืนจาก กกท. โดยให้สำนักงาน กสทช. รายการผลความคืบหน้าต่อ กสทช. ทุก 15 วัน
3.มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการเรียกคืนเงินสนับสนุนและการเรียกร้องสิทธิหรือข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.มอบหมายสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามมติ กสทช. ครั้งที่ 32/2565 ระเบียบวาระที่ 7.3 แนวทางการดำเนินการดำเนินตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป กรณีการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)
ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบการละเมิดให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอให้ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป
@อนุกรรมการฯมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง กรณีจ่ายค่าลิขสิทธิ์บอลโลก‘อาจ’ฝ่าฝืนกม.
ความเห็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ประชุมพิจารณาแล้ว มีความเห็น ดังนี้
-การประชุม ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566
ที่ประชุม 4 เสียง (พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ,นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ,รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน และพล.ต.ท.กมล เหรียญราชา) มีความเห็นว่า
กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ‘อาจ’ มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน กองทุน กทปส. ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช.
พ.ท.เทพจิตฯ อนุกรรมการฯ ไม่ลงความเห็น
นายทวีวัฒน์ฯ อนุกรรมการฯ เห็นว่า การหารือวันที่ 21 พ.ย.2565 ไม่ใช่การประชุม มีเนื้อหาไม่ตรงกับเอกสารสรุปการประชุมวันที่ 21 พ.ย.2565 ที่ กกท. จัดทำขึ้นและนำไปใช้ ส่วนเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของสำนักงาน กสทช. ไม่มีประเด็น และไม่เชื่อปากคำของ กกท.
-การประชุม ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566
ที่ประชุมมีผู้เข้าร่วมประชุม 4 ท่าน ประกอบด้วย พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ,นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ,รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน และพล.ต.ท.กมล เหรียญราชา มีความเห็นตามมติที่ประชุมครั้งที่ 6/2566 โดยขอเพิ่มเติมรายละเอียดของมติที่ประชุม ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566 เป็นดังนี้
(1) กรณีการดำเนินการของการกระทำของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 'อาจ'มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง
และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช.
(2) การที่ กกท. ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินกองทุน จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2022 รอบสุดท้าย จาก FIFA จะต้องดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ของ กองทุน กทปส. ตามมติของ กสทช. ซึ่งให้ดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ข้อ 6 แม้ว่า กกท. จะขอรับงบประมาณบางส่วนจากเอกชน
เมื่อ กกท.ได้ซื้อสิทธิ์จาก FIFA แล้ว การที่ กกท. ให้สิทธิทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากนั้น กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงและสัญญากับกลุ่มบริษัททรู (บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการเพื่อหวังผลกำไร
จนทำให้กลุ่มบริษัททรูนำสิทธิไปหาประโยชน์ในทางธุรกิจในทุกช่องทาง ซึ่งรวมถึงช่องทางที่ประกาศกำหนดให้เป็นช่องทางเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ตามข้อ 6 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555)
ทำให้ผู้ให้บริการที่เป็นผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศได้ การกระทำของ กกท. และพนักงานที่เกี่ยวข้อง อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุมของ กสทช.
รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ ตลอดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. จึงเห็นควรส่งเรื่องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่อไป
ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
(1) เห็นควรให้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินการยกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในอนาคตให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยมีการพิจารณาเป็นรายกรณี
(2) เห็นควรให้ปรับปรุงประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง แนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนของการระบุกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอเพื่อพิจารณา (เสนอที่ประชุม กสทช.)
คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์ ,นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ,รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน และพล.ต.ท.กมล เหรียญราชา) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า
1) กรณีการดำเนินการของการกระทำของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ‘อาจ’ มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน กองทุน กทปส. ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช.
2) การที่ กกท. ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินกองทุน จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2022 รอบสุดท้าย จาก FIFA จะต้องดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ตามมติของ กสทช. ซึ่งให้ดำเนินการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 ข้อ 6
แม้ว่า กกท. จะขอรับงบประมาณบางส่วนจากเอกชน เมื่อ กกท. ได้ซื้อสิทธิ์จาก FIFA แล้ว การที่ กกท. ให้สิทธิทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากนั้น กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงและสัญญากับกลุ่มบริษัททรู (บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการเพื่อหวังผลกำไร
จนทำให้กลุ่มบริษัททรูนำสิทธิไปหาประโยชน์ในทางธุรกิจในทุกช่องทาง ซึ่งรวมถึงช่องทางที่ประกาศกำหนดให้เป็นช่องทางเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ตามข้อ 6 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป พ.ศ.2555) ทำให้ผู้ให้บริการที่เป็นผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศได้
การกระทำของ กกท. และพนักงานที่เกี่ยวข้อง อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุมของ กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน ตลอดบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช.
ดังนั้น จึงเห็นสมควรเสนอ กสทช. ดังนี้
1.ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่อไป
2.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
(1) เห็นควรให้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินการยกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในอนาคตให้รอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยมีการพิจารณาเป็นรายกรณี
(2) เห็นควรให้ปรับปรุงประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง แนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนของการระบุกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
@มติ กสทช.‘เสียงข้างมาก’ให้‘ไตรรัตน์’หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการฯ
มติที่ประชุม กสทช.
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ประชุม กสทช. ได้ประชุมพิจารณาในวาระลับ เรื่อง รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
โดยรายงานฯดังกล่าวจัดทำโดย ‘คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย’ (สำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์)
ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. มีมติ 4 ต่อ 2 ต่อ 1 เสียง ให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯ กรณีไม่ปฏิบัติตามมติ กสทช.และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022
โดยกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก 4 คน ที่ลงมติให้นายไตรรัตน์หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์
ขณะที่กรรมการ กสทช. 2 คน เห็นว่า ไม่ผิด ได้แก่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร ขณะที่ กรรมการ กสทช. 1 คน คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. งดออกเสียง
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรรมการ กสทช. 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ทำหนังสือยืนยันมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ไปแล้ว
และขอให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ดำเนินการมติ กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 โดยขอให้ลงนามคำสั่งให้นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯนายไตรรัตน์ แต่ปรากฏว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ยังไม่มีการลงนามในคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด
“กสทช. 4 ท่าน ได้ทำหนังสือยืนยันมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ให้นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช.และตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ประธาน กสทช.ยังไม่มีคำสั่งใดๆออกมา ซึ่งในการประชุมบอร์ด กสทช.วันจันทร์หน้า น่าจะมีการทวงถามในเรื่องนี้” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังนายไตรรัตน์ เพื่อสอบถามกรณีที่บอร์ด กสทช. เสียงข้างมาก มีมติเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ให้นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. และให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ กรณีการสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022
นายไตรรัตน์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นมติของ กสทช. หรือได้รับแจ้งว่าบอร์ด กสทช.ได้มติอย่างไรในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า อาจมีพนักงาน กสทช. ที่มีกระทำในลักษณะฝ่าฝืนกฎหมายและมติ กสทช. นั้น ตนไม่เคยเห็นว่า รายงานฯฉบับนั้นเขียนว่าอย่างไร แต่พร้อมชี้แจงในทุกประเด็น
“ผมยังไม่ได้ข้อมูลอะไรจากข้างบนเลย แม้แต่คำสั่งใดๆ ผมก็ไม่ได้รับ แต่ถ้าจะให้ชี้แจง ผมสามารถชี้แจงได้ทั้งหมดอยู่แล้ว (กรณีลงนาม MOU กับ กทท. จำนวน 600 ล้านบาท)” นายไตรรัตน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า “ที่ผ่านมาได้เข้าชี้แจงกับคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯทั้งหมดแล้ว และมีหลักฐานทุกอย่าง แต่ผมไม่ทราบว่าคณะอนุกรรมการฯ เขาเขียนอย่างไร ดังนั้น ขอให้ผมได้เห็นมติก่อนว่าเป็นอย่างไร ก็จะชี้แจงได้ แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นอะไรเลย แม้แต่คำสั่งต่างๆ เพราะการประชุมเรื่องนี้เป็นการประชุมลับ ซึ่งผมไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย”
เหล่านี้เป็นสรุปรายละเอียด ‘รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย’ ที่มีการเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566
ก่อนที่บอร์ด กสทช. จะมีมติเสียงข้างมากให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯ และแน่นอนว่า มติ กสทช. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 จะมีผลต่อการคัดเลือก ‘เลขาธิการ กสทช.’ คนใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนายไตรรัตน์ ถือเป็น 1 ในแคนดิเคต ที่ร่วมเข้าชิงตำแหน่งนี้ด้วย!
อ่านประกอบ :
‘ไตรรัตน์’ยังนั่งรักษาการ! เลขานุการ‘ปธ.กสทช.’ยันไม่มีคำสั่งปลด-ห่วงพนง.กระด้างกระเดื่อง
ยังไม่พอให้คัดเลือก!'ปธ.กสทช.'ขยายเวลารับสมัคร'เลขาธิการ' 1 เดือน-ล่าสุดยื่นแล้ว 7 ราย
เตือน‘ปธ.กสทช.’เดินหน้ารับสมัคร‘เลขาธิการ’ หากบอร์ดตีตกผลคัดเลือก ต้องรับผิดชอบส่วนตัว
ฉบับ 2! เปิดบันทึก 3 กสทช.เตือน‘ปธ.’รับสมัคร‘เลขาธิการ’ไม่ชอบ-เอื้อใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
3 กสทช. ค้านประกาศฯรับสมัคร‘เลขาธิการ’คนใหม่ ชี้ออกโดยไม่ชอบ-เอื้อใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’ เป็น ‘กรรมการ กสทช.’ คนที่ 7
เมินเสียงค้าน! 'กสทช.'เปิดรับสมัคร'เลขาธิการ'คนใหม่ 20 มี.ค.-7 เม.ย.-'ประธาน'คัดเลือกเอง
ให้ไปทำข้อมูลใหม่! ‘บอร์ด กสทช.’ตีกลับล้วงเงิน ‘กทปส.’ 3.5 พันล.หนุน‘โทรเวชกรรมถ้วนหน้า’
ฉบับเต็ม! เปิดหนังสือ 3 กสทช. ยก 3 ประเด็น ไม่รับ‘มติ’ให้‘ปธ.’ยึดอำนาจเลือก‘เลขาธิการฯ’
ส่อขัดกม.-มีโทษอาญา! 3 กสทช.แจ้ง‘นพ.สรณ’ ไม่รับ‘มติ’ยกอำนาจให้‘ประธาน’เลือกเลขาธิการฯ
มติบอร์ด 4:3! ‘นพ.สรณ’โหวตซ้ำคุมเบ็ดเสร็จเลือก‘เลขาฯกสทช.’-‘พิรงรอง’ชี้ส่อขัดรธน.
พิรงรอง รามสูต : ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในสรรหา เลขาธิการ กสทช.