“…ถ้าใช้เกณฑ์เส้นแบ่งความยากจน จะกระทบต่อผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณครึ่งหนึ่งที่จะเสียสิทธิไป ในเชิงนโยบายคงเป็นปัญหามาก ขณะที่เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะกระทบผู้สูงอายุจำนวนไม่มากนัก จึงมีความเห็นว่าน่าจะใช้เกณฑ์นี้…”
เป็นเวลา 1 ปีในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หลังประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพของกลุ่มดังกล่าว หลายรายถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพย้อนหลัง เหตุได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐซ้ำซ้อน ปรากฏเป็นข่าวมากมายถึงความเดือดร้อนของผู้สูงอายุที่ไม่มีเงินคืน บางรายยอมติดคุก หรือแม้แต่บาง คนต้องรีบกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาคืนรัฐจำนวนไม่น้อย
โดยสาเหตุของปัญหาที่สำคัญ เกิดขึ้นมาจากระเบียบของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือในมาตรา 11 (11) ของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ. 2546 กำหนดให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ขณะที่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2522 ข้อ 6 กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ อาทิ เงินบำนาญ บำนาญพิเศษ หรือเบี้ยหวัด เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมอบหมายให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหานี้ ให้ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพอย่างเป็นธรรมและมีความสุขในชีวิตบั้นปลาย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนที่ 1 เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการเดินหน้าแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาว่า คณะอนุกรรมการได้มีการพิจารณาปรับแก้ไขข้อกฎหมายกันถึง 3 รอบ เพราะเนื้อหามีรายละเอียดและมีความซับซ้อนมาก
โดยคณะอนุกรรมการฯได้นำตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณา ตัวรากฐานที่สำคัญที่สุด คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สองคือ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุที่เกี่ยวข้อง และสามคือคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ได้วินิจฉัยแล้วว่าระเบียบกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2522 ที่มีอยู่ขัดต่อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ระบุให้ผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่ไม่มีรายได้เพียงพอยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างสมศักดิ์ศรีและเหมาะสมจากรัฐ รวมถึงขัดต่อ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ด้วย
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงให้ยกเลิก และแนะนำให้แก้ไขกฎหมายใหม่ว่าให้พิจารณาจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสม เช่น พิจารณาจากเส้นแบ่งความยากจน พิจารณาจากค่าแรงขั้นต่ำ พิจารณาจัดสรรแบบถ้วนหน้าคนละ 1,000 บาทต่อเดือน หรือข้อพิจารณาอื่น ๆ
ชงจัดสรรเบี้ยยังชีพตามเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ
คณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนำข้อแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวมาเปรียบเทียบ ก็พบว่าถ้าใช้เกณฑ์เส้นแบ่งความยากจน จะกระทบต่อผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพประมาณครึ่งหนึ่งที่จะต้องเสียสิทธิไป ในเชิงนโยบายคงเป็นปัญหามาก ขณะที่เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะกระทบผู้สูงอายุจำนวนไม่มากนัก จึงมีความเห็นว่าน่าจะใช้เกณฑ์นี้
“ค่าแรงขั้นต่ำมีการประกาศตามแต่ละท้องที่ อย่างกรุงเทพมหานครก็จะสูงสุด และในจังหวัดรอบ ๆ ก็จะลดหลั่นกันไปในภาคต่าง ๆ คณะกรรมการพิจารณาแล้วก็เห็นว่าส่วนต่างนี้ไม่มากนัก เพราะฉะนั้นควรที่จะพิจารณาจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยใช้เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ” นพ.วิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามหากประกาศเป็นไปตามนี้ จะมีผลกระทบกับประชาชนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกันตน ซึ่งที่ผ่านมามีสิทธิ์ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพ เพราะเขามีเพียงเงินบำนาญของตัวเองจากการออมและเงินสมทบจากนายจ้าง ไม่ถือว่าเป็นเงินที่รัฐจ่ายสมทบ จึงมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะได้รับเบี้ยยังชีพตามเกณฑ์การพิจารณาเดิม
ดังนั้นหากพิจารณาจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีเงินเกินเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว คณะอนุกรรมการฯชุดนี้จึงได้เสนอไว้ด้วยว่า เกณฑ์การพิจารณาจัดสรรจะต้องไม่กระทบกับคนที่ได้รับอยู่แล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล และหากพบว่ามีปัญหาในข้อกฎหมาย ก็จะมีหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปแก้ไขระเบียบต่อไป
