"...แนวคิด Land Sharing หรือการประสานประโยชน์ทางที่ดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นแนวคิดการแบ่งปันที่ดินเพื่อการทำเกษตรในเมืองใหญ่ที่มีมานานแล้ว จุดประสงค์ดั้งเดิมก็เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหารในเมืองโดยเฉพาะเมืองซึ่งเติบโตทางอุตสาหกรรม มีการย้ายถิ่นเข้าเมืองของผู้คนจำนวนมาก..."
ในระหว่างที่พวกเรารู้กันดีว่าการบริโภคผักและผลไม้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ในเวลาเดียวกันนี้กับมีข่าวการปนเปื้อนสารเคมีอยู่ในผักและผลไม้อยู่เสมอ อาทิ ผลสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2559 ซึ่งตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้ที่วางขายในตลาดเกินกว่าค่า Minimum Residue Level (MRL) ถึงร้อยละ 46.4
ทางออกหนึ่งคือการปลูกผักเพื่อบริโภคเอง แต่กับวิถีคนเมืองที่ไม่มีที่ดินทำการเกษตรอย่างเพียงพอจะทำอย่างอย่างไร และนั่นนำมาสู่โครงการ ‘สวนผักคนเมือง’ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สนับสนุนเพื่อให้คนเมืองปลูกผักในครัวเรือน และมีที่พึ่งตนเองในด้านอาหาร
นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวตอนหนึ่งใน กิจกรรมเทศกาลสวนผักคนเมือง 2019 (ครั้งที่ 5) ตอน “Land Sharing: แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต” ว่า โครงการสวนผักคนเมืองยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารและส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ปลอดสารเคมี ภายใต้แนวคิด Land Sharing ทั้งนี้จากการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่เกษตรกรรมลดลง คาดการณ์ว่า ในปี 2050 อาหารที่คนเมืองบริโภค ต้องนำเข้าจากพื้นที่ชนบทถึงร้อยละ 80 และผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินกว่าร้อยละ 70 ของรายได้ครัวเรือนเพื่อซื้ออาหาร ดังนั้นหากพื้นที่ว่างในเมืองสามารถผลิตอาหารได้ คนเมืองจะเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ ลดความเลื่อมล้ำในสังคม และในภาวะฉุกเฉินภัยพิบัติต่างๆ ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง ฟื้นฟูระบบนิเวศของเมือง เกิดการช่วยเหลือกันของคนในสังคมเมือง สร้างสังคมของการแบ่งปันระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ
แนวคิด Land Sharing หรือการประสานประโยชน์ทางที่ดิน ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นแนวคิดการแบ่งปันที่ดินเพื่อการทำเกษตรในเมืองใหญ่ที่มีมานานแล้ว จุดประสงค์ดั้งเดิมก็เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหารในเมืองโดยเฉพาะเมืองซึ่งเติบโตทางอุตสาหกรรม มีการย้ายถิ่นเข้าเมืองของผู้คนจำนวนมาก
ประเทศไทยเองก็เช่นกัน จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่มีศักยภาพ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่ของส่วนราชการหรือเอกชน นำมาสู่การขับเคลื่อนของกลุ่มคนเล็กๆที่ต้องการพัฒนาพื้นที่เมืองให้ดีกว่าเก่า
ดร.อมรา ปฐภิญโญบูรณ์ ผู้จัดการโรงเรียนเอกชนเล็กโกเมศอนุสรณ์ เล่าว่า เธอนำพื้นที่แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ไม่สามารถที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ในโรงเรียนมาทำเป็นพื้นที่สีเขียวแทนที่จะปล่อยทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์
“เราร่วมกันออกแบบพื้นที่แห่งนั้น ให้มีทั้งข้าว ผัก และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ คุณครู รวมถึงผู้ปกครอง โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ ผ่านการลงมือทำเกษตร”
“ในตอนแรก มันก็ไมได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจ ครูบางคนก็รู้สึกว่าฉันมาทำงานเป็นครู ไม่ใช่อยากมาทำการเกษตรแบบนี้ แต่เมื่อได้ลองลงมือทำจริงๆ ได้เห็นพืชผักออกดอกออกผล เด็กๆในห้อง ได้ลงมาเรียนรู้เรื่องสีธรรมชาติ จากสวนผักแห่งนี้ และนี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป”
มากกว่านั้นสวนผักในโรงเรียนแห่งนี้ยังเชื่อมต่อผู้ปกครองที่สนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยเปิดโอกาสให้ครอบครัวที่สนใจมาเช่าแปลง เพื่อทำเกษตรในพื้นที่แห่งนี้ด้วยกันได้ ราคาแปลงละ 350 บาทต่อเดือน ซึ่งก็มีครอบครัวที่สนใจมาเช่าเพราะส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ลูกไม่ค่อยกินผัก และเขาพบว่า พอได้ปลูกผักเอง โดยลูกมีส่วนช่วย ก็ทำให้ลูกหันมากินผักมากขึ้น
ขณะที่ในระดับสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะรองอธิการบดี เล่าว่า พวกเขาเริ่มทำการเกษตรจากพื้นที่เล็กๆ ที่หน้าตึกโดม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาากที่เคยเป็นแค่ลานหิน มีพุ่มไม้ดอก เช่น ดอกเข็ม ต้นหนวดปลาหมึก และสนามหญ้าที่เห็น เปลี่ยนมาเป็นแลนด์มาร์คใหม่ด้วยการปรับพื้นที่ให้เป็นสวนผักออร์แกนิกแทน
"เมื่อผักปลอดสารมันหาซื้อไม่ค่อยได้ หรือมีราคาแผงเราก็ปลูกมันซ่ะเลย แปลงผักของธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แปลงผักที่มีไว้ปลูกผักโชว์ แต่จะเป็นแปลงไว้บริโภคจริง ลงมือทำจริง เพื่อสร้างกระแสของผู้คนที่ต้องการจะเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะทุกวันนี้เรากำลังสุ่มเสี่ยงต่อการบริโภคอาหารปนเปื้อนซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งโดยที่เราไม่รู้ตัว เหมือนกับเรื่องฝุ่นในขณะนี้ซึ่งกว่าจะตระหนักก็อยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวและว่า พวกเขาทำพัฒนาเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษในเมืองภายใต้โปรเจค Dome Organic Garden และนอกจากการปลูกแล้ว ยังขยายผลไปถึงการจัดร่วมมือกับร้านอาหาร ซึ่งจะมีเมนูและปรุงอาหารจากผลิตผลที่ถูกปลูกในแปลงที่ว่านี้ เช่นเดียวกับการเปิดตลาดผักและอาหารปลอดสารพิษที่วิทยาเขตรังสิต
ด้าน นายจุมพล มุริสิทธิ นายก อบต.แคนน้อย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร สรุปบทเรียนในพื้นที่ว่า อบต.แคนน้อยจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่ทำการเกษตร และมีไว้ทำกินเป็นหลักโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแนวคิดที่ว่านี้คือ การแบ่งปันประโยชน์จากพื้นที่หรือ Land Sharing ที่หลายเมืองใหญ่ขับเคลื่อนร่วมกันอยู่
“กติกาคือต้องทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น และต้องทำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก หรือถ้าจะขายก็ต้องเป็นการขายราคาถูกให้กับกลุ่มสมาชิก โดยการคัดเลือกผู้เข้ามาใช้พื้นที่ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 30ครอบครัว จะคัดเลือกจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนด้วยกันเองจะรู้ดีว่าครอบครัวไหนมีความต้องการใช้ที่ดิน และมีไว้เพื่อทำการเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง”
ทั้งหมดคือความคิดและผลการปฏิบัติของคนเมืองกลุ่มเล็กๆ ที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ นั่นคือการร่วมผลิตอาหารปลอดสารพิษ ภายใต้ข้อจำกัดของความเป็นเมือง
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. :
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : คืนชีพ “สวนยกร่อง” นิเวศน์อาหารกลางเมืองใหญ่
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : เกษตรกรรมของคนเมือง แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : “ขนมไทย” หวานน้อยๆ อร่อยชะลออ้วน
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : ไม้ผลยืนต้นในป่าสมรม กุญแจความมั่นคงด้านอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : “วนเกษตร”สวนผลไม้กลางดง เมื่อคนรักป่า ป่าก็คืนชีวิต
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : กินผักตามฤดูกาล ลดเสี่ยงสารเคมี-ดีต่อสุขภาพ