“…หลังจาก BAFS ได้รับหนังสือแจ้งมติของ ป.ป.ช. แล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 ทาง BAFS ได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ฐานร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157…”
...............................
เป็นอีก 1 คดีที่น่าสนใจ
เมื่อ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) หรือ บาฟส์ ตัดสินใจยื่นฟ้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , วรวิทย์ สุขบุญ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และผู้แทนจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา
โดย BAFS กล่าวหา ป.ป.ช.ทั้งคณะ ,อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่า ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็น “เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ในกรณีที่ ป.ป.ช. มีมติเกี่ยวกับการ ‘แก้ไข’ รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ครั้งที่ 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ในระเบียบวาระที่ 5.1 ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังฟังไม่ได้ว่า กทภ. ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 29 ราย กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ย้อนมติ ‘กทภ.’ ปี 46 เห็นชอบให้มี ‘คลังน้ำมัน’ รายเดียว
สำหรับคดีนี้ คงต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2546 คณะกรรมการ กทภ. ได้มีมติ กทภ. ครั้งที่ 1/2546 เห็นชอบตามข้อเสนอของ ทอท. ที่ให้มีคลังน้ำมัน ‘เพียงแห่งเดียว’ สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคลังน้ำมันดังกล่าวจะตั้งอยู่ภายนอกเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และต่อมาวันที่ 11 ก.พ.2546 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมติ กทภ. ครั้งที่ 1/2546 ดังกล่าว
จากนั้น บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ลงทุนจัดตั้ง บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) โดย BAFS ถือหุ้นในสัดส่วน 90% และอีก 10% ถือหุ้นโดย บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเลิก บทม. และโอนกิจการทั้งหมดไปให้ ทอท.
ทั้งนี้ TARCO ได้เข้าไปลงทุนสร้าง ‘คลังน้ำมันอากาศยาน’ ในพื้นที่เอกชนนอกเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และลงทุนระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant (ท่อน้ำมันแรงดันสูงใต้ลานจอดเชื่อมไปยังหลุมจอด) เข้าไปยังพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงแก่อากาศยานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
และให้ TARCO ได้สิทธิ์สัมปทานระบบท่อส่งน้ำมัน Hydrant ในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลา 30 ปี (ปี 2549-2578) และมีสิทธิ์ต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้งๆละ 10 ปี
@อดีต ‘รมว.คมนาคม’ ส่งแฟกซ์ ขอแก้มติ ‘กทภ.’ ปี 48
อย่างไรก็ดี ต่อมาวันที่ 25 ต.ค.2548 ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่ กทภ.4/2548 และที่ประชุมมีมติ ว่า
“เห็นชอบในหลักการให้เพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 ราย เป็นรายที่สอง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำรายละเอียดโครงการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) เสนอ กทภ. ต่อไป”
แต่ปรากฏว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งเสนอเข้ามาเป็น ‘วาระอื่นๆ’ นั้น พบว่า ไม่มีการเสนอ ‘เอกสารประกอบรายละเอียด’ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กทภ. พิจารณาแต่อย่างใด
และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2548 รมว.คมนาคมในขณะนั้น (พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล) ได้ส่ง 'โทรสาร' ไปยัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในขณะนั้น ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการ กทภ. เพื่อ ‘ขอแก้ไข’ รายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548
โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้เปลี่ยนแปลงข้อความในมติที่ 5.1 เรื่องอื่นๆ เป็น ดังนี้
“เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป”
จากนั้นในวันที่ 24 พ.ย.2548 ที่ประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 5/2548 ได้รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 โดยที่ เลขานุการ กทภ. ไม่ได้มีการแจ้งให้ที่ประชุมฯทราบว่า มีการแก้ไขรายงานการประชุม ครั้งที่ กทภ.4/2548 แต่ประการใด
ที่สำคัญ ‘มติที่มีการแก้ไข’ ดังกล่าว ไม่ได้มีการพูดคุยหรือหารือกันในที่ในการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 แต่อย่างใด
อีกทั้งปรากฏหลักฐานว่า ผู้จดรายงานการประชุมในขณะนั้น ได้เขียนข้อความท้ายโทรสารของ ‘กระทรวงคมนาคม’ ที่ส่งไปถึง ‘เลขานุการกทภ.’ ก่อนการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ.5/2548 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2548 ว่า “เรื่องการเชื่อมต่อท่อ Hydrant กับท่อของบริษัท TARCO ซึ่งไม่มีการพูดเรื่องนี้ในที่ประชุม”
ต่อมาในวันที่ 21 ก.พ.2549 ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามมติ กทภ. 4/2548 ที่ได้มีมติ “เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป”
(การให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ของ BAFS)
@BAFS คัดค้านตัด ‘ท่อส่งน้ำมันประธาน’ หวั่นเกิดอุบัติเหตุ
หลังจาก ครม.มีมติแล้ว ในวันที่ 25 เม.ย.2549 ทอท.ได้เชิญ BAFS และบริษัทเอกชนอีก 1 ราย คือ บริษัท ASIG เข้าหารือ
โดยในที่ประชุม ทอท.ได้ขอให้ BAFS ยินยอมให้ ASIG ตัดต่อท่อส่งน้ำมันประธาน (Main Feeder Line) เพื่อให้ ASIG วางท่อน้ำมันจาก ‘คลังน้ำมัน’ ของ ASIG ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้ามาเชื่อมกับท่อส่งน้ำมัน Hydrant ในสนามบิน
แต่ BAFS คัดค้านการเชื่อมท่อส่งน้ำมัน พร้อมทั้งแสดงความเห็นของบริษัทน้ำมันชั้นนำทั่วโลก รวมทั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ ASIG ที่จะตัดต่อท่อส่งน้ำมันประธาน เพราะหากมีการเชื่อมท่อ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการจ่ายน้ำมันอากาศยานทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการเชื่อมต่อท่อดังกล่าว อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำมันได้
ต่อมาเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 BAFS ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแห่งที่ 2 ไปยังคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และที่มาของ ASIG ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตเรือขุดแอร์ลิคอตต์ จนเรื่องเงียบหายไป 10 ปี
แต่แล้วเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 ทอท. ได้เชิญ BAFS และบริษัท ASIG เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อคลังน้ำมันแห่งที่ 2 เข้ากับระบบท่อน้ำมัน Hydrant อีกครั้ง
โดย ทอท.ได้อ้างถึง มติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่เห็นชอบตามมติ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน (Hydrant) ที่ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด (TARCO) เป็นผู้ประกอบกิจการ แต่ทว่าการหารือไม่มีข้อยุติ
จนกระทั่ง BAFS ได้ใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ เรียกเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ทั้ง ‘ฉบับเดิม’ และ ‘ฉบับแก้ไข’ จาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้รับเอกสารดังกล่าวในวันที่ 14 ก.ย.2560 ซึ่งจากตรวจสอบพบว่า รายงานการประชุมทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญที่ 'แตกต่างกัน'
ประกอบกับ BAFS ได้รับเอกสารที่กระทรวงคมนาคมส่งโทรสารไปยังเลขานุการคณะกรรมการ กทภ. เพื่อขอแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ‘ข้อความ’ ไม่ได้มีการพูดคุยหรือหารือกันในที่ในการประชุมคณะกรรมการ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548
ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2560 BAFS จึงได้ยื่นข้อร้องเรียนเป็นหนังสือต่อ 'คณะกรรมการ ป.ป.ช.' เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนหรือตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมติ กทภ. ครั้งที่ กทภ.4/2548 ซึ่งได้แก่ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรมว.คมนาคม และอดีตเลขาธิการ สศช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ กทภ. ขณะที่ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณาและตรวจสอบ
@'BAFS' กล่าวหา ‘ป.ป.ช.’ ใช้เวลา ‘ไต่สวนฯ’ นานเกินไป
อย่างไรก็ดี หลังจากผ่านไป 2 ปี นับตั้งแต่ ป.ป.ช. รับข้อร้องเรียนไว้ไต่สวนฯ คณะกรรมการไต่สวนฯของ ป.ป.ช. ได้เรียก BAFS เข้าไต่สวนข้อเท็จจริงและให้ถ้อยคำในวันที่ 15 มี.ค.2562 และหลังจากการไต่สวนฯ BAFS ได้รับแจ้งว่าข้อเท็จจริงรับฟัง ‘ได้ชัดแจ้งแล้ว’
ป.ป.ช.ยังแจ้งด้วย ว่า นอกจากการชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาตามข้อร้องเรียนฯแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังสามารถใช้อำนาจในฐานะคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอข้อเสนอแนะต่อ ครม.เพื่อให้แก้ไขหรือยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 ที่มีมติรับรองมติ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 โดยไม่ชอบด้วย
แต่ทว่าหลังจากนั้น 1 ปีเศษ ไม่ปรากฏว่า การไต่สวนฯของคณะกรรมการไต่สวนฯของ ป.ป.ช. มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว BAFS ได้หนังสือขอรับทราบความคืบหน้าในการไต่สวนฯ รวม 6 ฉบับ แต่ได้รับแจ้งเหมือนเดิมทุกครั้งว่า “คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงฯของคณะกรรมการ ป.ป.ช.”
