“…เนื่องจากผู้ร่วมทุนในระบบท่อแบบ Hydrant กับผู้ให้บริการคลังน้ำมันเป็นรายเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ ดังนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเจ้าของโครงการจะต้องนำไปเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้ประกอบการทุกรายที่ดำเนินธุรกิจอยู่ภายในท่าอากาศยานในความรับผิดชอบให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นอีกในอนาคต…”
......................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับเรื่องไปพิจารณาดำเนินการและรายงานผลให้ ครม. รับทราบ นั้น (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ปม'คลังน้ำมัน'นอกสุวรรณภูมิ ก่อน BAFS ฟ้องเอาผิด'ทั้งคณะ')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหนังสือกระทรวงคมนาคมด่วนที่สุดที่ คค (ปคร) 0208/119 ลงวันที่ 29 เม.ย.2565
และการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่คค (คปร) 0208/203 ลงวันที่ 4 ส.ค.2565 มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
@ชี้ปม ‘มติ ครม.’ กรณี ‘คลังน้ำมัน’ นอกสุวรรณภูมิ ‘ขัดแย้งกัน’
1.ประเด็นเกี่ยวกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 และวันที่ 21 ก.พ.2549 มีความขัดแย้งกันในหลักการ
ประเด็นพิจารณา :
ป.ป.ช.เห็นว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 และวันที่ 21 ก.พ.2549 มีความขัดแย้งในหลักการ โดยมติเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ยึดหลักการความปลอดภัยสูงสุดของทำอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้มีผู้ให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) เพียงรายเดียว ในขณะที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ยึดหลักการให้เอกชนหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคา
ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. :
เนื่องจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนประตูเมือง ต้องมีระดับการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง อีกทั้งท่าอากาคยานสุวรรณภูมิและพื้นที่ในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่จำเพาะ ผู้ใดเข้าไปดำเนินการใดโดยไม่ใด้รับการอนุญาตจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มิได้
แต่เนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ได้มีมติให้ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) เป็นผู้ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบินแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ครม.ได้มีมติให้เอกขนรายอื่นหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันเครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการบริการ จะเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีทั้งสองฉบับมีความขัดแย้งกันในหลักการ
กล่าวคือ ฉบับหนึ่งยึดหลักการความปลอดภัยสูงสุดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้มีผู้ให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินเพียงรายเดียว ในขณะที่อีกฉบับหนึ่งยืดหลักการให้เอกชนหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินในท่อากาศยานสุวรรณภูมิได้
จึงเห็นสมควรที่ ครม.ควรพิจารณาตรวจสอบมติ ครม. ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามหลักการใด ที่จะเหมาะสมกับการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
@สั่ง ‘ทอท.’ หารือ ‘กพท.’ เสนอทบทวนมติ ครม. ให้เหมาะสม
ความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
ในหลักการ ระยะเวลาที่มติ ครม.จะมีผลใช้บังคับ แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1) มีการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ไว้ในมติ ครม.เป็นการเฉพาะ 2) มีการขอทบทวนมติ ครม.หรือขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. และ 3) มีมติ ครม.ในเรื่องเดิมเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งมีผลทำให้มติ ครม.เดิมสิ้นสุดการใช้บังคับ
กรณีมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 เกี่ยวกับการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น เป็นกรณีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมาจากการเสนอโดย กทภ.
โดยครั้งแรกวันที่ 14 ม.ค.2546 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงานในโครงการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (ยกเว้น Hydrant) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างคลังน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ต่อมาก่อนเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มีผู้ประกอบการ 1 ราย เสนอขอให้บริการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
กทภ. จึงได้นำเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบให้มีคลังน้ำมันภายนอกเพียงแห่งเดียวสำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยตั้งอยู่ภายนอกท่าอากาศยาน เพื่อให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถเปิดให้บริการได้ตามวัตถุประสงค์ ครม.จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 อนุมัติตามมติ กทภ.
ภายหลังจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการแล้ว ได้มีผู้ประกอบการรายอื่น เสนอขอก่อสร้างคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก และขอเชื่อมต่อคลังน้ำมันของตนเองเข้ากับระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เสนอ กทภ. ขออนุมัติให้มีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่สร้างคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำการเชื่อมต่อกับระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ของท่าอากาคยานสุวรรณภูมิที่บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสม
เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ รวมทั้งเกิดความมั่นคงและลดความเสี่ยงกรณีที่มีแหล่งคลังน้ำมันจากภายนอกที่เชื่อมต่อเพียงแห่งเดียว และเหมาะสมกับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
กทภ. จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันที่ TARCO เป็นผู้ประกอบการ ณ บริเวณจุดที่มีความเหมาะสม และ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 อนุมัติตามมติ กทภ.
ดังนั้น จึงถือได้ว่ามติ ครม.ทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน และมติ ครม.ครั้งล่าสุด คือ วันที่ 21 ก.พ. 2549 เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และมีความเหมาะสมกับหลักการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ต้องการให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ รวมทั้งลดการผูกขาดในกิจกรรมคลังน้ำมันอากาศยาน ซึ่งขณะนี้จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องขอทบทวนหรือแก้ไขมติ ครม.ดังกล่าว
หากในอนาคต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมติ ครม.ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ‘อาจ’ พิจารณานำเสนอ ครม.เพื่อขอทบทวนมติ ครม.เดิม หรือให้มีมติ ครม.ครั้งใหม่มาบังคับใช้แทนได้
อย่างไรก็ดี ต่อมากระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือชี้แจงข้อมูลต่อ ครม. เพิ่มเติม (หนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่คค (คปร) 0208/203 ลงวันที่ 4 ส.ค.2565) ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 เป็นว่า
“เพื่อให้เกิดความรอบคอบและยึดหลักความปลอดภัยเป็นสำคัญ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางอากาศ ศึกษาความเหมาะสมของโครงสร้างพื้นฐาน และแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในภาพรวมทั้งระบบ
และหากพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมติ ครม.ให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ‘ก็ให้’ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณานำเสนอ ครม. เพื่อขอทบทวนมติ ครม.เดิม หรือให้มีมติ ครม.ครั้งใหม่ มาบังคับใช้แทนได้”
@แนะแก้ปมผูกขาด ‘คลังน้ำมัน’ นอกสุวรรณภูมิอย่างเป็นระบบ
2.ประเด็นเกี่ยวกับการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาสยานสุวรรณภูมิ
ประเด็นพิจารณา :
ในปี 2564 ASIG TANK ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงที่ ASIG TANK ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ในการดำเนินการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
แต่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) และบริษัท เชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS)
โดยที่ผ่านมา ASIG TANK ได้พยายามเข้าร่วมการดำเนินการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อท่อหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้กระบวนการในการพิจารณาเชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้ ASIG TANK รู้สึกว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจเข้าถึงแบบเปิดกว้างได้
ประเด็นนี้สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่า เป็นสิ่งที่บริษัทระดับโลกเผชิญอยู่ เมื่อได้เข้าติดต่อทำธุรกิจกับประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CP) ของประเทศไทย
ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. :
เห็นควรให้ ครม.มีมติมอบหมายให้ กทภ. ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันอย่างเป็นระบบ
โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม และควรคำนึงถึงการกำกับดูแล การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับนานาขาติในเรื่องของการเป็นสนามบินที่มีมาตรฐานสากล
อันเป็นการนำไปสู่การเพิ่มความเชื่อมั่นที่บริษัทนานาชาติมีต่อประเทศไทย ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPV) ของประเทศไทย
@มอบ ‘ทอท.’ แก้ปมประโยชน์ทับซ้อน ‘ระยะเร่งด่วน-ยาว’
ความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กทภ. เป็นคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งแต่งตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ.2545 มีนายกฯเป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ในขณะนั้น) เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายและบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกำหนดแผนงานหรือโครงการและวงเงินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งภายในและภายนอกเขตพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ตามความจำเป็น
โดยคณะกรรมการชุดนี้ (กทภ.) ได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง และเตรียมการเปิดให้บริการทำอากาศยานสุวรรณภูมิให้สำเร็จลุล่วงตามระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการคณะกรรมการก็สิ้นสุดภารกิจและสิ้นสภาพไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มี พ.ร.ก.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และพ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 กำหนดให้มีคณะกรรมการการบินพลเรือนขึ้น
ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการบินพลเรือน ในการพิจารณาอนุมัติแผนรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ รวมถึงแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย
1.คลังน้ำมัน (Tank Farm)
คลังที่ 1 ตั้งอยู่ภายนอกพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการโดย BAFS ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546
คลังที่ 2 จะให้บริการโดย ASIG TANK ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่เห็นชอบในหลักการให้มีผู้ประกอบการรายอื่นเชื่อมต่อกับ Hydrant ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อคลังน้ำมันกับระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ TARCO ได้
-ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นสัญญาร่วมลงทุน 30 ปี (ปี 2549-2575 โดยมีเอกชนเข้าร่วมลงทุน 1 ราย คือ TARCO (มี BAFS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 90 และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 10)
และมีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามสัญญาร่วมลงทุน
-ระบบเดิมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Into-plane) เป็นสัญญาร่วมลงทุน 20 ปี (ปี 2549-2569) โดยมีเอกชนเข้าร่วมลงทุน 6 ราย คือ BAFS และ ASIG และมีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (ยกเว้น Hydrant) ณ ทำอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามสัญญาร่วมลงทุน
ปัญหาที่เกิดขึ้น
ปัจจุบัน ASIG TANK ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการคลังน้ำมัน (Tank Farm) รายที่ 2 โดยอาศัยมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ยังไม่สามารถขอเชื่อมต่อเข้ากับระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ TARCO ได้ เนื่องจาก TARCO แจ้งว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย
และแจ้งว่ามติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ไม่สามารถใช้บังคับกับบริษัทได้
ในการดำเนินธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Into-Plane) ASIG ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผ่านมา ASIG ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ล่าช้ามาตลอด
ASIG แจ้งว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ ASIG TANK ยังไม่สามารถเชื่อมต่อคลังน้ำมันกับระบบส่งเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2560
กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่า จากการพิจารณาการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งระบบในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยคลังน้ำมัน (Tank Farm) การให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant และการให้บริการระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Into-Plane)
พบว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถกำกับดูแลการใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง (Common Infrastructure) คือ ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และไม่เกิดปัญหาการผูกขาด
เนื่องจากผู้ร่วมทุนในระบบท่อแบบ Hydrant กับผู้ให้บริการคลังน้ำมันเป็นรายเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้
ดังนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเจ้าของโครงการจะต้องนำไปเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้สามารถกำกับดูแลผู้ประกอบการทุกรายที่ดำเนินธุรกิจอยู่ภายในท่าอากาศยานในความรับผิดชอบให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน และไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นอีกในอนาคต
จึงเห็นควรพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน
เนื่องจากการให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant เป็นโครงการร่วมลงทุนที่ปัจจุบันมีการกำกับดูแลตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ดังนั้น จึงให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พิจารณาตรวจสอบสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant
เพื่อพิจารณาหน้าที่และอำนาจของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในการกำกับดูแลคู่สัญญาให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นให้สามารถใช้ระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางร่วมกัน
มีการกำหนดอัตราค่าบริการที่โปร่งใสและเป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันหรือไม่ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาต่อไป
ระยะยาว
-ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งทางอากาศ ศึกษาความเหมาะสมของโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในภาพรวมทั้งระบบ
โดยระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง (Common Infrastructure) ที่ต้องมีการใช้ร่วมกัน จะต้องมีการกำกับดูแลให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
รวมทั้งมีการกำหนดอัตราค่าบริการที่โปร่งใส เป็นธรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และส่งผลต่อภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงความเชื่อมั่นของนานาชาติมีต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ ในการศึกษาขอให้ประสานกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
-ในการจัดทำสัญญาให้ดำเนินการให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง (Common Infrastructure) ที่ต้องมีการใช้ร่วมกันครั้งต่อไป
โดย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 49 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุน ภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด
โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนเสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชน
ดังนั้น จึงเห็นควรให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ ดังนี้
(1) กรณีผลการศึกษาเห็นควรให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเอง ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องกำกับดูแลให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดการแข่งชันอย่างเป็นธรรมในการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งระบบ
(2) กรณีผลการศึกษาเห็นควรให้เอกชนร่วมลงทุน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องพิจารณากำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้ชัดเจน ให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันและผู้ประกอบการระบบเติมน้ำมันเชื้อเหลิงอากาศยาน (Into-Plane) สามารถเชื่อมต่อกับระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ได้บนเงื่อนไขที่ต้องมีมาตรฐานต้านความปลอดภัยสูงสุด และมีข้อกำหนดการกำกับดูแลที่ชัดเจน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดและกีดกันทางการค้า และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน รวมถึงอาจพิจารณาความเหมาะสมในการร่วมทุนระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับผู้ประกอบการระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Into Plane) ทุกราย ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการผูกขาด
(3) นอกจากนี้ ในอนาคตนอกเหนือจากการให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant แล้ว ในการให้บริการอื่นๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลาง (Common Infrastructure) ทั้งหมด ที่ต้องมีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาใช้บริการร่วมกัน
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ควรพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างการดำเนินการเอง หรือหากจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการให้บริการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องกำหนดเงื่อนไขการให้บริการและการกำกับดูแลให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าถึงแบบเปิดกว้าง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกรายต่อไป
@แจงปม BAFS ระบุมติ ครม. 21 ก.พ.49 ไม่ชอบด้วยกม.
3.กรณีประเด็นที่ BAFS มีความเห็นว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 เป็นมติ ครม. ที่อนุมัติตามมติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 และ BAFS มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า มติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ไม่ได้อยู่ในข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ที่ ครม.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา
อย่างไรก็ตาม จากเอกสารข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจัดทำโดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช.
ซึ่งกล่าวถึงการประชุม ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 1017-48/2561 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2561 พิจารณาเรื่องกล่าวหาอดีต รมว.คมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับพวก
และได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ตามคำสั่ง ป.ป.ช. ที่ 120/2562 ลงวันที่ 15 มี.ค.2562 ต่อมา ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 81/2564 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เหล่านี้เป็นคำชี้แจงของ ‘กระทรวงคมนาคม’ ต่อข้อเสนอแนะของ ‘ป.ป.ช.’ ในการแก้ปัญหากรณีการผูกขาดให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ในขณะที่ BAFS ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของคลังน้ำมันนอกสนามบินสุวรรณภูมิ และระบบท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant ก็มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเข้ามาแข่งขันในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในอนาคต!
อ่านประกอบ :
ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต! 'ป.ป.ช.' โต้กลับ BAFS ปม 'คลังน้ำมัน' นอก 'สุวรรณภูมิ'
‘ป.ป.ช.’ยื่นคำชี้แจง‘ศาลคดีทุจริตฯ’ คดี BAFS ฟ้องเอาผิด ปม‘คลังน้ำมัน’นอกสุวรรณภูมิ
ฉบับเต็ม! ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ปม'คลังน้ำมัน'นอกสุวรรณภูมิ ก่อน BAFS ฟ้องเอาผิด'ทั้งคณะ'
ปล่อยคดีขาดอายุความ-บิดเบือนข้อเท็จจริง! 2 ปม BAFS ฟ้องศาลฯ เอาผิด ‘ป.ป.ช.ทั้งคณะ’
ปม‘คลังน้ำมัน’นอกสุวรรณภูมิ ระอุ! ‘BAFS'ชน‘ป.ป.ช.’ ฟ้องศาลคดีทุจริตฯเอาผิด'ทั้งคณะ'
มติครม.ขัดแย้งกัน! เบื้องหลัง‘ป.ป.ช.’ชงเปิดเอกชนแข่งขัน ทำ‘คลังน้ำมัน’นอก‘สุวรรณภูมิ’
ต้องแข่งขัน! ป.ป.ช.แนะ'ครม.'เปิดเอกชนรายอื่นสร้าง'คลังน้ำมันเครื่องบิน'นอก'สุวรรณภูมิ'