เปิดเบื้องหลังข้อเสนอแนะ ‘ป.ป.ช.’ ชง ‘ครม.’ ให้เอกชนรายอื่น แข่งขันสร้าง ‘คลังน้ำมัน’ นอก ‘สนามบินสุวรรณภูมิ’ พบมีออกมติ ครม. 2 ฉบับ ‘ขัดแย้งกัน’ แนะตรวจสอบมติ ครม.ให้ชัดเจน
..............................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอให้ ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังขอให้ ครม. ตรวจสอบมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ที่มีมติให้มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว และมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่มีมติให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันเอกชนรายอื่นสามารถสร้างคลังน้ำมันภายนอกเขตสนามบินสุวรรณภูมิได้หลายรายมากขึ้น นอกเหนือจากบริษัทเอกชนรายเดียวตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546
โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์จากการเปิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคลังน้ำมันอย่างเป็นธรรมกับความมั่นคงในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในท่าอากาศยาน อันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีมาตรฐานสากลเทียบเท่าท่าอากาศยานนานาประเทศ นั้น (อ่านประกอบ : ต้องแข่งขัน! ป.ป.ช.แนะ'ครม.'เปิดเอกชนรายอื่นสร้าง'คลังน้ำมันเครื่องบิน'นอก'สุวรรณภูมิ')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของการจัดทำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อ ครม. เรื่อง แนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยมีรายละเอียดว่า
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหา รมว.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับพวก ในประเด็นการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
และให้ส่งมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่อนุมัติตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ว่า ขัดหรือแย้งกับ มติครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ที่ให้มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว หรือไม่ และควรเสนอแนะให้ ครม.ดำเนินการอย่างไร โดยส่งเรื่องให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ทำการศึกษามติ ครม.ทั้ง 2 มติ จากนั้นจึงให้เสนอผลการศึกษาแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
ต่อมา สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่อนุมัติตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ว่า ขัดหรือแย้งกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ที่ให้มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียวแล้ว
พบว่า จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การพิจารณามติ ครม.ทั้ง 2 ครั้ง มาจากการนำเสนอโดยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการ กทภ. ครั้งแรกเมื่อปี 2546 มีมูลเหตุจากการที่บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) ได้เสนอตนเพื่อให้บริการคลังน้ำมันภายนอกสนามบินเพียงแห่งเดียว สำหรับให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
จากนั้นคณะกรรมการ กทภ. เสนอผลการประชุมไปยัง ครม.เพื่อพิจารณา และเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ครม.มีมติให้บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) เป็นผู้ให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบินแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม ต่อมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.หรือ AOT) ได้จัดตั้งบริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) โดยดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำมันภายในสนามบิน (Hydrant) เพื่อรองรับการเชื่อมต่อและรับน้ำมันภายนอกสนามบิน
หลังจากนั้นในปี 2548 บริษัท เอเอสไอจี แท็งค์คิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด (ASIG) แจ้งความประสงค์ในการขอก่อสร้างคลังน้ำมันภายนอกสนามบิน และจะขอเชื่อมต่อคลังน้ำมันเข้ากับระบบท่อส่งน้ำมันภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อ ทอท. ซึ่ง ทอท. มีมติเห็นชอบที่จะให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกเชื่อมต่อท่อน้ำมันภายในสนามบิน โดยให้บริษัท ASIG ติดต่อกับบริษัท TARCO โดยตรงเพื่อประสานงานทางเทคนิคต่อไป
กระทั่งต่อมาในปี 2549 คณะกรรมการ กทภ. เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาแนวทางที่จะเปิดให้เอกชนรายอื่นๆ สามารถสร้างคลังน้ำมันภายนอกเขตสนามบินสุวรรณภูมิได้หลายรายมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคลังน้ำมัน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการเปิดการเข้าถึง (Open Access) โดยสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศยานระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่ กทภ. เสนอ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มติ ครม.เมื่อปี 2546 เป็นมติที่อนุมัติให้มีคลังน้ำมันภายนอกสนามบินเพียงรายเดียวเท่านั้น ในขณะที่มติ ครม.เมื่อปี 2549 เป็นมติที่เห็นชอบหลักการให้มีเอกชนสามารถคลังน้ำมันได้เพิ่มขึ้น และสามารถเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันเข้ากับระบบท่อส่งน้ำมันของสนามบินสุวรรณภูมิได้ เป็นมติ ครม.ที่อาจขัดหรือแย้งกัน และอาจนำไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวกับการให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยัง ครม. ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 คือ เห็นควรให้คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้ กทภ. ดำเนินการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมีข้อเสนอแนะให้ ครม. พิจารณามติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 และมติครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ซึ่งมติ ครม.ทั้ง 2 ฉบับ มีความขัดแย้งกันในหลักการ กล่าวคือ ฉบับหนึ่งยึดหลักการความปลอดภัยสูงสุดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้มีผู้ให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินเพียงรายเดียว ในขณะที่อีกฉบับยึดหลักการให้เอกชนหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันเครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้
จึงเห็นสมควรที่ ครม. ควรพิจารณาตรวจสอบมติ ครม.ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามหลักการใด ที่จะเหมาะสมกับการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
อ่านประกอบ :
ต้องแข่งขัน! ป.ป.ช.แนะ'ครม.'เปิดเอกชนรายอื่นสร้าง'คลังน้ำมันเครื่องบิน'นอก'สุวรรณภูมิ'