ต่อมา BAFS เห็นว่า กรณีดังกล่าวใกล้จะ 'ขาดอายุความ' ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา BAFS จึงทำหนังสือฉบับที่ 7 โดยขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เร่งดำเนินการไต่สวนและชี้มูลความผิด แต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่เร่งดำเนินการไต่สวน จนกระทั่งคดีขาดอายุความไปในวันที่ 24 พ.ย.2563
จากนั้น BAFS ได้มีหนังสือให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงวันที่ 1 เม.ย.2564 โดยขอให้ ป.ป.ช.เยียวยาความเสียหายให้แก่ BAFS แต่ก็ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการเยียวยาความเสียหายอย่างใดๆให้แก่ BAFS
แต่แล้วในที่สุด หลังจากผ่านไปเกือบ 4 ปี หลังจากที่ BAFS ยื่นข้อร้องเรียนฯ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือมายังบาฟส์ แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การแก้ไขรายงานการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 ในระเบียบวาระที่ 5.1 ที่ “เห็นชอบในหลักการให้เพิ่มผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิอีก 1 ราย เป็นรายที่สอง”
เป็น “เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันภายนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่น ๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมันแบบ Hydrant ที่ทาร์โก้ เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป” ก่อนจะมีการประชุม กทภ. ครั้งที่ กทภ. 5/2548 รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 ดังกล่าว นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า คณะกรรมการ กทภ. ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 29 รายได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาของบริษัทตกไป
ส่วนมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2546 ที่เห็นชอบ ให้มีการก่อสร้างคลังน้ำมันให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว โดยมีที่ตั้งคลังน้ำมันอยู่ภายนอกเขตสนามบินตามข้อเสนอของ ทอท.
แต่ต่อมา ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2549 เห็นชอบตามมติของ กทภ. ในการประชุมครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 ที่เห็นชอบให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันอากาศยานสุวรรณภูมิรายอื่นๆ เชื่อมต่อท่อน้ำมันกับระบบท่อส่งน้ำมัน Hydrant ที่ทาร์โก้ เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ บริเวณจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสมต่อไป นั้น
ป.ป.ช. เห็นว่า เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่า มติ ครม.ทั้ง 2 ครั้ง ดังกล่าว มีความขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างใด จึงเห็นควรส่งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ทำการศึกษามติ ครม.ทั้ง 2 ดังกล่าว แล้วนำผลการศึกษามาเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับกรณีที่บริษัท ASIG อ้างรายงาน Jet Fuel Report ฉบับเดือน ก.ย.2549 หัวข้อ New Bangkok Airport set To Fully Open, But Fuel Contracts Hit Roadblocks ซึ่งกล่าวถึงการผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น และยังคงดำเนินอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยขอให้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าว นั้น ป.ป.ช. เห็นควรนำเรื่องดังกล่าวเสนอสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ทำการศึกษาในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ หลังจาก BAFS ได้รับหนังสือแจ้งมติของ ป.ป.ช. แล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 BAFS ได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เนื่องจากมีเอกสารหลักฐานชัดเจนว่า การแก้ไขมติ กทภ. ครั้งที่ กทภ. 4/2548 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2548 เป็นไปโดยมิชอบ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับมีมติว่า จากไต่สวนข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า คณะกรรมการ กทภ. ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 29 ราย ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาของบริษัทตกไป
และกรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำได้เพียงมีข้อเสนอแนะไปยัง ครม. เรื่อง แนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบเท่านั้น และล่าสุดได้ส่งหนังสือไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว (อ่านประกอบ : มติครม.ขัดแย้งกัน! เบื้องหลัง‘ป.ป.ช.’ชงเปิดเอกชนแข่งขัน ทำ‘คลังน้ำมัน’นอก‘สุวรรณภูมิ’)
อย่างไรก็ตาม BAFS ไม่ได้ยื่นฟ้อง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรมว.คมนาคม และอดีตเลขาธิการ สศช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการ กทภ. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เนื่องจากคดีขาดอายุความ
(วรวิทย์ สุขบุญ อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช.)
