ครม.เคาะกรอบวงเงินงบประมาณปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ขาดดุล 6.95 แสนล้านเท่าปีที่แล้ว ‘นายกฯ’ สั่ง ‘คลัง-สำนักงบ-สศช.-ธปท.’ ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการบริหารความเสี่ยง ‘ล่วงหน้า’
...........................
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74% ประกอบด้วย
รายจ่ายประจำ จำนวน 2,390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 จำนวน 16,990.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.72% และคิดเป็นสัดส่วน 75.04% ของวงเงินงบประมาณ
รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 จำนวน 83,066.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.57% คิดเป็นสัดส่วน 21.82% ของวงเงินงบประมาณ
รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบ 2565 หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.14% ของวงเงินงบประมาณ
สำหรับในปีงบ 2566 รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ 2,490,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 จำนวน 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.75% ส่งผลให้ปีงบ 2566 มีการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.71% และคิดเป็นสัดส่วน 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
นายธนกร กล่าวว่า กรอบวงเงินงบประมาณปีงบ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ที่ ครม.มีมติเห็นชอบดังกล่าว เป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2566-2569) ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ขณะที่การกำหนดกรอบงบเงินรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้นั้น เป็นตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ดังนี้
1.ให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการที่ต้องดำเนินการการบริหารความเสี่ยง ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางสำหรับในแต่ละกรณีเป็นการล่วงหน้า
2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาลในประเด็นต่อไปนี้ เช่น การเร่งสร้างรายได้ใหม่ตามมาตรการของรัฐบาล เช่น มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เข้าสู่ประเทศไทย (LTR) มาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมอนาคต (New S–curve) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG Mode การติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
นอกจากนี้ หน่วยรับงบประมาณต้องมีการใช้จ่ายให้เป็นไปตาม แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานและ ต้นทุนโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินมาตรการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านแรงงาน รวมทั้งการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณในด้านการอุดมศึกษา ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปีงบ 2566 วงเงินทั้งสิ้น 143,734 ล้านบาท ประกอบด้วย กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา ปีงบ 2566 จำนวน 114,634 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ปีงบ 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน
ส่องงบกลาง! รายการเงิน 'ฉุกเฉินฯ' ปีงบ 64 'บิ๊กตู่-ครม.’ จัดสรร 1 แสนล. ทำอะไรบ้าง?
ครม.รับทราบสัดส่วน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 58.15% ต่อจีดีพี-ภาระหนี้ต่อรายได้ฯทะลุ 32.27%
แพร่ประกาศขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี