‘บอร์ด กสทช.’ มีมติ 4 เสียงต่อ 3 เสียง ให้ ‘ประธาน กสทช.’ ส่ง ‘เทียบเชิญ-คัดเลือกบุคคลฯ’ เป็น ‘เลขาธิการ กสทช.’ คนใหม่เอง ก่อนส่งชื่อให้บอร์ดฯไฟเขียว ขณะที่ ‘กรรมการ กสทช.’ เสียงข้างน้อย ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ การพิจารณาแนวทางการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ซึ่งเป็นการพิจารณาที่ต่อเนื่องมาจากการประชุมครั้งก่อน
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วาระการประชุมฯ นพ.สรณ ในฐานะประธาน กสทช. ได้เสนอในที่ประชุมว่า ขอให้แยกวาระเรื่องกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. และวาระเรื่องคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. ออกจากกัน โดยให้แยกวาระเรื่องกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. เป็นวาระเพื่อทราบ ส่วนวาระเรื่องคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. ให้เป็นวาระเพื่อพิจารณา ซึ่งแตกต่างจากการประชุมบอร์ด กสทช.ในครั้งก่อน ที่กำหนดให้พิจารณาทั้ง 2 วาระไปพร้อมๆกัน
นอกจากนี้ นพ.สรณ ยังเสนอด้วยว่า ในส่วนของกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่เห็นสมควรให้กำหนดเป็นวาระเพื่อทราบ นั้น จะให้ประธาน กสทช. เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นเลขาธิการ กสทช. จากนั้นให้ประธาน กสทช. เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่ผ่านคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญผ่านการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ และประธาน กสทช. จะส่งรายชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกฯมาให้กรรมการ กสทช.เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ มีกรรมการ กสทช. บางส่วน เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพ.สรณ เพราะมองว่าการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของประธาน กสทช. และเสอดคล้องกับมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 บัญญัติว่า “ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.”
อย่างไรก็ตาม มีกรรมการ กสทช. ส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพ.สรณ เนื่องจากในการประชุม กสทช.ครั้งก่อน ที่ประชุมเคยหารือกันแล้วว่า ให้การพิจารณาเรื่องกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. และวาระเรื่องคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. ไปพร้อมๆกัน และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพ.สรณ ที่ให้ประธาน กสทช.เป็นผู้ส่งทาบทามและคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นเลขาธิการ กสทช. เองนั้น แต่ควรใช้วิธีเปิดกว้างโดยเปิดรับสมัครสรรหาบุคคลฯเป็นการทั่วไป
เมื่อที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ที่ประชุมจึงให้มีการลงมติในเรื่องนี้ ผลปรากฏว่ามีกรรมการ กสทช. 3 คน จากทั้งหมด 6 คน ได้แก่ นพ.สรณ ในฐานะประธาน กสทช. ,นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร ที่โหวตเห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพ.สรณ ส่วนกรรมการ กสทช. อีก 3 เสียง ได้แก่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพ.สรณ
แต่เนื่องจากที่ประชุมมีมติ 3 ต่อ 3 เสียง นพ.สรณ จึงใช้อำนาจในฐานะประธาน กสทช. ลงมติอีกครึ่งหนึ่ง และที่ประชุมมีมติ 4 เสียง ต่อ 3 เสียง ให้แยกวาระเรื่องกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. และวาระเรื่องคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. ออกจากกัน และให้ประธาน กสทช. เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญทาบทามบุคคลที่มีคุณสมบัติและคัดเลือกฯบุคคลที่เหมาะสมเป็นเลขาธิการ กสทช. ก่อนส่งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกฯ ให้บอร์ด กสทช.เห็นชอบต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในวันเดียวกัน ศ.ดร.พิรงรอง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Pirongrong Ramasoota’ โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. ตามแนวทางที่ นพ.สรณ เสนอ และที่ประชุม กสทช.เสียงข้างมาก เห็นชอบ เนื่องจากที่ผ่านมา การสรรหาเลขาธิการ กสทช. นั้น จะทำโดยการออกประกาศสรรหาฯ และให้กรรมการ กสทช.ทุกคน มีส่วนร่วมในการกระบวนการสรรหาฯอย่างชัดเจน
“การที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 61 บัญญัติให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการกสทช. ไม่ได้หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าสมัครรับการสรรหา อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าการที่ประธาน กสทช. เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญซึ่งเป็นวิธีการคัดเลือกที่ไม่มีการแข่งขัน อาจเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ” ศ.ดร.พิรงรอง ระบุ
ศ.ดร.พิรงรอง ระบุด้วยว่า การให้ กสทช. ทั้งคณะ ร่วมพิจารณาคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. และกระบวนการคัดเลือกไปพร้อมๆกัน เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 58 และสอดคล้องกับแนวทางการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ หากกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. สามารถทำได้ ในลักษณะตามที่ประธาน กสทช.ได้นำเสนอมา คือ ประธาน กสทช. เป็นผู้ทาบทามและดำเนินการคัดเลือกเป็นหลัก จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ไม่สะท้อนแนวปฏิบัติที่ดีของการทำงานแบบองค์คณะที่ควรจะมีการมีส่วนร่วมของกรรมการทุกคนอย่างเท่าเทียม (อ่านประกอบ : พิรงรอง รามสูต : ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในสรรหา เลขาธิการ กสทช.)
อ่านประกอบ :
พิรงรอง รามสูต : ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในสรรหา เลขาธิการ กสทช.
197 ต่อ 9 เสียง! ‘วุฒิสภา’โหวต‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’นั่งเก้าอี้‘กรรมการ กสทช.’คนที่ 7
‘บอร์ดสรรหาฯ’เลือก ‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’ เป็น‘ว่าที่ กสทช.’-ชง ‘วุฒิสภา’ โหวตอีกรอบ
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 'พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร' เป็นกรรมการ 'กสทช.'
ขาดอีก 1 เก้าอี้! ‘วุฒิสภา’โหวตเลือก‘พล.ต.อ.ณัฐธร’ นั่งกรรมการ‘กสทช.’-ตีตก‘ศ.อภิรัฐ’
บอร์ดสรรหาฯ เคาะ ‘ศ.อภิรัฐ-พล.ต.อ.ณัฐธร’ เป็นว่าที่ ‘กสทช.’ ส่งชื่อให้ ‘วุฒิสภา’ โหวต
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 5 กสทช.'สรณ บุญใบชัยพฤกษ์'ประธาน
2 ว่าที่กสทช. แก้โจทย์ OTT-ขยับวิทยุดิจิทัล ‘อธิบดีศาลฯ’ชี้‘ซิงเกิ้ลเกตเวย์’เกิดยาก
ปิดรับสมัคร‘กสทช.’แล้ว ยื่นรวม 28 ราย-เตรียมส่งรายชื่อตรวจ‘คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม’