รัฐสภามีมติไม่เห็นชอบร่างแก้ไข รธน.วาระสาม แม้มีเสียงผู้เห็นชอบ 208 เสียง แต่ไม่ถึงเกณฑ์กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา 369 เสียง เป็นเหตุให้ร่างกฎหมายถูกตีตกทันที
........................................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ที่ประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ที่มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแหงราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช ... วาระที่สาม
ทั้งนั้ เมื่อเวลา 10.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ตามที่ได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 256 (1) บัดนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา รธน. จัดทำประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะมีฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อ รธน.ฉบับใหม่แล้วเสร็จต้องให้ทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง
(ข่าวประกอบ : คำวินิจฉัยกลางศาล รธน.ฉบับเต็ม! ตั้ง ส.ส.ร.มีผลล้มฉบับเดิม-ต้องประชามติก่อนร่างใหม่)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 23.15 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งผลการลงมติว่า ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่... พ.ศ. ... ผลปรากฏว่า มี ส.ส. เห็นชอบ 206 เสียง ส.ว. 2 เสียง รวมเป็น 208 เสียง ส.ส.ไม่มีผู้ใดไม่เห็นชอบ ส.ว.ไม่เห็นชอบ 4 เสียง รวมเป็น 4 เสียง งดออกเสียง ส.ส. 10 เสียง ส.ว 84 เสียง รวม 94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน ส.ส. 9 เสียง ส.ว. 127 รวม 136 เสียง
ดังนั้น เสียงที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีผู้เห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา หรือ 369 เสียง เท่ากับว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่.. พศ... มาตรา 256 เพิ่มเติมมาตรา 15/1 เป็นเหตุให้ร่างกฎหมายถูกตีตกไปในที่สุด
จากนั้นนายพรเพชร สั่งปิดประชุม และนัดให้สมาชิกมาประชุมเวลา 9.30 น. วันที่ 18 มี.ค. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ... , ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติพ.ศ.. และร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพรบ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดฉบับที่...พ.ศ...
(มติรัฐสภาไม่เห็นชอบ ร่างแก้ไข รธน.ในวาระสาม)
@ มติรัฐสภาเดินหน้าโหวตร่างแก้ รธน.วาระสาม
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 21.00 น. หลังจากที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลานานกว่า 11 ชั่วโมงในการอภิปรายเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติของรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอมติที่ประชุมว่าจะเห็นชอบญัตติที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้นำเรื่องด่วน เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระที่สาม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รัฐสภาเดินหน้าโหวตวาระสาม ด้วยคะแนน 473 ต่อ 127 เสียง งดออกเสียง 39 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง โดยมีจำนวนผู้ลงมติรวม 644 คน
(มติรัฐสภาเห็นชอบให้เดินหน้าโหวตวาระสาม)
@ ภท.วอล์กเอาต์ 'ชาดา'อัดไม่ร่วมสังฆกรรมพวกฉ้อฉล
ต่อมา นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมว่า “สรุปแล้วต้องลงมติวาระสามรายบุคคลโดยการขานชื่อ ผมขออนุญาตเรียนท่านประธานว่า ผมคงไม่ลงร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหก ปลิ้นปล้อน แล้วก็ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก”
หลังจากนั้น ส.ส. ทั้งพรรคภูมิใจไทย ได้เดินออกจากสภา เหลือแค่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ว. เท่านั้นที่ยังอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การลงมติครั้งนี้จะใช้วิธีขานชื่อรายบุคคล ซึ่งเมื่อถึงช่วงปิดการแสดงตน ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมลงมติเหลือเพียง 379 คน แต่ยังครบองค์ประชุม ทำให้รัฐสภาเข้าสู่กระบวนการโหวตวาระสามในเวลานี้
@‘ไพบูลย์’ย้ำโหวตวาระสามต่อไม่ได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ศาลได้มีคำวินิจฉัยตรงไว้กับญัตติที่เสนอว่า รัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ นอกจากนั้นศาลยังวินิจฉัยว่าการแก้ไข รธน.ต้องดำเนินการโดยรัฐสภา ที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างไรก็ตามก่อนที่รัฐสภาจะทำ รธน.ฉบับใหม่ ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา รธน.ได้ทำประชามติเสียก่อน
“เราโหวต ร่าง รธน.วาระสามต่อไม่ได้ เก็บไว้ต่อก็ไม่ได้ และถ้าจะจัดทำร่าง รธน. ต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภา จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติ หากประชาชนมีมติเห็นชอบให้จัดทำ รัฐสภาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ไม่สามารถจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้” นายไพบูลย์ กล่าว
@ ส.ว.‘สมชาย’ชงญัตติ ลงมติวาระสามไม่ได้
