"...ในขณะที่ สปน. ได้เรียกร้องแย้งในข้อพิพาทดังกล่าว และขอให้ บมจ.ไอทีวี ชำระหนี้ค่าตอบแทนที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับจากการผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นอีก 110,334.48 ล้านบาท..."
..................................
“ตอนนี้ บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”
เป็นคำตอบของ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ในฐานะประธานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ที่ได้ตอบคำถาม ภานุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ITV ซึ่งได้สอบถามในการประชุมผู้ถือหุ้น ว่า “(บริษัท) มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ” เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566
ก่อนที่ วิรัตน์ คล่องประกิจ ผู้ถือหุ้น ITV จะมีการสอบถามต่อไปว่า “หากคดีความต่างๆจบสิ้นเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป จะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทจะแผนชำระบัญชีหรือกิจการ คืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่”
ขณะที่ คิมห์ ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า “ขอเรียนว่า ผมว่าผลของคดี เป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมา มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใดๆกับไอทีวี ณ ขณะนี้ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราก็ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดู Option ต่างๆ ทางเลือกต่างๆ ก็ยังไม่ได้มีทางเลือกใดๆที่เหมาะสม ณ ขณะนี้
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดทั้งมวล ก็ต้องรอผลของคดี ถ้าคดีสิ้นสุดแล้ว ทางบริษัทจะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพิจารณา จะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่ อย่างไร หรือจะชำระบัญชี หรืออะไรอย่างไร เราจะพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้ผู้ถือหุ้นต่อไป”
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพรวมของ ‘คดีความ’ หรือ ‘คดีพิพาท’ ระหว่าง บมจ.ไอทีวี ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอไทม์ไลน์และสรุปสาระแห่งคดีพิพาทดังกล่าว ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ตั้งเงื่อนไข‘ทีวีใหม่’ต้องมีมาตรการป้องกัน‘ครอบงำ’ด้านข่าวสาร
26 มิ.ย.2535 หลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 127/2535 แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการปรับปรุงสื่อของรัฐ’ โดยมี มีชัย วิระไวทยะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน
มีอำนาจหน้าที่พิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนของรัฐ รวมทั้งเสนอแนะมาตรการปรับปรุงหน่วยงานของรัฐ มาตรการเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชนโดยบริสุทธิ์ใจ
และมาตรการที่จะใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือในการระดมความคิด ปลุกจิตสำนึกของประชาชน ให้ตระหนักในความสำคัญและบทบาทของตนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดย คณะกรรมการฯ (ชุดมีชัย วิระไวทยะ) ได้พิจารณาอนุญาตให้เอกชนจัดตั้ง และดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF และขอแต่งตั้ง 'คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และการดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ' เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
1 ก.ย.2535 ครม.มีมติเห็นชอบหลักการตามข้อเสนอของ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และการดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ’ โดยเห็นควรให้เอกชนรับไปดำเนินการ 2 เครือข่าย
ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องมีมาตรการในการป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจและการครอบงำในด้านข้อมูลข่าวสาร ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร และรายการที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ ประชาชนทั่วทั้งประเทศจะต้องมีโอกาสในการรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพโดยเร็ว
ขณะที่การคัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการฯนั้น ต้องทำด้วยความยุติธรรม และเอกชนดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐในอัตราที่เหมาะสม เพื่อจะได้นำไปใช้ในกิจการของสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และของกรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11)
ครม.ยังอนุมัติหลักการให้ สปน. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการและกระทรวงเจ้าสังกัด เสนอโครงการต่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อ ครม.เป็นการด่วน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ต่อไป
14 ธ.ค.2536 ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุระบบ ยู เอช เอฟ โดยให้คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ คัดเลือกเอกชนเข้าดำเนินการเพียง 1 เครือข่ายก่อน และให้นำประเด็นเรื่อง ‘การจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทน’ ที่รัฐจะได้รับไปพิจารณาด้วย
4 เม.ย.2538 ครม.มีมติเห็นชอบด้วยกับผลการคัดเลือก ‘กลุ่มบริษัทเอกชน’ เข้าร่วมงานของคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ซึ่งคัดเลือกให้ กลุ่มบริษัท สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือ 'ธนาคารไทยพาณิชย์' เป็นกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF
เนื่องจากเสนอผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตลอดระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งส่วนแบ่งของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ อันเป็นการเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในอัตราสูงกว่าผู้เสนอเข้าร่วมงานฯรายอื่น และให้ส่งร่างสัญญาเข้าร่วมงานฯให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนลงนามสัญญา
ต่อมากลุ่มบริษัท สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด (มีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีบริษัทอื่นๆเข้าร่วมถือหุ้นด้วย) เพื่อลงนามในสัญญาเข้าร่วมงานฯ กับ สปน.
จากนั้น สปน.และบริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไอทีวี เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2541) ได้ลงนามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.2538 โดยกำหนดระยะเวลาในสัญญาเข้าร่วมงานฯ 30 ปี
ขณะที่ สปน. มีคำสั่งที่ 90/2538 ลงวันที่ 6 ก.ค.2538 และมีคำสั่งที่ 100/2538 แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอกช เอฟ’ ตามนัยมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ.2535 โดยมีปลัด สปน. เป็นประธานฯ
ในเวลาต่อมา บมจ.ไอทีวี อ้างว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อการขายโฆษณา ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ทำให้บริษัทฯขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 409 ล้านบาทเศษ โดยในปี 2540 บริษัทฯมีผลขาดทุนสิ้นสิ้น 680 ล้านบาท
@‘ชินคอร์ปฯ’เข้าถือหุ้นใหญ่ ITV ก่อนมีปมพิพาทกับ‘สปน.’คดีแรก
ปลายเดือน มิ.ย.2543 บมจ.ไอทีวี ปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุนของธนาคารไทยพาณิชย์ และบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ ‘ชินคอร์ป’ หลายครั้ง ส่งผลให้ในเดือน ธ.ค.2543 บมจ.ไอทีวี มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 4,250 ล้านบาท เทียบกับในปี 2538 ที่มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท
13 พ.ย.2544 บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.ไอทีวี จากธนาคารไทยพาณิชย์ และเสนอซื้อหุ้นสามัญ บมจ.ไอทีวี จากผู้ถือหุ้นรายอื่น ทำให้ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด และนำ บมจ.ไอทีวี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2545 ด้วยทุนชำระแล้ว 5,750 ล้านบาท
17 ก.ย.2545 บมจ.ไอทีวี ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 29/2545 โดยอ้างว่ารัฐให้สัมปทานกับบุคคลอื่น เป็นเหตุให้บริษัทฯได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินอย่างรุนแรง จึงขอให้ สปน. หามาตรการชดเชยความเสียหายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ
30 ม.ค.2547 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเป็นข้อพิพาทหมายเลขคดีแดงที่ 4/2547 สรุปว่า สปน.ปฏิบัติผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯและให้ชดใช้ความเสียหายแก่ บมจ.ไอทีวี แต่ สปน.เห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดฯ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 476/2547
23 ม.ค.2549 บมจ.ไอทีวี ได้รับทราบว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (ทักษิณ ชินวัตร) ได้ขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ให้แก่ บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (ซีดาร์) และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด (แอสเพน) (ปี 2557 บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เปลื่ยนชื่อเป็น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH)
9 พ.ค.2549 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 584/2549 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯ แต่ต่อมาวันที่ 7 มิ.ย.2549 บมจ.ไอทีวี ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.424/2549
13 ธ.ค.2549 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.349/2549 ลงวันที่ 8 ธ.ค.2549 พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯ ในข้อพิพาทหมายเลขคดีแดงที่ 4/2547
@‘สปน.’เรียกค่าเสียหาย ITV กว่า 9.7 หมื่นล.กรณี‘ปรับผังรายการ’
14 ธ.ค.2549 หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว สปน. มีหนังสือแจ้ง บมจ.ไอทีวี ให้ปฏิบัติตามสัญญาเข้าร่วมงานและชำระค่าตอบแทนส่วนต่างที่ยังค้างจ่าย ดอกเบี้ย และค่าปรับจากการปรับผังรายการตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนี้
1.ให้ บมจ.ไอทีวี ดำเนินการปรับผังรายการให้เป็นไปตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ 11 (ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2547-13 ธ.ค.2549 บมจ.ไอทีวี ปรับผังรายการเป็น ข่าวและสาระ 50 : บันเทิง 50 จากสัญญาเข้าร่วมงานฯที่กำหนดให้ผังรายการเป็น ข่าวและสาระ 70 : บันเทิง 30)
2.ให้ บมจ.ไอทีวี ชำระเงินส่วนต่างของค่าอนุญาตให้ดำเนินการขั้นต่ำตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ สำหรับปีที่ 9 (งวดที่ 7) จำนวน 670 ล้านบาท ปีที่ 10 (งวดที่ 8) จำนวน 770 ล้านบาท และปีที่ 11 (งวดที่ 9) จำนวน 770 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 2,210 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
3.ให้ บมจ.ไอทีวี ชำระค่าปรับผังรายการในอัตราร้อยละ 10 ของค่าอนุญาตให้ดำเนินการที่ สปน. จะได้รับในปีนั้นๆ โดยคิดเป็นรายวันตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ 11 วรรคสอง จากกรณีที่บริษัทดำเนินการเรื่องผังรายการไม่เป็นไป ตามข้อ 11 วรรคหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547-13 ธ.ค.2549 โดย สปน. เรียกร้องมาเป็นเงิน 97,760 ล้านบาท
สปน. แจ้งว่า หาก บมจ.ไอทีวี ไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้ง (วันที่ 15 ธ.ค.2549) สปน.จะดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญาเข้าร่วมงานฯ และข้อกฎหมายต่อไป
21 ธ.ค.2549 บมจ.ไอทีวี มีหนังสือถึง สปน.โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.บมจ.ไอทีวีได้ดำเนินการปรับผังรายการให้เป็นไปตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ 11 เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.2549 เป็นต้นมา
2.บริษัทมิได้ผิดนัดชำระค่าอนุญาตให้ดำเนินการตามที่อ้างถึง เนื่องจากบริษัทได้ชำระค่าอนุญาตให้ดำเนินการรายปีจำนวน 230 ล้านบาท โดยเป็นการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญาเข้าร่วมงานฯ ทั้งสองฝ่ายตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ 15
ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีภาระดอกเบี้ยของค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่างดังกล่าวในช่วงระยะเวลาตั้งแต่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดจนถึงวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
3.บมจ.ไอทีวี ไม่เห็นพ้องกับ สปน.กรณีที่ต้องจ่ายค่าปรับ จำนวน 97,760 ล้านบาท และการกำหนดให้บริษัทฯชำระค่าปรับดังกล่าวภายใน 45 วัน
@สปน.แจ้งบอกเลิกสัญญา ITV มี.ค.50 หลังไม่ยอมชำระหนี้
4 ม.ค.2550 บมจ.ไอทีวี ได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ซึ่งเป็นข้อพิพาทกรณีที่ สปน.ให้ บมจ.ไอทีวี มาชำระค่าปรับจากการปรับผังรายการ จำนวน 97,760 ล้านบาท และดอกเบี้ยค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วน ต่าง 2,210 ล้านบาท
31 ม.ค.2550 ในการประชุมร่วมกันฯ สปน.ปฏิเสธเงื่อนไขการให้สถาบันอนุญาโตตุลาการชี้ขาดหนี้ และปฏิเสธแนวทางการชำระเงินค่าอนุญาตฯ (สปน.ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ) โดย สปน.ได้ทวงถามให้ บมจ.ไอทีวี ชำระหนี้ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯมาโดยตลอด
27 ก.พ.2550 ครม.มีมติเห็นชอบให้ สปน. ดำเนินการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ กับ บมจ.ไอทีวี เนื่องจาก บมจ.ไอทีวี ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วน โดย สปน.มีหนังสือลงวันที่ 7 มี.ค.2550 แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ กับ บมจ.ไอทีวี และให้ บมจ.ไอทีวี ส่งมอบทรัพย์สินให้ สปน. ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯข้อ 11 ที่ระบุว่า
“ผู้เข้าร่วมงานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอซ เอฟ โดยผู้เข้าร่วมงานจะต้องจัดหาเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดตลอดอายุสัญญา ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ในการดำเนินการ และทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้เข้าร่วมงานได้ดำเนินการจัดหาหรือได้มา
หรือมีไว้เพื่อดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ตามสัญญานี้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันลงนามในสัญญา ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นับแต่วันที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยและใช้งานได้ หรือได้มาในโอกาสแรก ตามที่ระบุในเอกสารแนบ 2 ฯลฯ"
