“...หนี้สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 24,938,650.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 3,196,326.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.70 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญ คือ หนี้สินไม่หมุนเวียน จำนวน 12,341,783.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,976,387.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.07 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019…”
...............................
สืบเนื่องจากกรณีที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 77 บัญญัติให้กระทรวงการคลังจัดทำ ‘รายงานการเงินรวมภาครัฐ’ แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินการในภาพรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการ และประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการเงินการคลัง นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้เสนอ ‘รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564’ ให้ ครม.รับทราบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
@ทรัพย์สินรวมภาครัฐ 33 ล้านล้าน-เป็น ‘แบงก์รัฐ’ 10 ล้านล้าน
รายงานการเงินรวมภาครัฐ
รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 8,368 หน่วยงาน จากจำนวนทั้งหมด 8,442 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 99.12 โดยมีรายละเอียดดังนี้
งบแสดงฐานะการเงิน เป็นรายงานการเงินที่แสดงฐานะการเงินเกี่ยวกับสินทรัพย์หนี้สิน และสินทรัพย์สุทธิหรือส่วนทุนในภาพรวม ณ วันสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
(1) สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น จำนวน 33,223,062.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,888,940.22 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.03 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญ คือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน จำนวน 17,923,618.72 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ เงินลงทุนระยะยาว และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
เมื่อเปรียบเทียบรายการสินทรัพย์ของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กับปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะเห็นว่าโครงสร้างของสินทรัพย์แสดงรายการที่สำคัญ คือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน จำนวน 17,923,618.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาปีงบประมาณ พ.ศ.2453 จำนวน 230,963.94 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.31 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ เงินลงทุนระยะยาว และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1.1) ที่ดินราชพัสดุ
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีที่ดินราชพัสดุที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์ จำนวน 4,928,077.73 ล้านบาท โดยกรมธนารักษ์มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาใช้ และการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 โดยที่ราชพัสดุส่วนใหญ่ใช้เพื่อประโยชน์ในทางราชการตามหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่อให้การบริหารที่ราชพัสดุที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่ากับศักยภาพ กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการตรวจสอบและซักซ้อมความเข้าใจให้ส่วนราชการใช้ที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต สำหรับที่ราชพัสดุที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ในทางราชการ กรมธนารักษ์ได้นำมาพัฒนาจัดหาประโยชน์เพื่อจัดเก็บรายได้เป็นรายได้แผ่นดิน
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำมาตรการให้หน่วยงานราชการรับรู้ต้นทุนการถือครองที่ดิน (Capital Charge) และกำหนดแนวทาง/ตัวชี้วัดให้ส่วนราชการส่งคืนที่ดินที่มีศักยภาพที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหน้าที่และอำนาจต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบการใช้ที่ดินราชพัสดุให้เหมาะสมต่อไป และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จะเร่งผลักดันให้มีการนำที่ดินราชพัสดุที่นำไปจัดหาประโยชน์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8
(1.2) เงินลงทุนระยะยาว
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 3,295,742.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 335,806.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.35 โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนประกันสังคม รองลงมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
(1.3) สินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ จำนวน 10,010,549.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,220,672.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.89 โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รองลงมาเป็น ธนาคารออมสิน
@หนี้สินรวมภาครัฐ 24.9 ล้านล้าน-พบปีเดียวหนี้เพิ่ม 3.19 ล้านล้าน
(2) หนี้สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 24,938,650.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 3,196,326.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.70 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญ คือ หนี้สินไม่หมุนเวียน จำนวน 12,341,783.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,976,387.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.07 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
รัฐบาลจึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ ตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564
หากเปรียบเทียบรายการหนี้สินของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กับปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะเห็นว่าโครงสร้างของหนี้สินแสดงรายการที่สำคัญคือ หนี้สินไม่หมุนเวียน จำนวน 12,341,783.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,976,387.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.07 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินกู้ยืมระยะยาว
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีเงินกู้ยืมระยะยาว จำนวน 8,578,617.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 1,349,968.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.68 โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(2.1) เงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้นจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการกู้เงินภายใต้กฎหมาย คือ เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564
(2.2) กระทรวงการคลังได้จัดทำกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะและกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ โดยครอบคลุมต้นทุนและความเสี่ยงทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Risk) ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) และความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ (Refinancing Risk) และได้ทบทวนกลยุทธ์ฯ กรอบการบริหารหนี้สาธารณะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและตลาดตราสารหนี้ในแต่ละช่วงเวลา
(ที่มา : รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
นอกจากนี้ มาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดสัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ได้กำหนดสัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ประกอบด้วย
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกิน ร้อยละ 70
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ไม่เกินร้อยละ 35
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกินร้อยละ 10
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 5
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 ทุกสัดส่วนภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด
(ที่มา : รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
@รายได้ภาครัฐ 7.4 ล้านล้าน-ส่วนใหญ่มาจาก‘รายได้แผ่นดิน-ปตท.’
งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน
งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน เป็นรายงานการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานทางการเงินรวมภาครัฐที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่ายสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
(1) รายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,473,288.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 393,057.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.55 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญ คือ รายได้แผ่นดิน (หักจัดสรรและถอนคืน) จำนวน 2,403,942.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 261,685.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.22 เนื่องจากมีการนำส่งรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เมื่อเปรียบเทียบรายการรายได้ของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กับปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะเห็นว่าโครงสร้างของรายได้แสดงรายการที่สำคัญ คือ รายได้ของหน่วยงานของรัฐ จำนวน 5,069,345.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 131,372.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.66
โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของรายได้จากการขายสินค้าและบริการของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรองลงมาเป็นรายได้แผ่นดิน (หักจัดสรรและถอนคืน) จำนวน 2,403,942.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 261,685.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.22
กระทรวงการคลังได้มีการติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดผ่านกลไกของคณะทำงานติดตามผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นรายไตรมาสหรือเมื่อมีเหตุการณ์เศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้อย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้สามารถบริหารการจัดเก็บรายได้และสภาพคล่องให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา
ประกอบกับได้มีการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมให้มีการชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดการรั่วไหลของภาษีอากร การใช้เทคโนโลยีและการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับตรวจสอบภาษี การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด การขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้ที่มีหน้าที่ในการชำระภาษี เป็นต้น รวมถึงได้มีการบริหารรายได้เพิ่มเติมจากรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพเพื่อให้รายได้รัฐเพียงพอต่อการสนับสนุนการใช้จ่ายที่จำเป็นของภาครัฐ
@รายจ่ายรวมภาครัฐ 7.6 ล้านล้าน พบมีรายจ่ายบุคลากร 1.7 ล้านล.
(2) ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 7,668,066.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 548,606.02 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.71 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญ คือ ต้นทุนขายสินค้าและบริการ จำนวน 2,474,028.77 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 276,436.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.58 เนื่องจากมีการขายสินค้าและการให้บริการเพิ่มขึ้น
รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐ ซึ่งรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและบริจาคเพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อเปรียบเทียบรายการค่าใช้จ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จะเห็นว่าโครงสร้างของค่าใช้จ่ายแสดงรายการที่สำคัญ คือ ต้นทุนขายสินค้าและบริการ จำนวน 2,474,028.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 236,436.03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.58 ส่วนใหญ่เป็นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรและบำเหน็จบำนาญ จำนวน 1,719,566.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 82,259.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.02 และค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและบริจาค จำนวน 1,070,954.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 449,804.16 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72.41 เนื่องจากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ
(ที่มา : รายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564)
กระทรวงการคลังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรมบัญชีกลางได้มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการกรมบัญชีกลางระดับชำนาญการพิเศษ และรักษาการระดับชำนาญการพิเศษเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดการก่อหนี้และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่าย
และรายงานผล รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของส่วนราชการ ประสานงานกับหน่วยงานภายในกรมบัญชีกลางในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการ
เหล่านี้เป็นรายงาน ‘การเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564’ ที่กระทรวงการคลังรายงาน ให้ ครม.รับทราบ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเฉพาะปีงบ 2564 เพียงปีเดียว รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ อปท. มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 3.19 ล้านล้านบาท จากการเข้าไปแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
อ่านประกอบ :
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%
พลิกแฟ้มครม.! เคาะคำของบปี 66 ตช.เช่ารถ 9 พันคัน 1.3 หมื่นล. ทอ.ซื้อฝูงบิน-ยธ.สร้างคุก
ครม.เคาะกรอบงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-ขาดดุล 6.95 แสนล้าน
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน