“…ค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จำนวน 1,598.06 ล้านบาท…”
..................................
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 2 ฉบับ ได้แก่
พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท แล้ว
'งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น' นับเป็น ‘เงินก้อนใหญ่’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจอนุมัติจัดสรร เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หรือปัญหาเร่งด่วนอื่นๆที่มี ‘ฉุกเฉินหรือจำเป็น’ ได้ โดยไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างไรก็ดี ในการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 20 (6) วรรคแรก ที่ระบุว่า
“งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ให้ตั้งได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจําเป็นเร่งด่วนของรัฐ”
จึงทำให้หลายคนอาจสงสัยว่า งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบ 2564 วงเงิน 99,000 ล้านบาท ถูกจัดสรรหรือนำไปใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง ?
(ที่มา : งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับปรับปรุง) สำนักงบประมาณ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของ สำนักงบประมาณ ที่รายงานต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา นั้น
สำนักงบประมาณ ได้รายงานเกี่ยวกับการจัดสรร งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในปีงบ 2564 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 99,000 ล้านบาท รับโอนจากงบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2,780 ล้านบาท ที่หน่วยรับงบประมาณส่งคืนในช่วงสิ้นปีงบประมาณฯ เนื่องจากได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ครบถ้วนแล้ว
เพื่อรองรับภารกิจในกรณีเร่งด่วนและจำเป็นตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนทั้งสิ้น 101,780 ล้านบาท จำแนกค่าใช้จ่าย ดังนี้
1.ค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จำนวน 1,598.06 ล้านบาท
2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง จำนวน 13,698.32 ล้านบาท ประกอบด้วย
-ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 9,961.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินการบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการเกิดอุทกภัย การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำและพัฒนาพื้นที่กักเก็บน้ำให้สามารถรองรับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
-ค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้จัดสรรงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 3,736.81 ล้านบาท เพื่อบรรเทาและเยียวยาจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 10,000 อัตรา การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายตามพันธกิจสภากาชาดไทย การแจกถุงยังชีพให้กับประชาชน
การดำเนินโครงการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองในพื้นที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน การประชาสัมพันธ์แผนงานเพื่อเยียวยาฟื้นฟู ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
3.ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว จำนวน 32,489.55 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการไปได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 11,632.20 ล้านบาท ได้แก่ โครงการเด็กและเยาวชนมีพัฒนาการและทักษะที่เหมาะสมตามช่วงวัย ค่าใช้จ่ายบุคลากรภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ค่าใช้จ่ายสมทบให้กับสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
ค่าใช้จ่ายสำหรับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ค่าสาธารณูปโภคค้างชำระ ค่าใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้วัสดุอาหารในเรือนจำ เป็นต้น
รวมทั้งเพื่อไปสมทบงบกลาง รายการอื่นๆ ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอเบิกจ่ายถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จำนวน 3 รายการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 20,847.39 ล้านบาท ได้แก่
-รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ จำนวน 9,564.49 ล้านบาท
-รายการเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ จำนวน 292.90 ล้านบาท
-รายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 11,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิและสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐ
ทั้งนี้ การโอนงบประมาณรายจ่ายงบกลางระหว่างรายการดังกล่าวเป็นไปตามนัยมาตรา 36 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
4.ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว จำนวน 53,794.68 ล้านบาท ประกอบด้วย
-ค่าใช้จ่ายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 52,070 .21 ล้านบาท เพื่อดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเร่งด่วนจำเป็นต่างๆ
เช่น โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอพริกาในสุกรและรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า
ค่าใช้จ่ายในการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่ ค่าใช้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ค่าใช้จ่ายในการดำเนิน
โครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม 6 ด้าน เงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2563 การดำเนินโครงการการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งชันกีฬานานาชาติ
-ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภาครัฐ ได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,724.46 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันตามกฎหมายที่ภาครัฐจำเป็นต้องจ่าย
และค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเรงด่วนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการของพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงที
ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดการจัดสรร ‘งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น’ ประจำปีงบ 2564 ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.
(ที่มา : รายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ของ สำนักงบประมาณ)
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบสัดส่วน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 58.15% ต่อจีดีพี-ภาระหนี้ต่อรายได้ฯทะลุ 32.27%
แพร่ประกาศขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
ชำแหละงบปี 65 ! ‘งบกองทัพ’ สำคัญกว่า เงินอุดหนุน ‘เด็กเล็ก’ ถ้วนหน้า?
เปิดงบปี 65 หั่น ‘รายจ่ายฉุกเฉินฯ’ โปะ ‘เบี้ยหวัด-บำนาญ’-ตัดงบกลาโหม 5.24%
กู้ชดเชยขาดดุลฯพุ่งแซง ‘งบลงทุน’! ครม.เคาะรายละเอียดงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.