“…หาก ครม.มีนโยบายประการใดออกมา ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอแนะ ก็อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของ BAFS และ TARGO ดังนั้น การที่ BAFS และ TARGO ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมุ่งโต้แย้งนโยบายหรือมาตรการของ ครม.เท่านั้น หาได้เกิดจากการกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด…”
................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) และบริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และพวก รวม 13 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565
โดย BAFS และ TARCO กล่าวหาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ และ ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต’
ในกรณีที่ ป.ป.ช. พิจารณาข้อร้องเรียนของ BAFS เรื่อง การแก้ไขรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 โดยมิชอบ เป็นไปอย่างล่าช้าจนคดีขาดอายุความ และกรณี ป.ป.ช. เสนอข้อเท็จจริงที่บิดเบือนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่เปิดโอกาสให้ BAFS ชี้แจง
ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 21/2565 และมีหนังสือแจ้งไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งคำชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาในชั้นตรวจฟ้อง นั้น (อ่านประกอบ : ‘ป.ป.ช.’ยื่นคำชี้แจง‘ศาลคดีทุจริตฯ’ คดี BAFS ฟ้องเอาผิด ปม‘คลังน้ำมัน’นอกสุวรรณภูมิ)
@‘ป.ป.ช.’แจงคดีไม่ขาดอายุความ-ยังอยู่ในกรอบเวลาตามกม. 3 ปี
ล่าสุดแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับคดีนี้ ว่า ประเด็นแรก กรณีที่ BAFS ฟ้องว่า ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงฯตามข้อร้องเรียนของ BAFS โดยใช้เวลาดำเนินการกว่า 4 ปี ซึ่งเกินกว่ากรอบระยะเวลากฎหมาย และทำให้คดีขาดอายุความ นั้น
ข้อเท็จจริง คือ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนฯตามข้อร้องเรียนของ BAFS ตามกรอบระยะเวลาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 48 กำหนด
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2560 BAFS ยื่นกล่าวหา พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม ,อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับพวก กรณีการแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 โดยมิชอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
จากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจรับข้อกล่าวหา และแสวงหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อหาพยานหลักฐานเบื้องต้น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า จะมีมติรับเรื่องไว้สอบสวนหรือไม่
กระทั่งต่อมาวันที่ 21 ก.ย.2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของ BAFS และแต่งตั้ง พูลศักดิ์ คูณสมบัติ เป็นคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในวันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในวันที่ 14 ธ.ค.2560 ซึ่งเป็นวันที่ BAFS ได้ยื่นกล่าวหา อดีต รมว.คมนาคมและพวก กรณีแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 โดยมิชอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น
เป็นช่วงที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้อยู่ และ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ‘การกำหนดระยะเวลา’ การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เอาไว้แต่อย่างใด
แต่ต่อมาวันที่ 20 ก.ค.2561 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ ขณะที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการไต่สวนเอาไว้
จึงทำให้เกิดปัญหาว่า การนับระยะเวลาการไต่สวนข้อร้องเรียนของ BAFS ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงคดีอื่นๆ นั้น จะต้องนับระยะเวลากันอย่างไร
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ก.พ.2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับหลักการ ‘นับระยะเวลา’ การดำเนินการไต่สวนฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และมีมติว่า
1.ข้อกล่าวหาที่อยู่ระหว่างตรวจรับข้อกล่าวหา แสวงหาข้อเท็จจริง ให้เริ่มนับระยะเวลาตามมาตรา 50 และมาตรา 51 ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมายให้ไต่สวน
2.กรณีที่เรื่องใดอยู่ระหว่างไต่สวนที่รับเรื่องไว้ก่อน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ ให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 21 ก.ค.2561
ส่งผลให้การนับระยะเวลาการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของ BAFS ต้องเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนของ BAFS และแต่งตั้ง พูลศักดิ์ คูณสมบัติ เป็นคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงฯ หรือให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2561 เป็นต้นไป
ดังนั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ให้ข้อกล่าวหาของ BAFS ไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไปตกไป จึงเป็นการมีมติ ที่ยังไม่เกินกรอบระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้เกี่ยวข้อง จึงไม่ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงล่าช้าเกินกว่ากรอบกฎหมายกำหนดตามที่ BAFS กล่าวอ้างแต่อย่างใด
@การแก้ไขรายงาน ‘มติ กทภ.’ ครั้งที่ 4/2548 มีผลสมบูรณ์ตาม ‘มติ ครม.’