7 มี.ค.2550 บมจ.ไอทีวี หยุดการประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาฯ ของ สปน. และ สปน.ตรวจสอบพบว่า มูลค่าทรัพย์สินที่ บมจ.ไอทีวี ได้ส่งมอบให้ สปน. ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ระหว่างปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มสัญญาจนถึงปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เลิกสัญญา มีมูลค่า 4,143.09 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากรวมกับค่าตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ บมจ.ไอทีวี ได้ชำระให้กับ สปน. ตามสัญญาฯแล้ว 4,090 ล้านบาท ในห้วงเวลาที่ผ่านมา สปน.จึงได้รับทรัพย์สินที่ส่งมอบที่มีมูลค่าและค่าตอบแทนขั้นต่ำรายปี รวมทั้งสิ้น 8,233.09 ล้านบาท
@‘ไอทีวี’ยื่นอนุญาโตฯชี้ขาด ‘สปน.’ยกเลิกสัญญาชอบหรือไม่
9 พ.ค.2550 บมจ.ไอทีวี ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นคดีพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 โดยมีข้อเรียกร้องสรุปได้ดังนี้
1.ขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้ สปน. ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนส่วนต่างดอกเบี้ย ค่าปรับ และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ บมจ.ไอทีวี ได้ส่งมอบให้แก่ สปน. น้อยกว่าที่กำหนดในสัญญาเข้าร่วมงานฯ
2.มีคำชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ของ สปน.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.มีคำชี้ขาดบังคับให้ สปน.ปฏิบัติตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ 1 ในการให้ บมจ.ไอทีวี ได้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯต่อไป จนครบตามกำหนดระยะเวลา
4.ชดเชยระยะเวลาแห่งสัญญาเข้าร่วมงานฯ ที่ได้หยุดลงนับแต่วันที่ สปน.ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยมิชอบ จนถึงวันที่ บมจ.ไอทีวี ได้กลับเข้าดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ได้อีก
5.ให้มีคำชี้ขาดสั่งให้ สปน. ชำระค่าเสียหายแก่ บมจ.ไอทีวี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 21,814.19 ล้านบาท
27 ก.พ.2551 พนักงานอัยการ ผู้รับมอบอำนาจจาก สปน. ได้ยื่นคำคัดค้าน/คำเรียกร้องแย้ง ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550
โดย สปน. ปฏิเสธคำเสนอพิพาทของ บมจ.ไอทีวี และขอให้ บมจ.ไอทีวี ชำระหนี้ค่าตอบแทนที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับให้แก่ สปน. เป็นเงิน 110,334.41 ล้านบาท โดยมีประเด็นโต้แย้ง ดังนี้
1.คำเสนอข้อพิพาทเรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการที่จะพิจารณาขี้ขาด กล่าวคือ บมจ.ไอทีวี ผู้ร้อง กล่าวอ้างว่า สปน. ผู้คัดค้าน บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเรียกค่าเสียหาย อันเป็นมูลเหตุแห่งข้อพิพาท ซึ่งมิใช่เป็นกรณีข้อโต้แย้งระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญา หรือปฏิบัติตามสัญญา
แต่เป็นการอ้างในมูลละเมิดโดยตรง ข้อพิพาทเรื่องนี้จึงไม่อยู่ในขอบแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการที่จะเสนอต่ออนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดได้ อนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเรื่องนี้ และชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายข้อเรียกร้องในส่วนนี้ต่อไป
2.คำเสนอข้อพิพาทเรื่องนี้เคลือบคลุม
3.คำเสนอข้อพิพาทเรื่องนี้ซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 หรือไม่
4.สปน.ผู้คัดค้าน ขอให้ บมจ.ไอทีวี ชำระเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายปีที่ค้างชำระ ค่าปรับกรณีปรับผังรายการไม่เป็นไปตามสัญญาและค่าส่งมอบทรัพย์สินไม่ครบตามสัญญาเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 110,334.41 ล้านบาท
24 ก.ค.2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิกถอนหุ้นสามัญของ บมจ.ไอทีวี จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
@‘สปน.’รอ‘ศาลปค.สูงสุด’ตัดสิน คดีเพิกถอนคำชี้ขาด‘อนุญาโตฯ’
14 ม.ค.2559 คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 เป็นข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559 ซึ่ง บมจ.ไอทีวี แจ้งสาระสำคัญของคำชี้ขาดของคณอนุญาโตตุลาการฯในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ว่า
บริษัทฯได้รับสำเนาคำชี้ขาดจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 (ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559) ฉบับลงวันที่ 14 ม.ค.2559 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.ให้ สปน. ชดใช้ความเสียหายให้แก่บ บมจ.ไอทีวี รวมจำนวน 2,890.35 ล้านบาท
3.เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ปรับลดค่าตอบแทนตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2549
บมจ.ไอทีวี จึงต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่าง 2,886.71 ล้านบาท ให้แก่ สปน. โดยถือว่าบริษัทผิดนัดชำระนับตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.2550 จนถึงวันที่ 7 มี.ค.2550 คิดเป็นดอกเบี้ย 3.6 ล้านบาท รวมเงินที่ บมจ.ไอทีวี ต้องชำระให้แก่ สปน. เป็นจำนวนเงิน 2,890.35 ล้านบาท
4.บมจ.ไอทีวี และ สปน. ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันในจำนวนเงินเท่ากัน คือ 2,890.35 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบกันแล้ว ‘ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน’
ในขณะที่ สปน. ได้เรียกร้องแย้งในข้อพิพาทดังกล่าว และขอให้ บมจ.ไอทีวี ชำระหนี้ค่าตอบแทนที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับจากการผิดสัญญาเข้าร่วมงานฯ เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นอีก 110,334.48 ล้านบาท
29 เม.ย.2559 สปน.ยื่นคำร้องขอให้เพิกคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีหมายเลขดำที่ 46/2550 (คดีหมายเลขแดงที่ 1/2559) ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ 'มีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย' โดยศาลฯมีคำสั่งรับคำร้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2559
17 ธ.ค.2563 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1948/2563 ระหว่าง สปน. ผู้ร้อง กับ บมจ.ไอทีวี ผู้คัดค้าน โดยพิพากษา 'ยกคำร้อง' ของ สปน. และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ สปน.
15 ม.ค.2564 สปน. ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.54/2564 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำพิพากษาในคดีนี้ออกมา
5 ส.ค.2564 บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หลังจากที่บริษัทได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) ของ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH (INTUCH ถือหุ้นใน บมจ.ไอทีวี คิดเป็นสัดส่วน 75.18% ของหุ้นทั้งหมด) โดยมีกำหนดระยะเวลารับซื้อทั้งสิ้น 25 วันทำการ ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-4 ส.ค.2564 นั้น
ผลปรากฏว่า GULF สามารถซื้อหุ้นไปได้ทั้งหมด 747,874,638 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 23.32% ของหุ้นทั้งหมด เมื่อรวมกับหุ้นเดิมที่ GULF ถืออยู่ 606,878,314 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 18.93% ทำให้ GULF ถือครองหุ้นเป็นสัดส่วนทั้งสิ้น 42.25% และผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของ INTUCH
ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้น GULF ล่าสุด ณ วันที่ 2 มี.ค.2566 พบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ถือหุ้น 4,185,088,097 หุ้น คิดเป็น 35.67% ของหุ้นทั้งหมด ,2.UBS AG SINGAPORE BRANCH ถือหุ้น 1,472,968,577 หุ้น คิดเป็น 12.55%
3.GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED ถือหุ้น 1,160,431,363 คิดเป็น 9.89% ,4.BANK OF SINGAPORE LIMITED-1000120215 ถือหุ้น 616,432,105 หุ้น คิดเป็น 5.25% 5.บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 551,729,877 หุ้น คิดเป็น 4.70%
6.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 487,433,801 หุ้น คิดเป็น 4.15% ,7.GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. ถือหุ้น 377,250,502 หุ้น คิดเป็น 3.22% ,8.RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED ถือหุ้น 248,398,640 หุ้น คิดเป็น 2.12%
9.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 220,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.88% และ10. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ถือหุ้น 153,284,137 คิดเป็น 1.31%
เหล่านี้เป็นสรุป ‘ไทม์ไลน์’ และสาระสำคัญของคดีพิพาทระหว่าง สปน. และ บมจ.ไอทีวี ก่อนที่ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล จะออกมาแถลงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2566 กรณีมี ‘ขบวนการปลุกผีไอทีวี’ เพื่อขัดขวางไม่ให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30!
