"...ถ้าเอาแตงโมไปปลูกหรือเก็บกินในฤดูฝน นอกจากแตงโมจะเน่าเพราะไม่ใช่ฤดูของมันแล้ว อากาศเย็นและชื้นในฤดูฝน เมื่อกินแตงโมเข้าไปก็จะทำตัวให้เราเย็นลงไปอีก ดังนั้นเราก็ต้องกินผักที่มีฤทธิ์ร้อนเข้าไปเพื่อให้เหมาะสมต่อร่างกาย เช่นกันกับการกินผักตามฤดูนั้นจึงเป็นการสร้างความสมดุลให้ร่างกายไม่ทำให้เจ็บป่วย นี่คือนิยามผักตามฤดู ทุกอย่างมีที่มาที่ไป และเหมาะสมกับร่างกายในช่วงนั้นๆ..."
เราทราบกันดีว่าการทานผักเป็นสิ่งดี วิตามินและแร่ธาตุในผักช่วยบำรุงเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่สมัยนี้การทานผักจำเป็นใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกทานมากขึ้น เพราะสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและเก็บเกี่ยวอย่างไม่บันยะบันยัง ก่อให้เกิดสารตกค้างเข้าสู่ร่างกาย แทนที่การกินผักจะเกิดคุณ กลายเป็นโทษไม่รู้ตัว
โดยปกติแล้ว ผักที่ขึ้นตามฤดูกาลธรรมชาติจะรังสรรค์ให้ผลผลิตเติบโตได้ดี ด้วยสภาพอากาศสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีศัตรูน้อย แข็งแรงทนทานโรค ผลผลิตที่ได้นอกจากสวยงามแล้วยังอุดมด้วยสารอาหาร หาซื้อง่ายราคาไม่แพง เพราะมีปริมาณเยอะ นี่คือ ผักตามฤดู
ผักฤดูร้อน คือ ผักที่ทนแล้งชอบน้ำน้อย เช่น ฟักทอง แตงกวา มะระ คะน้า ผักหวาน บวบ ผักฤดูฝน คือ ผักที่มีน้ำมากชอบเจริญเติบโตในน้ำ เช่น กระเจี๊ยบ ผักกูด ผักโขม ชะอม ตำลึง ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ผักฤดูหนาว จะเป็นผักกินใบเป็นส่วนใหญ่ ชอบอากาศหนาว เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ปวยเล้ง บล็อกเคอรี่ แครอท ผักกาด ผักสลัด เป็นต้น
กลับกัน หากนำผักไปปลูกในฤดูที่ไม่เหมาะสม ผักจะมีความต้านทานโรคน้อยและไม่เจริญเติบโต แคะแกรน หากอยากจะให้งามและได้ผลผลิต ก็ต้องใส่ปุ๋ย ใส่ยา ฮอร์โมน เพื่อต่อสู้กับโรคและศัตรูพืช จึงเป็นที่มาของ “ผักนอกฤดู” ที่คุ้นหู และมีราคาแพง เพราะมีน้อย เมื่อกินเข้าไปสารเคมีก็ไปตกค้างสะสมในร่างกาย จนเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา
แน่นอนว่าการนิยมชมชอบบริโภคผักชนิดใดชนิดหนึ่ง และไม่กินตามฤดู ช่วยเอื้อให้ผักนอกฤดู เกิดและเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะตราบใดยังเป็นที่นิยมชมชอบ ผู้ผลิตก็ยิ่งเร่งผลิตให้ทันตามความต้องการ
นายสุชาญ ศิลป์อำนวย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอ ไทย ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติ มูลนิธิเอ็มโอเอ ไทย ที่ จ.ลพบุรี และขับเคลื่อนการสร้างสุขภาพในสังคมไทยมาหลายสิบปี บอกถึงเหตุผลที่ต้องกินผักตามฤดูกาล ว่าผักตามฤดูกาลนั้นเกิดขึ้นให้เหมาะกับร่างกายของมนุษย์ เช่น ฤดูร้อน ตัวเราจะมีอุณภูมิสูงก็ต้องกินของที่มีฤทธิ์เย็น
เขายกตัวอย่างแตงโม ถ้าเอาแตงโมไปปลูกหรือเก็บกินในฤดูฝน นอกจากแตงโมจะเน่าเพราะไม่ใช่ฤดูของมันแล้ว อากาศเย็นและชื้นในฤดูฝน เมื่อกินแตงโมเข้าไปก็จะทำตัวให้เราเย็นลงไปอีก ดังนั้นเราก็ต้องกินผักที่มีฤทธิ์ร้อนเข้าไปเพื่อให้เหมาะสมต่อร่างกาย เช่นกันกับการกินผักตามฤดูนั้นจึงเป็นการสร้างความสมดุลให้ร่างกายไม่ทำให้เจ็บป่วย
นี่คือนิยามผักตามฤดู ทุกอย่างมีที่มาที่ไป และเหมาะสมกับร่างกายในช่วงนั้นๆ อยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปกินผักนอกฤดู ที่ส่งผลเสียต่อสมดุลร่างกาย และยังเต็มไปด้วยสารเคมีอีกด้วย แต่ตอนนี้ฤดูกาลเปลี่ยนไป การปลูกผักเริ่มยากขึ้น และคนอยากกินอะไรก็ไปใช้ฮอร์โมนเร่ง โดยไม่ต้องสนใจอะไรแล้ว เมื่อเราไปกินนอกจากไม่ตรงตามฤดูกาลแล้วยังทำให้ร่างกายเราแย่ไปด้วย
