เทียบกรณี ITV 42,000 หุ้น ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’?! ย้อนอ่านฉบับเต็มคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญคดี‘ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ถือหุ้น 2 บริษัท ใช้หลัก 2 ข้อ ‘ประกอบกิจการสื่อ – ถือครองหุ้น’ หรือไม่เอกสารระบุวัตถุประสงค์ชัด-ปั้นบอจ.5 โอนย้อนหลัง ก่อนฟันขาดสมาชิกภาพตั้งแต่วันยื่นสมัคร
กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตัวแสดงใหญ่ทางการเมืองขณะนี้
ถูกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น มีคุณสมบัติต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ว่า
1.นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จริง ขณะที่เจ้าตัวชี้แจงว่าเป็นหุ้นกองมรดก (อันเนื่องจากบิดาเสียชีวิต) เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบบมจ.006) ระบุนายพิธาถือครองจำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงล่าสุดปี 2566 เป็นเวลา 16 ปี แบบ บมจ.006 ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปี ท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้น มิได้ระบุว่าถือในนาม ‘ผู้จัดการมรดก’ แต่อย่างใด
2. บมจ.ไอทีวีประกอบกิจการสื่อ (รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ ข้อ (18 ) ข้อ (40) และ ข้อ (41) ตามเอกสารจดแจ้งต่อนายเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
3. สถานะบริษัทฯยังเปิดดำเนินการ ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ ไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ มีรายได้ นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปี
มาดูคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญคดีนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ต่อมาสังกัด ส.ส.พรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อสารมวลชน บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เป็นกรณีศึกษาเทียบเคียง
คดีระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้อง ส.ส. 33 คน เป็นผู้ถูกร้อง (นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถูกร้องที่ 2)
นายธัญญ์วารินถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด 3,400 หุ้นและบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด 3,333 หุ้น โดยทั้ง 2 บริษัท ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ซึ่งถือว่า เป็นสื่อกลาง ส่งข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้โดยทั่วไปแม้ไม่ปรากฏว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์โปรดักชั่น จำกัด ได้ยื่นคำร้อง หรือประกอบกิจการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมสามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังวัตถุประสงค์ที่ได้มีการระบุเพิ่มเติมและตามแบบ สสช.1 ของบริษัทฯ ที่แสดงเจตนาให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน อันเป็นกิจการตามนัยความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)
ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญ ยังพบข้อพิรุธกรณีการโอนหุ้นของนายธัญญ์วารินที่โอนหุ้นให้บุคคลอื่น โดยมีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 ทั้ง 2 บริษัท และนำส่งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันเดียวกัน โดยเป็นการดำเนินการภายหลังถูกยื่นคำร้องถือครองหุ้นสื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 2 บริษัทดังกล่าวระบุในแบบ บอจ.5 ว่า โอนหุ้นตั้งแต่ 11 ม.ค. 2562 อย่างไรก็ดีการประชุมผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทข้างต้นที่ผ่านมากระทำในเดือน เม.ย. เป็นหลัก ดังนั้นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย หากนายธัญญ์วาริน มีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง ย่อมสามารถแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องคดีนี้ได้
ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้นายธัญญ์วารินมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้มาชี้แจง จึงเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี เมื่อข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกัน พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงฟังได้ว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต.
@ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงคำพิพากษามารายงานอย่างละเอียด (หน้า 22-หน้า 33 )
@ ตั้ง 2 ประเด็นหลักพิจารณา ‘บ.ประกอบกิจการสื่อ-ถือหุ้น’ ไหม
พิจารณาแล้วเห็นว่า มีข้อที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่า วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กิจการของผู้ถูกร้อง จำนวน 29 คน ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ และหากกิจการของผู้ถูกร้องผู้ใดประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มีข้อพิจารณาต่อไปว่าผู้ถูกร้องผู้นั้นเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการดังกล่าวหรือไม่
ข้อที่ต้องพิจารณาประการแรกมีว่า วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กิจการของผู้ถูกร้อง จำนวน 29 คน ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(1) หนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
(2) คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)
(3) หนังสือบริคณห์สนธิ (แบบ บอจ.2)
(4) รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4)
(5) สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)
(6) แบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2515)ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (แบบ สสช.1)
(7) แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3)
(8) งบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงิน
(9) แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50 หรือ ภ.ง.ด.51
(10) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 59 แห่งประมวลรัษฎากร (แบบ ภ.ง.ด.3)
และ (11) หลักฐานการขออนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม
@ชัด!บ.แรกประกอบกิจการสื่อ
กรณีผู้ถูกร้องที่ 2 (นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ประกอบกิจการ จำนวน 2 กิจการ ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากเห็นว่า
(1) บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ผู้ร้องกล่าวอ้างว่ามีวัตถุที่ประสงค์ ข้อ 10 ประกอบกิจการบริการจัดเก็บ รวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และแพร่สถิติ ข้อมูล ในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาด รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ ข้อ 11 ประกอบกิจการทางด้านกฎหมาย ทางบัญชีทางวิศวกรรม ทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งกิจการโฆษณา ข้อ 22 ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีส์ สื่อบันเทิงทุกประเภท สื่อออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ ข้อ 23 ประกอบกิจการรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวซ้อง และข้อ 42 (ที่ถูกคือ ข้อ 24) ประกอบกิจการรับจ้างจัดงานและจัดรายการทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิลทีวีและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน (เอกสารหมาย ร 3/3 ถึง ร 3/4)
ส่วนผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ชีรีส์ รับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิดในนิตยสาร
เห็นว่า แบบ สสช.1 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ชีรีส์ และประกอบกิจการรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร (เอกสารหมาย ศ 18) แบบ ส.บช.3 รอบปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ระบุว่า รับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ อัตราร้อยละของรายได้รวมร้อยละ 100 (เอกสารหมาย ศ 20/1) และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ระบุว่า รับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ รับจัดงานโทรทัศน์ อัตราร้อยละของรายได้รวมร้อยละ 100 (เอกสารหมาย ศ 21/1) และหมายเหตุประกอบงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และรอบปีบัญชีสิ้นสุตวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ (เอกสารหมาย ศ 20/8 และ ศ 21/8) นอกจากนี้เอกสารรายได้ของบริษัทระบุว่ามีรายได้จากค่าบริการผลิตงานถ่ายทอดสด ค่าบริการผลิตละครสั้น และค่าสิทธิ์ภาพยนตร์ (เอกสารหมาย ศ 25) ประกอบกับหนังสือรับรองและวัตถุที่ประสงค์ซึ่งออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ข้อ 22 ถึงข้อ 24 ซึ่งบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด แสดงเจตนา ระบุเพิ่มเติมจากแบบ ว.2 ข้อ 22 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ชีรีส์ สื่อบันเทิงทุกประเภท สื่อออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ ข้อ 23 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และข้อ 24 ระบุว่า ประกอบกิจการรับจ้างจัดงานและจัดรายการทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิล และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน (เอกสารหมาย ศ 16)
@ ‘ใบอนุญาต’ ขอที่หลังได้ตามวัตถุประสงค์ที่จดแจ้งไว้ก่อนหน้า
ฟังได้ว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีส์ และรับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด ในนิตยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีส์ ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นสื่อตัวกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป แม้จะไม่ปรากฎข้อมูลหลักฐานว่าบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด เคยยื่นคำร้องหรือได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมสามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการในเรื่องนั้น ๆ ได้ดังวัตถุที่ประสงค์ที่ได้มีการระบุเพิ่มเติมและตามแบบ สสช.1 ของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ที่แสดงเจตนาให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้น เพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอันเป็นกิจการตามนัยความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมห์หรือสื่อมวลชน
@กรณี บ.ที่สอง
(2) บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ผู้ร้องกล่าวอ้างว่ามีวัตถุที่ประสงค์ ข้อ 23ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และข้อ 24 ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (เอกสารหมาย ศ 23/3) แต่ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 (หลังวันสมัครรับเลือกตั้ง) นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งขีดชื่อบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ออกจากทะเบียน (เอกสารหมาย ศ 8 และ ถ 14) ซึ่งเป็นผลให้ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด สิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่วันดังกล่าว (เอกสารหมาย ศ 3/1)
ส่วนที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ชี้แจงว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์
เห็นว่า แบบ สสช.1 ฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 ระบุว่า ผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิงพิมพ์ สื่อการแสดงและสื่อการตลาดต่าง ๆ (เอกสารหมาย ศ 5) และฉบับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ระบุเพิ่มเติมว่า ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (เอกสารหมาย ศ 7) แบบ ส.บข.3 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ระบุว่า ผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดงและสื่อการตลาดต่าง ๆ อัตราร้อยละของรายได้รวมร้อยละ 100 (เอกสารหมาย ศ 9/1) รอบปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ระบุว่า บริการโฆษณา อัตราร้อยละของรายได้รวมร้อยละ 100 (เอกสารหมาย ศ 9/11) รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ระบุว่า บริการโฆษณาอัตราร้อยละของรายได้รวมร้อยละ 100 (เอกสารหมาย ศ 9/22) และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ระบุว่า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการโฆษณา อัตราร้อยละของรายได้รวมร้อยละ 100 (เอกสารหมาย ศ 9/34) และหมายเหตุประกอบงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ระบุว่า ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดงและสื่อการตลาดต่าง ๆ (เอกสารหมาย ศ 9/7 และ ศ 9/18) รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ระบุว่า ประกอบธุรกิจ บริการโฆษณา (เอกสารหมาย ศ 9/29) และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ระบุว่า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการโฆษณา (เอกสารหมาย ศ 9/41) ประกอบกับหนังสือรับรองและวัตถุที่ประสงค์ซึ่งออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ข้อ 23 และข้อ 24 ซึ่งบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด แสดงเจตนาระบุเพิ่มเติมจากแบบ ว.1 (วพ.) ข้อ 23 ระบุว่า ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และข้อ 24 ระบุว่า ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (เอกสารหมาย ศ 3)
อีกทั้งตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องที่ 2 ระบุว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณาตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยยื่นขอตรวจพิจารณาภาพยนตร์ จำนวน 6 เรื่อง คือเรื่อง “รัก ผิด บาป” และเรื่อง “คืนนั้น” (เอกสารหมาย ศ 27 ศ 28 และ ศ 29)
(ที่มาเอกสาร : แฟ้มข่าวสำนักข่าวอิศรา)
@แนวเดิม แสดงเจตนาประกอบการสื่อ
ฟังได้ว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดงและสื่อการตลาดต่าง ๆ และประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการเกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อการแสดง ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นสื่อตัวกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป แม้จะไม่ปรากฎข้อมูลหลักฐานว่าบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยยื่นคำร้องหรือได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมสามารถที่จะดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการในเรื่องนั้น ๆ ได้ ตังวัตถุที่ประสงค์ที่ได้มีการระบุเพิ่มเติมและตามแบบ สสช.1 ของบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ที่แสดงเจตนาให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลซนอันเป็นกิจการตามนัยความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
@ประเด็นที่สอง ถือหุ้นหรือไม่
เมื่อวินิจฉัยว่าวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กิจการของผู้ถูกร้องที่ 2 ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) มีข้อพิจารณาต่อไปว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการดังกล่าวหรือไม่
@บ.แรก ‘เฮด อัพ โปรดักชั่น’ 3,400 หุ้น บอจ.5 พิรุธอื้อ
ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากเห็นว่า (1) บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 (เอกสารหมาย ร 4) และเอกสารสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด (เอกสารหมาย ศ 26/1) ปรากฎชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ถือหุ้นจำนวน 3,400 หุ้น เลขหมายของหุ้น 00001 ถึง 03400 ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2560 แต่ต่อมาปรากฎเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 23) ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ตามหนังสือบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2562
เรื่อง ขอนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ 22) ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ไม่ปรากฎชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น
แต่ปรากฎชื่อนางสาวนันท์มนัส ไกรหา เป็นผู้ถือหุ้นตามจำนวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้นและวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 มกราคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 23) ประกอบกับมีสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด (เอกสารหมาย ถ 15) และสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด (เอกสารหมาย ศ 26/1 และ ศ 26/4) ซึ่งปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 2 โอนหุ้นจำนวน 3,400 หุ้น เลขหมายของหุ้น 00001 ถึง 013400 ให้แก่นางสาวนันท์มนัส ไกรหา ในวันที่ 11 มกราคม 2552
เมื่อพิจารณา ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ที่บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (เอกสารหมาย ศ 21/1)ระบุว่างบการเงินดังกล่าวได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 แต่กลับปรากฎสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 23) ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (เอกสารหมาย ศ 21/1) ดังกล่าว เพราะเท่ากับว่าในปี ๒๕๖๒ มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ซ้อนกัน 2 วัน คือวันที่ 30 เมษายน 2562 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ทั้งที่ตามข้อบังคับชองบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด กำหนดให้มีการประชุมสามัญครั้งหนึ่งทุกปี (เอกสารหมาย ศ 17/11) และโดยปกติแล้วการประชุมสามัญของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัดจัดให้มีขึ้นเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนเมษายนของปี ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในเอกสาร
แบบนําส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และรอบปีบัญชี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (เอกสารหมาย ศ 20/1 และ ศ 21/1) รวมถึงสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2563 (เอกสารหมาย ศ 24) ประกอบกับข้อเท็จจริงตามแบบ ภ.ง.ด.50 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ยื่นต่อกรมสรรพากร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 (เอกสารหมาย ศ 33) โดยข้อมูลที่ระบุในแบบ ภ.ง.ด.50 ดังกล่าวเป็นข้อมูล ที่มาจากงบการเงินของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งต้องเป็นงบการเงินได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น แสดงว่าบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติงบการเงินในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ตามที่ปรากฏในแบบนําส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (เอกสารหมาย ศ 21/1) การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จึงมีข้อพิรุธและเป็นการผิดปกติวิสัยของการประชุมสามัญ ประจําปีของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด อีกทั้งผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับ การประชุมดังกล่าวและไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานไม่ว่าจะเป็นหนังสือเชิญประชุม วาระการประชุม ลายมือชื่อผู้เข้าประชุม และบันทึกการประชุม ที่แสดงว่ามีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จริง
และแม้จะปรากฏเอกสารสําเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้น (เอกสารหมาย ถ 15) และสําเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด (เอกสารหมาย ศ 26/1 และ ศ 26/4) ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 โอนหุ้นให้แก่นางสาวนันท์มนัส ไกรหา ไปในวันที่ 11 มกราคม 2562 ก็ตาม แต่ข้อพิรุธข้างต้นมีน้ำหนักเพียงพอฟังได้ว่าเอกสารหลักฐานดังกล่าวน่าจะถูกจัดทําขึ้นเพื่อให้เจือสมกันกับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 23)
อีกทั้งผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นว่ามีการชําระค่าโอนหุ้นกันอย่างไรและเป็นจํานวนเงินเท่าใด และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานการชําระค่าหุ้นและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องที่สามารถยืนยันเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 โอนหุ้นให้นางสาวนันท์มนัส ไกรหา ในวันที่ 11 มกราคม 2562 ตามที่ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 23)
(ที่มาเอกสาร : แฟ้มข่าวสำนักข่าวอิศรา)
@เชื่อปั้นเอกสารโอนหุ้น ย้อนหลังก่อนสมัคร ส.ส.
นอกจากนี้ การที่บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกรรมการของทั้งสองบริษัท (เอกสารหมาย ศ. 16 และ ศ. 3) จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ตามที่ ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ 23 และ ศ. 15) และมีการนําส่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ดังกล่าวต่อนายทะเบียนในวันเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 22 และ ศ. 14) ย่อมมีข้อพิรุธและเป็นการผิดวิสัย รวมทั้งการดําเนินการดังกล่าวเป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อ ยื่นเรื่องต่อผู้ร้องเพื่อส่งคําร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ปรากฏตาม หนังสือสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 เอกสารประกอบคําร้อง (หน้า 0007) จึงเชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ 23) ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อนางสาวนันท์มนัส ไกรหา เป็นผู้ถือหุ้นตามจํานวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้นและ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 มกราคม 2562 เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกจัดทําขึ้นเพื่อทําให้บุคคลภายนอก เข้าใจว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด แล้วตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ถูกร้องที่ 2 สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ไม่ได้มีการประชุมและไม่มีการโอนหุ้นกันจริง หากผู้ถูกร้องที่ 2 มีการโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562 จริง ผู้ถูกร้องที่ 2 ในฐานะกรรมการของบริษัทย่อมต้องดําเนินการนําส่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนโดยเร็วก่อนวันที่ผู้ถูกร้องที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสามารถดําเนินการได้โดยไม่จําต้องรอให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นก่อน และผู้ถูกร้องที่ 2 ย่อมต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมแสดงเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องว่าผู้ถูกร้องที่ 2 มีการโอนหุ้นไปแล้วก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิสูจน์หักล้างข้อกล่าวหาในประเด็นสําคัญแห่งคดีเช่นนี้มาเสียตั้งแต่ต้น แต่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงโต้แย้งประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี
@ไม่ยอมมาให้ศาลไต่สวนพิสูจน์ข้อพิรุธ
อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้โอกาสผู้ถูกร้องที่ 2 จัดทําคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับการถือหุ้น รวมถึงการโอนหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดและไม่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในข้อพิรุธดังกล่าว ผู้ถูกร้องที่ 2 เพียงนําส่งเอกสาร หลักฐานสําเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นและสําเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ที่ระบุว่าผู้ถูกร้องที่ 2 โอนหุ้นให้นางสาวนันท์มนัส ไกรหา ในวันที่ 11 มกราคม 2562 เท่านั้น
@ข้อเท็จจริงครบถือหุ้นสื่อ
ด้วยข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
@กรณี บ.ที่สอง ‘แอมฟายน์ฯ’ 3,333 หุ้น แนวเดียวกัน
(2) บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 (เอกสารหมาย ศ 4/12) สําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 (เอกสารหมาย ศ 10/2) สําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 (เอกสารหมาย ศ. 11/2) สําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2556 (ที่ถูกต้องคือ ครั้งที่ 1/2557) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 (เอกสารหมาย ศ. 12/2) และสําเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 (เอกสารหมาย ศ. 13/2) ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ถือหุ้นจํานวน 3,333 หุ้น เลขหมายของหุ้น 3335 ถึง 6667 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2554 แต่ต่อมาปรากฏตามเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ 15) ที่ได้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ตามหนังสือ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2562 เรื่อง ขอนําส่งสําเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ. 14) ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อนายณัฐวัฒน์ สุขะพิสิษฐ์ เป็นผู้ถือหุ้นตามจํานวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้นและวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 มกราคม 2562
@ช่วงวันเวลาส่งงบการเงินประจำปีมีพิรุธอย่างมาก
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบนําส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ที่บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2557 (เอกสารหมาย ศ. 10/1 ศ. 11/1 ศ. 12/1 และ ศ. 13/1) ปรากฏว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด มีการประชุมสามัญประจําปีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินในเดือนเมษายนมาโดยตลอด อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ไม่มีการประชุมสามัญประจําปีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินและขาดส่งงบการเงินตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เรื่อยมา แต่กลับปรากฏว่าบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ตามที่ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ. 15) จึงมีข้อพิรุธและเป็นการผิดปกติวิสัยของการประชุมสามัญประจําปีของบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด
@ไม่ยอมชี้แจงปมโอนหุ้น-ไม่ส่งเอกสารยืนยัน
ทั้งผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจง รายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวและไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานไม่ว่าจะเป็นหนังสือเชิญประชุม วาระการประชุม ลายมือชื่อผู้เข้าประชุม และบันทึกการประชุม ที่จะแสดงได้ว่ามีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จริง
นอกจากนี้ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นว่าจัดทําขึ้นในวันและเวลาใด สถานที่ใด มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง มีการชําระค่าโอนหุ้นกันอย่างไรและเป็นจํานวนเงินเท่าใด และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานหนังสือสัญญาโอนหุ้น หลักฐานการชําระค่าหุ้น และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องที่สามารถยืนยันเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 โอนหุ้นให้นายณัฐวัฒน์ สุขะพิสิษฐ์ ในวันที่ 11 มกราคม 2562 ตามที่ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ที่ระบุว่า เป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ. 15)
@ชี้ผิดวิสัย ปมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นพร้อมกันวันเดียวกันหลังถูกร้อง
นอกจากนี้การที่บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด และบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกรรมการของทั้งสองบริษัทจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ตามที่ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ. 15 และ ศ 23) และมีการนําส่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ดังกล่าวต่อนายทะเบียนในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 (เอกสารหมาย ศ. 14 และ ศ. 22) ย่อมมีข้อพิรุธและเป็นการผิดวิสัย รวมทั้งการดําเนินการดังกล่าวก็เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อยื่นเรื่องต่อผู้ร้องเพื่อส่งคําร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ปรากฏตามหนังสือสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 เอกสารประกอบคําร้อง (หน้า 0007)
@ชี้ชัดไม่ประชุมโอนหุ้นจริง
จึงเชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) (เอกสารหมาย ศ 15) ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อนายณัฐวัฒน์ สุขะพิสิษฐ์ เป็นผู้ถือหุ้น ตามจํานวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้นและวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 มกราคม 2562 เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกจัดทําขึ้นเพื่อทําให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด แล้วตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ถูกร้องที่ 2 สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ไม่ได้มีการประชุมและไม่มีการโอนหุ้นกันจริง หากผู้ถูกร้องที่ 2 มีการโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562 จริง ผู้ถูกร้องที่ 2 ในฐานะกรรมการของบริษัทย่อมต้องดําเนินการนําส่งสําเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนโดยเร็วก่อนวันที่ผู้ถูกร้องที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสามารถดําเนินการได้โดยไม่จําต้องรอให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นก่อน และผู้ถูกร้องที่ 2 ย่อมต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องว่าผู้ถูกร้องที่ 2 มีการโอนหุ้นไปแล้วก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิสูจน์หักล้างข้อกล่าวหา ในประเด็นสําคัญแห่งคดีเช่นนี้มาเสียตั้งแต่ต้น แต่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงโต้แย้งประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสผู้ถูกร้องที่ 2 จัดทําคําชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับการถือหุ้นรวมถึงการโอนหุ้นในบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดและไม่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในข้อพิรุธดังกล่าว
@ข้อเท็จจริงถือหุ้นสื่อขณะลงสมัคร ส.ส.
ด้วยข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งประกอบ กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
@ขาดสมาชิกภาพตั้งแต่ 6 ก.พ.2562
มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลง เมื่อ... (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ...” ประกอบมาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร ... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ...” บทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันจะเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของ พรรคอนาคตใหม่และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จํากัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จํากัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ทําให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
(คำวินิจฉัยที่ 20 /2563 เรื่องพิจารณาที่ 28 ต.ค.2563 วันที่ 28 ต.ค.2563)
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- สถานะล่าสุด 2 บริษัท‘ธัญญ์วาริน’ก่อนศาล รธน.ให้พ้น ส.ส.- ร้าง 1 แห่ง
- เปิดข้อมูลประกอบพิจารณา '6 ข้อ' กรณีหุ้นไอทีวี ‘พิธา’
- จ่อยื่นศาลรธน.ตีความ! 'เรืองไกร' ส่งหลักฐาน'พิธา' ปมถือหุ้น ITV ให้ กกต.เพิ่ม 2 รายการ
- 'เรืองไกร' ยื่นหลักฐาน 'พิธา' ปมถือหุ้น ITV เพิ่มให้ กกต.
- ดูชัด ๆ หุ้น ITV ‘พิธา’ 42,000 หุ้น ปี 2551-2566 ไม่ระบุ ‘ผจก.กองมรดก’
- ‘เรืองไกร’ ยื่นหลักฐานเพิ่มปม ‘พิธา’ ถือหุ้น ITV เทียบกรณี ‘ธัญญ์วาริน’ พ้น ส.ส.