@'BAFS' มีรายได้จากค่า ‘เติมน้ำมัน’ แต่ไม่ได้ขายน้ำมัน
แหล่งข่าวจาก บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยยืนยันว่า BAFS ไม่ได้ผูกขาดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เครื่องบินแต่อย่างใด เพราะรายได้ของ BAFS มาจากการให้ ‘บริการเติมน้ำมัน’ เครื่องบินเท่านั้น โดยได้รับค่าบริการประมาณ 0.5 บาท/ลิตร
“BAFS มีรายได้จากการให้บริการจัดเก็บและเติมน้ำมันอากาศยานจากบริษัทน้ำมันต่างๆเท่านั้น ส่วนน้ำมันที่อยู่ในถังเก็บและท่อน้ำมันใต้ลานจอดนั้น เป็นของบริษัทน้ำมันไม่ใช่ของ BAFS ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทน้ำมัน 10 ราย ที่เข้ามาแข่งขันขายน้ำมันให้แก่สายการบินต่างๆอย่างเสรี โดยสายการบินมีสิทธิ์เลือกที่จะซื้อน้ำมันจากบริษัทน้ำมันรายใดก็ได้ จึงไม่มีการผูกขาดแต่อย่างใด” แหล่งข่าวจาก BAFS ระบุ
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า เดิม BAFS จัดตั้งตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2526 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจ เช่น การบินไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ ทอท.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ ปตท.) กับบริษัทน้ำมัน เช่น Shell ,Esso ,Caltex ,Mobil oil และ Elf
ขณะที่ปัจจุบันโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ BAFS ส่วนใหญ่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีบริษัทน้ำมันและสายการบินต่างๆ ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และด้วยโครงสร้างผู้ถือหุ้นดังกล่าว ทำให้การบริหารงานของ BAFS ไม่มีการกีดกันไม่ให้บริษัทน้ำมันรายใดรายหนึ่งเข้ามาใช้บริการคลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันของ BAFS
ด้านแหล่งข่าวจากวงการสายการบินรายหนึ่ง ระบุ หากเทียบ ‘คลังน้ำมัน’ นอกสนามบินสุวรรณภูมิของ BAFS กับสนามบินอีก 2 แห่ง คือ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ตแล้ว จะพบว่าสนามบินทั้ง 2 แห่ง มีเอกชนเพียงรายเดียวเป็นเจ้าของคลังน้ำมัน ขณะที่ท่อส่งน้ำมัน มี ทอท. เป็นเจ้าของแต่เพียงเจ้าเดียวเช่นกัน
“ที่ผ่านมาบริษัทน้ำมันต่างๆ อยากจะเข้าไปแข่งขันขายน้ำมันให้กับสายการบินที่ไปลงที่สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ต แต่เข้าไปขายไม่ได้ เพราะเจ้าของคลังน้ำมัน เป็นบริษัทน้ำมันเหมือนกัน และถือหุ้นในคลังน้ำมัน 100% นี่ต่างหากที่เป็นการผูกขาด” แหล่งข่าวรายนี้ กล่าว
จากนี้ไป คงต้องติดตามว่าการที่ BAFS ฟ้อง ป.ป.ช.ทั้งคณะ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ผลจะลงเอยอย่างไร ในขณะที่นโยบายเกี่ยวกับ ‘คลังน้ำมัน’ นอกสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะไปยัง ครม. นั้น จะมีข้อสรุปเช่นไร
อ่านประกอบ :
มติครม.ขัดแย้งกัน! เบื้องหลัง‘ป.ป.ช.’ชงเปิดเอกชนแข่งขัน ทำ‘คลังน้ำมัน’นอก‘สุวรรณภูมิ’
ต้องแข่งขัน! ป.ป.ช.แนะ'ครม.'เปิดเอกชนรายอื่นสร้าง'คลังน้ำมันเครื่องบิน'นอก'สุวรรณภูมิ'