ประเด็นที่สอง กรณี BAFS ฟ้องว่า ป.ป.ช.ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องตามข้อร้องเรียนของ BAFS เกี่ยวกับการแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 โดยมิชอบ นั้น
ข้อเท็จจริง คือ เรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 และเห็นว่า ก่อนที่คณะกรรมการ กทภ. จะมีประชุมเพื่อรับรองรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 นั้น
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2548 กระทรวงคมนาคมได้ส่งโทรสาร เพื่อขอแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 โดยขอให้ตัดข้อความว่า “ประธานกรรมการ กทภ. ให้สังเกตว่า ผู้ประกอบคลังน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้น 1 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันการให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิน่าจะเป็น ปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ” ออกไปทั้งหมด
จากนั้นได้มีการประชุม กทภ. ครั้งที่ 5/2548 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2548 เพื่อพิจารณารับรองรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548
และเมื่อที่ประชุม กทภ. ได้พิจารณาและรับรองรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ตามเนื้อหาที่มีการปรับแก้แล้ว โดยไม่ปรากฏว่ามีกรรมการรายใดทักท้วงเรื่องการ ‘แก้ไขรายงาน’ และไม่มีการโต้แย้งว่า ‘มีข้อความที่ไม่ตรงกับที่ได้มีการประชุมกันจริง’ แต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อมีการเสนอรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ที่ระบุว่า “ให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน Hydrant ที่ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป” ให้ ครม.พิจารณาพิจารณา
และในการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ครม.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 แต่อย่างใด ดังนั้น รายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 จึงเป็นการกระทำที่สมบูรณ์ตามมติ ครม. ในขณะนั้น และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการโดยไม่ชักช้า
(พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.)
@ยันไต่สวนฯพยานหลักฐานรอบคอบ-ใช้ดุลพินิจโดยปราศจากอคติ
ส่วนกรณีที่ BAFS กล่าวหาว่า ป.ป.ช. มีมติเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของ BAFS กรณีการแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ‘โดยไม่สุจริต’ นั้น
ข้อเท็จจริง คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 28 โดยมีดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัย คดีที่ BAFS กล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้อง ‘โดยอิสระ’
โดย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานตามสมควรแล้ว จึงมีมติเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ว่า ข้อกล่าวหาของ BAFS ไม่มีมูลความผิดแต่ประการใด ดังนั้น การกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย มีไต่สวนพยานหลักฐานโดยรอบคอบ และใช้ดุลพินิจโดยปราศจากอคติ
การลงมติของ ป.ป.ช.จึงชอบด้วยกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 41
@‘ศาลปกครองสูงสุด’ เคยชี้ BAFS ไม่ใช่ผู้เสียหายจาก ‘มติ กทภ.’
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเห็นว่า BAFS และ TARCO ไม่ใช่ ‘ผู้เสียหาย’ จากกรณีการแก้ไข ‘มติ กทภ.’ ซึ่งได้มีการร้องเรียนต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะทั้ง BAFS และ TARCO ยอมรับว่า ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้มี ‘คลังน้ำมันแห่ง 2’ นอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพียงแต่มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น
และที่ผ่านมา บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับคลังน้ำมันแห่งที่ 2 ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ทั้ง BAFS และ TARCO จึงยังไม่ใช่ ‘ผู้เสียหาย’ จากการไต่สวนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
อีกทั้ง BAFS และ TARCO ก็ไม่ใช่ ‘ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย’ จากมติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ซึ่งเห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่องส่งน้ำมัน Hydrant ของ TARCO
เพราะก่อนหน้านี้ BAFS และ TARGO เคยยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี ,รมว.คมนาคม ,เลขาธิการ สศช. และ ทอท. ต่อศาลปกครอง รวม 4 คดี โดยฟ้องว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่อนุมัติตามมติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด 4 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งที่ คร.60/2562 ลงวันที่ 11 มี.ค.2562 ,คำสั่งที่ คร.61/2562 ลงวันที่ 11 มี.ค.2562 ,คำสั่งที่ คร.62/2562 ลงวันที่ 11 มี.ค.2562 และคำสั่งที่ คร.63/2562 ลงวันที่ 11 มี.ค.2562 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า
“มติ กทภ. ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ระเบียบวาระที่ 5.1 ที่เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อน้ำมัน (Hydrant) ที่โจทก์ที่ 2 (TARCO) ประกอบการกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไปนั้น เป็นเพียงการวางแนวทางในหลักการเท่านั้น โจทก์ทั้งสอง (BAFS และTARGO) จึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย”
@ชี้ BAFS ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต-แค่ต้องการโต้แย้งนโยบายรัฐ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังระบุว่า การ BAFS ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นั้น เป็นการใช้สิทธิ ‘โดยไม่สุจริต’