เรื่องเกี่ยวกับกรณีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา :
- INTUCH เผยให้ ITV ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปมบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงคำตอบประธาน
- เปิดข้อมูลประกอบพิจารณา '6 ข้อ' กรณีหุ้นไอทีวี ‘พิธา’
- จ่อยื่นศาลรธน.ตีความ! 'เรืองไกร' ส่งหลักฐาน'พิธา' ปมถือหุ้น ITV ให้ กกต.เพิ่ม 2 รายการ
- 'เรืองไกร' ยื่นหลักฐาน 'พิธา' ปมถือหุ้น ITV เพิ่มให้ กกต.
- ดูชัด ๆ หุ้น ITV ‘พิธา’ 42,000 หุ้น ปี 2551-2566 ไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก’
- ‘เรืองไกร’ ยื่นหลักฐานเพิ่มปม ‘พิธา’ ถือหุ้น ITV เทียบกรณี ‘ธัญญ์วาริน’ พ้น ส.ส.
- พลิกคำพิพากษาศาล รธน.คดีหุ้นสื่อ ส.ส.‘ธัญญ์วาริน’ เพียง‘ถือ-ประกอบการ’ ไม่รอด
- ย้อนคำพิพากษา 4 คดีหุ้นสื่อในศาลฎีกาเทียบไอทีวี‘พิธา’: ถือ-หยุดกิจการ-ไม่จดเลิก ไม่รอด
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ : แจงยิบปมหุ้น ITV โอนให้ทายาทอื่นแล้ว มั่นใจพร้อมชี้แจง กกต.
- เปิดแบบนำส่งงบการเงิน ITV ปี 2558 -2565 ล่าสุดระบุชัด‘สื่อโทรทัศน์’ ก่อน‘พิธา’อ้างมีพิรุธ
- เป็นผอ.สนง.อินทัช! คนทำบัญชี ITV ยังไม่แจงปม'พิธา’ชี้พิรุธแบบส.บช.3 แก้ 'สื่อโทรทัศน์'
- ให้ถามอินทัช! ผู้สอบบัญชี ITV ก็ไม่แจงปม'พิธา’ชี้พิรุธแบบส.บช.3 แก้ 'สื่อโทรทัศน์'
- ‘สถานะ’ ไอทีวีปมหุ้น ‘พิธา’ ! หมายเหตุประกอบงบฯ ฉบับล่าสุด ชัด ‘ดำเนินการค้าตามปกติ’
เรื่องเกี่ยวข้องธุรกิจอื่นนายพิธา :
- แกะกระดุมธุรกิจ‘ทิม-พิธา’อดีตผู้บริหาร บ.น้ำมันรำข้าว ‘ของจริง’ในสภาฯ ?
- ที่แท้ ‘พิธา’โอนหุ้น น้ำมันรำให้แม่! ส่ง บอจ. 2 ครั้ง – แก้ไขวันลงทะเบียนใหม่
- แจ้งวัตถุประสงค์ทำสื่อ บ.โฮลดิ้ง‘พิธา’– แก้ไขบัญชีผู้ถือหุ้นหลังสมัคร ส.ส. โอนให้แม่
- เปิดธุรกิจสปา ‘พิธา-อดีต ภรรยา’ ที่มา ‘เรืองไกร’ยื่นสอบบัญชีทรัพย์สิน
- เปิดบริการอยู่! ตามไปดูธุรกิจสปา‘พิธา-อดีต ภรรยา’ ปม ‘เรืองไกร’ ยื่นสอบบัญชีทรัพย์สิน
- ตามส่อง บ.สิงคโปร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.น้ำมันรำข้าว อดีตธุรกิจ 'พิธา' ใครเจ้าของตัวจริง?
- ข้อมูลใหม่! บ.สิงคโปร์ เข้าถือหุ้นใหญ่ บ.น้ำมันรำข้าว อดีตธุรกิจ'พิธา'หลังจัดตั้ง 11 วัน?