นโยบายที่มุ่งเน้นการส่งออกซึ่งทำให้เกษตรกรต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาจทำให้ GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) ของประเทศสูงขึ้นก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ทรัพยากรที่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติต้องลดความหลากหลาย ทางเลือกของการบริโภคเหลือน้อยลง และเป้าหมายของความมั่นคงทางอาหารในแต่ละชุมชนลดน้อยลงทุกที
ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางการเกษตร หากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เราถูกบังคับให้เชื่อมต่อเข้ากับผักไม่กี่ชนิด ทั้งความไม่หลากหลายเช่นนี้ยังถูกควบคุมด้วยสารเคมีเพื่อการันตีผลผลิต
ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม City Farm Market ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มีวงเสวนา “ผลไม้ป่ายืนต้น ในระบบสวนป่าสมรม” ที่ชวนเราจินตนาการไปถึงภูมิปัญญาของการเพาะปลูกในอดีตอย่างน่าสนใจ ทั้งยังตั้งคำถามว่าคนเมืองอย่างเรา จะช่วยคลี่คลายกับสถานการณ์ข้างต้นได้อย่างไร
“ผลไม้ป่ายืนต้น” ก็คือผลไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากแต่เป็นผลของพรรณไม้ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีส่วนลำต้นหลักสูง มั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญคือมีอายุยืนยาวหลายปี นี่คือพืชพรรณที่คนในอดีตให้ความสำคัญ เพาะปลูก เพราะดูแลวัน ได้ใช้ประโยชน์จนถึงรุ่นหลาน แตกต่างจากพืชเศรษฐกิจที่อายุสั้น ปลูก-เก็บ และโค่นทิ้งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่
ขณะที่ “ป่าสมรม” ในเวทีเสวนานิยามว่า คือคำเรียกภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีตของภาคใต้ ที่ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก พืชสมุนไพรในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยกันเองตามธรรมชาติ
“ป่าสมรมจึงแทนเรียกของป่าที่มีความหลากหลาย คือปลูกพืชหลายชนิดรวมกัน ทำให้ได้ทั้งพืชเศรษฐกิจที่เอาไปขายเป็นอาชีพ และได้ผลที่มาจากไม้ยืนต้นเอาไว้บริโภคในครัวเรือน สวนสมรมจึงมีครบทุกอย่าง ทั้งยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจมังคุด, ทุเรียน, ลูกหยี, หมาก, กล้วย ที่ไว้บริโภคเองในครัวเรือน และอีกฯลฯ”
ณฐา ชัยเพชร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สงขลา กล่าวตอนหนึ่งว่า ครอบครัวเธอเป็นเกษตรกรยางพารามาหลายรุ่น และเมื่อถึงรุ่นของเธอก็ทำทุกอย่างตามที่นโยบายของรัฐบอก ทั้งการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การผสมสารเคมี การทำลายวัชพืช การบำรุงดูแลเพื่อให้มั่นใจได้แน่ๆว่าผลผลิตของเธอจะเปลี่ยนเป็นรายได้
หากในเวลาต่อมาเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาน้ำยางพาราตก ราคาปุ๋ยแพง ทำให้กลับมามองตัวเองถึงรายจ่ายที่ใช้ในสวนยางพารา พบว่าจะอยู่ในค่าการผลิตเป็นหลัก เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืชที่นำมาใช้ในสวนยางพารา ประกอบกับสุขภาพที่แย่ลง มากกว่านั้นเธอยังต้องจอปัญหาปุ๋ยปลอม น้ำยางพาราเสียหาย และนั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิวัติตัวเอง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมๆกับรื้อฟื้นระบบสมรม ที่เน้นความหลากหลายของพรรณไม้ที่เพาะปลูก
“เราอยากเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร แต่ความมั่นคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ตอนทำเกษตรเชิงเดี่ยว เรามีเป้าหมายเพียงเพื่อการขาย ส่งออก เพียงเท่านั้น แต่เมื่อมันไม่เป็นไปตามที่หวังทุกอย่างแย่หมด แม้แต่สุขภาพของตัวเองก็แย่ เราจึงใช้เวลาที่จะสร้างพื้นที่ของความสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง ทำให้ผักพื้นบ้านหลายชนิดกลับคืนมา เป็นพันธุกรรมพื้นถิ่น เป็นพวกผักกินยอดส่วนหนึ่ง สมุนไพรส่วนหนึ่ง สวนที่ทำจะเป็นการปลูกสลับพันธุ์ไม้ซึ่งจะทำให้ไม้แข่งกันโต แม้จะมีต้นเล็กบ้างใหญ่บ้าง นี้คือการสร้างป่าธรรมชาติสร้างป่าร่วมยางพารา เราได้ผลผลิตทั้งยางพาราและได้ผลผลิตของไม้”
คนที่ไปร่วมกิจกรรม City Farm Market ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา จะได้ลิ้มรสผลไม้นานาชนิด ที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเอามาให้ลองชิม ทั้งลูกหยี มะขามคางคก ส้มแขก และพระเอกของงานเสวนาคือ ต้นจำปูลิง ผลไม้ป่ายืนต้นทางภาคใต้ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ครอบคลุม แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งหาได้ยากตามกาลเวลา
ณัฑฐวรรณ อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ห้องเรียนท้องนาเขาคูหา มองว่า ระบบป่าสมรมคือการมองภาพความมั่นคงทางอาหารระยะยาว ไม่ใช่เพียงปลูกแล้วโค่นทิ้งสร้างรายได้เพียงสั้นๆ หากถึงเช่นนั้นโจทย์ของทุกคนคือการสร้างความรู้สึกว่า พันธุ์ไม้หรือไม้ยืนต้นผืนบ้าน คือสิ่งที่จะสร้างมูลค่าในอนาคต ควรอนุรักษ์รักษาไว้
“ความสามารถรักษาย่อมเกิดการสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนพันธุ์กรรมและความรู้การกิน วิธีเก็บ และวิธีปรุง เพราะถ้าเรามีแต่กินไม่เป็น ผักนั้นก็จะถูกมองข้ามและลดความสำคัญแล้วจะหายไปจากระบบเกษตร แต่ถ้าเรากินเป็น เราก็อยากจะปลูก ทำให้มันยังคงอยู่ในระบบเกษตรต่อไป และเมื่อมีความหลากหลายก็จะเป็นความมุ่นคงทางอาหารให้ชุมชนนั้นๆ”
แม้จะเป็นกรณีภาคใต้แต่ก็อธิบายถึงความเป็นไปในภาพกว้างได้ กล่าวคือถึงพืชเศรษฐกิจอย่างสวนยางพาราจะเป็นการสร้างป่าอีกรูปแบบหนึ่ง แต่การปลูกพืชชนิดเดียว จะทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ เราจึงจำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมชาติภายในระบบนิเวศน์สวนยางนั้นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม ซึ่งหลักในการพิจารณาทั่วไป จะต้องเลือกปลูกพืชที่มีความสูงของเรือนยอดต่างๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยแบ่งความสูงออกเป็น 3 ระดับ คือ ประเภทต้นสูง เช่น ประดู่ ไม้เคี่ยม พะยอม ไม้สัก ประเภทโตปานกลาง เช่น มะม่วง มะนาว ผักหวาน ชะมวง หรือ เหลียง ประเภทพืชชั้นล่างที่ทนร่ม เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ บัวบก หรือในแถวยางระหว่างต้นยางพารา อาจปลูกพืชสวนครัวไว้เป็นอาหารก็ได้เช่นกัน
การเลือกปลูกให้เหมาะสมและเข้ากับระบบนิเวศน์คือการพึงพาอาศัยกันและกัน อย่าลืมว่าผักแต่ละชนิดมีประโยชน์แตกต่างกัน หากแต่ไม้ยืนต้นคือตัวแทนของการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ปลูกครั้งเดียวกินได้นาน สามารถสร้างความชุ่มชื่นให้ระบบนิเวศน์ได้ ยิ่งในแง่สุขภาพแน่นอนว่าผักยืนต้นเป็นพืชพื้นถิ่นมีความแข็งแรงทนทานโรคและแมลงรบกวน ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการฉีดพ่น เราจึงกินได้อย่างสะอาดและปลอดภัย
เมื่อสุขภาพและปากท้อง สมดุลไปพร้อมๆกัน นั่นต่างหากคือจุดเริ่มต้นของความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. :
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : คืนชีพ “สวนยกร่อง” นิเวศน์อาหารกลางเมืองใหญ่
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : เกษตรกรรมของคนเมือง แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : “ขนมไทย” หวานน้อยๆ อร่อยชะลออ้วน
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : ไม้ผลยืนต้นในป่าสมรม กุญแจความมั่นคงด้านอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : “วนเกษตร”สวนผลไม้กลางดง เมื่อคนรักป่า ป่าก็คืนชีวิต
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : กินผักตามฤดูกาล ลดเสี่ยงสารเคมี-ดีต่อสุขภาพ