“…จะเห็นได้ว่าการยกประเด็นการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นของบริษัท ASIG เกิดจากการไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง จึงรู้สึกว่าบริษัทต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจเข้าถึงแบบเปิดกว้าง (Open Access) ซึ่งประเด็นนี้มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่บริษัทระดับโลกเผชิญ เมื่อได้เข้าติดต่อทำธุรกิจกับประเทศไทย อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน…”
...................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) หรือ บาฟส์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งคณะ , วรวิทย์ สุขบุญ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และผู้บริหาร บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565
โดย BAFS กล่าวหาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ’ และ ‘ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต’
ในกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติว่า การ ‘แก้ไข’ รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 “ยังฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการ กทภ. ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 29 กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไป”
อย่างไรก็ดี หนึ่งในประเด็นที่ BAFS ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ คือ กรณีที่ ป.ป.ช. เสนอข้อเท็จจริงที่บิดเบือนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยหยิบยกประเด็นที่ บริษัท ASIG กล่าวอ้าง มากล่าวหา BAFS ว่า
ผูกขาดและมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำเนินการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการลงทุน
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย โดยที่ ป.ป.ช.ไม่เคยเรียก BAFS เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด นั้น (อ่านประกอบ : ปล่อยคดีขาดอายุความ-บิดเบือนข้อเท็จจริง! 2 ปม BAFS ฟ้องศาลฯ เอาผิด ‘ป.ป.ช.ทั้งคณะ’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอเสนอรายละเอียดข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. เรื่อง การแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ ป.ป.ช. เสนอให้ ครม. พิจารณา ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘มูลเหตุ’ ที่ BAFS ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ดังนี้
@‘ASIG’ เสนอ ‘ทอท.’ สร้าง ‘คลังน้ำมัน’ แห่งที่ 2 นอก ‘สุวรรณภูมิ’
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการขัดหรือแย้งของมติคณะรัฐมนตรี (11 กุมภาพันธ์ 2546) และมติคณะรัฐมนตรี (21 กุมภาพันธ์ 2549) เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาสยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งสรุปความเป็นมาของเรื่อง ดังนี้
บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้รับแจ้งจาก บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ว่า ต้องการเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมันสำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบนพื้นที่ของตนเอง ซึ่งอยู่ด้านตะวันออกติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ (ทอท.จะเรียกเก็บผลประโยชน์จากบริษัท BAFS เมื่อมีการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสนามบินผ่านท่อส่งน้ำมัน Hydrant)
จากนั้น ทอท. ได้เสนอประเด็นดังกล่าว ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ( กทภ.) พิจารณา ซึ่งที่ประชุม กทภ. ครั้งที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ได้มีมติเห็นชอบให้มีคลังน้ำมันเพียงแห่งเดียว สำหรับทำาอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยตั้งอยู่ภายนอกสนามบิน ตามข้อเสนอของ ทอท. และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (11 กุมภาพันธ์ 2546) เห็นชอบตามมติ กทภ. ดังกล่าว
ต่อมา ทอท. ได้รับแจ้งจาก บริษัท เอเอสไอจี แท็งค์คิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด (Aircraft Service International Group (Thailand) Co,, LTD:: ASIG) (บริษัท ASIG) ว่า ประสงค์จะก่อสร้างสถานบริการน้ำมันอากาศยานบริเวณนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรับน้ำมันอากาศยานที่สายการบินสั่งซื้อจากบริษัทน้ำมัน
แล้วต่อเชื่อมระบบส่งน้ำมันอากาศยาน เข้ากับระบบท่อส่งน้ำมันอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัท TARCO (บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด) เป็นผู้สร้างระบบท่อส่งน้ำมันดังกล่าว ต่อมา ทอท. ได้เสนอประเด็นดังกล่าวให้ กทภ. พิจารณา
และที่ประชุม กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 มีมติเห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันที่บริษัท TARCO เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคลังน้ำมันอย่างเต็มที่
รวมทั้งเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นการลดความเสี่ยงกรณีที่มีคลังน้ำมันให้บริการเพียงรายเดียว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (21 กุมภาพันธ์ 2549) อนุมัติตามมติ กทภ. ดังกล่าว
@‘อดีตรมว.คมนาคม’ ขอแก้มติ ‘กทภ.’ เปิดทางเชื่อมท่อส่งน้ำมัน
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กทภ. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 เพื่อขอแก้ไขมติที่ประชุม กทก. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548
จาก “เห็นชอบในหลักการให้เพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 ราย เป็นรายที่สอง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” เป็น “เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่น ๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมัน (Hydrant) ที่บริษัท TARCO เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป”
โดยที่การประชุมในครั้งดังกล่าว ไม่มีการเสนอ เพื่อพิจารณาให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันรายใหม่ดังกล่าว เชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันของบริษัท TARCO แต่อย่างใด
ขณะที่ บริษัท BAFS เห็นว่า ควรมีการเสนอที่ประชุม กทภ. เพื่อพิจารณาประเด็นที่มีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง และบริษัท TARCO ไม่เห็นด้วยกับการมีคลังน้ำมัน 2 แห่ง เชื่อมต่อการส่งน้ำมันเข้าระบบส่งน้ำมันระบบเดียว เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาทางเทคนิค
แต่เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล บริษัท TARCO ได้แจ้งบริษัท ASIG ว่า ไม่ขัดข้องในเรื่องการเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ท่าอากาสยานสุวรรณภูมิ โดยจะจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาผลกระทบและความเสี่ยงเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน 2 แห่ง เข้ากับระบบท่อส่งน้ำมันระบบเดียว
นอกจากนี้ ทอท. ได้อนุมัติให้บริษัท ASIG เชื่อมต่อคลังน้ำมันที่จะก่อสร้างกับระบบท่อส่งน้ำมันภายในเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเงื่อนไขให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อที่บริเวณ Main Feeder Line เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน
โดย ทอท. ได้พิจารณาจุดที่เหมาะสมให้แล้ว (ตำแหน่ง SVC-16) และได้แจ้งให้บริษัท ASIG ทราบ (เมื่อปี 2550) แต่บริษัท ASIG ไม่มีการติดต่อหรือแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างคลังน้ำมันแต่อย่างใด
@‘ASIG’ ขอลงทุน ‘คลังน้ำมัน’ อีกครั้ง หลังทิ้งไปนาน 7 ปี
ต่อมาในปี 2557 บริษัท ASIG ได้ประสาน ทอท. เพื่อขอหารือเกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแจ้งว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างคลังน้ำมันและเชื่อมต่อกับระบบท่อส่งน้ำมันดังกล่าว
โดยจะก่อสร้างบ่อวาล์วในตำแหน่ง SVC-01 ซึ่งเป็นจุดที่อยู่บริเวณ Main Feeder Line และเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงจากจุดที่ ทอท. อนุมัติไว้ (จุด SCV-16) ซึ่งบริษัท TARGO ไม่ยอมรับวิธีการเชื่อมต่อดังกล่าว และขอให้บริษัท ASIG ดำเนินการตามมติ ทอท. ที่ให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อที่บริเวณ Main Feeder Line
รวมทั้งได้แจ้งว่าจุด SCV-16 ได้นำไปใช้เป็นจุดเชื่อมต่อของระบบท่อส่งน้ำมันระยะที่ 2 แล้ว และขอให้บริษัท ASIG ประสานงานโดยตรงกับบริษัท BAFS ซึ่งเป็นผู้ประกอบการระบบคลังน้ำมันรายแรก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือทางเทคนิค ความปลอดภัย และการควบคุมคุณภาพน้ำมัน
จากนั้น ทอท. บริษัท ASIG บริษัท TARCO และบริษัท BAFS ได้หารือร่วมกันหลายครั้ง เกี่ยวกับแนวทางการเชื่อมต่อคลังน้ำมันแห่งที่ 2 แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันแห่งที่ 2 กับระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยผู้แทนของ ทอท. ,บริษัท ASIG ,บริษัท TARCO และบริษัท BAFS
แต่ปรากฎว่ามีเพียงบริษัท ASIG ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ส่วนบริษัท TARCO และบริษัท BAFS แจ้งว่า ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานได้ พร้อมทั้งขอสงวนสิทธิ์ในการโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการต่างๆ ของ ทอท.