เมื่อผักมีในตลาดมากมายหลายชนิดจนแยกไม่ออก เช่นเดียวกับความรู้เกี่ยวกับผักที่คนสมัยใหม่มีน้อยมาก กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอ ไทย ได้แนะนำเคล็ดลับในการจำแนกผักด้วยวิธีง่ายๆ ว่า อย่างแรก คือ สังเกตกลิ่น ถ้าพืชผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นจะมีกลิ่นฟุ้งกระจาย หรือจะมีการแตกแขนง แต่ถ้าไม่มีกลิ่นหรือมีหัวก็จะมีฤทธิ์ร้อน ต่อมา คือ กลิ่น สีเข้มจะมีฤทธิ์ร้อน สีอ่อนจะมีฤทธิ์เย็น ตัวอย่างเช่น ข้าวหอมนิลมีสีแดง-ดำเข้มมีฤทธิ์ร้อน ข้าวขาวจะมีฤทธิ์เย็น แต่ข้าวกล้องจะอยู่ตรงกลางคือไม่แดง ไม่ขาว จึงเป็นข้าวที่มีฤทธิ์สมดุล
อย่างไรก็ตามกรรมการและเลขานุการมูลนิธิเอ็มโอเอ ไทย เน้นย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องท่องผักตามฤดู เพราะจำได้ไม่หมด เพียงจำหลักการนี้ไปใช้ก็ได้ และไม่ต้องวิตกกังกลเกินไป กินให้เป็นธรรมชาติก็เพียงพอ
ทั้งนี้จะต้องมีการส่งเสริมการปลูกผักตามฤดูกาล และช่องทางจำหน่ายมากขึ้น เช่น ตลาดชุมชนเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่มักพึ่งพาห้างสรรพสินค้าทนั้นในการเข้าถึงสินค้าอินทรีย์
ขณะที่ ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส.ได้ส่งเสริมให้กินผักตามฤดูกาล โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ว่า ผักพื้นบ้านหากินง่าย และไม่มีการใช้สารคเมีอย่างแน่นอน ขึ้นตามรั้วโดยนเมล็ดไปมันก็ขึ้นเองแล้ว ทนโรค และเติบโตได้ดีในพื้นถิ่นนั้น ซึ่งผักแต่ละชนิดนับว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่คนรุ่นเก่าได้เรียนรู้การกินอยู่ส่งทอดมาจนถึงคนปัจจุบัน โดยที่เราไม่ต้องไปสงสัยหรอกว่า อันนั้นอันนี้จะกินได้หรือเปล่า กินแล้วเป็นอย่างไร เพราะคนรุ่นเก่าเขากินมาก่อนเรามีอายุมาจนแก่เฒ่า
แคมเปญ “ผลักดันให้ผักนำ” เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ สสส.และภาคีเครือข่ายร่วมกันส่งเสริมและรณรงค์ให้คนหันมาบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น โดยให้ทุกมื้อที่เราทานอาหารให้นึกถึงผักก่อนลำดับแรก เช่นเดียวกับการแนะวิธีเลือกกิน “ผักตามฤดูกาล” ลดเสี่ยงสารเคมี
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า คนไทยเพียงร้อยละ 34 บริโภคผักและผลไม้ได้ตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ที่ 400 กรัมต่อวัน แสดงว่าคนอีกมากกว่าครึ่งหนึ่งบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ
สสส.จึงอยากสนับสนุนให้คนไทยหันมาบริโภคผักและผลไม้ ด้วยการจัดแคมเปญ “ผลักดันให้ผักนำ” ส่งเสริมและรณรงค์ให้คนหันมาบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น โดยมีเทคนิคการรับประทาน เช่นใน 1 จานแต่ละมื้อแบ่งผักให้ได้สักครึ่งหนึ่ง หรือแบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยสูตร 2-1-1 คือ ผัก 2 ส่วน ข้าว 1 ส่วน และเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ซึ่งจะทำให้ได้รับประทานผักและผลไม้ที่เพียงพอ
ขณะเดียวกันอีกแคมเปญที่รณรงค์ควบคู่กันคือ การส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งเรามีผักหลากชนิดให้ทานทั้งปี แต่ว่าการเลือกทานผักตามฤดูกาลจะช่วยลดการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเพราะพืชผักที่ปลูกตามฤดูกาลจะมีการลดใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การล้างผักให้ถูกวิธีก่อนนำมารับประทาน และที่สำคัญ คือการล้างผักก่อนทาน
“เราอยากเชิญชวนให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ใส่ใจการกินอาหารตั้งแต่ต้นทาง และเลือกกินอะไรที่ให้เราสุขภาพดี” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. :
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : คืนชีพ “สวนยกร่อง” นิเวศน์อาหารกลางเมืองใหญ่
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : เกษตรกรรมของคนเมือง แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : “ขนมไทย” หวานน้อยๆ อร่อยชะลออ้วน
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : ไม้ผลยืนต้นในป่าสมรม กุญแจความมั่นคงด้านอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : “วนเกษตร”สวนผลไม้กลางดง เมื่อคนรักป่า ป่าก็คืนชีวิต