“…ดังนั้น อำนาจของ ประธาน กสทช. ในการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ตามมาตรา 61 จึงเป็นเพียงกระบวนการทางธุรการเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประธาน กสทช. ที่จะเป็นผู้เสนอชื่อ แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. แต่เป็นอำนาจของ กสทช. ทั้งคณะในการแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ประธาน กสทช. เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนเท่านั้น…”
........................................
ส่อเค้าวุ่นอีกรอบ!
สำหรับการเริ่มต้นกระบวนการสรรหา-คัดเลือก ‘เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ’ หรือ ‘เลขาธิการ กสทช.’ คนใหม่
หลังจาก กสทช. 3 ราย ได้แก่ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ลงนามหนังสือแจ้งไปยัง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ว่า มติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ที่มีมติ ให้ ‘ประธาน กสทช.’ เป็นผู้ทำหนังสือเชิญทาบทามและคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็น ‘เลขาธิการ กสทช.’ และส่งให้บอร์ด กสทช. เห็นชอบ นั้น
เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยระเบียบ กสทช. และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
กรรมการ กสทช. ทั้ง 3 ราย จึงไม่อาจรับทราบมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ระเบียบวาระที่ 1 เรื่อง ที่ประธาน กสทช. แจ้งให้ที่ประชุมทราบ ได้ (อ่านประกอบ : ส่อขัดกม.-มีโทษอาญา! 3 กสทช.แจ้ง‘นพ.สรณ’ ไม่รับ‘มติ’ยกอำนาจให้‘ประธาน’เลือกเลขาธิการฯ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดหนังสือของกรรมการ กสทช. ทั้ง 3 ราย ดังกล่าว ซึ่งได้ให้เหตุผลและข้อเท็จจริงที่ทำให้ไม่อาจ ‘รับทราบ’ มติของที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ได้ สรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้
@วาระ‘ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ’ ไม่ถือเป็นมติบอร์ด
กสทช. ศ.พิรงรอง รามสูต ,กสทช. รศ.ศุภัช ศุภัชลาศัย และ กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ได้ร่วมกันพิจารณาร่างรายงานการประชุมดังกล่าวแล้ว และเห็นว่า ไม่อาจรับทราบมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ได้ โดยมีเหตุผล ดังนี้
ประเด็นแรก การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ไม่เป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 3/2566 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และไม่เป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 4/2566 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.
โดยในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2566 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. นั้น ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณาระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ออกไป ทั้งนี้ เพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งให้นำเสนอหลักเกณฑ์ และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. มาในคราวเดียวกันในการประชุมครั้งต่อไป
ขณะที่ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 4/2566 ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้ถอนวาระที่ 4.1 เรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยให้นำไปบรรจุในวาระการประชุม กสทช. นัดพิเศษต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2566 วาระที่ 4.1
จากการที่ กสทช. ได้มีมติในการประชุม 2 ครั้งข้างต้น แสดงให้เห็นว่าที่ประชุม กสทช. มีเจตนาให้มีการเสนอเรื่อง การกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. พร้อมทั้งให้นำเสนอหลักเกณฑ์ และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. มาในระเบียบวาระเดียวกัน เป็นระเบียบวาระเพื่อพิจารณา เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาทั้งสองเรื่องไปพร้อมกัน
ดังนั้น การที่ประธาน กสทช. เสนอหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. มาในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และบรรจุวาระที่ 5.1 เรื่อง การพิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. เป็นวาระเพื่อพิจารณา จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2566 และครั้งที่ 4/2566 เนื่องจากเป็นการเสนอในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ไม่ใช่การ เสนอในระเบียบวาระเพื่อพิจารณา
อีกทั้งการเสนอในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ยังไม่ชอบด้วยระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 ข้อ 21 เนื่องจากเป็นเพียงการนำเสนอโดยวาจาเท่านั้น ไม่ปรากฎว่ามีการจัดทำเอกสารประกอบการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัตถุประสงค์ และกำหนดประเด็นหลักที่ประสงค์จะให้ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบ หรือมีมติในเรื่องใดให้ชัดเจนและสั้นกระชับ
และข้อ 22 เนื่องจากไม่ได้มีการเสนอรายการเอกสารที่ต้องนำเสนอที่ประชุมพิจารณา ไม่มีบันทึกเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม และไม่มีเอกสารประกอบรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การอ้างว่ามีการเสนอเรื่องการกำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และเรื่องกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. มาในการประชุมคราวเดียวกันนั้น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 3/2566 และครั้งที่ 4/2566 แล้ว เนื่องจากเป็นการเสนอในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ ไม่ใช่การเสนอในระเบียบวาระเพื่อพิจารณา
นอกจากนี้ โดยหลักการแล้ว ระเบียบวาระเรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ จะต้องเป็นเรื่องที่ประสงค์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องหาข้อยุติหรือการพิจารณาจากที่ประชุม และไม่มีผลผูกพันในทางปกครอง
แต่เรื่องหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. นั้น เป็นเรื่องที่มีผลผูกพันในทางปกครอง มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. และ กสทช. และยังมีประเด็นโต้แย้งที่ยังหาข้อยุติไม่ใด้ และเป็นเรื่องที่ต้องเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาตามมติ กสทช. ครั้งที่ 3/2566 และมติ กสทช. ครั้งที่ 4/2566 จึงไม่อาจเสนอในระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบได้
ดังนั้น หากประธาน กสทช. ต้องการเสนอและบรรจุวาระ ที่ไม่เป็นไปตามมติ กสทช. ครั้งที่ 3/2566 และมติ กสทช. ครั้งที่ 4/2566 ประธาน กสทช. จะต้องเสนอให้มีการทบทวนมติ กสทช. ครั้งที่ 3/2566 ระเบียบวาระที่ 4.1 และมติ กสทช. ครั้งที่ 4/2566 ระเบียบวาระที่ 4.1 ทั้งนี้ ตามระเบียบ กสทช.ว่า ด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 ข้อ 23 วรรคสองก่อน
แต่ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ไม่ได้มี กสทช. ท่านใดเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาทบทวนมติในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น จึงต้องถือว่ามติ กสทช. ครั้งที่ 3/2566 ระเบียบวาระที่ 4.1 และมติ กสทช. ครั้งที่ 4/2566 ระเบียบวาระที่ 4.1 ยังคงมีผลใช้บังคับ
@ชี้ ‘ประธาน กสทช.’ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการประชุม
ประเด็นที่สอง เมื่อพิจารณา ข้อ 40 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 ที่กำหนดว่า “ข้อ 40 ในการประชุมทุกครั้ง ให้ประธานสรุปประเด็นการประชุม พร้อมทั้งมติที่ประชุมในชั้นต้น หากไม่มีกรรมการผู้ใดคัดค้าน ให้ถือเป็นมติคณะกรรมการ”
และวรรคสองกำหนดว่า “ในกรณีที่มีกรรมการคัดค้านในประเด็นใดที่ประธานกล่าวสรุปตามความในวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยขี้ขาด”
เมื่อข้อเท็จจริงกรณีนี้ แม้ว่าในการประชุมดังกล่าว ประธาน กสทช. จะได้สรุปประเด็นแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าในการประชุม กสทช. ศ.พิรงรองฯ กสทช. รศ.ศุภัชฯ และ กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ฯ ได้คัดค้านระเบียบวาระที่ 1 และคณะกรรมการยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด
การบันทึกมติที่ประชุมว่า “รับทราบเรื่องตามที่ประธาน กสทช. แจ้งให้ที่ประชุมทราบ” จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555
@กฎหมายให้อำนาจ ‘บอร์ดทั้งคณะ’ เลือก‘เลขาธิการ กสทช.’
ประเด็นที่สาม การที่ร่างรายงานการประชุมสรุปว่า “1.ประเด็นการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง โดยที่สำนักงาน กสทช. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธาน กสทช. และมีเลขาธิการ กสทช.รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ขึ้นตรงต่อประธาน กสทช.
ประกอบกับประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. (พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 วรรคหนึ่งฯ) ดังนั้น ประธาน กสทช. จะพิจารณาออกประกาศของประธาน กสทช. โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ต่อไป” นั้น
ร่างรายงานการประชุมดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 63 เนื่องจากมาตรา 63 (7) บัญญัติให้เลขาธิการ กสทช. พ้นจากตำแหน่งเมื่อ กสทช. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้ออกจากตำแหน่ง เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ดังนั้น อำนาจของ ประธาน กสทช. ในการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ตามมาตรา 61 จึงเป็นเพียงกระบวนการทางธุรการเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประธาน กสทช. ที่จะเป็นผู้เสนอชื่อ แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. แต่เป็นอำนาจของ กสทช. ทั้งคณะในการแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ประธาน กสทช. เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนเท่านั้น
กสทช. ศ.พิรงรองฯ กสทช. รศ.ศุภัชฯ และ กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ฯ จึงไม่อาจรับทราบเรื่องตามประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบได้ เนื่องจากขัดกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553
นอกจากนี้ ร่างรายงานการประชุมดังกล่าว ยังไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริงที่ประธาน กสทช. กล่าวในการประชุม เนื่องจากเมื่อตรวจสอบจากเทปบันทึกเสียงการประชุมพบว่า ประธาน กสทช. อ้างถึงมาตรา 61 วรรคหนึ่ง มาตรา 56 วรรคหนึ่ง มาตรา 60 วรรคสอง และมาตรา 63 วรรคหนึ่ง การสรุปร่างรายงานดังกล่าว จึงไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
“จากกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ.2555 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 กสทช. ศ.พิรงรองฯ กสทช. รศ.ศุภัชฯ และ กสทช. พลอากาศโท ธนพันธุ์ฯ จึงไม่อาจมีมติรับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบได้
ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบอาจถูกฟ้องร้องเพิกถอนมติและประกาศที่เกี่ยวข้อง และหากเกิดความเสียหายไม่ว่าในทางใดๆ ย่อมมีมูลความผิดทางอาญาฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมกสทช. พ.ศ.2555 ต่อไป” หนังสือที่ลงนาม โดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2566 ระบุ
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กระบวนการการสรรหา ‘เลขาธิการ กสทช.’ คนใหม่ จะได้ข้อสรุปอย่างไร และใครจะได้เข้ามาเป็นเลขาธิการ กสทช. ‘ตัวจริง’ หลังจากว่างเว้นมาเป็นเวลากว่า 2 ปีเศษแล้ว!
อ่านประกอบ :
ส่อขัดกม.-มีโทษอาญา! 3 กสทช.แจ้ง‘นพ.สรณ’ ไม่รับ‘มติ’ยกอำนาจให้‘ประธาน’เลือกเลขาธิการฯ
มติบอร์ด 4:3! ‘นพ.สรณ’โหวตซ้ำคุมเบ็ดเสร็จเลือก‘เลขาฯกสทช.’-‘พิรงรอง’ชี้ส่อขัดรธน.
พิรงรอง รามสูต : ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในสรรหา เลขาธิการ กสทช.
197 ต่อ 9 เสียง! ‘วุฒิสภา’โหวต‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’นั่งเก้าอี้‘กรรมการ กสทช.’คนที่ 7
‘บอร์ดสรรหาฯ’เลือก ‘รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์’ เป็น‘ว่าที่ กสทช.’-ชง ‘วุฒิสภา’ โหวตอีกรอบ
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 'พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร' เป็นกรรมการ 'กสทช.'
ขาดอีก 1 เก้าอี้! ‘วุฒิสภา’โหวตเลือก‘พล.ต.อ.ณัฐธร’ นั่งกรรมการ‘กสทช.’-ตีตก‘ศ.อภิรัฐ’
บอร์ดสรรหาฯ เคาะ ‘ศ.อภิรัฐ-พล.ต.อ.ณัฐธร’ เป็นว่าที่ ‘กสทช.’ ส่งชื่อให้ ‘วุฒิสภา’ โหวต