"...ทุเรียนเมืองนนท์ ส้มโอนครชัยศรี ลิ้นจี่สมุทรสงคราม ผลไม้ขึ้นชื่อที่ทำรายได้ให้กับชาวสวนมาช้านาน ขณะเดียวกันพื้นที่ปริมณฑล ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนในเมืองหลวงด้วยเช่นกัน ทว่าปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมแบบสวนยกร่องกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากภัยพิบัติ และที่หนักสุด คือ การขยายตัวของชุมชนเมืองที่ค่อยๆ รุกคืบกลืนพื้นที่เกษตรกรรมไปอย่างรวดเร็ว..."
ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม วิถีชีวิตของคนสวนใหญ่ผูกพันกับวิถีการเกษตรมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง เป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศ แม้ปัจจุบันจะเต็มไปด้วยชุมชนเมือง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่พึ่งพาอาชีพการทำเกษตรหล่อเลี้ยงชีพมาจากรุ่นสู่รุ่น พื้นที่รอบกรุงเทพฯ อย่างเช่น นนทบุรี นครปฐม และสมุทรสงคราม ยังมีการทำสวนผลไม้ ซึ่งนิยมทำแปลงเกษตรในรูปแบบ “สวนยกร่อง” มาแต่ดั้งเดิม
นายมนัส บุญพยง หัวหน้าโครงการวิจัยชุมชนบางสะแก จ.สมุทรสงคราม อธิบายถึงการทำสวนยกร่องว่า มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งการยกร่องมีหลายแบบด้วยกัน อย่างพืชไร่เองก็มีการยกร่องดินเช่นกัน แต่ที่เราคุ้นเคยและจะนึกออกเป็นลำดับแรก คือ แปลงดินที่มีคูน้ำอยู่โดยรอบ
การที่พื้นที่ภาคกลางอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือ การจะทำเกษตรจึงต้องมีการยกร่องแปลงดินขึ้นเพื่อให้มีที่ดิน ป้องกันน้ำท่วมและให้เป็นทางน้ำไหลยามเกิดน้ำท่วม ขณะเดียวกันยังแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง
“การทำสวนยกร่องจึงเป็นวิธีการเอาชนะธรรมชาติ” นายมนัส ย้ำถึงวิวัฒนาการของการยกร่องสวน
ทุเรียนเมืองนนท์ ส้มโอนครชัยศรี ลิ้นจี่สมุทรสงคราม ผลไม้ขึ้นชื่อที่ทำรายได้ให้กับชาวสวนมาช้านาน ขณะเดียวกันพื้นที่ปริมณฑล ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนในเมืองหลวงด้วยเช่นกัน ทว่าปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมแบบสวนยกร่องกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทั้งจากภัยพิบัติ และที่หนักสุด คือ การขยายตัวของชุมชนเมืองที่ค่อยๆ รุกคืบกลืนพื้นที่เกษตรกรรมไปอย่างรวดเร็ว
ผศ.มล.วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งศึกษาและเก็บข้อมูลการเติบโตของชุมชนเมือง เปิดเผยว่า ในระยะเวลาเพียง 30 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 พบว่าชุมชนเมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ต.บางรักน้อย พื้นที่สิ่งปลูกสร้างและที่อยู่อาศัยมีมากถึงเกือบ 50% ของพื้นที่ทั้งหมด และยังมีอีกไม่น้อยกว่า 10% ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่น่ากังวลกับการคงอยู่ของสวนยกร่องในพื้นที่รอบกรุงเทพฯ คือ การขยายตัวของชุมชนเมือง บ้านจัดสรร ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมหายไปในทันทีแล้ว ผลเกี่ยวเนื่องที่เราอาจคิดไม่ถึง คือ สิ่งก่อสร้างต่างๆ มันไปปิดทางน้ำหรือถมลำคลอง จนเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม พืชผลเสียหายต้องใช้เงินและเวลาฟื้นฟูอีกนานกว่าจะกลับมาให้ผลผลิต เช่นเดียวกับการปล่อยน้ำเสียลงคลองทำให้คลองเสื่อมโทรม ส่งผลต่อปัจจัยการทำเกษตรของชาวสวน เมื่อไม่มี “น้ำ” หรือหากมีก็เน่าเสีย ก็ทำสวนไม่ได้ คนที่มีทุนทรัพย์ก็ต้องซื้อน้ำประปา แต่สำหรับคนที่มีทุนน้อยก็ต้องเลิกทำสวนไป รวมถึงหนี้สินที่รอไม่ได้ จึงเหมือนการบีบบังคับให้ชาวสวนต้องขายที่ไป
สวนที่เหลืออยู่ก็กำลังถูกท้าทายจากกระแสพืชเชิงเดี่ยว อย่างเช่น จ.นนทบุรี เมื่อตอนเกิดน้ำท่วมปี 2554 สวนยกร่องได้รับความเสียหาย ซึ่งชาวสวนหลายคนเลือกที่จะไถดินกลบร่องเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนเพียงอย่างเดียว นอกจากสวนยกร่องที่หายไปแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพก็หายไปด้วย
นายอนิรุธ บุญยัง ประธานวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ เผยถึงเรื่องนี้ว่า พอทุเรียนราคาดี เจ้าของสวนโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ก็จะมุ่งแต่การปลูกทุเรียนเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ขายได้เยอะๆ บางรายมีพื้นที่น้อยก็ปรับที่ด้วยการถมร่องน้ำเพื่อให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้สวนยกร่องหายไป
หากพื้นที่เกษตรเหล่านี้ยังคงได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และการท้าทายอยู่เรื่อยๆ สุดท้ายแล้วสวนยกร่องก็จะสูญสลาย เพราะไม่อาจต้านทานภัยธรรมชาติและทุนนิยมได้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ ชาวสวนต้องเปลี่ยนอาชีพ อพยพออกจากผืนดินที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชุมชนและสังคมดั้งเดิมจะหายไป
ดังนั้นหากอยากให้สวนยกร่องคงอยู่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับเมืองหลวงต่อไป จึงต้องมีกระบวนการอย่างเป็นระบบ
โครงการฟื้นฟูสวนยกร่องรับมือภัยพิบัติ โดยมูลนิธิชววิถี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เข้ามาช่วยให้สวนยกร่องยังคงอยู่
นายณิวุฒิ หลายเจริญโชคชัย ผู้รับผิดชอบโครงการ เปิดเผยแผนดำเนินโครงการว่า มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2565 โดยมี ต.ไทรม้า และ ต.บางรักน้อย จ.นนทบุรี เนื้อที่รวม 8,715 ไร่ เป็นพื้นที่ศึกษา โดยปีแรกจะเป็นการเก็บข้อมูลระบบและโครงสร้างการทำเกษตรแบบสวนยกร่อง รวมถึงแนวทางในการรับมือกรณีภัยพิบัติของแต่ละพื้นที่ ปีที่ 2 มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายคนทำสวนในลุ่มน้ำหรือลำประโดงเดียวกัน และในปีที่ 3 จะมุ่งไปที่การเสนอเป็นนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักในการลดผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสวนยกร่องต่อไป
“ในอดีตการฟื้นฟูของสวนยกร่องหลังเกิดภัยพิบัติจะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การฟื้นฟูค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ทั้งการรุกล้ำลำคลอง การขยายตัวของเมืองไปปิดทางน้ำ ลำคลองประโดงที่เป็นโครงข่ายที่หายไป เป็นต้น ดังนั้นเราจึงต้องมาศึกษาและกำหนดเป็นนโยบายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อสวนยกร่องในอนาคต ซึ่งจะเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน” นายณิวุฒิ กล่าว
ขณะเดียวกันรักษาสวนยกร่องให้มีความหลากหลายทางชีวภาพนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การมีเมล็ดพันธุ์ของพืชที่หลากหลายรองรับการเพาะปลูกได้อยู่เสมอ เฉกเช่นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพระราชดำริฯ ที่มีการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ของพืช รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคตได้
เช่นเดียวกับการการสร้างคุณค่าให้กับสวนยกร่อง โดย ผศ.มล.วุฒิพงษ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า พื้นที่เกษตร ในอีกมิติหนึ่ง คือ พื้นที่สีเขียว ถ้ารักษาไว้ได้ก็เท่ากับว่ามีพื้นที่สีเขียวที่ช่วยลดความร้อนให้เมืองได้ และช่วยเรื่องการจับฝุ่น ลดละอองฝุ่น PM2.5 เป็นพื้นที่ซับน้ำได้ด้วย
“พื้นที่สีเขียวอย่าไปมองแค่ว่าต้องเป็นสวนสาธารณะ แต่พื้นที่เกษตรที่มีอยู่รอบกรุงเทพฯ ก็เป็นพื้นทีสีเขียวด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนทัศนคติในการมอง และอาจจะกระตุ้นไปยังภาครัฐให้ความสำคัญ ว่า สวนยกร่องก็มี่คุณค่าในการเป็นพื้นที่สีเขียวเช่นกัน” อาจารย์วุฒิพงษ์ กล่าว
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจก่อนที่ “สวนยกร่อง” จะล่มสสายจนไม่อาจเรียกคืน เพราะนี่คือแหล่งอาหารที่มีคุณค่า สร้างชีวิตให้กับคนเมืองหลวงทั้งปัจจุบันและในอนาคต
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. :
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : คืนชีพ “สวนยกร่อง” นิเวศน์อาหารกลางเมืองใหญ่
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : เกษตรกรรมของคนเมือง แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : “ขนมไทย” หวานน้อยๆ อร่อยชะลออ้วน
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : ไม้ผลยืนต้นในป่าสมรม กุญแจความมั่นคงด้านอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : “วนเกษตร”สวนผลไม้กลางดง เมื่อคนรักป่า ป่าก็คืนชีวิต
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : กินผักตามฤดูกาล ลดเสี่ยงสารเคมี-ดีต่อสุขภาพ