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 12 หน้ามีความชัดเจนว่า ไม่สามารถแก้ไข รธน.โดยร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่จะต้องไปทำประชามติเสียก่อน ฝ่ายกฎหมาย ส.ว. เห็นว่ารัฐสภาไม่อาจจะพิจารณาร่างแก้ไข รธน.วาระสามต่อไปได้ เนื่องจากศาลชี้ขาดไว้ว่า การจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ต้องทำประชามติ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะนี้ยังไม่ได้ทำประชามติ รัฐสภาจึงไม่อาจพิจารณาลงมติในวาระที่สามได้ จึงมีความเห็นว่าการลงมติไม่สามารถกระทำได้ ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอญัตติด่วนขอให้พิจารณาเรื่องด่วน ขอให้รัฐสภาพิจารณาว่าการลงมติวาระที่สามของรัฐสภาไม่อาจกระทำได้
@ ‘จุรินทร์’เสนอส่งศาล รธน.ตีความเพิ่ม
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพื่อเป็นทางออกของประเด็นนี้ขอเสนอญัตติ ให้รัฐสภาพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่อำนาจรัฐสภา เนื่องจากยังเกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเรื่องการตีความคำวินิจฉัยกลาง ทั้งในแวดวงวิชาการ แวดวงคนยกร่าง รธน.ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาที่มีความเห็นไม่สอดคล้องต้องกัน อย่างน้อย 4 ข้อ คือ 1.ร่าง รธน.ฉบับที่กำลังจะพิจารณาวาระสามเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมหรือเป็นการจัดทำ รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งศาลยังไม่ได้ชี้ชัดในประเด็นดังกล่าว 2.การจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ทำได้ แต่ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ต้องทำตอนไหน ทำก่อนพิจารณาวาระที่หนึ่งหรือทำประชามติหลังจากลงมติวาระที่สามเสร็จสิ้นแล้ว 3.การทำประชามติใน รธน.ปัจจุบันระบุไว้ 2 มาตราเท่านั้น คือ มาตรา 166 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สอบถามความเห็นประชาชน และมาตรา 256 (8) ในการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.หลังผ่านวาระสาม ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องนำไปทำประชามติเสียก่อน 4.กรณีจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ให้ทำประชามติเสียก่อน แต่ไม่ได้ถึงขั้นวินิจฉัยว่าร่าง รธน.ฉบับที่กำลังพิจารณานั้นจะตกไปทั้งฉบับหรือไม่
“เห็นควรให้รัฐสภาได้โปรดมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งในประเด็นต่างๆ เหตุผลทั้งหมดไม่ได้ต้องการเตะถ่วงหรือประวิงเวลาการแก้ไข รธน. เพราะจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ประสงค์จะเห็นการแก้ไข รธน.ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ที่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบเพื่อส่งศาลวินิจฉัยอีกครั้ง เพื่อให้กระบวนการพิจารณาแก้ไขชอบด้วย รธน. ปราศจากข้อสงสัย ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง” นายจุรินทร์ กล่าว
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ขอเสนอให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อน หรือตามภาษาทั่วไปคือแขวนเรื่องนี้เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีกาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนได้ข้อยุติ จากนั้นค่อยกลับมาขอมติจากรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง
@ 'หมอชลน่าน'หนุนโหวตวาระสามต่อ
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอเสนอญัตติให้รัฐสภาทำหน้าที่ลงมติวาระสามต่อไป เพราะเห็นว่าสามารถทำต่อไปได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุการแก้ไขเพิ่มเติมให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ทำได้ แต่ต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ซึ่งขั้นตอนทำประชามติ ฝ่ายค้านและนักวิชาการต่างๆ อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ , นายสมชัย ศรีสุทธิยากร , นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ล้วนมีความเห็นว่า ให้ทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะไม่มีกฎหมายใดรองรับการทำประชามติก่อนยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญระบุการทำประชามติไว้ 2 กรณีคือ กรณีมาตรา 166 ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ และมาตรา256 (8) ให้ทำประชามติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลังวาระสาม ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องทำประชามติหลังลงมติวาระสามเท่านั้น
อ่านประกอบ :
แพร่คำวินิจฉัยกลาง รัฐสภามีอำนาจจัดทำ รธน.ฉบับใหม่ แต่ต้องผ่านประชามติจาก ปชช.
สมคิด เลิศไพฑูรย์ : ไขคำวินิจฉัยศาล รธน. รัฐสภาลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ความเห็นส่วนตน‘ทวีเกียรติ’ ล้วงเหตุผลไฟเขียวสภาแก้ รธน.-ทำประชามติตอนวาระ 3 ได้
ประชามติทำตอนไหน-วาระ 3 แท้งไหม? ชำแหละคำวินิจฉัย(ย่อ)หลังมติศาล รธน.
ผ่านวาระ 3 มีปัญหา! ‘วิษณุ’แนะสภางดออกเสียงทำแท้งแก้ รธน.-15 มี.ค.วิป ส.ว.ถกหาทางออก
เปิดความเห็น ‘สมคิด เลิศไพฑูรย์’ ต่อศาล รธน.อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ
ต้องทำประชามติ 2 รอบ! ศาล รธน.มติ 8:1 เคาะรัฐสภามีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
'บวรศักดิ์-สมคิด'ยันสภาแก้ รธน.ได้-ประชามติทีหลัง! ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด 11 มี.ค.
มติรัฐสภาข้างมาก 366:316 ส่งศาล รธน.ชี้ขาด ส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
จ่อสกัดแก้ รธน.! 9 ก.พ.ประชุมร่วมรัฐสภาถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมีอำนาจหรือไม่
ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?
เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage