"...ทั้งหมดคือคดีเกี่ยวกับการทุจริต และการใช้อำนาจโดยมิชอบสำคัญ ๆ ที่สาธารณชนจับจ้องมาตลอดในรอบปี 2567 รอลุ้นปี 2568 คดีไหนจะมีบทสรุป หรือคดีไหนถูกยื้อต่อ ต้องติดตาม..."
ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนแรง เปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาถึง 2 ชุด และนายกรัฐมนตรี 2 คน แต่มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกลับไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหนก็ตาม นอกจากในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล 9 ธ.ค.ของทุกปี
นับตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาลภายหลังเลือกตั้งปี 2566 ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล นายกฯไม่เคยปรากฏกายมากล่าวปาฐกถา หรือให้คำมั่นสัญญาใด ๆ ในงานด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นยุค ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จนมาถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ มีแค่เพียงการส่ง ‘รัฐมนตรี’ มาเข้าร่วมแทน โดยในปี 2566 ส่ง ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ และล่าสุดปี 2567 ส่ง ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ มาแทน
ทั้ง ‘ภูมิธรรม’ และ ‘ชูศักดิ์’ ต่างกล่าวในลักษณะเดียวกันคือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริต สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของการทุจริต รวมถึงเสริมสร้างกลไกองค์กรอิสระให้แข็งแกร่ง ไม่ให้มีการแทรกแซง
อย่างไรก็ดีภาพสะท้อนในความเป็นจริงเมื่อปี 2566 ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 ที่จัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) พบว่า ไทยได้คะแนนเพียง 35 คะแนน อยู่อันดับ 108 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยยังอยู่อันดับที่ 4 พ่ายแพ้สิงคโปร์ (อันดับ 1 อาเซียน อันดับ 5 ของโลก) มาเลเซีย (อันดับ 2 อาเซียน) และเวียดนาม (อันดับ 3 อาเซียน)
โดยข้อมูลเชิงลึกของ TI ที่ได้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตอบแบบสอบถามในแหล่งข้อมูล ระบุตรงกันว่า ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาประเทศไทย จะได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตต่าง ๆ เช่น มีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับระบบงบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงกระบวนงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ตลอดจนมีการลงโทษผู้ที่กระทำการทุจริต แต่ปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ของประเทศไทย ยังคงมีอยู่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งผู้ประเมินเห็นว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
พบว่า ยังคงมีปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบกับยังคงปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เป็นระยะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ผลคะแนน CPI ของไทย สะท้อนถึงหลักในการบริหารประเทศของรัฐบาล ตั้งแต่ยุค ‘เศรษฐา’ จนมาถึง ‘แพทองธาร’ ที่พบว่า คนใกล้ชิดหลายคนในรัฐบาลยังคงเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น กรณี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ บิดา ‘นายกฯอิ๊งค์’ ที่เผชิญข้อครหามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอื้อผลประโยชน์ให้ได้พักรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งที่ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกใน 3 คดีทุจริต ปัจจุบันกรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว
หรือแม้แต่กรณี ‘เศรษฐา’ ที่หลุดจากเก้าอี้นายกฯ เนื่องจากการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทั้งที่เป็นผู้มีความไม่เหมาะสม เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาจำคุก ‘คดีถุงขนม’ มาแล้ว จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตอนหนึ่ง ระบุว่า ‘เศรษฐา’ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้น
นี่ยังไม่นับปัญหาคาราคาซัง ในประเด็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีข้อสงสัยว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงาน ที่ถูก สส.พรรคประชาชน (ปชน.) ออกมาเขย่าแทบจะทุกสัปดาห์ พร้อมจี้ถามไปยัง ‘นายกฯอิ๊งค์’ ให้ตอบคำถาม และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน
อย่างไรก็ดีสารพัด ‘นโยบายเรือธง’ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ยังคงไม่มีความคืบหน้า หรือดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต และโครงการซอฟต์พาวเวอร์ แต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมา ‘มอนิเตอร์’ โครงการต่าง ๆ เหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังถูก ‘ฝ่ายค้าน’ จองกฐิน รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อเตรียมใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงต้นปี 2568 ดังนั้นต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมี ‘ทีเด็ดทีขาด’ อะไรเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้บ้าง
ปัจจุบันมีคดีค้างเก่าที่สาธารณชนให้ความสนใจ ยังอยู่ระหว่างไต่สวนทั้งใน ป.ป.ช. และในศาล เช่น คดี 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ร่วมกันลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว
โดยนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้รวบรวมหลักฐาน ใกล้จะแล้วเสร็จ คาดว่าเดือน ม.ค. 2568 คณะอนุกรรมการไต่สวนจะสามารถสรุปสำนวนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการสรุปสำนวนจะมี 2 แนวทาง หากเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่แจ้งข้อกล่าวหา จะเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา หากเห็นว่า ไม่มีมูลเพียงพอ ก็จะสรุปสำนวนให้ข้อกล่าวหาตกไป
อย่างไรก็ดีการพิจารณาเรื่องนี้ จะดูข้อกล่าวหาประเด็นฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นหลัก ดูพฤติกรรมของแต่ละบุคคลว่า มีส่วนรวมในการดำเนินการแตกต่างกันไป ป.ป.ช.ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 44 คน ตามที่ถูกร้องเรียนจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด
ต่อมาคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์ให้ ‘ทักษิณ’ ไปพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวนไปแล้วนั้น มีการเปิดเผยชื่อผู้ถูกกล่าวหารวม 12 คน ทั้งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่แต่ละระดับที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นถูกสังคมกังขาว่าเป็นอีก ‘จุดด่างพร้อย’ ของวงการยุติธรรมไทย ส่อซ้ำรอย ‘คดีบอส’ อีกหรือไม่
ปัจจุบันเรื่องนี้ ป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานมาประกอบในสำนวน ยกเว้น ‘เวชระเบียน’ ของ ‘ทักษิณ’ ที่เป็นคนไข้ ถือเป็น ‘หลักฐานชิ้นสำคัญ’ แต่ฝ่ายโรงพยาบาลตำรวจ และกรมราชทัณฑ์ อ้างว่าไม่สามารถดำเนินการส่งให้ได้ เนื่องจากเป็น ‘ความลับ’ ของคนไข้ ดังนั้นต้องติดตามกันต่อไปว่า พยานหลักฐานชิ้นนี้จะถึงมือองค์กรตรวจสอบได้หรือไม่
นอกเหนือจากเรื่องนี้ ‘ทักษิณ’ ยังเผชิญชะตากรรมในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อปี 2558 ซึ่ง ผบ.ทบ.ขณะนั้น ร้องทุกข์กล่าวโทษ ปัจจุบันคดีนี้ศาลอาญา ประทับรับฟ้องไว้เรียบร้อยแล้ว และมีนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรกในเดือน ก.ค. 2568
นอกจากคดีเหล่านี้ ยังมีเงื่อนปมใหญ่ที่คาราคาซังมานานหลายสิบปีอย่าง ‘คดีที่ดินเขากระโดง’ แม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดไปหลายสำนวน ระบุข้อเท็จจริงตรงกันว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,200 ไร่เศษนั้น เป็นของ ‘การรถไฟแห่งประเทศไทย’ (รฟท.) ซึ่งกรมที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิผู้บุกรุกเพื่อคืนให้แก่ รฟท. ทว่าจนถึงขณะนี้ เหมือนกลับ ‘นับหนึ่ง’ ใหม่ เพราะกรมที่ดินไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิเหล่านั้น โดยอ้างว่า หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินชอบด้วยกฎหมาย จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท.