เนื่องจาก BAFS รับรู้ประเด็นการแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 มาตั้งแต่ต้น และ BAFS ยังทำหนังสือลงวันที่ 27 ก.ย.2549 ถึงหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองระบอบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งในการดำเนินการจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแห่งที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งมีหนังสือติดตามผลการพิจารณาร้องเรียนอีกหลายฉบับ
โดยที่ BAFS ไม่ได้ยื่นข้อกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว (การแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548) ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด แต่หลังจากนั้น 12 ปีเศษ BAFS ได้ยื่นเรื่องกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวมายัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือร้องเรียนฉบับลงวันที่ 14 ธ.ค.2560
ดังนั้น การที่ BAFS ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 โดยอ้างว่า BAFS เพิ่งทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2560 เป็นการชี้ว่า BAFS ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
นอกจากนี้ การที่ BAFS ฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อ ศาลฯ ในวันที่ 17 ก.พ.2565 นั้น เป็นการดำเนินการภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือที่ ปช 0011/0001 ลงวันที่ 4 ม.ค.2565 เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แล้ว
หาก ครม.มีนโยบายประการใดออกมา ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอแนะ ก็อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของ BAFS และ TARGO ดังนั้น การที่ BAFS และ TARGO ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะมุ่งโต้แย้งนโยบายหรือมาตรการของ ครม.เท่านั้น หาได้เกิดจากการกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด
(ที่มา : รายงานประจำปี 2563 ของ BAFS)
@ป.ป.ช.ระบุเป็นอำนาจ ‘ครม.’ ตัดสินเปิดรายใหม่ทำคลังน้ำมัน
ประเด็นที่ 3 กรณีที่ BAFS ฟ้องว่า ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะไปยัง ครม. โดยไม่เปิดโอกาสให้ BAFS และ TARCO ชี้แจงข้อเท็จจริง นั้น
ข้อเท็จจริง คือ ที่ผ่านมา BAFS ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน ป.ป.ช.หลายครั้ง เพื่อให้ ป.ป.ช. เสนอความเห็นที่ ‘แตกต่าง’ ในนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวกับการจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแห่งที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาและมีความเห็นว่า
1.เห็นควรให้ ครม. มอบหมายให้ กทภ. ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
และควรคำนึงถึงการกำกับดูแล การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับนานาชาติในเรื่องการมีสนามบินที่มีมาตรฐานสากล อันนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นที่บริษัทนานาชาติมีต่อประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความน่าเชื่อถือในการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนนการรับรู้การทุจริต (CPI)
2.การที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ที่มีมติให้ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) เป็นผู้ก่อสร้างคลังน้ำมันสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงผู้เดียว แต่ต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันรายอื่นหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการ
จะเห็นว่ามติ ครม. ทั้ง 2 ฉบับ มีความขัดแย้งกันในหลักการ กล่าวคือ ฉบับหนึ่งยึดหลักการความปลอดภัยสูงสุดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้มีผู้ให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินเพียงรายเดียว ในขณะที่อีกฉบับยึดหลักการให้เอกชนหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรที่ ครม. พิจารณาตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามหลักการใดที่จะเหมาะสมกับการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ดังนั้น แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแก้ปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
แต่เป็นอำนาจของ ครม. ที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายในเรื่องผู้ประกอบการคลังน้ำมันที่ให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตามยุคสมัย หากเห็นว่าการที่รัฐเปิดให้มีการแข่งขันจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการให้ดีขึ้นยิ่งขึ้น และเกิดประสิทธิผลต่อประเทศ
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงจากฝั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อกรณีที่ BAFS และ TARCO ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. และพวก รวม 13 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ใน 2 ข้อหาหลัก ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ และ ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต’
อ่านประกอบ :
‘ป.ป.ช.’ยื่นคำชี้แจง‘ศาลคดีทุจริตฯ’ คดี BAFS ฟ้องเอาผิด ปม‘คลังน้ำมัน’นอกสุวรรณภูมิ
ฉบับเต็ม! ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ปม'คลังน้ำมัน'นอกสุวรรณภูมิ ก่อน BAFS ฟ้องเอาผิด'ทั้งคณะ'
ปล่อยคดีขาดอายุความ-บิดเบือนข้อเท็จจริง! 2 ปม BAFS ฟ้องศาลฯ เอาผิด ‘ป.ป.ช.ทั้งคณะ’
ปม‘คลังน้ำมัน’นอกสุวรรณภูมิ ระอุ! ‘BAFS'ชน‘ป.ป.ช.’ ฟ้องศาลคดีทุจริตฯเอาผิด'ทั้งคณะ'
มติครม.ขัดแย้งกัน! เบื้องหลัง‘ป.ป.ช.’ชงเปิดเอกชนแข่งขัน ทำ‘คลังน้ำมัน’นอก‘สุวรรณภูมิ’
ต้องแข่งขัน! ป.ป.ช.แนะ'ครม.'เปิดเอกชนรายอื่นสร้าง'คลังน้ำมันเครื่องบิน'นอก'สุวรรณภูมิ'