'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' ยื่นหลักฐาน 'พิธา' ปมถือหุ้นไอทีวี ให้กกต.เพิ่ม เล็งยื่น ส.ส.-ส.ว. ใช้สิทธิ์ส่งศาล รธน. หากกกต.รับรองไปก่อนผล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นเอกสารต่อกกต.เพิ่มเติมกรณีร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถือหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี ว่า ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของนายพิธามายื่นเพิ่ม เพื่อให้ กกต.นำไปประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย ตารางชื่อของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ และนายพิธา ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ปี 2549-2566 รวมทั้ง สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ปี 2549-2566 (บางส่วน) สำเนาวัตถุประสงค์ของบมจ.ไอทีวี ตารางรายได้รวมของบมจ.ไอทีวี ปี 2564-2565 สำเนารายได้รวมของปี2564-2565 (ขาดปี 2555) และสำเนาพ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน(บางส่วน) เนื่องจากตนเองเป็นแค่ผู้ร้อง ไม่มีอำนาจไปตรวจสอบกิจการได้ อีกทั้งมองว่าเรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้นเมื่อเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะขอให้ศาลใช้ระบบไต่สวนเพื่อเรียกพยานหลักฐานเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า หาก กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.แต่ยังดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ไม่แล้วเสร็จ อยากขอให้นักการเมืองที่มีสถานภาพเป็นส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อตามกฎหมาย เสนอเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกับที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบกรณีถือหุ้นหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ช่วงก่อนยุบสภา ส่งผลให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะตรวจสอบคู่ขนานกับทางกกต.ได้ ดังนั้น จะเอาไปนำเสนอต่อส.ส. เพื่อพิจารณาส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำได้ และถ้านายพิธา เป็นนายกฯแล้ว ก็จะขอให้ส.ว. จำนวน 250 ใช้สิทธิยื่นร้องสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน ยืนยันว่าข้อเสนอเป็นไปตามหลักข้อเท็จจริง ไม่มีอภินิหารหรือนิติสงครามทั้งสิ้น
นอกจากนี้นายเรืองไกร ยังได้เข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.ที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ น.พ. สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กรณีขึ้นรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นรูปโลโก้พร้อมเบอร์พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือเข้าข่ายหลอกหลวงให้หลงผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคหรือไม่ เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73(5) ประกอบมาตรา 56 มาตรา 132 และมาตรา 137 หรือไม่ ซึ่งทำให้คนเข้าใจว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยวันนี้จะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมว่าปัจจุบันบุคคลทั้ง 2 ได้ทำการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์แล้วหลังจากที่ตนยื่นให้ กกต.ตรวจสอบ ซึ่งการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์แสดงว่าข้อกล่าวหาก็จะต้องมีการตรวจสอบต่อไป