ดังนั้น คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (Into-plane Services) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 มีมติให้ ทอท. ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการเชื่อมต่อคลังน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยให้ ทอท. เจรจากับบริษัท TARCO และบริษัท ASIG เพื่อให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษา แต่หากเจรจากันไม่ได้ ให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ต่อมา ทอท. ได้เชิญบริษัท TARCO และ บริษัท ASIG หารือในประเด็นดังกล่าว โดยบริษัท TARGO ไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมการหารือ แต่ได้แจ้ง ทอท. ว่า มติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 เรื่อง การเชื่อมต่อท่อของบริษัท ASIG กับระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจไม่ถูกต้อง
จากนั้นบริษัท TARCO และบริษัท BAFS ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของมติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับมติ กทภ. ในครั้งดังกล่าวด้วย
โดยศาลปกครองสูงสุดยืนยันตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องของบริษัท TARCO และบริษัท BAFS เนื่องจากเป็นการดำเนินการภายในฝ่ายปกครอง
หลังจากนั้น คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (Into plane Services) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติยืนยันให้ ทอท. พิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการเชื่อมต่อคลังน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และให้ ทอท. แจ้งบริษัท TARCO เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับแผนภาพของระบบท่อส่งน้ำมั่นภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่แสดงรายละเอียด ระบบการควบคุมเชื้อเพลิงของผู้ประกอบการคลังน้ำมั่นรายเดิม ซึ่งที่ปรึกษา ทอท. ได้พิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากบริษัท TARCO พบว่า เป็นข้อมูลที่แสดงรายละเอียดทางเทคนิคของระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น ไม่มีการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับระบบควบคุมเชื้อเพลิงของผู้ประกอบการคลังน้ำมันรายแรก
@‘ASIG’ ชี้แจงคกก.ไต่สวนฯ ‘ป.ป.ช.’ ปม ‘ผูกขาด-ปย.ทับซ้อน’
ทั้งนี้ บริษัท ASIG ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการไต่สวนฯ (คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนการกล่าวหา รมว.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับพวก) กรณีที่บริษัทได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองเกี่ยวกับกิจการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน
โดยบริษัท ASIG เห็นว่าจำเป็นต้องมีคลังน้ำมันของตนเอง เพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ปัจจุบันบริษัท ASIG ไม่มีนโยบายสร้างคลังน้ำมันอีกต่อไป เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือเพื่อดำเนินการอย่างจริงใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
และเห็นว่ากรณีนี้ เป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการผูกขาด ซึ่งอาจมีประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงอยู่นอกจากนี้ บริษัท BAFS ได้มีการขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขมติ กทภ. ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ด้วย
ต่อมา ทอท. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนโยบายการเปิดให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพในการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน โดย ทอท. ได้ดำเนินการสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอด และได้อนุมัติให้บริษัท ASIG เชื่อมต่อคลังน้ำมันที่จะก่อสร้างกับระบบท่อส่งน้ำมันภายในเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยมีเงื่อนไขให้หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อที่บริเวณ Main Feeder Line เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งระบบท่อดังกล่าวเป็นระบบที่ถูกเปิดใช้งานแล้ว การมีการเชื่อมต่อเพิ่มอีกจุดอาจจะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงการบินที่มีอยู่เดิม ซึ่ง ทอท. ได้พิจารณาจุดที่เหมาะสมให้ด้วยแล้ว
อย่างไรก็ตาม บริษัท ASIG ไม่ได้มีการติดต่อหรือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการจนระยะเวลาผ่านไปกว่า 7 ปี จึงติดต่อกลับมาเพื่อขอหารือแนวทางการเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยจะขอใช้จุดเชื่อมต่อที่อยู่ในบริเวณ Main Feeder Line ซึ่งบริษัท TARGO ไม่เห็นด้วยกับการใช้จุดเชื่อมต่อดังกล่าวประกอบกับจุดเชื่อมต่อที่ ทอท. เคยอนุมัติให้ใช้ได้ถูกนำไปใช้ในการดำเนินการอย่างอื่นแล้ว
ทั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง ทอท. และบริษัทที่เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติในการดำเนินการได้
@ป.ป.ช.ชี้ ‘มติกทภ.-มติครม.’ 2 ครั้ง กรณี ‘คลังน้ำมัน’ ขัดแย้งกันเอง
ข้อพิจารณาของ ป.ป.ช.
ประเด็นเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี โดยที่มติคณะรัฐมนตรี (11 กุมภาพันธ์ 2546) ได้อนุมัติให้มีคลังน้ำมันภายนอกสนามบินเพียงรายเดียว ส่วนมติคณะรัฐมนตรี (21 กุมภาพันธ์ 2549) ได้เห็นชอบในหลักการให้มีผู้ประกอบการรายอื่นสามารถสร้างคลังน้ำมันและเชื่อมต่อระบบคลังน้ำมันเข้ากับระบบท่อส่งน้ำมันของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้
ซึ่งจะเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง เป็นมติที่มีความเกี่ยวเนื่องกันในประเด็นการกำหนดจำนวนคลังน้ำมันภายนอกทำอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งเป็นพัฒนาการในการบริหารจัดการระบบการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงสนามบิน
โดยมติคณะรัฐมนตรีในครั้งที่ 2 เป็นมติที่เกิดจากการมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับหลักการและมุมมองด้านการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น เช่น การที่ทำอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ มีการให้บริการสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาซาติในการเป็นสนามบินที่มีมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการและการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด มีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง มีการลดความเสี่ยงจากการที่มีระบบคลังน้ำมันเพียงแห่งเดียว และมีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการเปิดการเข้าถึง (Open Access) ของสมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: ATA)
