“…ดังนั้น การที่ไม่มีกรอบการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่ชัดเจน และกำหนดให้เป็นอำนาจของประธาน กสทช. เพียงคนเดียวในการดำเนินการคัดเลือก จึงส่งผลให้เกิดการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ก่อให้เกิดกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม…”
........................................
จากกรณีที่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงนามประกาศประธาน กสทช. เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยเปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครฯ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-7 เม.ย.2566
แต่ต่อมา กรรมการ กสทช. 3 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ทำหนังสือถึง ประธาน กสทช. โดยแสดงความเห็นว่า ประกาศประธาน กสทช. ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : 3 กสทช. ค้านประกาศฯรับสมัคร‘เลขาธิการ’คนใหม่ ชี้ออกโดยไม่ชอบ-เอื้อใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดหนังสือ 'บันทึกข้อความ' ของ กรรมการ กสทช. ทั้ง 3 ราย ลงวันที่ 21 มี.ค.2566 ที่ส่งถึงประธาน กสทช.ให้สาธารณชนรับทราบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@การออกประกาศฯสรรหา‘เลขาธิการ กสทช.’ไม่ชอบด้วยกม.
ตามที่ได้มีประกาศประธาน กสทช. เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ลงวันที่ 17 มีนาคม 2566 รับสมัครคัดเลือกบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 นั้น
ในการนี้ กสทช. พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,กสทช. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ กสทช. ศ.พิรงรอง รามสูต ได้ร่วมกันพิจารณาประกาศฯ ฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่าประกาศฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุและผล ดังต่อไปนี้
1.ขั้นตอนและกระบวนการก่อนการออกประกาศฯ
ในการออกประกาศฯ ประธาน กสทช. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553ประกอบกับมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เนื่องจากมติที่ประชุม กสทช. ดังกล่าว ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติจากการที่ กสทช. ทั้ง 3 ท่าน ได้ทำการคัดค้านตั้งแต่การนำเสนอระเบียบวาระการประชุม กระบวนการพิจารณา การลงมติที่ประชุม และการบันทึกมติที่ประชุม ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
และการสรุปมติที่ประชุมตาม (ร่าง) รายงานการประชุมไม่เป็นไปตามที่ กสทช. ลงมติ โดยได้ทำการคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 1003/79 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2566 เรียน ประธาน กสทช. (เอกสารแนบ) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) การนำเสนอและการพิจารณาระเบียบวาระการประชุม
ในการนำเสนอระเบียบวาระการประชุมเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช. เป็นการนำเสนอที่ไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2566 และครั้งที่ 4/2566 ที่มีมติสั่งการให้แก้ไขเพิ่มเติม เรื่อง การกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตามความเห็นของที่ประชุมกสทช. และให้นำเสนอเรื่องหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหา มาพร้อมกันกับเรื่องการกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.
แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสั่งการตามมติที่ประชุม กสทช. ข้างต้น และยังได้นำเสนอเอกสารประกอบวาระการประชุมฉบับเดิมต่อที่ประชุม กสทช. อีกด้วย
นอกจากนี้ การที่ กสทช. ได้มีมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า ที่ประชุม กสทช. มีเจตนาให้มีการเสนอเรื่องหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหามาพร้อมกันกับเรื่องการกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. มาในระเบียบวาระเดียวกันเป็นระเบียบวาระเพื่อพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องกันเพื่อให้ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน
แต่ประธาน กสทช. กลับนำเสนอเรื่องหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหา มาในระเบียบวาระ “เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ” กรณีนี้โดยหลักการแล้วระเบียบวาระเรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ต้องเป็นเรื่องที่ประสงค์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องหาข้อยุติหรือการพิจารณาจากที่ประชุม แต่เรื่องหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. นั้น ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและยังหาข้อยุติไม่ได้
