สำนักงาน กสทช.เปิดรับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์การใช้สิทธิในการเข้าใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' พร้อมแบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด ตั้งเป้าคัดเลือกผู้รับอนุญาตฯปลายปีนี้ ย้ำเป็นจุดเปลี่ยนจากระบบ 'สัมปทาน' ไปสู่ระบบ 'ใบอนุญาต' ครั้งแรกของไทย
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุม Focus Group เกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจและรับฟังความเห็น ทั้งนี้ กสทช.ตั้งเป้าหมายจะให้มีการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรฯอย่างเสรีและเป็นธรรมครั้งแรกของไทยในช่วงปลายปีนี้
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในการจัดชุด กล่าวหลังประชุม Focus Group ว่า สำนักงาน กสทช.ได้นำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรฯ หรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ของประเทศไทย 14 ข่ายงาน ซึ่งเป็นข่ายงานที่ว่างอยู่หรือกำลังจะหมดอายุ มาจัดแบ่งเป็น 4 ชุด ก่อนนำไปจัดสรรด้วยวิธีการต่างๆต่อไป
สำหรับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรฯทั้ง 4 ชุด (Package) ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ,ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) , ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และLSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน G2K และ 120E) และชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และวงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5)
ทั้งนี้ ข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุดดังกล่าว เป็นข่ายงานที่ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ยกเว้น A2B ซึ่งอยู่ภายใต้ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งหมดอายุก่อนหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 ก.ย.2564 และข่ายงาน IP1 ของไทยคม 4 ซึ่งจะมีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2566 โดยถือว่าเป็นการจัดสรรล่วงหน้าในลักษณะหลายชุดพร้อมกัน เนื่องจากการสร้างดาวเทียมต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี
ส่วนการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรฯ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ระบุว่า สำนักงานฯเสนอแนวทางคัดเลือกฯไว้ 3 วิธี คือ วิธีการประมูล (Auction) หรือวิธีคัดเลือก (Beauty Contest) หรือวิธีอื่นใด ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรฯดังกล่าว กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น นอกจากนั้น สำนักงานฯยังได้เสนอแนวทางประเมินมูลค่าและการคิดค่าธรรมเนียม รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผู้ชนะในแต่ละชุดด้วย
“หากเปรียบการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมกับการประมูลคลื่นความถี่ ก็เปรียบเสมือนการประมูลแบบ Multiband หรือการประมูลแบบหลายคลื่นความถี่พร้อมกัน ซึ่งตามแผนที่วางไว้ สำนักงาน กสทช. ตั้งเป้าที่จะจัดการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมภายในปลายปีนี้ ขณะที่ประธาน กสทช.เองได้เร่งรัดให้มีการจัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตฯให้แล้วเสร็จโดยเร็ว” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์กล่าว
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ยังกล่าวว่า จากการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องพบว่า ผู้ประกอบการรายเดิมมีความกังวลกับข่ายงานดาวเทียมที่นำมาจัดสรรฯนั้น มีข่ายงานฯที่ใกล้เคียงหรือทับซ้อนกับข่ายงานที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานหรือที่ดาวเทียมไทยคมใช้งานอยู่ รวมทั้งมีการเสนอให้แยกชุดแต่ละชุดตามวงโคจรเลย
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดชุดใบอนุญาต ยกเว้นชุดที่ 4 ที่อาจจะแยกเป็น 2 ชุดได้ เนื่องจากมีวงโคจรที่ห่างกัน แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการประสานงานและการใช้คลื่นความถี่ที่ไปทับซ้อนกับดาวเทียมไทยคม ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกโดยวิธีประมูล และเสนอใช้วิธีอื่นๆ เพื่อทำให้กิจการดาวเทียมของประเทศไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้
“ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สำหรับกิจการดาวเทียมไทยจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการแก้ไขปัญหาสุญญากาศของดาวเทียมไทยนับตั้งแต่ปี 2559 เพราะหลังการยิงดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นสู่วงโคจรแล้ว ผู้ประกอบการมั้งรายเดิมและรายใหม่ ไม่สามารถสร้างและนำดาวเทียมไทยขึ้นสู่วงโคจรได้เลย” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/