ทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคที่ชื่นชอบทานของหวาน แต่ก็กลัวมีปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อมีร้านขนมไทยที่ประกาศตัวเองว่า “ขนมไทย อ่อนหวาน” แม้จะลดน้ำตาลแต่คุณค่าความเป็นขนมไทย ไม่ลดลงเลย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทานของหวาน หรือขนมหวาน ก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน และอีกหลายโรคตามมา ซึ่งหน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรต่าง ๆ ได้ออกมาสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้
กลุ่มของผู้ขายขนมไทยได้ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพของลูกค้า จึงได้เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อสุขภาพ” ภายใต้การสนับสนุน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อย่าง ริน ขนมไทย ร้านขนมไทยต้นตำนานย่านชื่อดัง เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นอีกหนึ่งร้านขนมไทยที่ขานรับและเห็นด้วยต่อการมีส่วนร่วมใส่ใจสุขภาพลูกค้า จึงได้ลดระดับความหวานของขนมไทยจากสูตรดั้งเดิมที่ทำอยู่ลงมา โดยเฉพาะ “ขนมกระยาสารท” ต้นตำรับและจุดเริ่มขนมไทยแห่งร้านริน ได้ปรับลดความหวานลงมาถึง 25 เปอร์เซ็นต์
ส่วนขนมไทยชนิดอื่นในร้านกว่า 40 ชนิด ได้ปรับลดความวานลงด้วยเช่นกัน แต่เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้เก็บค้างคืนได้ตามเวลาที่สมควร โดยยังคงคุณค่าและมาตรฐานของขนมไทยไว้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าแทบไม่รู้สึกว่า ขนมที่ทานจาก “ริน ขนมไทย” มีความหวานลดน้อยลง เป็นการปรับลดความหวานเป็นไปแบบบทีละน้อย ๆ ค่อย ๆ ลดลง จนลูกค้าที่ทานประจำรู้สึกถึงความแตกต่างน้อยมาก
ด้วยความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้า จึงได้เขียนติดไว้ชัดเจนว่า เป็นขนมไทย สูตรอ่อนหวาน โดยเฉพาะ “ขนมตระกูลทอง” ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ ล้วนปรับลดเป็นขนมไทย อ่อนหวาน แล้วทั้งหมดโดยจะนำมาวางไว้ในตู้เย็นขนาดใหญ่แล้วมีป้ายติดไว้ชัดเจนว่า “ขนมไทยอ่อนหวาน”
แต่ก็มีขนมไทยบางชนิดที่ไม่สามารถยกเลิกสูตรดั้งเดิมได้ เพราะเป็นสูตรต้นตำรับ มีลูกค้าทานกันมาก เช่น กระยาสาทร จึงต้องทำทั้งสูตรดั้งเดิม และ หวานน้อย วางขายคู่กันให้ลูกค้าเลือกทาน
“การลดความหวานในขนมจากสูตรดั้งเดิมที่เคยทำ ไม่ใช่เพราะเราหวังเรื่องของผลกำไร แต่ที่ต้องปรับเป็นสูตรหวานน้อย หรือ อ่อนหวาน เพราะห่วงเรื่องสุขภาพของลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง คิดง่าย ๆ คือ เราเองก็อยากมีสุขภาพดี ลูกค้าก็คงอยากมีสุขภาพดีเช่นกัน ตัดสินใจทดลองทำสูตรอ่อนหวานในขนมไทย” วรพรรณี น้อยใจบุญ ต้นตำนานและผู้เริ่มต้นผู้ผลิต “ริน ขนมไทย” กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น พร้อมกับขยายความเพิ่มว่า เริ่มทำ “ขนมไทยอ่อนหวาน” มาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว เนื่องจากตนเองอยู่ในกลุ่มของสมาคมผู้ประกอบการอาหารฉะเชิงเทรา เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าไปอบรมกับ สสส. เกี่ยวกับเรื่องลดเค็ม ลดหวาน แล้วรู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก จึงได้นำมาปรับใช้กับการผลิตขนมหวานของตนเอง
ในระยะเริ่มแรกก็ลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้ขนมหวานออกมามีคุณภาพครบถ้วน แต่ความหวานลดน้อยลง จึงค่อยปรับไปทีละนิด จนกระทั่งได้สูตรของความหวานใส่แต่ละชนิดที่พอดี คือ ไม่สามารถลดมากไปกว่านี้ได้แล้ว จึงใช้เป็นสูตรในการผลิตขนมไทยของที่ร้านเรื่อยมา
ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นถ้าไม่ได้เข้าไปอบรมก็คงไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรเป็นอ่อนหวาน แต่เมื่อได้ไปฟัง ได้ความรู้มาแล้ว จึงไม่ลังเลเลย ตัดสินใจทำทันที เพราะมีความคิดว่า ตนเองขายขนมหวานเพื่อความอยู่รอด ก็ต้องห่วงใยสุขภาพคนอื่นด้วย เมื่อมาลองทดลอง ปรับสูตรแล้ว แม้จะอ่อนหวาน แต่คุณค่าของขนมไทยซึ่งเป็นจุดแข็งและจุดขายของที่ร้านไม่เปลี่ยน จึงเดินหน้าเต็มที่ปรับเป็นอ่อนหวานเกือบทั้งหมด
“หลังจากมีขนมในร้านเป็นสูตรอ่อนหวานก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้ลูกค้าใส่ใจดูแลสุขภาพกันเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นผลดีทั้งที่ร้านเองที่ผลิตขนมออกมาแล้วลูกค้าชอบ ขายได้ เมื่อลูกค้าซื้อไปทานแล้วไม่หวานมากก็ดีต่อสุขภาพด้วย”
ทางด้าน รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวในเรื่องขนมไทยอ่อนหวานว่า สำหรับที่ร้าน “ริน ขนมไทย” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เจ้าของร้านพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการลดหวาน ในขนมไทยที่ผลิตออกมาขาย ถ้ามีร้านค้าที่เป็นเช่นนี้จำนวนมากก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
โดยส่วนตัวมองว่า ควรมองหาเจ้าของร้านแบบนี้ให้เจอ และเพิ่มอย่าง ร้านริน ขนมไทย ให้ได้จำนวนมาก ๆ ร้านที่ผู้บริหารหรือเจ้าของร้านมีความตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการจะทำให้ดีที่สุด ซื่อสัตย์กับอาชีพของตัวเอง เมื่อได้รับการแนะนำก็พร้อมปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลง หลังการปรับเปลี่ยนแล้วปรากฏว่า เป็นผลดีต่อผู้ขายและผู้บริโภคตามมาด้วย
“ถ้ามีร้านค้าที่มีคุณภาพเช่นนี้มาก ๆ ก็จะช่วยกันขับเคลื่อนสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ สังคมก็จะมีคนสุขภาพดีเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย” รศ.พญ.ลัดดา กล่าวในตอนท้าย
ส่วนร้านขนมไทยที่เข้าเข้าร่วมโครงการฯ เช่นเดียวกับ ริน ขนมไทย ได้แก่ เอกชัยสาลี่ จ.สุพรรณบุรี และ บ้านขนมนันทวัน จ.เพชรบุรี
สำหรับ “ริน ขนมไทย” ของคุณวรพรรณี ก่อตั้งเมื่อปี 2517 ใช้ชื่อลูกสาว “ภาวริน” ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ริน” เป็นชื่อของร้าน โดยมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวทำขนมไทยให้ทานมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเทศกาลสารทไทย ครอบครัวและญาติ ๆ จะรวมตัวกันทำ กระยาสารท เพื่อไปถวายพระ แต่ในยุคนั้นยังไม่ทราบสูตรการผลิต และแหล่งที่มาของการซื้อวัตถุดิบ จนกระทั้งเมื่อมีครอบครัวแล้วเริ่มคิดว่าทำขายขนมไทย จึงได้เอาความรู้ที่เห็นมาแต่เด็กมาเริ่มทำขนมใหม่
ขนมไทยชนิดแรกและสร้างชื่อเสียงให้ร้านคือ กระยาสารท ซึ่งสูตรดั้งเดิมแบบโบราณ ใช้เตาฝืนในการกวน และใช้วัตถุดิบสด ใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีตั้งแต่ยุคเปิดร้านและยังติดต่อซื้อวัตถุดิบกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
กว่า 40 ปี ของร้าน “ ริน ขนมไทย” ได้ขยายและเพิ่มความหลากหลายของชนิดขนมมากขึ้นจนมีมากกว่า 40 ชนิด และได้ผ่านการปรับสูตรเป็นขนมไทยอ่อนหวานแล้ว จะมีขนมเพียงบางชนิดเท่านั้นที่มีสูตรดั้งเดิมและสูตรอ่อนหวานวางขายคู่กัน
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. :
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : คืนชีพ “สวนยกร่อง” นิเวศน์อาหารกลางเมืองใหญ่
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : เกษตรกรรมของคนเมือง แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ตอน : “ขนมไทย” หวานน้อยๆ อร่อยชะลออ้วน
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : ไม้ผลยืนต้นในป่าสมรม กุญแจความมั่นคงด้านอาหาร
แผนอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. ตอน : “วนเกษตร”สวนผลไม้กลางดง เมื่อคนรักป่า ป่าก็คืนชีวิต