อีกทั้งในการนำเสนอระเบียบวาระการประชุมเรื่องดังกล่าว ยังเป็นการนำเสนอที่ไม่เป็นไปตามข้อ 21 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 กรณีไม่ปรากฎว่ามีเอกสารประกอบการประชุมนำส่งหรือนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. และเป็นการนำเสนอที่ไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2566 และครั้งที่ 4/2566 ด้วย
(2) การลงมติและการบันทึกมติที่ประชุม
โดยที่ในการบันทึกมติที่ประชุมในระเบียบวาระ “เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ” ได้ปรากฏมีกรรมการ กสทช. คัดค้านการนำเสนอระเบียบวาระดังกล่าว แต่สำนักงาน กสทช. กลับบันทึกมติที่ประชุมเป็น “รับทราบเรื่องตามที่ประธาน กสทช. แจ้งให้ที่ประชุมทราบ” ทั้งที่ยังมีกรรมการ กสทช.ได้คัดค้านการนำเสนอระเบียบวาระการประชุมและการบันทึกมติที่ประชุมดังกล่าวด้วยนั้น
อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่า กสทช. ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นการพิจารณาและข้อขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น กรณีนี้แม้ประธาน กสทช. จะได้ชี้แจงว่าเป็นอำนาจของประธาน กสทช. แต่เมื่อเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามข้อ 40 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 และปัจจุบันไม่ปรากฏว่าได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ ในระเบียบวาระที่ 5.1 เรื่อง การพิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. แม้ว่าที่ประชุมจะได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบ และมีหมายเหตุท้ายมติที่ประชุมว่า “...ที่ประชุมได้มีมติรับรองมติที่ประชุม กสทช. วาระที่ 5.1” ก็ตาม
แต่โดยหลักการทั่วไปแล้ว การที่จะมีหมายเหตุลักษณะนี้ จะเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการมติที่ประชุม กสทช.นั้นๆ ไปดำเนินการต่อไป อาทิ การออกคำสั่งทางปกครองหรือการบังคับใช้กฎหมายที่มีกรอบระยะเวลาตามกฎหมายกำหนดไว้ เป็นต้น แต่การสรรหาเลขาธิการ กสทช. มิใช่เป็นกรณีที่มีกรอบระยะเวลาตามกฎหมายบัญญัติไว้ และมิใช่เป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องนำมติที่ประชุม กสทช. ไปใช้ดำเนินการขณะนั้น
นอกจากนี้ การที่จะนำมติที่ประชุมดังกล่าวไปดำเนินการต่อไปได้ จะต้องปรากฎเป็นมติที่ประชุมที่เป็นข้อยุติและที่ประชุมได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปดำเนินการต่อไป เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจลงนามในระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งนั้นๆ ต่อไป แต่กรณีนี้ไม่ปรากฏมีมติที่ประชุมในลักษณะดังกล่าว
อีกทั้งในการพิจารณาเรื่องการสรรหาเลขาธิการ กสทช. นี้ ยังมีประเด็นข้อถกเถียงที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และรายงานการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอต่อ กสทช. ทุกท่านนั้น มีประเด็นว่าการสรุปมติที่ประชุมตาม (ร่าง) รายงานการประชุมไม่เป็นไปตามที่ กสทช. ลงมติ และยังมีสถานะเป็น (ร่าง) รายงานการประชุม ที่ต้องรอการรับรองรายงานการประชุมจาก กสทช. อีกครั้ง
ดังนั้น การนำมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ไปปฏิบัติและไปใช้อ้างอิงเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศประธาน กสทช. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ชี้เนื้อหาประกาศฯเอื้อให้เกิดการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
2.เนื้อหาของประกาศฯ
(1) ตามข้อ 9 ของประกาศฯ ที่กำหนดว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และการประกาศผลการคัดเลือก” นั้น ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และกรอบการให้คะแนน ซึ่งกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาที่ อ.155/2561 สรุปได้ว่า “การไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และกรอบการให้คะแนนผู้เข้าสอบแข่งขัน ภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
คณะกรรมการสอบจึงสามารถใช้ดุลพินิจในการให้คะแนนแก่ผู้เข้าสอบแข่งขันได้อย่างอิสระ และเปิดกว้างตามดุลพินิจเพียงใดก็ได้เป็นการก่อให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบทำให้การสอบแข่งขันครั้งนี้ไม่เป็นธรรมและไม่ทำให้ได้ผู้ที่มีความรู้เหมาะสมกับตำแหน่งอย่างแท้จริง”
ดังนั้น การที่ไม่มีกรอบการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่ชัดเจน และกำหนดให้เป็นอำนาจของประธาน กสทช. เพียงคนเดียวในการดำเนินการคัดเลือก จึงส่งผลให้เกิดการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ก่อให้เกิดกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม
และไม่สามารถตรวจสอบการใช้ดุลพินิจได้ ตลอดจนไม่เป็นไปตามมาตรฐานการสรรหาหัวหน้าหน่วยงานในลักษณะเดียวกัน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ขององค์กรขาดหลักธรรมาภิบาลและความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน
(2) ตามข้อ 8 ของประกาศ ที่กำหนดว่า “8.การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ...”
กรณีนี้ประธาน กสทช. มีการอาศัยอำนาจตามข้อใด ในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ เนื่องจากปราศจากฐานอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว
(3) ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 ได้บัญญัติไว้ให้ประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. เท่านั้น
โดยไม่ได้ให้อำนาจประธาน กสทช. ในการออกประกาศหรีอระเบียบที่เกี่ยวกับการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ไว้แต่อย่างใด กรณีนี้เมื่อการดำเนินการสรรหาเลขาธิการ กสทช. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารสำนักงาน กสทช. ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจแก่ กสทช. ในการดำเนินการไว้แล้วตามมาตรา 27 และมาตรา 58
ดังนั้น การที่ประธาน กสทช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 61 ในการดำเนินการออกประกาศฯ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบาทของประธาน กสทช. ตามกฎหมายแล้ว ถือเป็นตัวแทนหรือ representative ผู้ที่กระทำการแทนกรรมการ กสทช. ทุกคน ในการออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ โดยในการดำเนินการต้องทำในนามของคณะกรรมการ ไม่ใช่ในนามของประธาน กสทช.
การที่ประธาน กสทช. ทำการออกประกาศฯ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ และทำการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เองทั้งหมด มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยให้กรรมการ กสทช. ร่วมในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ด้วย จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรองศาสตราจารย์สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2566 ดังนั้น กสทช. รศ.สมภพฯ จึงควรมีสิทธิในการกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. รวมถึงคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ด้วย
“จึงเรียนมาเพื่อยุติการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามมติ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง” หนังสือเรื่อง ความเห็นประกาศประธาน กสทช. เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ฉบับลงวันที่ 21 มี.ค.2566 ลงนามโดย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ส่งถึงประธาน กสทช. ระบุ
ทั้งนี้ หนังสือของกรรมการ กสทช. ทั้ง 3 ราย ที่ยื่นถึง ‘ประธาน กสทช.’ คัดค้านประกาศฯ เรื่อง รับสมัครเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว นับเป็นหนังสือ ‘ฉบับที่ 2’ ซึ่ง ‘กรรมการ กสทช.’ ได้ส่งถึง ‘ประธาน กสทช.’ เพื่อขอให้มีการทบทวนกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเอื้อให้เกิดการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจได้!
อ่านประกอบ :
3 กสทช. ค้านประกาศฯรับสมัคร‘เลขาธิการ’คนใหม่ ชี้ออกโดยไม่ชอบ-เอื้อใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’ เป็น ‘กรรมการ กสทช.’ คนที่ 7
เมินเสียงค้าน! 'กสทช.'เปิดรับสมัคร'เลขาธิการ'คนใหม่ 20 มี.ค.-7 เม.ย.-'ประธาน'คัดเลือกเอง
ให้ไปทำข้อมูลใหม่! ‘บอร์ด กสทช.’ตีกลับล้วงเงิน ‘กทปส.’ 3.5 พันล.หนุน‘โทรเวชกรรมถ้วนหน้า’
ฉบับเต็ม! เปิดหนังสือ 3 กสทช. ยก 3 ประเด็น ไม่รับ‘มติ’ให้‘ปธ.’ยึดอำนาจเลือก‘เลขาธิการฯ’
ส่อขัดกม.-มีโทษอาญา! 3 กสทช.แจ้ง‘นพ.สรณ’ ไม่รับ‘มติ’ยกอำนาจให้‘ประธาน’เลือกเลขาธิการฯ
มติบอร์ด 4:3! ‘นพ.สรณ’โหวตซ้ำคุมเบ็ดเสร็จเลือก‘เลขาฯกสทช.’-‘พิรงรอง’ชี้ส่อขัดรธน.
พิรงรอง รามสูต : ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในสรรหา เลขาธิการ กสทช.
197 ต่อ 9 เสียง! ‘วุฒิสภา’โหวต‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’นั่งเก้าอี้‘กรรมการ กสทช.’คนที่ 7