แต่สำหรับกลุ่มข้าราชการนั้น ยืนยันว่าจะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่ม เพราะคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติพิจารณา 2 ครั้งแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ควรจะได้รับเพิ่มอีก เนื่องจากเงินบำนาญของข้าราชการสูงมากแล้ว หากได้เพิ่มอีกจะเรียกว่าไม่เป็นธรรม
นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนที่ 1
เกณฑ์จัดสรรใหม่ ต้องแสดงตัวตนแต่กระทบผู้สูงวัยไม่มาก
ในการพิจารณาจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ คงหนีไม่พ้นการต้องให้ประชาชนไปแสดงตัวตนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าใครบ้างที่อยู่ในเกณฑ์นี้
“ตรงนี้มีเสียงทักท้วงออกมาด้วยว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ เพราะมีลักษณะเหมือนการให้ผู้สูงอายุร้องขอ แต่การประเมินรายได้ของแต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่าย คณะอนุกรรมการอภิปรายรอบด้านแล้วพบว่าการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเกณฑ์ขั้นต่ำ จะกระทบกับผู้สูงอายุจำนวนไม่มากนัก จึงมีมติเช่นนี้” นพ.วิชัย กล่าว
รอ ครม.เคาะอัตราเบี้ยยังชีพใหม่
นพ.วิชัย กล่าวถึงจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่จะจ่ายจริงว่า ตนเองได้ยินเสียงเรียกร้องจำนวนมากว่าอัตราที่รัฐจ่ายให้แบบขั้นบันไดในปัจจุบันยังต่ำเกินไป คือ อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท, อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 700 บาท, อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 1,000 บาท
ตรงนี้แม้แต่คณะกรรมการผู้สูงอายุเองก็คงตัดสินใจลำบาก น่าจะเป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีต่อไป ภายหลังจากที่มีคำสั่งให้สำนักงบประมาณและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติพิจารณาการเพิ่มเงินอุดหนุนแก่ผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2564
ทั้งนี้ ปัจจุบันข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯดังกล่าว ในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุในปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดไว้ว่า ก่อนจะมีกฎหมายใด ๆ จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน แล้วนำข้อคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุง หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาพิจารณาต่อไป
คาด ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ เสร็จไม่ทันรัฐบาลนี้
“ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุนี้คงจะไม่ผ่านออกมาง่าย ๆ” นี่เป็นเสียงของ นพ.วิชัยที่เปิดเผยออกมา เพราะกฎหมายนี้ที่มีการปรับสิทธิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมายและมีความเกี่ยวพันกับรายจ่ายของรัฐบาลด้วย จึงต้องการนโยบายที่เข้มแข็ง
ในภาวะที่รัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด ประกอบกับช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงกลางครึ่งหลังของอายุรัฐบาลชุดนี้ และอาจจะมีการยุบสภาก่อน ตนเองจึงคาดว่าในสมัยของรัฐบาลนี้กฎหมายที่จะออกมาคงจะไม่ง่ายนัก
“ปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อผู้สูงอายุและมีผลกระทบในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ทั้งทางการเงินและมีผลทางการเมืองค่อนข้างสูง เรื่องนี้จึงตัดสินใจไม่ง่ายและทำให้เรื่องยังคาราคาซังผ่านไปนานหลายเดือน” นพ.วิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งด้วยว่าอย่าทำให้เกิดผลกระทบ ปัญหาของผู้สูงอายุที่เคยถูกเรียกเงินคืนย้อนหลัง อยู่ระหว่างการดำเนินงานว่าจะมีการคืนเงินหรือไม่ แต่ปัจจุบันได้มีมติจ่ายเบี้ยยังชีพให้กลุ่มดังกล่าวต่อไปได้แล้ว ความเดือดร้อนที่เคยปรากฏเป็นข่าวก็คลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ได้แก้ไขได้ทั้งหมด
ทั้งหมดนี้เป็นการอัปเดตสถานะของ ‘ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ’ แต่การจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัยในไทยหรือไม่ และอัตราเบี้ยยังชีพใหม่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด คงจะต้องติดตามกันต่อไป
ข่าวประกอบ :
-
ผู้ว่าฯโคราชหารือด่วน 1 ก.พ.ถกแก้ปัญหา 610 ผู้สูงอายุถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพ
-
5 ก.พ.มีทางออก!'ยุทธพงศ์'ถาม 'จุติ'ตอบ ปมเรียกคืนเบี้ยยังชีพคนชรา
-
ส่องทางแก้ความเปราะบาง ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ทำอย่างไรถึงยุติธรรม?
-
'วิษณุ'ยันไม่มีคนแก่ติดคุกปม'เบี้ยคนชรา'กรองเหลือ 6 พันรายรอสอบสิทธิ์สุจริตหรือไม่
-
คกก.ผู้สูงอายุแห่งชาติ เคาะ 3 มาตรการแก้ปัญหารับ'เบี้ยยังชีพคนชรา'ซ้ำซ้อน
-
ลุ้นสวัสดิการ 5 กลุ่ม อาจรับ 'เบี้ยคนชรา' ซ้ำได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
-
พัฒนาชีวิต ไม่ใช่ภาระ! แกะปม'เบี้ยยังชีพ'สู่บำนาญแห่งชาติ รัฐทำได้ แค่ปรับวิธีคิด
-
วันผู้สูงอายุสากล : ภาค ปชช.ย้ำจุดยืนขอ 'เบี้ยยังชีพคนชรา' แบบถ้วนหน้า