ข้อมูลประกอบพิจารณาอีกชิ้น ปม ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี! ดูเอกสาร ‘หมายเหตุประกอบงบการเงิน’ฉบับล่าสุด 31 ธ.ค.2565 นำส่ง 10 พ.ค.2566 ระบุชัด ‘ดำเนินการค้าตามปกติกับบริษัทใหญ่และกิจการที่เกี่ยวข้องกัน’ ไขข้อสงสัย ‘ยังประกอบกิจการอยู่หรือไม่? หลัง หน.ก้าวไกลชัดขบวนการฟื้นคืนชีพสื่อเล่นงาน
ประเด็นกล่าวหา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ลงสมัครรับเลือกตั้ง
เจ้าตัวชี้แจงว่าเป็นหุ้นกองมรดก (อันเนื่องจากบิดาเสียชีวิตปี 2549) ล่าสุดวันที่ 6 พ.ค.2566 นายพิธาโพสต์ชี้แจงว่าในฐานะผู้จัดการมรดกได้ในโอนหุ้นให้ทายาทคนอื่นไปแล้วเมื่อปลายเดือน พ.ค.2566
หากยึดแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. ก่อนหน้านี้มีประเด็นพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น
1.บริษัทที่ผู้ถูกกล่าวถือหุ้นประกอบกิจการสื่อหรือไม่
2. ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวหรือไม่
ประเด็นแรก บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า
1.บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนวันที่ 20 ต.ค.2541 ทุนล่าสุด 7,800 ล้านบาท สถานะบริษัทเปิดดำเนินการ ยังไม่จดแจ้งเลิกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2.แจ้งวัตถุประสงค์ 45 ข้อ เกี่ยวข้องกับประกิจการสื่อ 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ (18 ) , (40) , (41) , (42) และ (43) อาทิ ข้อ (40) ประกอบกิจการ รับบริหารและดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย(เคเบิลทีวี) รับเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ บริการประชาสัมพันธ์และจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์ โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี) ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการควบคุมการกระจายเสียงของรัฐ หรือหน่วยงานผู้มีอำนาจใดๆในกิจการวิทยุโทรทัศน์ โทรภาพทางสาย (เคเบิลทีวี)
3.แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) รอบปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค.2565 (รับวันที่ 10 พ.ค.2566) ข้อ 6 ประเภทธุรกิจสินค้า/บริการและรหัสธุรกิจ ช่อง ‘ประเภทธุรกิจ’ ระบุ ‘สื่อโทรทัศน์’ ช่อง ‘สินค้า/บริการ’ ระบุ ‘สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน’ ช่อง ‘ร้อยละของรายได้รวม’ ระบุ “100%”
ล่าสุด มีข้อมูลประกอบการพิจารณาอีกชิ้น คือ งบการเงิน และ หมายเหตุประกอบงบการเงิน ฉบับปีล่าสุด
งบการเงินล่าสุดรอบปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค.2565 (นำส่งวันที่ 10 พ.ค.2566) งบกำไรขาดทุน รายได้รวม 19,974,084.00 บาท กำไรสุทธิ 8,635,285.00 บาท งบดุล รวมสินทรัพย์ 1,266,191,686.00บาท หนี้สิน 2,891,997,086.00 บาท ขาดทุนสะสม 7,480,276,245.00 บาท
หมายเหตุประกอบงบการเงิน
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 (นำส่ง วันที่ 10 พ.ค.2566) ข้อ 4 รายการที่เกิดขึ้นและยอดลงเหลือกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ระบุว่า
“กลุ่มบริษัทถูกควบคุมโดยบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (“อินทัช”) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย บริษัทใหญ่ดังกล่าวถือหุ้นในบริษัทร้อยละ 52.92 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ( ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 : ร้อยละ 52.92) จำนวนหุ้นที่เหลือร้อยละ 47.08 ) ถือโดยบุคคลทั่วไป
รายการที่กลุ่มบริษัทมีกับบริษัทในกลุ่มอินทัช เช่น บริษัทย่อย กิจการที่ควบคุมร่วมกัน บริษัทร่วม ผู้บริหารและกิจการที่เกี่ยวข้องกันอื่นของกลุ่มอินทัช จะแสดงเป็นรายการกับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน
ในระหว่างปี กลุ่มบริษัทได้ดำเนินการค้าตามปกติกับบริษัทใหญ่และกิจการที่เกี่ยวข้องกัน โดยที่กลุ่มบริษัทได้คิดราคาซื้อ/ขายสินค้าและค่าบริการกับบริษัทใหญ่และกิจการที่เกี่ยวข้องกันตามราคาที่เทียบเคียงได้กับบุคคลภายนอก โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ตามปกติธุรกิจ ” (ดูเอกสาร)
นอกจากนี้ในหัวข้อ ภาระผูกพันและสัญญาสำคัญที่ทำกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภาระผูกพันที่สำคัญอื่นๆ ที่มีต่อกิจการที่เกี่ยวข้องกันมีดังนี้
1.บริษัทได้ทำสัญญากับบริษัทใหญ่ โดยบริษัทใหญ่มีภาระผูกพันในการให้บริการด้านกฎหมาย การกำกับดูแลกิจการ การบัญชีการเงินและภาษีอากร การบริหารงานทั่วไป การกำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของบริษัท โดยสัญญามีกำหนด 3 ปีมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 …”
2. บริษัทได้ทำสัญญากับบริษัทใหญ่ โดยบริษัทใหญ่ตกลงให้บริษัทใช้บริการพื้นที่สำนักงานของบริษัทใหญ่เป็นสถานประกอบการและชำระค่าบริการพื้นที่ โดยสัญญานี้มีผลใช้บังคับจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกหรือมีเหตุพ้นวิสัยอื่นๆ โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงร่วมกันและทำเป็นลายลักษณ์อักษรจึงจะมีผลบังคับใช้…” (ดูเอกสาร)
จากข้อมูล ‘หมายเหตุประกอบงบการเงิน’ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า บริษัท ไอทีวี ยังประกอบการอยู่หรือไม่ แม้ไม่ได้ออกอากาศก็ตาม?
สำหรับประเด็นถือหุ้นหรือไม่?
สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า
1. เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบบมจ.006) ที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) นำส่งนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุนายพิธาถือครองหุ้น 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551 -ปี 2566 รวมระยะเวลา 16 ปี
2. เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบบมจ.006) มิได้ระบุว่านายพิธาถือครองในนาม ‘ผู้จัดการมรดก’
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายพิธาได้โพสต์ข้อความชี้แจงว่า ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ผลของการบอกเลิกสัญญาวันที่ 7 มีนาคม 2550 มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ในช่วงเวลาปัจจุบันกลับมีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานตนเองและระบุว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน จากเดิม “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แก้เป็น “สื่อโทรทัศน์” ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน”
ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้
เรื่องเกี่ยวข้อง:
เปิดข้อมูลประกอบพิจารณา '6 ข้อ' กรณีหุ้นไอทีวี ‘พิธา’
จ่อยื่นศาลรธน.ตีความ! 'เรืองไกร' ส่งหลักฐาน'พิธา' ปมถือหุ้น ITV ให้ กกต.เพิ่ม 2 รายการ
'เรืองไกร' ยื่นหลักฐาน 'พิธา' ปมถือหุ้น ITV เพิ่มให้ กกต.
ดูชัด ๆ หุ้น ITV ‘พิธา’ 42,000 หุ้น ปี 2551-2566 ไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก’
‘เรืองไกร’ ยื่นหลักฐานเพิ่มปม ‘พิธา’ ถือหุ้น ITV เทียบกรณี ‘ธัญญ์วาริน’ พ้น ส.ส.
พลิกคำพิพากษาศาล รธน.คดีหุ้นสื่อ ส.ส.‘ธัญญ์วาริน’ เพียง‘ถือ-ประกอบการ’ ไม่รอด
ย้อนคำพิพากษา 4 คดีหุ้นสื่อในศาลฎีกาเทียบไอทีวี‘พิธา’: ถือ-หยุดกิจการ-ไม่จดเลิก ไม่รอด
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ : แจงยิบปมหุ้น ITV โอนให้ทายาทอื่นแล้ว มั่นใจพร้อมชี้แจง กกต.
เปิดแบบนำส่งงบการเงิน ITV ปี 2558 -2565 ล่าสุดระบุชัด‘สื่อโทรทัศน์’ ก่อน‘พิธา’อ้างมีพิรุธ
เป็นผอ.สนง.อินทัช! คนทำบัญชี ITV ยังไม่แจงปม'พิธา’ชี้พิรุธแบบส.บช.3 แก้ 'สื่อโทรทัศน์'
ให้ถามอินทัช! ผู้สอบบัญชี ITV ก็ไม่แจงปม'พิธา’ชี้พิรุธแบบส.บช.3 แก้ 'สื่อโทรทัศน์'