อย่างไรก็ดีประเด็น ‘ที่ดินเขากระโดง’ ถูกกูรูการเมืองเมาท์กันให้แซ่ดว่า กำลังถูกทำให้เป็น ‘เครื่องมือทางการเมือง’ ไว้ต่อรองระหว่าง ‘ค่ายแดง-ค่ายน้ำเงิน’ เพราะปัจจุบันทั้ง 2 ค่ายมีชนักปักหลังด้วยกันทั้งคู่ ได้แก่ ‘ค่ายแดง’ มีกรณีหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ฯ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบคือ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ภายใต้การคุมบังเหียนของ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล ส่วน ‘ค่ายน้ำเงิน’ มีกรณี ‘ที่ดินเขากระโดง’ ซึ่งหน่วยงานชี้เป็นชี้ตายคือ รฟท.ภายใต้สังกัด ‘กระทรวงคมนาคม’ ที่มี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นเสนาบดีอยู่ ดังนั้นต้องรอวัดใจว่าในปี 2568 เรื่องนี้จะมีบทสรุปอะไรออกมาหรือไม่
ต่อมาคดีสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อน แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในยุคนี้มากนัก อย่างคดีระบายมันสำปะหลัง ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกล่าวหา ‘พรทิวา นาคาศัย’ (ปัจจุบันสกุล นิพาริน) อดีต รมว.พาณิชย์ ขณะนั้น ทว่ามีมติชี้มูลนักการเมือง และข้าราชการอีกหลายราย หนึ่งในนั้นคือ ‘กำนันตุ้ย’ วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี และ ‘บุญยิ่ง นิติกาญจนา’ สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ผู้มากบารมี ‘บ้านใหญ่เมืองโอ่ง’ นั้น
ปัจจุบันคดีดังกล่าวศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ประทับรับฟ้องเรียบร้อยแล้ว โดยปรากฏชื่อ ‘กำนันตุ้ย’ และ ‘บุญยิ่ง’ ตกเป็นจำเลยด้วย อย่างไรก็ดีสำนักงาน ป.ป.ช.ได้การันตีว่าทั้ง ‘กำนันตุ้ย-บุญยิ่ง’ ไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด เนื่องจากขณะกระทำความผิด ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อาจนำบทบัญญัติตามมาตรา 93 วรรคสอง ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้ได้
อีกคดีที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการ ‘บุกรุกป่า’ ทว่ามีความเกี่ยวพันลึกซึ้งกับ ‘ฝ่ายการเมือง’ เช่น กรณีการตรวจสอบรีสอร์ทแห่งหนึ่งถูกกล่าวหาว่าสร้างรุกเข้าไปในที่ดิน ส.ป.ก.ในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมีการแฉจาก ‘มือมืด’ บางคนว่า รีสอร์ทแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘หวานใจ’ อดีตนักการเมืองชื่อดัง ในพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาล พร้อมแฉมีเส้นทางเงินนับพันล้านบาทไหลเวียนเข้า ‘หวานใจ’ คนดังกล่าว ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจสอบอยู่ คาดว่าปี 2568 น่าจะมีบทสรุปอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน หากไม่ถูก ‘ฝ่ายการเมือง’ แทรกแซงไปเสียก่อน
สุดท้าย ‘คดีดิไอคอนกรุ๊ป’ ที่ ‘บอสพอล’ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เจ้าของอาณาจักรธุรกิจบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวมหลายสิบราย รวมถึงดาราชื่อดังหลายคน เช่น ‘แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี’ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ‘กันต์ กันตถาวร’ อดีตพิธีกรชื่อดัง ‘มิน พีชญา’ อดีตดาราดัง ถูกกล่าวหาว่า หลอกลวงและฉ้อโกงประชาชนให้มาร่วมลงทุน รวมถึงสมคบกันฟอกเงิน ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ และบอสพอล รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ถูกฝากขังในเรือนจำระหว่างการสอบสวนนั้น
เรื่องนี้ปรากฏข่าวเชื่อมโยงไปยัง ‘นักการเมือง’ บางคน เช่น สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตสมาชิกพรรค พปชร. ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการสมคบกันฟอกเงิน ในคดีดิไอคอนฯรวมอยู่ด้วย โดยปัจจุบันเขาถูกฝากขังในเรือนจำระหว่างสอบสวน และถูกคัดค้านการประกันตัวอยู่ อย่างไรก็ดีบรรดา ‘บิ๊กเนม พปชร.’ ต่างดาหน้ามาปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และไม่เกี่ยวข้องกับพรรค พปชร. แต่อย่างใด เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของนายสามารถเท่านั้น
ทั้งหมดคือคดีเกี่ยวกับการทุจริต และการใช้อำนาจโดยมิชอบสำคัญ ๆ ที่สาธารณชนจับจ้องมาตลอดในรอบปี 2567 รอลุ้นปี 2568 คดีไหนจะมีบทสรุป หรือคดีไหนถูกยื้อต่อ ต้องติดตาม