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสภาวการณ์ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม การขัดแย้งกันของมติคณะรัฐมนตรี (11 กุมภาพันธ์ 2546) และมติคณะรัฐมนตรี (21 กุมภาพันธ์ 2549) อาจนำไปสู่ประเด็นเกี่ยวกับการให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ดังนั้น เพื่อให้ท่าอากาศสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่สมบูรณ์แบบ จึงควรพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง ดังกล่าว
@ยกประเด็น ‘ASIG’ อ้างมีการผูกขาด ‘คลังน้ำมัน’ นอกสุวรรณภูมิ
ประเด็นเกี่ยวกับการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ในการดำเนินการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบริษัท ASIG ได้ยกประเด็นเกี่ยวกับการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่ตนประสบ
โดยบริษัทพยายามที่จะเข้าร่วมการดำเนินการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ประกอบกับไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท TARCO และบริษัท BAFS ในบางกระบวนการ จึงทำให้การพิจารณาการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการยกประเด็นการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นของบริษัท ASIG เกิดจากการไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง จึงรู้สึกว่าบริษัทต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่อาจเข้าถึงแบบเปิดกว้าง (Open Access) ซึ่งประเด็นนี้มีความน่าสนใจ
เนื่องจากเป็นกระบวนการที่บริษัทระดับโลกเผชิญ เมื่อได้เข้าติดต่อทำธุรกิจกับประเทศไทย อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ของประเทศไทย
@เสนอทบทวน ‘มติ ครม.’ เกี่ยวกับ ‘คลังน้ำมัน’ ที่ขัดแย้งกัน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอเสนอ ครม. ให้พิจารณา ดังนี้
1.มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ
โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม และควรคำนึงถึงการกำกับดูแล การรักษาความปลอดภัยขั้นสูงเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับนานาชาติในเรื่องของการเป็นสนามบินที่มีมาตรฐานสากล
อันเป็นการนำไปสู่การเพิ่มความเชื่อมั่นที่บริษัทนานาชาติมีต่อประเทศไทย ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นในการลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย
2.เนื่องจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นหน่วยงานที่เปรียบเสมือนประตูเมือง ต้องมีระดับการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง อีกทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและพื้นที่ในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่จำเพาะ ผู้ใดเข้าไปดำเนินการใดโดยไม่ได้รับการอนุญาตจาก ทอท. มิได้ เพื่อให้การบริการในสนามบินเป็นไปตามหลักสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: CAO)
แต่เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ให้มีคลังน้ำมันเพียงแห่งเดียวสำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Bangkok Aviation Fuel Services Public Company Limited : BAFS) หรือ บริษัท BAFS ได้เป็นผู้ก่อสร้างคลังน้ำมันสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิแต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันรายอื่นหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเหตุผลเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการ
จะเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ มีความขัดแย้งกันในหลักการ กล่าวคือ ฉบับหนึ่งยึดหลักการความปลอดภัยสูงสุดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้มีผู้ให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินเพียงรายเดียว ในขณะที่อีกฉบับยึดหลักการให้เอกชนหลายรายสามารถเข้ามาให้บริการน้ำมันแก่เครื่องบินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้
จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะดำเนินการตามหลักการใดที่จะเหมาะสมกับการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
@‘สลค.’ เสนอ ‘ครม’ มอบ ‘คมนาคม-สภาพัฒน์’ หารือปมคลังน้ำมัน
ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. โดยเห็นว่า ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ
เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 32(2) ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่ และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด
จึงเข้าลักษณะเรื่องที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 มาตรา 4 (1) และจัดอยู่ในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะดังกล่าว ได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ
แต่จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า คณะกรรมการดังกล่าวได้สิ้นสุดวาระแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2550เนื่องจากหมดภารกิจที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ ประกอบกับการดำเนินงานของท่าอากาศสุวรรณภูมิในระยะต่อไปอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ตามข้อ 54)
จึงควรมีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการใหม่เพื่อให้การแก้ไข ปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาสยานสุวรรณภูมิสามารถเกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น จึงเห็นควรให้รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องนี้ไปพิจารณาดำเนินการและรายงานผลการพิจารณาดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบภายใน 30 วัน
โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดข้อเสนอของ ป.ป.ช. เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ BAFS ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯในเวลาต่อมา
อ่านประกอบ :
ปล่อยคดีขาดอายุความ-บิดเบือนข้อเท็จจริง! 2 ปม BAFS ฟ้องศาลฯ เอาผิด ‘ป.ป.ช.ทั้งคณะ’
ปม‘คลังน้ำมัน’นอกสุวรรณภูมิ ระอุ! ‘BAFS'ชน‘ป.ป.ช.’ ฟ้องศาลคดีทุจริตฯเอาผิด'ทั้งคณะ'
มติครม.ขัดแย้งกัน! เบื้องหลัง‘ป.ป.ช.’ชงเปิดเอกชนแข่งขัน ทำ‘คลังน้ำมัน’นอก‘สุวรรณภูมิ’
ต้องแข่งขัน! ป.ป.ช.แนะ'ครม.'เปิดเอกชนรายอื่นสร้าง'คลังน้ำมันเครื่องบิน'นอก'สุวรรณภูมิ'