เผยมติ ป.ป.ช.ชี้มูล 'ชวลิต ลิมปวิทยากุล' อดีตผอ.โรงพยาบาลอำนาจเจริญ - พวก จัดซื้อเครื่องช่วยฟังผู้พิการ 295 เครื่อง 3.9 ล้าน กำหนดคุณลักษณะเฉพาะเอื้อประโยชน์ผู้เสนอราคา ส่งเรื่อง อสส. ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย-แจ้งชดใช้ ค่าเสียหาย ด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลคดีทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า มีการเผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด นายชวลิต ลิมปวิทยากุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ กับพวก จัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางหูแบบทัดหลังใบหู จำนวน 295 เครื่อง โดยกำหนดคุณลักษณะเฉพาะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 นาย ช.(ตัวย่อ) นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ได้ขออนุมัติจัดซื้อเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางหูแบบทัดหลังใบหู จำนวน 500 เครื่อง เป็นเงิน 6,750,000 บาท
แต่นายชวลิต ลิมปวิทยากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ กลับให้ดำเนินการจัดซื้อวัสดุการแพทย์ดังกล่าว ในวงเงินไม่เกิน 4,000,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจสั่งซื้อของตน และนายไกรศักดิ์ ทองรอง ในฐานะหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ได้ดำเนินการลดวงเงินจัดซื้อวัสดุการแพทย์ให้คงเหลือ 295 เครื่อง เป็นเงิน 3,982,500 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจสั่งซื้อของนายชวลิต ลิมปวิทยากุล
จากนั้น นายชวลิต ลิมปวิทยากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้อนุมัติคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางของวัสดุการแพทย์ ที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางหูแบบทัดหลังใบหูให้ตรงกันกับยี่ห้อ Widex ทั้งรุ่น Bravo B 11/B 12 และรุ่น Bravo 32/B 32 ตามที่นายไกรศักดิ์ ทองรอง หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางเสนอ โดยไม่มีเครื่องช่วยฟังยี่ห้ออื่นที่มีคุณสมบัติตรงตามคุณลักษณะดังกล่าว อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย
ต่อมาในการเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศจังหวัดอำนาจเจริญ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 บริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด ได้ให้บริษัท ดุสิตเฮียริ่ง จำกัด เป็นคู่เทียบในการเสนอราคา
โดยบริษัท ดุสิตเฮียริ่ง จำกัด มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด เป็นผู้รับซองประกวดราคา ยื่นซองประกวดราคา และเข้าเสนอราคาการเข้าเสนอราคา จึงเป็นการกระทำเพียงเพื่อให้ดูเสมือนว่าทั้ง 2 บริษัท ได้มีการแข่งขันราคากันจริง เป็นผลให้บริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด ได้ทำสัญญากับโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ตามสัญญาเลขที่ 40/2554 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2554 วงเงิน 3,909,930 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนคดี มีมติดังนี้
1. การกระทำของนายชวลิต ลิมปวิทยากุล นายไกรศักดิ์ ทองรอง และคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และ มาตรา 12 และมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
2. การกระทำของบริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด บริษัท ดุสิตเฮียริ่ง จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฮลส์ ออดิโอ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นชอบ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
พร้อมให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98 และให้แจ้งผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
อย่างไรก็ดี การชี้มูลคดีของ ป.ป.ช.ยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก