พลิกคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหุ้นสื่อ 4 ราย ปี 2562 อ้างถือแต่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวข้อง –หยุดกิจการตีพิมพ์มานานแต่ไม่ยื่นจดเลิกเป็นทางการ ถือขาดคุณสมบัติ เทียบเคียงกรณี ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ถือไอทีวี 42,000 หุ้น ร่วงหรือรอด?
กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตัวแสดงใหญ่ทางการเมืองขณะนี้ ถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น มีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ว่า
1.นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จริง ขณะที่เจ้าตัวชี้แจงว่าเป็นหุ้นกองมรดก (อันเนื่องจากบิดาเสียชีวิต) เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบบมจ.006) ระบุนายพิธาถือครองจำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงล่าสุดปี 2566 เป็นเวลา 16 ปี แบบ บมจ.006 ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปี ท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้นมิได้ระบุว่าถือในนาม‘ผู้จัดการมรดก’
2.บมจ.ไอทีวี แจ้งวัตถุประสงค์ 45 ข้อ เกี่ยวข้องกับประการการสื่อ 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ (18), (40), (41), (42) และ (43) (ตามเอกสารจดแจ้งต่อนายเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
3.สถานะบริษัทฯยังเปิดดำเนินการ ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ ไม่ได้จดทะเบียนเลิก มีรายได้ นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปี
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญคดีนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (ต่อมาสังกัด ส.ส.พรรคก้าวไกล) ถือหุ้นสื่อสารมวลชน บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น มารายงานเทียบเคียง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็นหลักคือ
1.วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กิจการของผู้ถูกร้อง ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
และ 2.หากกิจการของผู้ถูกร้องผู้ใดประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มีข้อพิจารณาต่อไปว่าผู้ถูกร้องผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการดังกล่าวหรือไม่
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้นายธัญญ์วาริน ผู้ถูกร้อง ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ทําให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
คราวนี้ มาดูแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นสื่อในปี 2562 จำนวน 4 คดีในประเด็นถือหุ้น เจ้าของหรือเป็นบรรณาธิการ อ้างกิจการสื่อไม่ได้ประกอบกิจการ หรือไม่ได้ตีพิมพ์แต่ไม่ได้จดเลิกหรือลาออกอย่างเป็นทางการ เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาเทียบเคียง
1. คดีนายอนุสรณ์ เกษมวรรณ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ประกาศรับรอง เป็นผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร พรรคชาติพัฒนา เนื่องจาก นายอนุสรณ์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สื่อกลางสภาไทย นายอนุสรณ์ยื่นร้องคัดค้าน อ้างว่า หนังสือพิมพ์สื่อกลางสภาไทย ไม่ได้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นเวลาเกิน 2 ปี ถือว่าความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องสิ้นสุดลงตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 45
ศาลฎีกาวินิจฉัยสรุปว่า การที่ผู้ร้องเพียงแต่ไม่ได้พิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ โดยไม่ได้แจ้งยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีผลทำให้ผู้ร้องพ้นจากความเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1228/2562 วันที่ 7 มี.ค. 2562)
2.คดีนายสุวัฒน์ชัย สวัสดี ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา เขต 1 พรรคความหวังใหม่ กกต.โดย ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา ไม่ประกาศรายชื่อนายสุวัฒน์ชัย เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่า ผู้ร้องขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็น เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โคราชการเมือง
คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปว่า ข้อเท็จจริงปรากฏในทางไต่สวนประกอบคําร้อง คําคัดค้าน และเอกสารพยานหลักฐานแห่งคดีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โคราชการเมือง โดยผู้ร้องได้รับอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2543 ต่อมาปัจจุบันหนังสือพิมพ์โคราชการเมืองได้หยุดตีพิมพ์แล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2552 แต่ผู้ร้องยังไม่ได้ไปจดแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เคยยื่นแจ้งเลิกกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์แล้ว จึงต้องถือว่าผู้ร้องยังเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์โคราชการเมือง ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของพรรคความหวังใหม่ ชอบแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2562 วันที่ 8 มี.ค.2562)
3. คดี นายทวีป ขวัญบุรี ผู้รับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง 1 จ.ระยอง พรรคพลังประชารัฐ กกต.โดย ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดระยอง ไม่ประกาศรายชื่อ นายทวีป ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร โดยอ้างว่า
นายทวีป เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน ถือว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
ศาลฎีกาพิพากษาว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ...” และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ...” ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ มิได้
ข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําคัดค้าน เอกสารพยานหลักฐานแห่งคดีและตามที่ปรากฏในทางการไต่สวนปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน โดยผู้ร้องได้รับอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2538 ต่อมาหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวันได้ หยุดตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 18 บัญญัติว่า
“ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์” ซึ่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 หาได้มี บทบัญญัติให้หนังสือพิมพ์รายวัน ถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสามสิบวัน หรือหนังสือพิมพ์รายคาบ ถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสี่คราวหรือเกินกว่าสองปี ทําให้การเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เป็นอันสิ้นสุดลงดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 45 แต่อย่างใดไม่ หากแต่บัญญัติให้ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ หนังสือพิมพ์ที่ประสงค์จะเลิกกิจการหนังสือพิมพ์จะต้องแจ้งเลิกกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกกิจการ
เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้เคยยื่นแจ้งเลิกกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้งการพิมพ์แล้ว จึงต้องถือว่าผู้ร้องยังเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์สื่อกลางรายวัน ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้ สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ที่ผู้คัดค้าน ไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตของพรรคพลังประชารัฐ ชอบแล้ว จึงมีคําสั่งให้ยกคําร้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2562 วันที่ 8 มี.ค.2562)
4.คดีนายอรชุน ประสิทธิ์สมบัติ ผู้รับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.อ่างทอง พรรคประชาธิปัตย์ กกต.โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดอ่างทอง ไม่ประกาศรายชื่อนายอรชุนผู้ร้องเป็นผู้รับสมัครเลือกตั้งโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นหนังสือพิมพ์ บริษัท คลื่นเสียงอ่างทอง ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 25561
คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า เมื่อเท็จจริงปรากฏในทางไต่สวนประกอบคําร้อง คําคัดค้าน และเอกสารพยานหลักฐานแห่งคดีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ของบริษัท คลื่นเสียงอ่างทอง โดยผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้น แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการของหนังสือพิมพ์ของบริษัทคลื่นเสียงอ่างทองก็ตาม
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ...” หาได้บัญญัติว่า ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือ สื่อมวลชนในลักษณะใดบ้างหรือไม่ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ชอบแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2562 วันที่ 6 มีนาคม 2562)
จากข้อมูล 4 คดีดังกล่าว เทียบเคียงกรณีหุ้นไอทีวีของนายพิธาซึ่งตามเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุน มีชื่อนายพิธาเป็นผู้ถือครอง 42,000 หุ้น (ตามเอกสารบัญชีผู้ถือหุ้นล่าสุด) สถานะบริษัทยังประกอบกิจการ ไม่ได้ออกอากาศ
ดังนั้น คำวินิจฉัยของ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ (กรณี กกต.ส่งเรื่องให้วินิจฉัย) จะออกมาอย่างไร? ร่วงหรือรอด
น่าติดตาม
เรื่องเกี่ยวข้องกับคดีถือหุ้นสื่อปี 2562
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- เปิดข้อมูลประกอบพิจารณา '6 ข้อ' กรณีหุ้นไอทีวี ‘พิธา’
- จ่อยื่นศาลรธน.ตีความ! 'เรืองไกร' ส่งหลักฐาน'พิธา' ปมถือหุ้น ITV ให้ กกต.เพิ่ม 2 รายการ
- 'เรืองไกร' ยื่นหลักฐาน 'พิธา' ปมถือหุ้น ITV เพิ่มให้ กกต.
- ดูชัด ๆ หุ้น ITV ‘พิธา’ 42,000 หุ้น ปี 2551-2566 ไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก’
- ‘เรืองไกร’ ยื่นหลักฐานเพิ่มปม ‘พิธา’ ถือหุ้น ITV เทียบกรณี ‘ธัญญ์วาริน’ พ้น ส.ส.
- พลิกคำพิพากษาศาล รธน.คดีหุ้นสื่อ ส.ส.‘ธัญญ์วาริน’ เพียง‘ถือ-ประกอบการ’ ไม่รอด